จับตา #ประชุมสภา พิจารณากฎหมายน่าสนใจหลายฉบับ

หลังเสร็จศึกพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วาระหนึ่งไปในช่วงตีหนึ่งของวันที่ 3 มิถุนายน 2565 สัปดาห์ถัดมา ตั้งแต่วันที่ 6-10 มิถุนายน 2565 ฝ่ายนิติบัญญัติมีกำหนดนัดพิจารณาร่างกฎหมายที่น่าจับตาหลายฉบับ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต หรือที่เรียกลำลองว่า #สุราก้าวหน้า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ #สมรสเท่าเทียม และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแก้ไขให้สอดคล้องกับการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง

ประชุมวุฒิสภา แก้กฎหมายแพ่งหุ้นส่วน-บริษัท

ในวันที่ 6 มิถุนายน 2565 วุฒิสภามีนัดพิจารณาร่างกฎหมายสองฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน บริษัท จุดที่น่าสนใจคือการแก้จำนวนผู้ก่อตั้งบริษัทขั้นต่ำ จากเดิมที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าขั้นต่ำที่สามคนถึงจะก่อตั้งบริษัทได้ ก็ลดลงเหลือสองคน และร่างกฎหมายอีกฉบับที่วุฒิสภามีนัดพิจารณา คือ ร่างพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ …. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลุ้นลงมติรับหลักการ #สุราก้าวหน้า #สมรสเท่าเทียม

ฟากของสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 มีนัดพิจารณาร่างกฎหมายที่น่าสนใจหลายฉบับ โดยจำนวนสามฉบับเป็นร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรต้องลงมติวาระหนึ่งว่าจะรับหลักการหรือไม่ ได้แก่

๐ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย 

๐ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า #สุราก้าวหน้า เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2563 ใช้เวลาปีกว่าจึงได้เข้าสู่การพิจารณาวาระหนึ่งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2565 อย่างไรก็ดี สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้ลงมติรับหลักการในวาระหนึ่ง เนื่องจากครม. ขอรับร่างไปศึกษาก่อน 60 วัน แต่ยังไม่ทันที่สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติอนุมัติว่าจะให้ครม. นำร่างไปศึกษาก่อน 60 วันหรือไม่ ก็เกิดเหตุ #สภาล่ม เนื่องจากจำนวนส.ส.ไม่ถึงองค์ประชุมเสียก่อน จึงต้องยกยอดมาลงมติในสัปดาห์ถัดไปในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรก็อนุมัติให้ครม.นำร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษาก่อน 60 วัน 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต #สุราก้าวหน้า คือ การกำหนดให้ผู้ที่ผลิตสุราเพื่อการบริโภคไม่ต้องขอใบอนุญาตและไม่มีความผิด ไม่กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติการขอใบอนุญาต เช่น ทุนขั้นต่ำในการจดทะเบียน และไม่กำหนดหลักเกณฑ์กำลังการผลิต กำลังแรงม้า ฯลฯ เปิดทางผู้ประกอบการรายย่อย

๐ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. #สมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล เพื่อแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการสมรส โดยกฎหมายแพ่งที่ใช้ปัจจุบันยังจำกัดการสมรสเฉพาะผู้มีเพศตามทะเบียนราษฎรเพศชายและหญิง ร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอให้ปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องเพศในการสมรส ไม่ว่าบุคคลจะเป็นเพศใดก็สามารถจดทะเบียนสมรสเพื่อก่อตั้งครอบครัวได้ 

ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563 และเข้าสู่การพิจารณาวาระหนึ่งเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ก็ถูกครม. ขอนำไปศึกษาก่อน 60 วันเช่นเดียวกับ #สุราก้าวหน้า วันที่ 8 มิถุนายน 2565 นี้ จึงเป็นนัดชี้ชะตาของร่างกฎหมายสำคัญที่จะกำหนดสิทธิก่อตั้งครอบครัวสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ดันร่างพ.ร.บ.ตำรวจ และกฎหมายลูกเลือกตั้งส.ส.

วันที่ 9-10 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) มีนัดพิจารณาร่างกฎหมายที่น่าสนใจอีกสามฉบับ โดยเป็นการพิจารณาในวาระสองและวาระสาม ได้แก่

๐ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. หนึ่งในร่างกฎหมายกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หมวด 16 ว่าด้วยการ “ปฏิรูปประเทศ” ด้านกระบวนการยุติธรรม โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ มีลักษณะกำหนดเนื้อหาใหม่ทั้งฉบับ ไม่ได้แก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่ยังคงใช้บังคับอยู่ ดังนั้น หากร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระสองและวาระสาม จนสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมาย ก็จะมีผลเป็นการยกเลิกพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 รวมไปถึงประกาศคสช. ที่กำหนดแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 อาจกล่าวได้ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ “รีเซ็ต” กฎหมายตำรวจเดิม และกำหนดระบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อันเป็นหนึ่งในแผนการ “ปฏิรูปประเทศ” ที่คสช. ตั้งเป้าหมายไว้

๐ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งแก้ไขให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องระบบเลือกตั้ง ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ จะเป็นกติการสำคัญสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า

นอกจากร่างกฎหมายที่รัฐสภาต้องพิจารณาวาระสอง-สาม ทั้งสามฉบับ รัฐสภายังมีนัดพิจารณาร่างกฎหมายอื่นๆ ดังนี้

๐ ร่างพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีได้นำร่างขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อ 31 มกราคม 2565 แต่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 146 กำหนดให้รัฐสภาต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ หากรัฐสภาประสงค์จะยืนยันตามที่ลงมติเดิม ต้องใช้มติไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกสองสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ แต่ถ้าเสียงไม่ถึงสองในสาม ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะเป็นอันตกไป

“มาตรา 146 ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนําพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว”

๐ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวนสามฉบับ เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย สิทธิชุมชน และคุณสมบัติและที่มาของนายกรัฐมนตรีและความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

๐ ร่างข้อบังคับประชุมรัฐสภา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐ