ระเบียบสภาทนายความบังคับแต่งกายตามเพศกำเนิด นักศึกษานิติศาสตร์ ร้อง วลพ.​ เลือกปฏิบัติทางเพศ

ประเด็นเรื่องการแต่งกายสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย เป็นหนึ่งในปัญหาซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้เข้าพบตัวแทนสภาทนายความ ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อทนายความ 126 คน เพื่อเสนอให้แก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 20 (2) ซึ่งกำหนดเรื่องการแต่งกายสำหรับทนายความหญิงไว้ว่า "ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น" โดยสนส. เสนอให้แก้ไขข้อบังคับสภาทนายความเพื่อให้สอดคล้องกับเพศสภาพและเพศวิถี แต่ข้อบังคับสภาทนายความก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด 
อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทนายความเพียงอย่างเดียว เพราะชุดความคิดในการกำหนดการแต่งกายตรงตามเพศกำเนิด ยังไปปรากฏในระเบียบที่เกี่ยวกับผู้ฝึกอบรมวิชาว่าความ หรือสอบตั๋วทนาย สำหรับผู้ที่มีเพศสภาพต่างจากเพศกำเนิด หรือบุคคลข้ามเพศ (Transgender) ยังต้องใช้ระบบขออนุญาตเพื่อให้สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ หากฝ่าฝืนจะถูกตัดคะแนนสอบ
ข้อบังคับสภาทนายความ แต่งกายอบรมตั๋วทนายยึดตามเพศกำเนิด ฝ่าฝืนถูกหักคะแนนสอบ
เมื่อ 15 กรกฎาคม 2564 ชิษณ์ชาภา พานิช บัณฑิตปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางไปยังสำนักอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ (สำนึกฝึกอบรมวิชาว่าความ) เพื่อสมัครฝึกอบรมวิชาว่าความภาคทฤษฎี รุ่นที่ 57 หรือสมัครสอบตั๋วทนายภาคทฤษฎี แต่เอกสารที่ใช้ประกอบการสมัครนั้นยังไม่สมบูรณ์ ทางเจ้าหน้าที่ของสำนักฝึกอบรม จึงแนะนำให้นำเอกสารมายื่นใหม่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังตั้งข้อห่วงกังวลกับชิษณ์ชาภาด้วยว่า ตามระเบียบของสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ ไม่อนุญาตให้หญิงข้ามเพศแต่งกายในชุดผู้หญิงถึงแม้ว่าตามเพศสภาพของชิษณ์ชาภาจะเป็นหญิง มีการผ่าตัดแปลงเพศและศัลยกรรมหน้าอกแล้ว แต่ก็ต้องสวมเครื่องแต่งกายชุดผู้ชายเข้าห้องสอบ ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดคะแนนได้ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ชิษณ์ชาภาทำหนังสือขออนุญาตแต่งกายในชุดผู้หญิง อธิบายสภาพร่างกายว่าทำไมต้องแต่งกายเป็นหญิง พร้อมแนบในรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลที่ทำการแปลงเพศว่าได้รับการแปลงเพศแล้ว ติดรูปถ่ายที่อยู่ในสภาพปัจจุบันลงในใบอนุญาต และยื่นต่อผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความสภาทนายความ เพื่อนำเข้าที่ประชุมและพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่
ในระเบียบสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความ ว่าด้วยการสอบข้อเขียนวิชาว่าความ พ.ศ. 2563 ข้อ 5 (2) กำหนดว่าในการสอบวิชาว่าความ ผู้เข้าสอบจะต้องปฏิบัติตามระเบียบการสอบ โดยต้องติดบัตรประจำตัวผู้เข้ารับการอบรมหรือแสดงบัตรประชาชน และต้องแต่งกายสุภาพตามระเบียบของสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ กล่าวคือ ชาย จะต้องใส่กางเกงขายาวทรงสุภาพสีดำหรือกรมท่า เสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาว ผูกเนคไทสีดำ รองเท้าหนังหุ้มส้นสีดำหรือน้ำตาล ส่วนหญิงแต่งกายกระโปรงสีดำหรือสีกรมท่า เสื้อเชิ้ตสีขาว รองเท้าหนังหุ้มส้นสีดำหรือน้ำตาล นอกจากนี้ ระเบียบสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความ เรื่อง การฝึกอบรมวิชาว่าความ และการฝึกงานในสำนักงานทนายความ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2464 ก็กำหนดไว้ทำนองเดียวกัน
ชิษณ์ชาภาได้ทำหนังสือแจ้งความไม่ประสงค์ยื่นหนังสือขออนุญาตแต่งกายเป็นหญิง ส่งเป็นหลักฐานไปยังสำนักฝึกอบรมสภาทนายความ เพราะเหตุว่าระเบียบของสภาทนายความกำหนดแนวปฏิบัติที่เพิ่มภาระกับผู้ที่มีเพศสภาพไม่ตรงเพศกำเนิด และเป็นอุปสรรคที่มากขึ้น ทำให้ตัวชิษณ์ชาภารู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองเป็นนั้นผิดแผกแตกต่างไปจากมนุษย์คนอื่นในสังคม และถูกเลิกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ ชิษณ์ชาภาจึงใช้กลไกตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) เพื่อให้คณะกรรมการ วลพ. วินิจฉัยว่า การจำกัดสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพเพื่อเข้ารับการฝึกอมรบวิชาว่าความภาคทฤษฎีนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศหรือไม่ 
สภาทนายความยัน ข้อบังคับสอดคล้องกับเนติฯ-ศาล 
ทางประธานอนุกรรมการ วลพ. คณะที่สาม ได้มีคำสั่งเชิญสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ (ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง) และสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ (ผู้ถูกร้องที่สอง) มาชี้แจงต่ออนุกรรมการ วลพ. โดยสุเทพ สมจิตร ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกร้องทั้งสอง ได้ชี้แจงว่า
1) สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ (สภาทนายความ) เป็นองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับองค์กรวิชาชีพอื่นๆ อาทิ เนติบัณฑิตยสภา ศาล แต่ละองค์กรก็จะมีระเบียบในการแต่งกายชัดเจนโดยกำหนดการแต่งกายจากเพศกำเนิด สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ จึงจำเป็นต้องกำหนดระเบียบการแต่งกายอย่างเคร่งครัด และในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 หมวด 6 มารยาททนายความ มาตรา 53 ข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ (6) กำหนดรูปแบบการแต่งกายไว้ตามเพศกำเนิด สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ จึงต้องปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด เพราะจะเสี่ยงผิดข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 20 ที่กำหนดการแต่งกายของทนายความไว้อย่างชัดเจนโดยยึดตามเพศกำเนิด และอาจละเมิดอำนาจศาลด้วย หากบุคคลนั้นๆ แต่งกายตามเพศสภาพ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีผู้ใดใช้สิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพกับเนติบัณฑิตยสภา
2) ทั้งนี้ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายของสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ ยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับการขออนุญาตแต่งกายตามเพศสภาพ ที่ผ่านมา เคยมีกรณีที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมแต่งกายตามเพศสภาพมาสอบ ซึ่งก็ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ แต่มีการตัดคะแนนบุคคลนั้นๆ ตามดุยพินิจของคณะกรรมการในการสอบแต่ละครั้ง ที่ผ่านมามีการตัดคะแนนไม่เกินสองคะแนน
ที่ผ่านมา เคยมีกรณีที่ผู้ผ่านการฝึกอบรมมีเพศกำเนิดเป็นหญิงแต่มีเพศสภาพเป็นชายและจะเข้าร่วมพิธีรับมอบใบประกาศนียบัตรจากองคมนตรี โดยแต่งกายตามระเบียบที่กำหนดให้เพศชายแต่งกาย แต่บุคคลนั้นทำทรงผมไม่สุภาพ จึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีดังกล่าว
3) สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ จำเป็นต้องคงระเบียบการแต่งกายตามองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถแก้ไขระเบียบได้ โดยการแต่งกายตามระเบียบของสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ จะยึดตามคำนำหน้าของผู้เข้ารับการฝึกอบรม หากผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าได้  สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ ยินดีให้แต่งกายตามเพศที่ปรากฏในคำนำหน้านาม
4) ปัจจุบันสำนึกฝึกอบรมวิชาว่าความฯ เปิดทางให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถขออนุญาตแต่งกายตามเพศสภาพได้ แต่การพิจารณาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการสอบในแต่ละครั้ง และแม้ว่าคณะกรรมการสอบจะอนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพได้ แต่ก็จะถูกตัดคะแนนตามที่คณะกรรมการสอบพิจารณา เพราะเป็นการแต่งกายผิดระเบียบของสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ
5) หากศาล หรือเนติบัณฑิตยสภาอนุญาตให้ทนายความแต่งกายตามเพศสภาพได้ สภาทนายความและสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ อาจจะพิจารณาเกี่ยวกับระเบียบการแต่งกายให้สอดคล้องกับระเบียบของศาลและเนติบัณฑิตยสภาต่อไป
นอกจากห้าประเด็นข้างต้นแล้ว สภาทนายความยังให้การอีกว่าสภาทนายความและสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ ไม่ได้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศกับชิษณ์ชาภา พานิช โดยให้เหตุผลว่าสภาทนายความ เป็นองค์กรวิชาชีพ โดยมีสำนักฝึกอบรมเป็นส่วนหนึ่งของสภาทนายความ ซึ่งสำนักฝึกอบรมมีหน้าที่อบรมหลักสูตรเบื้องต้นในการว่าความ ฯลฯ ซึ่งในการอบรมวิชาว่าความ ก็มีข้อบังคับสภาทนายความกำหนดเรื่องการแต่งกายของผู้เข้าฝึกอบรมเอาไว้ และเมื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิชาว่าความผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรแล้วได้ใบอนุญาตว่าความ จะต้องเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาด้วยเพื่อให้มีสิทธิสวมชุดครุยในการว่าความในศาล ซึ่งข้อบังคับเนติบัณฑิตยภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 (2) กำหนดการแต่งกายของสมาชิกไว้ชัดเจน ตามพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507
ดังนั้นการที่จะเข้ารับการฝึกอบรมวิชาว่าความมีความจำเป็นต้องมีการแต่งกายตามระเบียบที่กำหนดไว้ เพราะเป็นการอบรมทางวิชาชีพที่มีความสัมพันธ์กับเนติบัณฑิตยสภาและศาลยุติธรรม ทุกองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพกฎหมายต่างกำหนดเรื่องการแต่งกายของเพศชายและหญิงไว้เฉพาะและสอดคล้องกับความเรียบร้อยและสภาพในการทำหน้าที่ต่อศาล และมีการรับรองในระเบียบ ข้อบังคับชัดเจนไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติเฉพาะผู้ร้องเป็นการเฉพาะราย
วลพ.ยังไม่วินิจฉัย เดินหน้าต่อร้องประธานสภา
มติชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม  2564 ชิษณ์ชาภา พานิช ได้เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือต่อชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากกรณีดังกล่าว
ชิษณ์ชาภา ระบุว่า “ระเบียบและแนวทางปฏิบัติดังกล่าวไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ จึงได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) แล้ว แต่สภาทนายความ ได้ยื่นคำร้องให้การปฏิเสธและขอให้คณะกรรมการ วลพ. ยกคำร้องดังกล่าว แต่ปัจจุบันยังไม่มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. ออกมา เกรงว่าหากวินิจฉัยไม่ทันจะไม่ทันวันสอบวิชาว่าความที่สภาทนายความจะประกาศในเร็วๆ นี้ จึงหวังว่าประธานสภาฯ จะให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้ได้”
 
ไฟล์แนบ
  • _1 (4 MB)
  • _1 (591 kB)