5 เหตุผล ที่สภาควรลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” พล.อ.ประยุทธ์

ในวันที่ 4 กันยายน 2564 จะเป็นวันชี้ชะตาของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ในฐานะนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรจะมีการลงมติหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจติดต่อกันมาเป็นระยะเวลากว่า 4 วัน โดยการลงมติในครั้งนี้ นับว่าเป็นการลงมติครั้งสำคัญ เพราะหากสภามีมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะทำให้มีการเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลคนใหม่ และนับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้มีรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่ใช่กลุ่มอำนาจเดิมที่ครองอำนาจมานานกว่า 7 ปี
ทั้งนี้ เพื่อให้สภาและประชาชนเห็นปัญหาและความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ไอลอว์ จึงขอนำเสนอ 5 เหตุผลที่สภาควรลงมติ "ไม่ไว้วางใจ" พล.อ.ประยุทธ์ ดังต่อไปนี้ 
1. เป็นผู้นำที่เข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารและ "สืบทอดอำนาจ"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยกเลิกรัฐธรรมนูญและรัฐสภา พร้อมเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ปกครองประเทศในระบอบเผด็จการทหารอำนาจเบ็ดเสร็จเป็นเวลากว่าห้าปีเต็ม แต่ก็ยังไม่อยากคืนอำนาจให้ประชาชน จึงวางเส้นทางการสืบทอดอำนาจของตัวเองผ่านเครื่องมือหลัก คือ รัฐธรรมนูญ 2560 และการดำเนินการ 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
หนึ่ง ออกแบบการเลือกตั้งและจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเอง: ระบบจัดสรรปันส่วนผสมแบบ MMA (Mixed Member Apportionment System) ที่ออกแบบขึ้นใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้มีบัตรเลือกเพียงหนึ่งใบ โดยผู้เลือกต้องกากบาทเลือกทั้ง ‘ส.ส.เขต' และ 'พรรคการเมือง’ ในใบเดียวกัน กติกาดังกล่าวส่งผลให้พรรค ‘พลังประชารัฐ’ ที่ชูพล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้เปรียบเป็นอย่างมากจากกลยุทธ์ที่อาศัยผู้มีอิทธิพลในท้องที่ต่างๆ เป็นตัวหลักในการหาเสียง เนื่องจากการมีบัตรใบเดียว เปรียบเสมือนการมัดมือชกให้ผู้ที่ต้องการเลือกจาก ส.ส. เขตจากตัวบุคคลที่ชื่นชออบ จำต้องส่งคะแนนให้พรรคที่บุคคลนั้นๆ สังกัดด้วย โดยก่อนการเลือกตั้ง 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ใช้กลยุทธ์ ‘การดูดส.ส.’ หรือการดึงตัวนักการเมืองจากพรรคใหญ่ และอดีตนักการเมืองที่มีฐานเสียงหรือมีอิทธิพลในระดับภูมิภาคเข้มแข็งให้มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค จนกระทั่งได้มา 37 ที่นั่งจาก ส.ส.พลังดูด และอีก 35 ที่นั่งจากนักการเมืองท้องถิ่น  
นอกจากนี้ สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ถูกใช้ในการเลือกตั้ง 2562 ยังกำหนดให้ต้องนำไปหักลบกับจำนวนส.ส.เขตเสียก่อน ส่งผลให้พรรคที่ครอบครองเก้าอี้ส.ส. จำนวนมาก อย่างพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐนั้นเสียเปรียบเป็นอย่างมาก และผลลัพธ์ที่ออกมาพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว
สอง แต่งตั้ง ส.ว. มาเลือกตนเองเป็นนายก: เมื่อได้เสียงสนับสนุนจำนวนหนึ่งจาก ส.ส. แล้ว ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 ยังได้ระบุที่มาของ ส.ว. ให้มาจากระบบการคัดเลือกพิเศษ โดยมี คสช.เป็นผู้สรรหาและคัดเลือก รวมทั้งมาตรา 272 ยังได้กำหนดให้การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการพิจารณาร่วมกันจากทั้ง 2 สภา และสามารถเสนอชื่อ 'นายกคนนอกฯ' ได้  ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงมั่นใจได้ว่า เสียง 1 ใน 3 ของสภาจะโหวตสนับสนุนตนเองเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะต้องเลือกตั้งกี่ครั้งภายในช่วงอายุของ ส.ว. ที่มีวาระยาวนานถึง 5 ปี ในขณะที่นายกฯ มีวาระละ 4 ปี ดังนั้น ส.ว.แต่งตั้งกลุ่มนี้จึงมีอำนาจเลือกนายกฯ ได้อย่างน้อยสองสมัย
นอกจากนี้ ส.ว.แต่งตั้งยังมีอำนาจอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น อำนาจในการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านโดย ส.ส.,  อำนาจร่วมกับ ส.ส. พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป, อำนาจการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในแง่นี้ ส.ว.จึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยคำยันอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ภายหลังเข้าสู่รัฐสภาให้มั่นคงได้ในระยะยาว 
สาม ยื้อ-คว่ำการแก้รัฐธรรมนูญ: เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฐานที่มาของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมตรี พล.อ.ประยุทธ์จึงจำเป็นต้องพยายามรักษาไว้มิให้ถูกแก้ไขได้ง่ายๆ เห็นได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรก ที่ถูกยื้อเวลามากกว่า 16 เดือน แม้จะระบุไว้ว่าเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับเริ่มจากกลวิธีการจัดตั้งกมธ.พิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาหนึ่งชุด และแม้ว่าจะมีการถกเถียงกันในรายละเอียดทุกประเด็น แต่กมธ.ชุดดังกล่าวกลับมีอำนาจเพียงทำรายงานสรุปข้อเสนอออกมาเท่านั้น
ต่อมาเมื่อพรรคการเมืองและประชาชนเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเดือนกันยายน 2563 ก็ยังตั้ง กมธ.พิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ขึ้นมาเพื่อถ่วงเวลาก่อนจะถึงขั้นรับหลักการในวาระแรก ต่อมา ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 การพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญในวาระแรก จากทั้งหมด 7 ร่าง มีร่างที่ผ่านจำนวนสองฉบับ (เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล) โดยทั้งสองร่างมีหลักการสำคัญ คือ การเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ห้ามแก้ไข หมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนการพิจารณาในวาระสอง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐก็ยื้อเวลาอีกโดยการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า รัฐสภามีอำนาจตั้ง สสร. เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาไม่นานเกินไปและไม่ได้ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และส.ว. ก็ยังคงยืนยันอ้างผลการวินิฉัยก็ถูกนำมาใช้เป็นเหตุของการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม 
สำหรับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในยกที่สอง ได้มีการลงมติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 โดยจากทั้งหมด 13 ร่าง มีร่างที่ผ่านในวาระแรกเพียงร่างเดียว (เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์) ส่วนร่างอื่นๆ อีก 12 ฉบับ แม้จะได้เสียงส่วนใหญ่จาก ส.ส. สนับสนุน แต่เมื่อ ส.ว. ไม่ลงคะแนนให้ก็ทำให้ไม่มีโอกาสได้ไปต่อ
อย่างไรก็ตาม ส่วนเนื้อหาที่ถูกเสนอแก้ไขนั้น ไม่ได้เดินหน้าไปในแนวทางที่จะยกเลิกการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ เช่น การปิดสวิตช์ ส.ว. แม้แต่น้อย มีเพียงเรื่องกติกาการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ถูกแก้ไขให้กลับไปคล้ายกับระบบตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งใช้สูตรการคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แยกออกจากระบบเขตและไม่ต้องผ่านการหักลบใดๆ จึงทำให้พรรคขนาดใหญ่ได้เปรียบมากกว่า สอดคล้องกับการเติบโตขึ้นของพรรคพลังประชารัฐที่กลายสถานะเป็นพรรคขนาดใหญ่และครอบครองเสียงในพื้นที่
ดังนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการรับรองในวาระที่สาม ก็ยังคงเป็นไปเพื่อการยึดกุมอำนาจ และอาจส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐมีข้อได้เปรียบมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเท่านั้น
2. เป็นผู้นำที่ "ไม่ต้องรับผิด" เพราะยึดครองระบบตรวจสอบถ่วงดุลไว้เอง
ระบบตรวจสอบถ่วงดุลเป็นกลไกสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อรับรองว่าจะไม่มีใครเลยที่สามารถขึ้นมามีอำนาจโดยไม่ถูกตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้มาเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ จะแต่ภายใต้การบริหารงานของประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบบตรวจสอบถ่วงดุลกลับถูกแทรกแซงอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และกลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประยุทธ์ยังสามารถอยู่ในอำนาจได้แบบ "ลอยตัว" ไม่ถูกตรวจสอบและไม่ถูกเอาผิดใดๆ
สิ่งแรกๆ ที่ประยุทธ์ทำหลังการรัฐประหารปี 2557 ก็คือการนิรโทษกรรมตนเองและพวกพ้องไม่ให้ถูกตรวจสอบและลงโทษ โดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศใช้เอง อีกทั้งยังใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอีกมากมาย ซ้ำร้าย รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่แต่งตั้งคนมาร่างขึ้นเอง ก็ยังจงใจใส่มาตรา 279 ที่ละเว้นการกระทำผิดของตนเองอีก การตรวจสอบและเอาผิดย้อนหลังประยุทธ์จึงเป็นไปไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 
ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีสมาชิกเป็นทหารหรืออดีตทหารมากกว่าครึ่ง และลงมติไปทางเดียวกันแทบไม่แตกแถว คล้ายกับเป็นเพียง "ตรายาง" เท่านั้น การตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติจึงไม่เกิดขึ้น แม้จะมีการ "ตั้งกระทู้" ถามรัฐบาลบ้าง แต่ก็เป็นเพียงการเล่นละคร เพราะไม่มีระบบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และสภาที่แต่งตั้งมาเองก็มีแต่จะออกกฎหมายมาสนับสนุนอำนาจและแนวนโนบายโดยไม่เคยลงมติคัดค้านอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในระหว่างระยะเวลากว่า 5 ปีของ คสช. อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงก็คือ "องค์กรอิสระ" ได้ถูกแปรเปลี่ยนจากกลไกที่ควรจะทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างแข็งขัน กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีหน้าที่เดียวคือการรักษาอำนาจของประยุทธ์และพวกพ้องให้ยังคงอยู่ต่อไป สนช. ทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยส่งคนของระบอบประยุทธ์เข้าไปอยู่ในองค์กรต่างๆ ของรัฐมากกว่า 60 ตำแหน่ง
และต่อมาหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อำนาจนี้ก็ได้ถูกส่งต่อมาให้ ส.ว. แต่งตั้งทั้ง 250 คน หากพิจารณาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน 7 ใน 9 คนนั้นล้วนมีที่มาจากอำนาจเผด็จการของประยุทธ์ ทั้งที่ผ่านการแต่งตั้งโดย สนช. หรือ ส.ว. และการใช้มาตรา 44 ในการต่ออายุวาระ หากพิจารณาถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดที่จัดการเลือกตั้งในปี 2562 ทั้ง 7 คน ก็ผ่านกระบวนการคัดเลือกมาหลายรอบโดย สนช. 
จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจนักที่องค์กรอิสระต่างๆ จึงพร้อมใจกันทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลให้ประยุทธ์สามารถใช้อำนาจได้อย่างไม่มีการยับยั้งชั่งใจ โดยพยายามสรรหาเหตุผลร้อยแปดประการไม่ว่าจะขัดกับหลักกฎหมายหรือสามัญสำนึกเพียงใดเพื่อให้ประยุทธ์และพวกพ้องสามารถลอยนวลพ้นผิดไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่าประยุทธ์อยู่บ้านพักทหารได้ไม่มีความผิด ไปจนถึงการจงใจปกปิด “นาฬิกา” ของประวิตร วงษ์สุวรรณ 
ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด 19 ประยุทธ์ก็ยังคงเคยชินกับระบบอที่ให้อำนาจที่ไร้การตรวจสอบจนเคยชิน และตัดสินใจรวบอำนาจการบริหารจัดการโควิดมาไว้ที่ ศบค. ซึ่งมีตนเองนั่งเป็นผู้อำนวยการเพียงคนเดียว ทำให้ไม่มีการถ่วงดุลจากฝ่ายการเมืองหรือภาคประชาชนอื่นๆ ผลงานของ ศบค. ชิ้นโบว์ดำก็มีมากมายเกินนับ ตั้งแต่การจัดหาวัคซีนที่ล้มเหลวและล่าช้า การออกคำสั่งที่ซ้ำซ้อนและสร้างความสับสน การไม่สามารถจัดบริการสาธารณสุขให้เพียงพอ และเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน 
การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มาตลอดหนึ่งปีครึ่งตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ยังทำลายการตรวจสอบจากอำนาจตุลาการ ศาลปกครองที่ถูกออกแบบมาให้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทางปกครองที่เกินแก่เหตุกลับไม่สามารถทำงานของตนเองได้ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเป็นผลให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของประยุทธ์ไม่สามารถดำเนินคดีได้ในระบอบปกติ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐที่รับคำสั่งมาทำงานทุกคนก็ได้รับความคุ้มครองให้ไม่ต้องรับผิดในการกระทำโดยสุจริต ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย 
3. เป็นผู้นำที่ไม่เคารพความเห็นต่าง "สอดส่อง-คุกคาม-ปราบปราม" ประชาชน
นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลานานกว่า 7 ปี โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการ "สอดส่อง" "คุกคาม" และ "ปราบปราม" ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือ ประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน หรือ แสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านรัฐบาลอย่างเข้มข้น
รัฐสอดส่อง-คุกคาม ประชาชนที่เห็นต่าง
ในช่วงหลังการรัฐประหาร ปี 2557 รัฐมีปฏิบัติการสอดส่องและคุกคามประชาชนโดยการเชิญตัวไปพูดคุย หรือ การโทรศัพท์เพื่อไปพูดคุย รวมถึงมีการบุกไปเยี่ยมประชาชนที่บ้าน อย่างต่อเนื่อง โดยมีประชาชน อย่างน้อย 1,349 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ปฏิบัติการดังกล่าว และกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายในปฏิบัติการเช่นนี้ คือ กลุ่มนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม หรือ นักการเมือง ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือ ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล 
ทั้งนี้ พอมาในช่วงหลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 สถานการณ์การสอดส่องและคุกคามประชาชนก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังมีการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามไปถึงที่บ้าน สถานศึกษา หรือโทรศัพท์ติดตามตัว โดยมีสาเหตุมาจากกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง อย่างน้อย 145 คน โดยปฏิบัตการของเจ้าหน้าที่รัฐจะมีการติดตามไปที่บ้าน ไปพบเจ้าตัวหรือครอบครัว พร้อมทั้งมีการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีเพื่อให้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง
นอกจากการสอดส่องติดตามและไปเยี่ยมที่บ้านประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว หน่วยงานความมั่นคงที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลยังทำสิ่งที่เรียกว่า "Wacthlist" หรือบัญชีรายชื่อบุคคลที่ต้องจับตาขึ้นมา โดยบัญชีรายชื่อดังกล่าวประกอบไปด้วย รายชื่อและข้อมูลของบรรดานักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ และภาคประชาชน ที่มีจุดยืนหรือความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล อีกทั้งยังมีรายงานด้วยว่า มีนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกติดตั้งเครื่องติดตามไว้กับรถยนต์ส่วนตัว
รัฐปราบปรามประชาชนด้วยกฎหมาย
ในช่วงหลังการรัฐประหาร ปี 2557 เป็นต้นมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทีนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการใช้มาตรการทาง "กฎหมาย" และ "กระบวนการยุติธรรม" เป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชนที่มีความคิดทางการเมืองที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ โดยในช่วงที่คสช. ยังกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ พบว่า มีประชาชนอย่างน้อย 421 คน ที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งคสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. เรื่องห้ามชุมนุม และมี ประชาชนอย่างน้อย 98 คน ที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ประชาชนอย่างน้อย 116 คน ที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
พอมาในช่วงหลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 สถานการณ์การปราบปรามประชาชนด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีก็หาได้ลดลง โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 757 คน ในจำนวน 413 คดี  โดยข้อหาที่นำมาใช้มากที่สุด คือ ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการออกมาร่วมการชุมนุมประท้วงรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยเช่นกัน
นอกจากการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังตั้งคณะทำงานขึ้นมาจัดการกับกลุ่มคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตนเองเป็นการเฉพาะ หรือที่เรียกว่า "คณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค" หรือ คตส. โดยมี "อภิวัฒน์ ขันทอง" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวได้มีการดำเนินคดีหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นกับประชาชนไปหลายคดี
รัฐปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรง
นับตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ในเดือนกรกฎาคม ปี 2563 เป็นต้นมา รัฐมีการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล หรือ กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมือง อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปฏิบัติการสลายการชุมนุมของรัฐหลายครั้ง เป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักสากลว่าด้วยการสลายการชุมนุม และหลักสากลว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น การการตั้งสิ่งกีดขวางเพื่อห้ามการชุมนุมในบางพื้นที่อย่างเด็ดขาด ซึ่งขัดต่อหลักสากลที่ห้ามการจำกัดพื้นที่ในการชุมนุมอย่างเด็ดขาด รวมถึงยังเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ตามหลักสากลว่าด้วยการชุมนุม หากเป็นการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ หรือ ปราศจากการใช้ความรุนแรงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการดูแลและอำนวจความสะดวกในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม แต่ทว่า ภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีการใช้ ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา หรือ กระสุนยาง อย่างกว้างขวาง รัฐมีการใช้แก๊สน้ำตายิงเข้ามาในบริเวณพื้นที่การชุมนุมซึ่งทำให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ หรือ การใช้กระสุนอย่างยิงอย่างต่อเนื่องและยิงเหนือบริเวณท้องส่วนล่างหรือขา ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ผิดไปจากหลักสากลจนมีผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้รับผลกระทบไปด้วย อาทิ มีประชาชนที่ต้องเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมถูกกระสุนยาง มีสื่อมวลชนที่ถูกกระสุนยางในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงมีผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายในระหว่างการจับกุม
4. เป็นผู้นำที่ทำตัว "เหนือสภา" อยากได้กฎหมายอะไรก็ออกเองแบบไม่สนหลักการ
ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารและสถาปนาตัวเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” หน้าหนึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐบาล อันเป็นฝ่ายบริหาร แต่อีกหน้าหนึ่งคสช. ยังรับบทเป็น “ฝ่ายนิติบัญญัติเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ” ด้วย แม้ว่า คสช. จะแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มารับบทฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมายให้อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงใช้อำนาจออกประกาศที่มีสถานะเทียบเท่าได้กับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ เช่น ประกาศคสช. ฉบับที่ 41/2557, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2447 เพื่อกำกับเนื้อหาที่เผยแพร่ในสื่อมวลชน ต่อมาก็ใช้อำนาจพิเศษ "มาตรา44" เปรียบดังยาสารพัดนึก ออกกฎหมายอะไรก็ได้ตามใจ รวมแล้ว 211 ฉบับ เริ่มตั้งแต่การสั้ง "แช่แข็ง" ไม่ให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงการแก้ไขกติกาการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ได้
ซ้ำในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ก็กำหนดไม้เด็ดใน มาตรา 48 รับรองว่าการกระทำ คำสั่งของคสช. “ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย” แถมร่างโคลนของมาตรา 44 ยังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 279
รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามอำเภอใจออกประกาศที่มีสถานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เหมือนกับว่ากำลังเป็น “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ด้วยตัวเอง ขยายพรมแดนอำนาจควบทั้งอำนาจบริหารทั้งอำนาจนิติบัญญัติไปพร้อมๆ กัน
ตลอดเจ็ดปีทั้งในยุคที่เป็นเผด็จการทหาร และยุคการสืบทอดอำนาจ คณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่ามีเหตุฉุกเฉินจำเป็นรีบด่วน และออก “พระราชกำหนด” (พ.ร.ก.) อย่างน้อย 24 ฉบับ ให้บังคับใช้ไปก่อน แล้วค่อยเสนอต่อสภาภายหลัง แทนที่จะเสนอกฎหมายเป็น ร่างพ.ร.บ.ตามกระบวนการปกติ ซ้ำร้ายการออกพ.ร.ก.บางฉบับยัง “บีบ” กลายๆ ให้ส.ส. ส.ว. ต้องอนุมัติ และยังทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ยากกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น จากวิกฤตโควิด-19 ครม. ตรา พ.ร.ก.กู้เงินหนึ่งล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงินห้าแสนล้านบาท กำหนดวงเงินกู้และบรรยายแผนงานหรือโครงการอย่างหลวมๆ ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบเจาะลึกได้ว่าฝ่ายบริหารจะนำเงินไปใช้กับโครงการอะไรบ้าง ถ้าส.ส. ส.ว. ลงมติ “ไม่อนุมัติ” ก็จะส่งผลกระทบประชาชนที่ยังรอคอยการเยียวยา หากรัฐบาลคำนึงถึง “หลัก ความโปร่งใสในงบประมาณ” ก็สามารถเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมต่อสภาฯ แจกแจงรายละเอียดการใช้งบประมาณให้ถูกตรวจสอบได้ แต่ก็กลับเลือกใช้วิธี "ลัดขั้นตอน" รีบไปออกพ.ร.ก.กู้เงินก่อน แล้วจึงมีโครงการเยียวยาทีหลัง
นอกจากสวมหัวโขนเป็นฝ่ายนิติบัญญัติในยุครัฐบาลคสช. 1 เมื่อสืบทอดอำนาจต่อในยุครัฐบาลคสช. 2 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังรับหน้าเป็น “มือขวางร่างกฎหมาย” อีกด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 กำหนดให้ ร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวด้วยการเงิน เช่น ร่างกฎหมายที่ต้องจัดสรรงบประมาณ ต้องได้คำรับรองจากนายกฯ ก่อนจึงจะเสนอต่อรัฐสภาได้ เท่ากับว่าหากนายกฯ ไม่รับรอง ร่างกฎหมายนั้นก็ไม่มีโอกาสเข้าสู่สภาฯ เลย หากนับจนถึง 2 กันยายน 2564 มีร่างกฎหมายที่นายกฯ ปัดตกไม่รับรองไปแล้ว 25 ฉบับ เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างน้อย 12 ฉบับ เช่น กลุ่มร่างกฎหมายอากาศสะอาด-มลพิษ ถูกปัดตกไปสามฉบับ ทั้งๆ ที่รัฐบาลคสช. 2 ไม่สามารถรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ แต่เมื่อมีส.ส. และประชาชนเสนอร่างกฎหมาย นายกฯ กลับขวางร่างกฎหมาย ไม่คิดจะผลักดันในสิ่งที่ตนปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ
ด้านการรับมือต่อสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ เลือกใช้ “ยาแรง” พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งๆ ที่มีกฎหมายอื่นใช้แทนได้ จากนั้นก็ใช้รวบอำนาจตามกฎหมายต่างๆ เข้ามาไว้ในมือตัวเองคนเดียว ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แล้วใช้อำนาจออกข้อกำหนดต่างๆ ภายในระยะเวลาปีครึ่ง ออกข้อกำหนดไปแล้ว 32 ฉบับ แก้ไขและยกเลิกข้อกำหนดของตัวเองกลับไปกลับมา โดยไม่สนใจหลักการทางกฎหมายใดๆ ตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. สั่ง ISP “ตัดเน็ต” ผู้โพสต์สร้างความหวาดกลัว สร้างความตื่นตระหนกของประชาชน สร้างภาระให้ประชาชนในการต่อสู้เพื่อเพิกถอนข้อกำหนดฯ ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ได้สัดส่วน ซึ่งต่อมา 6 สิงหาคม 2564 ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 โดยให้เหตุผลว่าข้อกำหนดฯ ดังกล่าว ลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มีลักษณะที่ไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทำให้ประชาชนไม่แน่ใจในการแสดงความคิดเห็นของตนเอง สุดท้ายก็ต้องยกธงขาวออกข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 31 ยกเลิกข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 ไปเอง
5. เป็นผู้นำที่วางแผนอนาคตแบบขาดวิสัยทัศน์ พาประเทศถอยหลังก้าวไม่ทันโลก
การสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. ได้สร้างกลไกชนิดใหม่ขึ้น คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ที่มาพร้อมกับคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยมือพล.อ.ประยุทธ์เอง และขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนกลไกเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งรายล้อมไปด้วยกรรมการที่มาจากผู้นำเหล่าทัพ นายทุนชั้นนำ และกรรมการที่แต่งตั้งมากับมือของตัวเอง
แผนยุทธศาสตร์ชาติถูกบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 และจะสิ้นสุดในปี 2580 ด้วยข้ออ้างว่าจากนี้ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะขึ้นมามีอำนาจถ้าเดินตามแผนนี้ก็จะสามารถพาประเทศไทยพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถเป็นประเทศที่พัฒนาในที่สุด ถึงขณะนี้ปี 2564 ยุทธศาสตร์ชาติบังคับใช้ได้สามปี ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าไม่สามารถนำพาประเทศไทยเผชิญกับโลกอนาคตที่ผันผวนได้ และไม่สามารถป้องกันประเทศจากวิกฤติต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่อย่าง “วิกฤติฝุ่น PM 2.5” และ “วิกฤติการระบาดของเชื้อโควิด-19” รวมทั้งการออกมาชุมนุมเรียกร้องอนาคตของคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เห็นทางออกว่าจะคลี่คลายได้อย่างไร ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ที่ร่างกันด้วยคนหน้าเดิมๆ ไม่ได้เตรียมการเพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้เลย
แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเป็นเพียงยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจของ คสช. เพื่อทำให้ชนชั้นนำภาครัฐนำโดยกองทัพกับนายทุนผูกขาดสามารถมีบทบาทควบคุมการออกนโยบายการพัฒนาประเทศไปอีกในระยะ 20 ปีข้างหน้า และยังเป็นกลไกทางการเมืองชิ้นสำคัญที่จะควบคุมพรรคการเมืองอื่นๆ ที่แม้จะสามารถชนะเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แต่การออกนโยบายหรือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ต้องอยู่ภายใต้แนวทางยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. วางเอาไว้ หากฝ่าฝืนก็อาจถูกปลดออกจากตำแหน่งได้โดยกลไกของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 
สำหรับแผนปฏิรูปประเทศก็มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทำหน้าที่เป็นกลไกในการกำกับหน่วยงานรัฐในดำเนินการตามแผนปฏิรูปทั้งหมด 11 ด้าน ซึ่งความยาวกว่า 3,000 หน้า ครอบคลุมสารพัดเรื่องและลงรายละเอียดให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม เรียกได้ว่าถ้ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ต้องคิดนโยบายใหม่เพราะหน่วยงานต่างๆ ถูกกำกับโดยแผนปฏิรูปประเทศอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่มีบทบาทหลักในการกำกับคือวุฒิสภาแต่งตั้งของพลเอกประยุทธ์ โดยสมาชิกวุฒิสภาบางคนก็ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการปฏิรูปชุดต่างๆ เองด้วย เช่น เสรี สุวรรณภานนท์, พรทิพย์ โรจนะสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน เป็นต้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลเปลี่ยนนายกฯ กี่ครั้ง กลไกเหล่านี้ก็ยังทำหน้าที่ควบคุมได้อยู่
สุดท้ายแผนการปฏิรูปประเทศก็ไม่ต่างจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะจนถึงตอนนี้พลเอกประยุทธ์ได้นำประเทศไทยปฏิรูปมากว่าเจ็ดปี เห็นผลงานที่ปรากฏเพียงวาทกรรมลอยๆ เช่น การปฏิรูปตำรวจที่นับตั้งแต่ยึดอำนาจในปี 2557 พลเอกประยุทธ์มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจไปแล้วถึงห้าชุดแต่วงการตำรวจก็ดูจะมีแต่เรื่องอื้อฉาวตกต่ำลง ไปว่าจะเป็นการซื้อขายตำแหน่ง การข่มขู่คุกคามและทำร้ายประชาชนด้วยวิธีนอกกฎหมาย การรีดไถเรียกรับผลประโยชน์ หรือการปฏิรูปการเมืองที่ถอยหลังกลับไปก่อนการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่การเมืองมีแต่การต่อรองตำแหน่งและผลประโยชน์มากกว่าการพัฒนาประเทศด้วยนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน หรือการปฏิรูปการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นที่ไม่มีผลงานมากไปกว่าการแต่งตั้งคนของตัวเองชุดแล้วชุดเล่าขึ้นมาทำงาน แล้วก็แต่งตั้งชุดใหม่โดยไม่ตรวจสอบพวงพ้องตัวเอง 
และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรคการเมืองไม่ควรไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
….