รัฐบาลต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “จำกัดการรวมกลุ่ม” ก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-นายกเมืองพัทยา

23 มีนาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 17) โดยขยายออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 31 พฤษภาคม 2565 ซึ่งการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้ จะส่งผลให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นการเลือกตั้งภายใต้การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการกำหนดมาตรการจำกัดการรวมกลุ่มหรือการทำกิจกรรม

ตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 42 ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2565 กำหนดให้ใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 37 โดยมีสาระสำคัญว่า “ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีได้รับอนุญาต จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย…”

โดยข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้กำหนดจำนวนในการรวมกลุ่มกันตามแต่ละประเภทของพื้นที่การควบคุมโรค ดังนี้

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคล ที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน
  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 200 คน
  • พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 คน
  • พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกัน มากกว่า 1,000 คน
  • พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ (ในทุกพื้นที่) ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากคำแถลงของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ระบุว่า ศบค. ได้กำหนดให้ “กรุงเทพมหานคร และ ชลบุรี เป็นพื้นที่สีฟ้า” หรือ พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ดังนั้น จึงไม่มีการกำหนดจำนวนในการรวมกลุ่มของผู้คน แต่การรวมกลุ่มทำกิจกรรมใดๆ ยังต้องขออนุญาต มิเช่นนั้น อาจจะต้องเสี่ยงกับการถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชน ระบุว่า นับถึงวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง หรือ แสดงออกทางการเมือง ไม่น้อยกว่า 1,445 คน หรือ ไม่น้อยกว่า 623 คดี โดยในบรรดาผู้ที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ ไม่ได้กระทำการใดที่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแต่ก็ถูกดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ยกตัวอย่าง เช่น คดีเกี่ยวกับ “คาร์ม็อบ” ซึ่งเป็นการชุมนุมรูปแบบใหม่โดยใช้การแห่ขบวนรถยนต์เพื่อลดความแออัด ไม่มีการสัมผัส แต่ก็มีการตั้งข้อดำเนินคดี นอกจากนี้ ในหลายกรณียังเป็นการดำเนินคดีที่เป็นการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งไม่เข้าข่ายการรวมกลุ่มในสถานที่แออัด หรือ ทำกิจกรรมในเชิงยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อาทิ คดีชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 และในท้ายที่สุด ศาลก็มีคำสั่งให้ยกฟ้อง เป็นต้น