ศาลรัฐธรรมนูญ: ข้อเท็จจริงที่ไม่กระจ่างในคำวินิจฉัยศาล

10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ผลงาน "ช้ินโบว์แดง" อ่านคำวินิจฉัยในคดี "ล้มล้างการปกครอง" สั่งว่า การปราศรัยของอานนท์ นำภา, ไมค์ ภาณุพงศ์, รุ้ง ปนัสยา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เข้าข่ายการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 สั่งให้ทั้งสามคนและองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวต่อไปในอนาคตด้วย
ก่อนเริ่มอ่านคำวินิจฉัย ฝ่ายผู้ถูกร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนพยานก่อน โดยทนายความขอให้ศาลไต่สวนผู้ถูกร้องทั้งสามคน และขอนำสืบพยานที่เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และรัฐธรรมนูญ อีก 5 คน โดยพยานบางคนเดินทางมาศาลเพื่อเตรียมเข้าไต่สวนในวันนี้ด้วย ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า "พยานหลักฐานเพียงพอ" ที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ มีคำสั่งให้ยกคำร้อง และไม่ไต่สวนพยานที่ผู้ถูกร้องเสนอมา
หลังจากนั้น กฤษฎางค์ นุตจรัส ผู้รับมอบฉันทะจาก อานนท์ นำภา ได้ขอชี้แจงต่อศาลว่า ได้รับมอบหมายจากอานนท์ว่า หากไม่ได้รับอนุญาตให้มีการไต่ส่วนให้ตนออกจากห้องพิจารณาคดี เนื่องจากเห็นว่าไม่มีโอกาสต่อสู้คดี เพราะตามคำร้องทนายขอให้เบิกตัวอานนท์มาเบิกความต่อศาล ด้าน รุ้ง-ปนัสยา กล่าวว่า "หนูไม่ได้เป็นนักเรียนกฎหมาย หนูไม่ได้รู้กฎหมายอะไรก็อาจจะรู้น้อยนะคะเรื่องนี้ แต่หนูเข้าใจว่า การได้มาซึ่งความยุติธรรม อย่างน้อยควรจะต้องรับฟังทุกอย่างเท่าที่จะได้รับฟังได้ ซึ่งวันนี้เอง…อาจารย์ส.ศิวรักษ์มารออยู่ก็พร้อมแล้วที่จะไต่สวนถ้าศาลอนุญาต แต่ถ้าวันนี้ศาลไม่อนุญาตให้มีการไต่สวนและจะให้หนูรับฟังคำวินิจฉัยเลย โดยที่ทางหนูเองไม่ได้มีโอกาสที่จะแสวงหาความจริงเพิ่มเติมให้ศาลรับทราบเลย หนูก็คงต้องขอออกจากห้องพิจารณาเหมือนกัน" จากนั้นรุ้ง และทนายความทั้งหมดก็เดินออกจากห้องพิจารณาคดี
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า กรณีนี้ศาลใช้ระบบไต่สวน ซึ่งศาลแสวงหาข้อเท็จจริงได้ และศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากหลายๆ ฝ่าย จนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนที่สามารถจะวินิจฉัยได้ ศาลจึงสั่งงดการไต่สวน เป็นการสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนการจะไม่ฟังเป็นสิทธิของผู้รับมอบฉันทะ
ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า "ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงข้อกล่าวหา เอกสารประกอบคำร้องและพยานหลักฐานต่างๆที่อัยการสูงสุด ผู้กำกับการสภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี, เลขาธิการสภาความมั่นคง, ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ, อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ" 
เท่ากับว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกจากหลายแหล่ง ซึ่งล้วนเป็นข้อเท็จจริงจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยความมั่นคง ที่ส่งให้ศาล ขณะที่ศาลไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงที่สำคัญจากตัวผู้ถูกร้องเอง ซึ่งต้องการให้ศาลไต่สวนแต่ศาลกลับปฏิเสธ
แม้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจได้ว่า ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วเพียงพอหรือไม่ จำเป็นต้องไต่สวนพยานเพิ่มหรือไม่ แต่การวินิจฉัยคดีทุกคดีศาลรัฐธรรมนูญก็ยังผูกพันที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลในการพิจารณาคดีเท่านั้น ไม่อาจเอาความเข้าใจส่วนตัวจากการติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาใช้ได้ แต่ในคำวินิจฉัยคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการชุมนุมของผู้ถูกร้องทั้งสาม ที่ศาลรัฐธรรมนูญยกมาเป็นเหตุผลในการทำคำวินิจฉัย ซึ่งเชื่อได้ว่า หากผู้ถูกร้องทั้งสามได้มีโอกาสเบิกความต่อศาล จะต้องยืนยันว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่มีอยู่หรือไม่ได้เกิดขึ้น
จึงน่าสงสัยว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้ศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกขึ้นมาจากที่ใด มีหน่วยงานใดส่งข้อมูลมาให้ และการที่ศาลนำมาใช้เป็นเหตุในการทำคำวินิจฉัยทันทีโดยไม่รับฟังข้อเท็จจริงจากตัวผู้ร้องนั้น เป็นการทำคำวินิจฉันที่ถูกต้องแล้วหรือไม่??
ตัวอย่างเช่น
1. "ใช้ถ้อยคำหยาบคาย"
ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยระบุว่า "การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังจะละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นกระทำตาม"
หากพิจารณาจากถ้อยคำในการปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ของผู้ถูกร้องทั้งสามคนที่ศาลเองก็ได้ยกมาไว้เป็นส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยด้วยแล้ว ก็ไม่มีถ้อยคำใดที่เป็นถ้อยคำหยาบคายในการปราศรัย หากมีบุคคลอื่นที่เข้าร่วมในการชุมนุมใช้ถ้อยคำหยาบคาย และศาลได้รับทราบข้อเท็จจริงนั้นมาจากช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ศาลก็ต้องบรรยายให้เห็นชัดว่า มีบุคคลใด ใช้ถ้อยคำอย่างไรที่นับว่าหยาบคาย ถ้อยคำเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับตัวผู้ถูกร้องและการกระทำที่ถูกร้องอย่างไร และเมื่อไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงฝั่งผู้ถูกร้องเหตุใดศาลจึงเชื่อว่ามีข้อเท็จจริงเช่นนั้นเกิดขึ้น 
2. "ใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ"
ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยระบุว่า "มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม"
หากพิจารณาจากถ้อยคำในการปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ของผู้ถูกร้องทั้งสามคนที่ศาลเองก็ได้ยกมาไว้เป็นส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยด้วยแล้ว ศาลก็ไม่ได้อธิบายว่า ข้อความใดส่วนใดที่เป็นเท็จ เป็นเท็จอย่างไร และความจริงที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร อธิบายเพียงแต่ว่า "พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กัน เป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบันและจะดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต …" ซึ่งก็ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับเนื้อความที่ผู้ถูกร้องทั้งสามปราศรัย
ในทางตรงกันข้าม ศาลรัฐธรรมนูญยังยืนยันสิ่งที่ผู้ถูกร้องได้ปราศรัยอีก โดยระบุถึงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า "ประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนี้ อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของไทยมีพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน โดยจะต้องดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยเพื่อนำกองทัพต่อสู้ปกป้องและขยายราชอาณาจักรตลอดเวลาในยุคก่อนที่ผ่านมา ประกอบกับพระมหากษัตริย์ทรงถือหลักการปกครองตามหลักธรรมแห่งพุทธศาสนาและยึดถือทศพิธราชธรรมเป็นหลักการปกครองประเทศ…"
3. ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคลอื่น
ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยระบุว่า "การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมด เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ ผู้ถูกร้องใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคลอื่น ล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นให้ข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความเป็นจริง" 
หากศาลจะชี้ว่า ผู้ถูกร้องไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคลอื่น ก็ย่อมต้องแสดงข้อเท็จจริงได้ว่า มีบุคคลใดที่เห็นแตกต่างและบุคคลเหล่านั้นพยายามแสดงความคิดเห็น และมีการกระทำที่ผู้ถูกร้องปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างไรบ้าง แต่ศาลไม่ได้อธิบายให้เห็นถึงข้อเท็จจริงและที่มาของข้อเท็จจริงเหล่านี้
นอกจากนี้การ "การด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นให้ข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความเป็นจริง" ที่ศาลกล่าวถึง ก็ไม่ได้อธิบายว่าหมายถึงการกระทำใดของผู้ถูกร้อง และข้อเท็จจริงที่บิดเบือนนั้น คือ ข้อเท็จจริงใด ความเป็นจริงที่ไม่บิดเบือนเป็นอย่างไร แต่ศาลไม่ได้อธิบายให้เห็นถึงข้อเท็จจริงและที่มาของข้อเท็จจริงเหล่านี้
4. มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะของเครือข่าย สำหรับการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง
ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัย ระบุว่า "ปรากฏข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องมีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะของเครือข่าย สำหรับการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง ในเหตุการณ์ผู้ถูกร้องมีส่วนอภิปราย ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายความเสมอภาคแลภราดรภาพ ผลของการกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง ที่สามนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด" 
การชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ไม่มีความรุนแรง และการชุมนุมที่ต่อเนื่องมาหลังจากนั้นก็ไม่มีความรุนแรง จนกระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ที่มีความรุนแรงจากตำรวจเข้าสลายการชุมนุม วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่มีความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามเป็นกลุ่มบุคคลสวมเสื้อสีเหลือง และวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่มีความรุนแรงจากตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม แต่ไม่มีความรุนแรงจากฝ่ายผู้ชุมนุม 
หลังจากเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม 2563 ก็ยังมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่ผิดหลักสากลของตำรวจอีกหลายครั้ง จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 ที่เกิดการปะทะบริเวณแยกดินแดงต่อเนื่องกันหลายวัน เกิดการปรากฏตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมในนาม "ทะลุแก๊ส" ที่ใช้อุปกรณ์เป็นรถมอเตอร์ไซต์ พลุ ประทัด ลูกกระทบ แต่การชุมนุมที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้แทบไม่ปรากฏข้อความหรือข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มีเพียงการขับไล่รัฐบาลเป็นหลัก และยังเป็นช่วงเวลาที่อานนท์ นำภา และไมค์ ภาณุพงศ์ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วย 
หากศาลรัฐธรรมนูญจะระบุข้อเท็จจริงว่ามีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะของเครือข่ายสำหรับการใช้ความรุนแรง ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้องทั้งสาม ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องระบุข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ให้เห็นพฤติการณ์ที่ชัดเจน และระบุที่มาของข้อเท็จจริงเหล่านี้ให้ได้ด้วย