เลือกตั้งท้องถิ่น : รู้จัก อบต. และการเตรียมตัวก่อนไปเลือกตั้ง 28 พฤศจิกายน

หลังจากที่ถูก “แช่แข็ง” มานับตั้งแต่การรัฐประหาร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เคาะให้วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันที่ประชาชนที่มีชื่ออยู่ในพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะได้เลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. หลังจากที่ได้เริ่มเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกไปแล้วในระดับจังหวัด คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไปก่อนเมื่อปลายปี 2563 โดยครั้งสุดท้ายที่มีการจัดเลือกตั้งอบต. ก็ต้องย้อนกลับไปถึงปี 2557 หรือเมื่อเจ็ดปีมาแล้ว
ทั้งนี้ การเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้เป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ทำให้ตอนนี้ในบรรดาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด เหลือเพียงสมาชิกสภาและผู้บริหารกรุงเทพมหานครฯ และเมืองพัทยาเท่านั้นที่ยังไม่มีการปลดล็อคให้มีการเลือกตั้ง

๐ อบต. คืออะไร มีหน้าที่อะไร

อบต. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุดและมีเขตพื้นที่ที่ต้องดูแลอยู่นอกเขตเมือง ด้วยเหตุนี้ อบต. จึงเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลทุกข์สุขและให้บริการประชาชนในหมู่บ้านและตำบลแทนรัฐหรือส่วนกลาง ที่ไม่สามารถจัดบริการสาธารณะ หรือดูแลประชาชนทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง ข้อมูลจากกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ระบุว่าทั่วประเทศ มี อบต. ทั้งหมด 5,300 แห่ง โดยตัวเลขนี้ก็มีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ จากการควบรวม อบต. บางส่วนเพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการยกอบต. ที่มีความเจริญในระดับหนึ่งให้เป็นเทศบาลเพื่อให้มีอิสระในการบริหารงานมากขึ้น
พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 กำหนดให้ อบต. มีอำนาจหน้าที่ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ดูแลความระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดของถนน ป้องกันโรคและบรรเทาสาธารณภัย ไปจนถึงการจัดการศึกษาอบรมให้กับประชาชน และบำรุงรักษาศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
ทั้งนี้ อบต. มีแหล่งรายได้จากทั้งหมดสามช่องทาง คือ (1) รายได้ที่รัฐจัดเก็บและแบ่งสรรให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ (2) รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย (3) เงินอุดหนุนจากรัฐ เนื่องจาก อบต. เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีจำนวนมากที่สุด จึงได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐมากที่สุดตามไปด้วย ในปี 2564 เทศบาลและอบต. ทั่วประเทศได้รับเงินอุดหนุนรวมกันทั้งหมด 226,450 ล้านบาท ในขณะที่อบจ. 77 จังหวัดรวมกันได้เงินอุดหนุนเพียง 28,787 ล้านบาทเท่านั้น การไปเลือกตั้ง อบต. จึงมีความสำคัญมากในการกำหนดผู้ที่จะเข้ามาบริหารงบประมาณก้อนนี้

๐ โครงการสร้าง อบต.

เหมือนกันกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภท เช่น อบจ. หรือ เทศบาล โครงสร้างของ อบต. ประกอบไปด้วยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเช่นเดียวกัน โดยมีสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร
สำหรับตำแหน่งนายก อบต. จะมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และส่วน ส.อบต. นั้นมีที่มาจากการเลือกตั้งหมู่บ้านละหนึ่งคน โดยใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่หมู่บ้านใดจะมีประชากรไม่ถึง 25 คน ก็ให้ไปรวมกับหมู่บ้านใกล้เคียงจนครบ 25 คนและให้นับเป็นหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง ทั้งนี้ ส.อบต. จะต้องมีอย่างน้อยให้มีหกคน 
ทั้งนายก อบต. และ ส.อบต. จะอยู่ในวาระได้ครั้งละสี่ปี แต่ นายก อบต. จะอยู่ในตำแหน่งเกินสองวาระติดกันไม่ได้

๐ ใครเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

1. มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
4. คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
ดังนั้น ไม่ใช่ประชาชนทุกคนจะมีสิทธิเลือกตั้ง อบต. ประชาชนต้องตรวจสอบว่าที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของตนเองอยู่ในเขตความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปใด และตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ชัดเจนก่อนไปลงคะแนน 
หากประชาชนมีการย้ายที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของตัวเองออกจากตำบลเดิมหลังจากวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ก็จะขาดคุณสมบัติและถูกตัดมีสิทธิเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้ ในขณะที่หากใครย้ายทะเบียนบ้านแต่ยังอยู่ในตำบลเดิมก็จะยังมีสิทธิเลือกตั้ง อบต. อยู่ 
สำหรับใครที่มีความประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. แต่มีแผนจะย้ายที่อยู่ทะเบียนบ้าน จึงอาจจะต้องรอย้ายทะเบียนบ้านหลังวันเลือกตั้งผ่านไปแล้ว มิเช่นนั้นก็จะถูกตัดสิทธิได้

๐ ตรวจสอบสิทธิอย่างไร

การตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง อบต. นั้นสามารถทำได้ก่อนวันเลือกตั้ง 25 วันหรือตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา โดยสามารถดูชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือ ที่ทำการ อบต. หรือบริเวณที่ใกล้เคียงสถานที่เลือกตั้ง หรือหากเป็นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน คือตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ก็สามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากเอกสารที่ส่งมายังเจ้าบ้าน

อย่างไรก็ตาม หากไม่สะดวกไปตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยตนเองท ณ ที่ทำการ อบต. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้จัดทำเว็บไซต์ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิได้ผ่านทางช่องทางออนไลน์ โดยใส่เพียงเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ก็จะได้ข้อมูลว่าตนเองมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ และหน่วยเลือกตั้งอยู่ที่ไหน

ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง อบต. ทางออนไลน์ได้ที่ ลิงค์

อีกช่องทางออนไลน์หนึ่งที่สามารถตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งของตนเองได้ก็คือผ่านทางแอปพลิเคชัน “Smart Vote” ซึ่งจัดทำโดย กกต.

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Smart Vote

ระบบปฏิบัติการ Android ลิงค์

ระบบปฏิบัติการ IOS ลิงค์

๐ ไปเลือกตั้งไม่ได้ต้องทำอย่างไร

หากไม่สะดวกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ก็สามารถแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิของตนเองได้ตั้งแต่วันนี้จนกระทั่งถึงอีกหนึ่งอาทิตย์หลังวันเลือกตั้ง (21 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2564)

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ดังนี้

  • มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  • มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด

สำหรับช่องทางการแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ มีทั้งหมดสองช่องทาง ช่องทางแรกคือทำหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนอำเภอที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน โดยสามารถแจ้งได้ด้วยตนเอง ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแจ้งให้ หรือสามารถจัดส่งผ่านไปรษณีย์ก็ได้ สามารถโหลดแบบฟอร์มแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ส.ถ./ผ.ถ. ๑/๘) ได้ที่ ลิงค์

การกรอกแบบฟอร์มนั้นต้องกรอกเพียงหน้าแรกเท่านั้น ให้เขียนชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ที่อยู่ที่ติดต่อได้ และในช่อง “ขอแจ้งว่าข้าพเจ้ามีเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” ให้เขียนว่า “นายก/สมาชิกสภา อบต. ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564” พร้อมทั้งให้เลือกเหตุที่ทำให้ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ จากนั้นในขั้นตอนการเขียนซองจดหมาย ให้จ่าหน้าซองถึง “นายทะเบียนอำเภอ …” และระบุที่อยู่ที่ว่าการอำเภอของตนเอง

ดูตัวอย่างการกรอกเอกสารแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ที่ ลิงค์

ช่องทางที่สอง สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกทำหนังสือ ก็สามารถแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันสมาทโฟน Smart Vote ซึ่งจัดทำโดย กกต.

หากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อบต. ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่แจ้งหรือไม่มีเหตุอันควร ก็จะต้องเสียสิทธิในการสมัคร ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการเข้าชื่อทางกฎหมายบางประการ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดระยะเวลาการจำกัดสิทธิไว้ที่ครั้งละสองปี โดยสิทธิที่ถูกตัดไปมีดังนี้

  1. สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
  2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น

๐ เลือกตั้งอย่างไร

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 สามารถเดินทางไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งของตนเองได้ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น. 
ขั้นตอนการเลือกตั้งมีทั้งหมดห้าขั้นตอน 
1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
2. ยื่นหลักฐานที่ใช้แสดงตนในการเลือกตั้ง คือ บัตรประชาชน (หมดอายุก็ได้) หรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น ใบขับขี่ หรือ พาสปอร์ต
3. รับบัตรเลือกตั้ง โดยลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ ใบหนึ่งสำหรับเลือกนายกอบต. และอีกใบหนึ่งสำหรับเลือก ส.อบต. 
4. เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย
       · บัตรเลือกตั้งนายก อบต. สีแดง เลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน 
       · บัตรเลือกตั้ง ส.อบต. สีน้ำเงิน เลือกผู้สมัครได้ไม่เกินจำนวนที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น โดยสามารถเลือกน้อยกว่าได้ แต่เลือกมากกว่าไม่ได้
5. นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้ว หย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง
สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้จะไม่มีการเลือกตั้งนอกเขตหรือการใช้สิทธิล่วงหน้าเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเดินทางกลับไปที่ภูมิลำเนาของตัวเองเพื่อเลือกตั้งเท่านั้น