หน่วยงานรัฐไหนบ้าง? เห็นด้วยกับการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งฯ #สมรสเท่าเทียม

8 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติว่าจะรับหลักการร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ #สมรสเท่าเทียม หรือไม่ หลังจากเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ครม. อุ้มร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษาก่อนที่สภาจะลงมติรับหลักการ

หลังจากครม. อุ้มร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเชิญหน่วยงานรัฐมาให้ความเห็นต่อร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม เมื่อ 7 มีนาคม 2565 มีหน่วยงานรัฐ 10 หน่วยงาน ที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ได้แก่ 

  1. สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 
  2. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว 
  3. สำนักงบประมาณ
  4. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  5. กรมบัญชีกลาง 
  6. กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย 
  7. กรมองค์การระหว่างประเทศ 
  8. กรมการปกครอง
  9. กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
  10. สำนักงานศาลยุติธรรม

โดยตัวแทนแต่ละหน่วยงานรัฐ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม หน่วยงานที่มาแสดงความคิดเห็นถึงแปดหน่วยงานที่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกสองหน่วยงานมีท่าที่ไม่ชัดเจน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าควรกำหนดกฎหมายสำหรับรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็น “กฎหมายเฉพาะ” แยกออกไป อย่างร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต

แปดหน่วยงานเห็นด้วยหากแก้กฎหมายแพ่ง #สมรสเท่าเทียม

หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างสำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (สำนักงานปลัดพม.)  และกรมกิจการสตรีและครอบครัว ต่างเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยสำนักงานปลัดพม. ให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาถึงภารกิจในภาพรวมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหน้าที่ดูแลกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุรวมไปถึงบุคคลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่ก็มีข้อสังเกตว่าอาจต้องแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.อุ้มบุญ เพื่อให้สอดคล้องกับกรณีที่มีการแก้ไขคำว่า “สามีและภริยา” เป็นคำว่า “คู่สมรส” ในประมวลกฎหมายแพ่ง ด้านกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้เหตุผลที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตามพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558

ด้านหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้เหตุผลว่า การเสนอร่างกฎหมายนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเป็นรัฐภาคี เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ขณะที่กรมองค์การระหว่างประเทศ เห็นด้วยกับทั้งร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่ครม. จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยให้เหตุผลเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงประเด็นทางการทูต

หน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต่างเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยสำนักงบประมาณ ระบุว่าไม่มีข้อขัดข้องทางงบประมาณที่จะดำเนินการตามกฎหมายเรื่องนี้ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายนี้เป็นการส่งเสริมให้บุคคลมีความเท่าเทียมและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเสรีภาพในการเลือกคู่ครองตามความสมัครใจ

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และระบุว่าหากร่างกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย กรมการปกครองไม่ขัดข้องในการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ด้านสำนักงานศาลยุติธรรม เห็นชอบด้วยในหลักการร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เช่นกัน 

เจ้าภาพร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตแทงกั๊กไม่แสดงความเห็น กรมบัญชีกลางหวั่นแก้กฎหมายแพ่งกระทบสิทธิสวัสดิการรัฐ

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าภาพที่ผลักดันร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ไม่ได้แสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ชูร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตมากกว่าโดยให้เหตุผลว่าจากการศึกษาแนวทางการยกร่างกฎหมายของต่างประเทศ พบว่าควรดำเนินการตรากฎหมายที่รับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็น “กฎหมายเฉพาะ” อย่างเช่นร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต และกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้จัดทำประชาพิจารณ์และรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศโดยเฉพาะผู้ที่คัดค้านตามหลักความเชื่อศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่เห็นพ้องให้ตรากฎหมายเฉพาะขึ้นมาก่อน

กรมบัญชีกลาง ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ไม่ได้แสดงออกชัดแจ้งว่าไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขกฎหมายแพ่ง ปรับถ้อยคำจาก “สามีภริยา” เป็นคำว่า “คู่สมรส” ย่อมส่งผลต่อการรับสวัสดิการจากรัฐ อาทิ สวัสดิการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งต่างจากร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่ยังไม่ได้บัญญัติรับรองไว้

กฤษฎีกาไม่เห็นด้วยหากแก้ประมวลกฎหมายแพ่ง #สมรสเท่าเทียม แนะทำร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตเป็น “กฎหมายเฉพาะ”

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการจัดรับฟังความเห็น ให้เหตุผลต่อคณะรัฐมนตรีว่า “ไม่สมควรรับหลักการ” ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 ซึ่งวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่ยังจำกัดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้บุคคลย่อมเสมอกันตามกฎหมายได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยความแตกต่างในเร่องเพศ มีเสรีภาพภายใต้หลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญของบุคคลกล่าวคือ “บุคคลที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญแตกต่างกัน ย่อมได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน”

โดยหลักความเสมอภาคของสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวเกี่ยวกับเพศของคู่สมรสสามารถดำเนินการได้โดยบัญญัติกฎหมายเฉพาะขึ้นมาใหม่เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนถึงหลักกฎหมายที่ได้วางรากฐานว่าด้วยเรื่องสถาบันครอบครัวไว้ตั้งแต่อดีตกาล

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 กำหนดไว้ว่าชายและหญิงเท่านั้นที่จะมีสิทธิในการสมรสกัน แม้ว่าจะดูเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล แต่บัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาสอดคล้องตามธรรมชาติ และตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของไทย

จากแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าควรตรากฎหมายรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็น “กฎหมายเฉพาะ” ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งยึดถือหลักการตามธรรมชาติของมนุษย์และวิถีดั้งเดิม