เปิดรายชื่อ ส.ว. ที่ลงมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกกลไกสืบทอดอำนาจ คสช.

ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มีความพยายามแก้ไขทั้งหมดสามภาค คือ มีการเสนอและเปิดการประชุมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาลงมติกันแล้วทั้งหมด สามครั้ง โดยหนึ่งในสาระสำคัญของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการเข้าไปจัดการกับกลไกสืบทอดอำนาจของคสช. ไม่ว่าจะเป็น วุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกของคสช. องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการคัดเลือกโดยอ้อมจากคสช. รวมถึงการรับรองบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรัฐประหาร
51686097748_75b428debb_b
อย่างไรก็ดี ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทั้งในวาระที่หนึ่งชั้นรับหลักการ และในวาระที่สามชั้นเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมาย ดังนั้น การลงมติของ ส.ว. จึงเป็นจุดชี้ชะตาของร่างแก้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ทั้งนี้ จากการดูผลการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งตลอดทั้งสามครั้ง พบว่า มี ส.ว. ที่เป็นองค์รักษ์พิทักษ์กลไกสืบทอดอำนาจของคสช. อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ดังนี้
1) กลุ่ม ส.ว. ที่ลงมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างแก้รัฐธรรมนูญแม้แต่ฉบับเดียว ได้แก่
  • พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2, อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, อดีตสมชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, อดีตสมาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
  • ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี อดีตเป็นที่ปรึกษาใน กมธ. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง
2) กลุ่ม ส.ว. ที่ลงมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีการยกเลิกกลไกสืบทอดอำนาจ คสช.
  • ร.อ.ประยุทธ เสาวคนธ์ อดีตสมาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
  • พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตสมชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, อดีตสมาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
  • พ.ต.อ.ยุทธกร วงเวียน อดีตผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
  • วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร อดีตสมชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, อดีตสมาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
  • สุรสิทธิ์ ตรีทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
  • เสรี สุวรรณภานนท์
โดยในการลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญ สามารถแบ่งออกเป็นสามครั้ง ได้ดังนี้
การลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญครั้งแรก เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 โดยมีการเสนอทั้งหมด 7 ร่าง ประกอบไปด้วยร่างจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้านเสนอเข้าสู่การพิจารณา 5 ฉบับ ร่างจาก ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ และร่างที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ 1 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้มี 4 ฉบับที่ให้ยกเลิกกลไกสืบทอดอำนาจคสช. ได้แก่ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ปฏิรูปประเทศ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ยกเลิกการนิรโทษกรรมคสช. และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่รวมทุกเรื่องเข้าด้วยกัน แต่สุดท้ายร่างเหล่านี้ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากเงื่อนไขเสียงของ ส.ว. 
การลงมติแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564 โดยมีการเสนอทั้งหมด 13 ร่างประกอบไปด้วยร่างจากส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เสนอเข้าสู่การพิจารณา 1 ฉบับ ร่างจากส.ส. พรรคฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ ซึ่งผลการลงมติในวาระแรก มีร่างผ่านเข้าสู่การพิจารณาเพียงฉบับเดียวเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. และในวาระที่สามก็ผ่านการพิจารณาได้สำเร็จ เป็นร่างฉบับเดียวที่เคยผ่านการลงมติของรัฐสภาได้สำเร็จ แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ปฏิรูปประเทศ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ยกเลิกการนิรโทษกรรมคสช. เป็นอันต้องถูกปัดตกทั้งหมด
การลงมติแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564 โดยมีร่างฉบับเดียวเข้าสู่การพิจารณา คือ ร่าง #รื้อระบอบประยุทธ์ ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ และผลการพิจารณาก็คือไม่ผ่านในวาระที่หนึ่ง