เปิดเส้นทางพรรคเล็ก จาก ส.ส. ปัดเศษ สู่ผู้กำหนดชะตากรรมรัฐบาล

ผลลัพธ์หนึ่งจากระบบเลือกตั้งสุดพิสดารตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือการตบเท้าเข้าสู่สภาของบรรดาพรรคเล็กซึ่งมีที่นั่ง ส.ส. อยู่ในมือเพียงหลักหน่วยต้น ๆ เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำเผด็จการทหารที่ผ่านการฟอกขาวตนเองด้วยการเลือกตั้งมีเสียงปริ่มน้ำในช่วงแรก จึงเกิดปฏิบัติการณ์ “แจกกล้วย” ให้กับพรรคเล็กเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาล ภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ส.ส. “ปัดเศษ” มีอำนาจต่อรองเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังเพลี่ยงพล้ำและสภาเสียงปริ่มน้ำที่ต้องการเสียงของพรรคเล็กเป็นอย่างยิ่ง
ย้อนดูเส้นทางของพรรคเล็ก จากที่เป็นผลผลิตอันผิดเพี้ยนของระบบเลือกตั้งและสูตรคำนวณที่นั่ง จนมาอยู่ในการดูแลของ “ฤๅษี” ชื่อธรรมนัส และอาจเป็นส่วนหนึ่งของการเดินเกมทางการเมืองล้มรัฐบาล

มหัศจรรย์สูตรคำนวณของ กกต. กำเนิดพรรคเล็ก ส.ส. ปัดเศษ

ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับของมีชัย ฤชุพันธุ์ มือร่างรัฐธรรมนูญเจ้าประจำให้กับคณะรัฐประหาร คือลูกผสมของสัตว์ประหลาดที่ผ่านการ “ตัดแต่งพันธุกรรม” ให้ออกรับใช้เป้าหมายทางการเมืองหนึ่ง คือการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในแง่หนึ่ง มีการนำหลักการของ “ส.ส. ที่พึงมี” แบบระบบเลือกตั้งเยอรมนีมาใช้ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ใช้บัตรเพียงใบเดียวแทนที่จะเป็นสองใบเพื่อปิดโอกาสไม่ให้ประชาชนได้เลือก “คนที่ชอบ พรรคที่ใช่” แยกกันเหมือนระบบเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา
ความพยายามที่จะสร้างรัฐบาล “ผสม” จากความเกรงกลัวนักการเมืองยิ่งส่งผลร้ายแรงขึ้นเมื่อเกิดการคิดคะแนน “ปัดเศษ” ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มหัศจรรย์ทางกฎหมายและคณิตศาสตร์ได้พร้อมใจกันเนรมิต ส.ส. ให้กับพรรคเล็กมากมาย ซึ่งในช่วงเวลาอันยาวนานระหว่างการประกาศคะแนนเสียงและการประกาศที่นั่ง ส.ส. อย่างเป็นทางการ ก็มีแต่เรื่องให้ชวนน่าสงสัย
จุดสนใจหลักของระบบเลือกตั้งของมีชัยนี้คือการคำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งเกิดจากการนำ ส.ส. ที่พึงมีมาหักลบกับจำนวน ส.ส. เขตที่พรรคนั้นได้เพื่อชดเชยจำนวนเก้าอี้ทั้งหมดให้เท่ากับเก้าอี้ที่พึงมี ดังนั้น ทันทีที่ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ในวันที่ 28 มีนาคม 2562 มีหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ สื่อ หรือประชาชนทั่วไป ได้ลองนำคะแนนที่ กกต. ประกาศมาลองคิดคำนวนเพื่อหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค โดยแม้จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็มีฉันทามติร่วมกันว่าพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้นต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อยประมาณ 70,000 คะแนนขึ้นไป
หากเป็นไปตามสูตรข้างต้น สภาผู้แทนราษฎรแรกในรอบกว่าเจ็ดปีของไทยจะมีพรรคการเมืองทั้งหมด 16 พรรค โดยพรรคที่ประกาศตัวไม่สนับสนุนประยุทธ์นำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่จะมี ส.ส. ทั้งหมด 253 ที่นั่ง ทำให้กลายเป็นเสียงข้างมากในสภา ส่วนพรรคที่สนับสนุน คสช. และการสืบทอดอำนาจนั้นจะมี 123 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคที่มีจุดยืนไม่ชัดเจนที่เหลือ ไม่ว่าจะทั้งภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ จะมีทั้งหมด 124 ที่นั่ง
ประวัติศาสตร์ไทยคงจะเปลี่ยนไปหากผลการเลือกตั้งเป็นไปตามนี้ แต่แล้วก็เกิดสูตรคำนวณใหม่ของ กกต. ที่เปลี่ยนตัวเลขที่นั่งพร้อมด้วยสมการทางการเมืองไปทั้งหมด ไม่ว่าจะก่อนการเลือกตั้งหรือหลังการประกาศคะแนนอย่างเป็นทางการ กกต. ไม่เคยเปิดเผยหรือตอบคำถามสื่อได้ว่าจะใช้สูตรคำนวณแบบใดในการคิด ส.ส. บัญชีรายชื่อ จนนำมาสู่วลี “ไม่มีเครื่องคิดเลข” นอกจากนี้ กกต. ยังมิวายยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกว่าสูตรคำนวนที่เขียนไว้ในกฎหมายเลือกตั้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
เวลาผ่านไป 45 วันหลังจากที่สังคมทราบผลการเลือกตั้ง กกต. จึงได้เปิดเผยตัวเลขที่นั่งในสภาออกมา ในเอกสารแจกแจง ปรากฏตัวเลขที่ไม่ตรงกับที่ผู้เชี่ยวชาญหรือสื่อพยายามคำนวณก่อนหน้า ตามสูตรคำนวณของ กกต. พรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรจะเพิ่มขึ้นเป็น 27 พรรค โดยมีพรรคที่ได้ที่นั่งเพิ่มมาทั้งหมด 10 พรรค แต่ละพรรคได้ไป 1 ที่นั่ง ทั้งนี้ พรรคที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือพรรคไทรักธรรมที่ 33,574 คะแนน ในขณะที่ผู้เสียหายหลักคือพรรคที่ประกาศตัวต่อต้านการสืบทอดอำนาจ จากเดิมที่ได้เสียงข้างมาก 253 เสียง เหลือเพียง 247 เสียง โดยพรรคอนาคตใหม่พรรคเดียวหายไปถึง 7 ที่นั่ง
ในบรรดาพรรคเล็กที่ภายหลังจะเข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์ทั้ง 12 พรรค มีเพียงพรรคประชาชนปฏิรูปของไพบูลย์ นิติตะวัน เจ้าของคะแนนเสียง 45,374 คะแนนเท่านั้นที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ ในขณะที่อีก 11 พรรคที่เหลือไม่เคยประกาศจุดยืน ในสภาวะที่สูตรคำนวณของ กกต. ทำให้เสียงไม่ขาดไปทางใดทางหนึ่ง การเอา 11 เสียงเข้าแคมป์ของตนเองจึงเป็นกุญแจที่สำคัญยิ่งในการจัดตั้งรัฐบาล
ในฟากฝั่งพรรคพลังประชารัฐ “พี่ใหญ่” ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ส่งลูกน้องคนสนิท ธรรมนัส พรหมเผ่า เดินสายเจรจากับพรรคเล็กให้มาเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคทหาร ในช่วงแรกที่มีการต่อรองกันถึงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะเก้าอี้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการคลัง แต่ในท้ายที่สุด พรรคเล็ก 11 พรรคก็แถลงข่าวร่วมกันเพื่อเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่หวังเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาเอาเอง ซึ่งเมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีกันแล้ว ก็ไม่ปรากฏตัวแทนจากพรรคเล็กได้เป็นรัฐมนตรีเลย
การส่งธรรมนัสเป็นหัวโต๊ะในการเจรจากับพรรคเล็กได้ทำให้ ส.ส. จากพะเยามีอิทธิพลอย่างมากในการคุมเสียงของบรรดา ส.ส. ปัดเศษ และยิ่งรัฐบาลในช่วงแรกนั้นมีเสียงปริ่มน้ำ ห่างจากฝ่ายค้านไม่มาก ความสามารถในการเลี้ยงพรรคเล็กของธรรมนัสจึงทวีความสำคัญมากขึ้น ในเดือนกันยายน 2562 พิเชษฐ สถิรชวาล พรรคประชาธรรมไทย เคยมีเรื่องผิดใจกับรัฐบาล หลังจากไม่ได้รับการจัดสรรเก้าอี้กรรมาธิการอย่างที่หวัง พิเชษฐ ก็ประกาศไม่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกต่อไป ส่งผลให้ธรรมนัสต้องรีบไปคุยด้วยใหม่เพื่อโน้มน้าวให้อยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป จนนำไปสู่วลีอันลือลั่นของธรรมนัสว่า
 “ผมเป็นคนเลี้ยงลิง เลยต้องเอากล้วยให้ลิงกินตลอดเวลา ขณะนี้เชื่อว่ากินจนอิ่มแล้วน่าจะพอได้แล้ว”
แม้ว่าธรรมนัสจะออกมากล่าวขอโทษสำหรับการเปรียบเทียบในภายหลัง แต่คำพูดนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงสถานะของ “คนเลี้ยงลิง” เหนือเหล่าพรรคเล็ก ๆ มากมาย แม้ต่อมาจะมีบางพรรคเช่น ไทยศรีวิไลย์ของมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ แยกตัวออกไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ แต่ธรรมนัสก็ยังคุมเสียง “เศษ” ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และยังใช้พรรคเล็กเหล่านี้เป็น “หมาก” ในการเมืองของตนเองในเวลาต่อมา

ฤๅษีเดินหมากใช้พรรคเล็กโหวตไม่ไว้วางใจ ต่อรองเก้าอี้ รมต.

นอกจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบของฝ่ายค้านแล้ว สำหรับฝ่ายรัฐบาล ผลการลงคะแนนไม่ไว้วางใจนี้ก็เป็นเหมือนการลองกำลังของรัฐมนตรีด้วยกันเอง หากใครได้คะแนนมาก เก้าอี้ของตนเองก็จะยังคงปลอดภัย ในทางกลับกัน หากใครได้คะแนนบ๊วย ก็อาจจะต้องเสียหน้าและเริ่มถูกตั้งคำถามจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ได้
ในรัฐบาลของประยุทธ์ที่มีพรรคร่วมรัฐบาลมากเป็นประวัติการณ์ คะแนนการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับธรรมนัสผู้มีแผลติดตัวมากมาย ตั้งแต่การถูกขุดคุ้ยว่าเคยถูกถอดยศออกจากราชการ วุฒิการศึกษาที่มาจากมหาวิทยาลัยที่น่าสงสัย ไปจนถึงถูกแฉกลางสภาว่าเคยติดคุกเรื่องคดียาเสพติดที่ออสเตรเลีย ทำให้ธรรมนัสกลายเป็นผู้ได้รับคะแนนเสียง “ไว้วางใจ” น้อยที่สุดในบรรดาหกรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563
อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ธรรมนัสก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มากบารมี “แจกกล้วย” ของตนเอง เมื่อเขาได้คะแนนสูงสุดเทียบเท่าพี่ใหญ่ประวิตร และมากกว่าประยุทธ์เสียด้วยซ้ำ จนทำให้มีกระแสข่าวว่าประยุทธ์ถึงกับแหย่ว่า “ถ้าคะแนนเยอะขนาดนี้ มาเป็นนายกฯ ดีกว่า” แต่ก็มีตัวแทนรัฐบาลรีบออกมาปฏิเสธทันควัน
พรรคเล็กกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในการเดินเกมทางการเมืองของธรรมนัสในการอภิปรายครั้งที่สามในเดือนกันยายน 2564 โดยมีกระแสข่าวลือสะพัดว่าธรรมนัสต้องการเอาประยุทธ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็ปรากฏภาพของ “ฤๅษี” นั่งอยู่ในสภาล้อมรอบด้วย ส.ส. จากพรรคเล็ก เพื่อล็อบบี้ให้โหวตคว่ำประยุทธ์และบังคับให้มีการปรับครม. ใหม่ โดยเฉพาะเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นของอนุพงษ์ เผ่าจินดา หนึ่งใน 3ป. มาตั้งแต่การรัฐประหาร
แม้ว่าแผนล้มประยุทธ์จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ผลการลงคะแนนก็ทำให้ประยุทธ์เกรี้ยวกราดเป็นอย่างมาก เพราะในบรรดาหกรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกลับได้คะแนนรองบ๊วย เพียง 264 คะแนน ตามหลังเฉลิมชัย ศรีอ่อน อันดับหนึ่งที่ได้ 270 คะแนน โดยได้แรงจากพรรคเล็ก 4 พรรคในมือธรรมนัสที่ร่วมกันโหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี รวมถึงส.ส. ประชาธิปัตย์บางคนที่แสดงตัวไม่เห็นด้วยกับประยุทธ์
ผลจากการลงมติไม่ไว้วางใจประยุทธ์ของพรรคเล็กทำให้ธรรมนัสและนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ต้องหลุดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยคำสั่งฟ้าฝ่าของประยุทธ์ แต่ธรรมนัสก็ยังคงมีพรรคเล็กเป็นเครื่องมือในสภาไว้ในการต่อรองครั้งต่อไป

พรรคเล็กชงสภาล่ม เปิดทางธรรมนัสขอตำแหน่ง รมต.

หมากต่อรองตาต่อไปของ “ผู้กองธรรมนัส” เกิดขึ้นเมื่อมีไลน์หลุดโดยปรากฏแชทของสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเลือกจะยืนเคียงข้างประยุทธ์ เขียนในทำนองว่าให้ทำโพลเพื่อชี้นำให้เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐตกต่ำเพราะธรรมนัส จากนั้นในวันรุ่งขึ้น ก็มีกระแสข่าวว่าธรรมนัสจะลาออกจากพรรคพลังประชารัฐพร้อมกับ ส.ส. ในมือของตัวเอง
ภายในวันเดียวกันนั้นเอง ในระหว่างการประชุมสภาวันแรกของปี 2565 พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม หนึ่งในพรรคเล็ก ได้รับบทบาทเป็นผู้ชงให้สภาล่ม โดยการเสนอให้นับองค์ประชุม เนื่องด้วยวิกฤตในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส. เข้าประชุมบางตา แม้ว่านิโรธ สุนทรเลขา วิปรัฐบาล จะขอร้องให้สมาชิกพรรคอยู่ในห้องประชุมก่อน แต่หลายคนก็เลือกจะไปที่บ้านป่ารอยต่อ ฐานหลักของประวิตร เพื่อรอดูการตัดสินใจของธรรมนัสและพวก ดังนั้นเมื่อเห็นว่า ส.ส. ไม่ครบองค์ประชุม สุชาติ ตันเจริญ ก็รีบสั่งปิดการประชุมทันที เป็นการเปิดทางให้ ส.ส. ที่เหลือตามไปสมทบกับสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอื่น ๆ ได้
สำนักข่าวมติชนรายงานว่า ภายในการประชุม ธรรมนัสได้เปิดโต๊ะเจรจาขอตำแหน่งรัฐมนตรีโดยอ้างถึง ส.ส. ที่มีในมือของตัวเอง แต่ท้ายที่สุด ที่ประชุมก็มีมติให้ขับธรรมนัสพร้อม ส.ส. อีก 20 คนพ้นพรรค ทำให้มีเวลา 30 วันในการหาพรรคการเมืองใหม่ก่อนที่สถานะผู้แทนจะสิ้นสุดลง

ทางเลือกพรรคเล็ก สั่นทะเทือนถึงรัฐบาล

เมื่อมีกระแสข่าวว่าบ้านใหม่ของธรรมนัสคือพรรคเศรษฐกิจไทย ก็ลือตามกันมาอีกว่าพรรคเล็กจะพร้อมกันยุบพรรคเพื่อเข้าร่วมกับ “ฤๅษี” ซึ่งจะส่งผลให้มีอำนาจต่อรองในมือมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะในสภาวะรัฐบาลกลับมามีเสียงปริ่มน้ำ เสียงของพรรคเล็กจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
พิจารณาถึงจำนวนสมาชิกส.ส. ในปัจจุบัน (มกราคม 2565) มีทั้งหมด 475 คนที่ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ แบ่งเป็นฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล 246 เสียง พรรคฝ่ายค้าน 203 เสียง และส.ส. ก๊วนธรรมนัสอีก 21 เสียง หากพรรคเล็กซึ่งในปัจจุบันจับกลุ่มกันอยู่ 9 พรรค 9 ที่นั่ง เลือกที่จะตามธรรมนัสไปทั้งหมด ก็จะทำให้ธรรมนัสมีส.ส. อยู่ในมือถึง 30 คน ซึ่งหากกลุ่มนี้เลือกที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายค้าน ก็นับว่าเป็นจุดจบของรัฐบาลและประยุทธ์อย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลจะเสียเสียงข้างมากในสภาไป ยังไปนับรวมถึงตำแหน่งประธานและรองประธานสภาที่ปกติจะต้องงดออกเสียงโดยธรรมเนียมอยู่แล้ว การผ่านร่างกฎหมายสำคัญ ๆ นั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย
นับจากนี้พรรคเล็กจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง เพราะไม่ว่าจะเลือกไปฝั่งไหน ก็จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่ดี ด้วยสถานะเช่นนี้อาจจะทำให้พรรคเล็กสามารถเจรจาต่อรองเอาอำนาจหรือผลประโยชน์ได้มากขึ้น ทั้งนี้ ก็ต้องไม่ลืมว่าทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบมาให้รัฐบาลและสภาอ่อนแอ บวกกับการคำนวณสูตรเลือกตั้งพิสดารของกกต. ที่มีที่มาจากคสช.