พล.อ.ประยุทธ์ เสี่ยง “แพ้โหวตในสภา” หลังก๊วนธรรมนัสย้ายค่าย

จากกรณีที่กรรมการบริหารพรรคพลังพลังประชารัฐ รวมทั้ง ส.ส.พรรค ทั้งหมด 78 เสียง มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส และพวกรวมทั้งหมด 21 คน ออกจากพรรค ผลที่จะตามมา คือ จำนวน ส.ส. ในพรรคพลังประชารัฐจะลดลงครั้งใหญ่ ถ้าหากทั้ง 21 คนยังคงสนับสนุนรัฐบาลเพียงแต่ย้ายไปอยู่พรรคใหม่ในชื่ออื่น ก็อาจกระทบต่อความอยู่รอดไม่มาก แต่ถ้าหาก 21 เสียงนี้พร้อมต่อรอง โดยการลงมติสวนรัฐบาลบ้าง เสียงฝ่ายรัฐบาลอาจจะมีสภาวะ “ปริ่มน้ำ” หรือมีเสียงสนับสนุนในสภาเกินกึ่งหนึ่งมาเพียงเล็กน้อย 
สภาวะแบบนี้อาจจะส่งผลให้รัฐบาลพ่ายแพ้ในการลงมติสำคัญๆ ที่อาจเกิดขึ้นข้างหน้า เช่น ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องกติกาการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า รวมทั้งปรากฏการณ์ “สภาล่ม” เพราะมี ส.ส. เข้าประชุมไม่ถึงครึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้บ่อยขึ้น เมื่อเสียงที่จะช่วย “แบก” รัฐบาลนี้มีน้อยลง
จากการตรวจสอบข้อมูลจำนวน ส.ส. ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 คาดว่า น่าจะมี ส.ส. ในสภา 476 คน  โดยแบ่งเป็น

๐ ส.ส.พรรครัฐบาล 246 คน (+6 คน) ได้แก่

  • พลังประชารัฐ 94 (ไม่นับก๊วนธรรมนัสแล้ว)
  • ภูมิใจไทย 59
  • ประชาธิปัตย์ 51
  • ชาติไทยพัฒนา 12
  • เศรษฐกิจใหม่ 5
  • รวมพลังประชาชาติไทย 5
  • พลังท้องถิ่นไท 5
  • ชาติพัฒนา 4
  • รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2
  • ครูไทยเพื่อประชาชน 1
  • ไทรักธรรม 1
  • ประชาธรรมไทย 1
  • ประชาธิปไตยใหม่ 1
  • ประชาภิวัฒน์ 1
  • พลเมืองไทย 1
  • พลังชาติไทย 1
  • พลังธรรมใหม่ 1
  • พลังเพื่อชาติไทย 1
  • ก้าวไกล (งูเห่า) 5
  • ประชาชาติ (งูเห่า) 1 

๐ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 203 คน

  • เพื่อไทย 131
  • ก้าวไกล 47
  • เสรีรวมไทย 10
  • ประชาชาติ 6
  • เพื่อชาติ 6
  • เศรษฐกิจใหม่ 1
  • ไทยศรีวิไลย์ 1 
  • พลังปวงชนไทย 1 

๐ ส.ส.ก๊วนธรรมนัส 21 คน

ทั้งนี้ เนื่องจากตามรัฐธรรมกำหนดให้การลงมติสำคัญ อาทิ การลงมติผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภา ดังนั้น ถ้าหากจำนวน ส.ส. ในสภา อยู่ที่ 476 เสียง เสียงกึ่งหนึ่งของสภาจึงเท่ากับ 238 เสียง แต่ทว่า รัฐบาลมีเสียง ส.ส. ที่สังกัดพรรครัฐบาลเพียง 246 เสียง หรือมากกว่ากึ่งหนึ่งเพียงแค่ 8 เสียง เท่านั้น 
แม้จำนวนที่มีอยู่ยังเพียงพอให้กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐกล้าตัดสินใจเขี่ย 21 ส.ส.ก๊วนธรรมนัสออกในทันที แต่ก็เท่ากับ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่เหลืออยู่มีภาระมากขึ้นที่จะต้องเข้าประชุมและลงมติทุกนัดโดยไม่ขาด ไม่มีงูเห่า และ “เสียงไม่แตก” เพื่อประคองรัฐบาลนี้ให้ยังบริหารประเทศและพิจารณาผ่านกฎหมายต่อไปได้
อย่างไรก็ดี แม้ในทางกฎหมายจะไม่ได้ระบุให้นายกฯ ต้องลาออก หรือ ยุบสภา หลังการแพ้โหวตในสภา แต่การแพ้โหวตในสภาเป็นสัญญาณว่า รัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภา ซึ่งจะส่งผลให้การขับเคลื่อนกฎหมายผ่านสภาไม่ประสบผลสำเร็จ รวมถึงอาจจะถูก ส.ส. ลงมติไม่ไว้วางใจจนต้องพ้นจากตำแหน่ง 
หลังการสูญเสียจำนวน ส.ส. ในมือมากที่สุดในรอบนี้ ทางเลือกของ นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแก้ปัญหาความไม่ไว้วางใจของสภา จึงมีสองทางเลือก คือ ลาออก เพื่อให้สภาลงมติเลือกบุคคลที่ไว้วางใจคนใหม่มาดำรงตำแหน่งนายกฯ กับ การยุบสภา คืน อำนาจให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ว่าจะสนับสนุนใครเป็นรัฐบาล