ถกปัญหาการประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง ควรประเมินความเสี่ยงที่จะหนี ไม่ใช่ “เหมาเข่ง”

14 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00 – 16.00 น. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “การประกันตัวผู้ต้องหาคดีอาญา: มุมมองและข้อสังเกต” ประกอบด้วยวิทยากรสองราย คือ ศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล อาจารย์ประจำประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญวิทยา และธวัช ดำสอาด ทนายความและหุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมาย Tilleke & Gibbins โดยมีรองศาสตราจารย์ อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

วิทยากรชี้ให้เห็นถึงปัญหาในการตีความข้อกฎหมายและปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการประกันตัวในคดีอาญา โดยเฉพาะในกรณี “คดีการเมือง” ซึ่งหลายคดีศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ซ้ำร้ายบางคดีท้ายที่สุดแล้วศาลก็พิพากษายกฟ้อง ทำให้จำเลยถูกขังไปโดยที่ไม่ได้กระทำผิดอะไรเลย จากสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้น ก็มีคำถามที่ชวนคิดต่อไปว่า การเมืองมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ และหากจะแก้ไขปัญหาการประกันตัว ควรจะทำอย่างไร

online seminar "Bail"
online seminar “Bail”

รอยด่างของกระบวนการยุติธรรมไทย เมื่อไม่ให้ประกันตัวผู้บริสุทธิ์

ศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล อาจารย์ประจำประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประธานกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการกฤษฎีกา อธิบายหลักพื้นฐานว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา “ตัวผู้ถูกดำเนินคดี” มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในชั้นสอบสวนก็ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกดำเนินคดีว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดใด เมื่ออัยการจะฟ้องก็ต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปศาลด้วยมิเช่นนั้นศาลจะไม่ประทับรับฟ้อง ในชั้นพิจารณาคดีต้องทำต่อหน้าจำเลย และในชั้นบังคับโทษก็ต้องมีตัวบุคคลที่จะต้องรับโทษด้วย 
สุรศักดิ์ยกตัวอย่างคดีดังที่เป็นรอยด่างพร้อยของกระบวนการยุติธรรมไทย คือ คดีเชอรี่แอน ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วง กรกฎาคม 2529 ผู้ที่ถูกดำเนินคดีสี่ราย ไม่เคยได้รับการประกันตัวเลย ถูกจับและฝากขังตั้งแต่ สิงหาคม 2529 ถึงศาลชั้นต้นจะลงโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง และหว่างฎีกาก็ถูกขัง จนกระทั่งศาลฎีกายกฟ้องในปี 2538 รวมเวลาเกือบ 10 ปีที่ถูกขัง แย่ไปกว่านั้นคือ ในคดีนี้ตำรวจสร้างพยานเท็จ สุรศักดิ์เห็นว่าการปฏิบัติงานของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม จึงต้องยึดหลักสิทธิเสรีภาพและต้องนำหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง มาปรับใช้ ตามใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้นั้นกระทำความผิด จะมั่นใจไม่ได้ว่าเขากระทำความผิดจริงๆ และเห็นว่าแนวคิดประเภท “เมื่อเขาฟ้องมาแล้วก็ต้องหาทางลงให้ได้” เป็นตรรกะที่วิบัติ ศาลต้องวางตนเป็นกลางที่สุด
สุรศักดิ์อธิบายต่อว่า การขังระหว่างการดำเนินคดี โดยยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลนั้นกระทำความผิด แบ่งคร่าวๆ เป็น การขังระหว่างสอบสวน การขังในชั้นไต่สวนหรือชั้นพิจารณา และการขังในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ซึ่งจากรายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ สำรวจ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2564 มีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินคดี รวม 55,192 คน เป็น 18% ของผู้ต้องขังทั้งหมด ซึ่งลดลงจากสถิติในอดีต แต่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสาม กำหนดว่า การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี ก็น่าคิดต่อไปว่า 18% ที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีนี้ “จำเป็น” จริงหรือไม่

หลากปัญหาการตีความเหตุไม่ให้ประกันตัว ที่เป็นนามธรรม

ธวัช ดำสอาด ทนายความและหุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมาย Tilleke & Gibbins อธิบายถึงการประกันตัว ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่า “การปล่อยตัวชั่วคราว” ว่า เหตุที่ต้องประกันตัวนั้น อาจเกิดจากการจับตามหมายจับ การขังตามหมายขัง หรือเป็นกรณีที่ผู้ต้องหามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังได้ ก็พาตัวผู้ต้องหาไปศาลเพื่อออกหมายขังในวันนั้นเลย
เฉพาะตัวเหตุออกหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66  “ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” ก็มีข้อถกเถียงมากมายว่ามีขอบเขตมากแค่ไหน ธวัชมีความเห็นว่า “ก่อเหตุอันตรายประการอื่น” ไม่น่าจะตีความว่าหมายถึง การที่ผู้ถูกจับจะไปกระทำความผิดแบบเดียวกันซ้ำอีก เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าคาดการณ์ไปก่อนแล้วว่าเขาจะไปกระทำสิ่งที่ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติจริงๆ หรือเปล่า
ในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2548 (ข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ) ข้อ 14 ก็กำหนดว่า การร้องขอให้ออกหมายจับ ต้องเสนอพยานหลักฐานตามสมควร และข้อ 18 กำหนดว่าในการฟังพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาออกหมายจับหรือหมายขัง ผู้พิพากษาไม่จำเป็นต้องถือเคร่งครัดเช่นเดียวกับการรับฟังพยานหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลย ซึ่งการระบุว่า “ไม่ต้องเคร่งครัด” ธวัชเห็นว่าข้อบังคับฯ กำหนดไว้อย่างเป็นนามธรรม และปัญหาว่า การที่ผู้ร้องขอต้องเสนอพยานหลักฐาน “ตามสมควร” นี้จัดอยู่ในระดับใดหากเทียบกับการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา
ธวัชได้ยกตัวอย่างซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ชุมนุมกันที่ถนนราชดำเนิน หรือ RDN50 ที่ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งในปี 2561 และถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีการออกหมายขังระหว่างพิจารณา แต่สุดท้ายศาลก็ยกฟ้องและชี้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 โดยศาลได้หยิบยกเสรีภาพแสดงความคิดเห็นหลักประชาธิปไตยเข้ามาปรับใช้กับการวินิจฉัยการกระทำความผิดตามฟ้องด้วย ในคดีนี้ไม่มีการออกหมายจับ แต่ศาลออกหมายขังระหว่างพิจารณา ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่าตอนที่ศาลออกหมายขังพิจารณาจากอะไร พิจารณาระดับไหน ทำไมถึงต้องขัง และหากไม่ให้ขังเลยจะได้หรือไม่ 
ธวัชตั้งคำถามว่าในทางปฏิบัติ พนักงานสอบสวนอาจจะใช้วิธีการตั้งข้อหาที่มีโทษสูงเกินกว่าการกระทำ เพื่อให้เข้าเงื่อนไขในการออกหมายจับ ทั้งๆ ที่พยานหลักฐานอาจจะไปไม่ถึง ศาลควรจะตรวจสอบการขอออกหมายจับ หมายขัง ในระดับที่ไม่แตกต่างจากการพิพากษาคดี ธวัชเสนอว่า มาตรฐาน ทั้งการพิจารณาออกหมายจับ หรือหมายขัง ว่าการรับฟังพยานที่ “ไม่ต้องเคร่งครัด” ควรจะจะต้องแก้ใหม่ ให้มีการพิจารณาในระดับที่ใกล้เคียงกับการพิจารณาพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหากระทำความผิดหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นที่ว่า “ปราศจากข้อสงสัยตามสมควร” แต่ก็ไม่ควรต่างกันมาก
สำหรับเหตุที่ศาลจะสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 กำหนดไว้ว่า
(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
ธวัช ดำสอาด แสดงความคิดเห็นว่า เงื่อนไขไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ผู้ที่ร้องขอให้ศาลสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ควรจะมีภาระที่ต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงตามเงื่อนไขไม่ให้ปล่อยชั่วคราว เช่น จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะหลบหนี ผู้ที่ร้องขอก็ต้องพิสูจน์ให้ชัด เพราะว่าศาลไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ถูกกล่าวหาบางรายก็ประกาศว่าตนเองจะไปชุมนุมต่อ ไม่ได้มีทีท่าว่าจะหลบหนี  ส่วนเงื่อนไขเรื่องจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ธวัชเห็นว่าไม่ควรตีความว่าหมายถึง ผู้ต้องหาจะไปมีพฤติการณ์แบบเดียวกันกับคดีที่เป็นเหตให้ถูกจับในคดีนี้ และต้องไม่ไปพิจารณาข้อเท็จจริงว่าบุคคลนั้นเคยถูกจับ หรือถูกขังในคดีอื่นและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล กล่าวคือ ต้องไม่คิดถึงการกระทำย้อนหลังที่ยังไม่ได้มีการพิพากษาไปแล้ว มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าไปคาดการณ์ว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำการที่ตัวผู้ปรับใช้กฎหมายเองก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่ 

สิทธิประกันตัวไม่ควรพิจารณา “เหมาเข่ง” แบบในคดีการเมือง

ด้านศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล เสริมว่า ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม ไม่เคยประเมินถึงความเสี่ยงที่จะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปกระทำความผิดอีก สุรศักดิ์เห็นว่าควรนำหลักประเมินความเสี่ยงมาใช้และต้องพิจารณาเรื่องการประกันตัวเป็นรายปัจเจกไป ไม่ควรใช้ดุลยพินิจแบบ “เหมาเข่ง” ดังเช่นในกรณีของคดีการเมืองที่นำฐานความผิดมาเป็นส่วนประกอบในการใช้ดุลยพินิจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ประกันตัว แต่ควรจะประเมินความเสี่ยงว่าผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนีหรือไม่ และสุรศักดิ์ยกตัวอย่างว่ามีกรณีที่ศาลให้ปฏิญาณตนว่าจะมาศาลตามนัด หรือจะไปพบตำรวจตามนัด และสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน แบบนี้ก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องเอาเสรีภาพของประชาชนไปมัดไว้โดยที่ไม่แน่นอนว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด
นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ควรจะเปลี่ยนแปลง คือ ไม่ควรจะเอาเงินเป็นตัวตั้งในการพิจารณาเรื่องการปล่อยตัว ตัวอย่างเช่นคดีการเมือง ที่ให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวคนละหนึ่งแสนบาท ซึ่งก็มีปัญหาว่าอาจจะเป็นจำนวนที่สูงเกินไป และมีคำถามชวนคิดต่อว่าจำเป็นต้องวางเงินเลยหรือ ซึ่งต่อมาก็มี คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2563 กำหนดไว้ว่าสามารถให้ประกันตัวได้โดย “ไม่จำต้องนำวงเงินประกันหรือราคามาเป็นปัจจัยในการพิจารณา” อันนี้ว่าเป็นคำแนะนำที่ทำให้คนสบายใจขึ้น
อีกปัญหาหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ซึ่งแก้ไขระเบียบฉบับเก่าว่า ข้อ 4 ของระเบียบเดิมไม่ได้กำหนดตัวผู้ร้องขอประกันตัว แต่ระเบียบที่แก้ไขใหม่กำหนดตัวผู้ร้องขอประกันตัว เป็น 1) ผู้ต้องหาหรือจำเลย 2) เครือญาติ 3) ผู้ที่มีความเกี่ยวพันในทางสมรสกับผู้ต้องหาหรือจำเลย 4) ผู้ที่มีความเกี่ยวพันในทางการงานกับผู้ต้องหาหรือจำเลย สุรศักดิ์เห็นว่าการกำหนดไว้เช่นนี้อาจจะเป็นการกีดกันกลุ่มบุคคลผู้มีทัศนะในทางการเมือง ซึ่งก็น่าคิดอีกว่าถ้าผู้ขอร้องขอประกันตัวเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จะเข้าข่ายตามที่ระเบียบนี้กำหนดหรือไม่ จะถือว่าเป็นผู้มีความเกี่ยวพันในทางการงานกับผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือไม่
สุรศักดิ์อธิบายว่า ระเบียบนี้เป็นกฎหมายลำดับรอง จะเขียนให้ขัดต่อกฎหมายที่มีลำดับสูงกว่าไม่ได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็ไม่เขียนไว้ ประมวลกฎหมายวิอาญาก็ไม่ได้เขียน ชี้ว่าหลักเกณฑ์ตรงนี้ควรทบทวน มิเช่นนั้นจะเป็นที่น่ากังขาว่าจะไม่ให้ประกันตัวหรือไม่

ข้อเสนอการพิจารณาประกันตัวให้ทำเป็น “องค์คณะ”

สุรศักดิ์ได้ตั้งข้อสังเกต โดยแบ่งคดีออกเป็นสองประเภท 1) คดีทั่วไป ซึ่งมีปัญหาเรื่องการประกันตัวว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจไม่ทราบสิทธิ หรือไม่มีหลักประกัน 2) คดีเฉพาะ เช่น คดีมาตรา 116 จะมีปัญหาเรื่องการไม่อนุญาตให้ประกันตัว สุรศักดิ์ตั้งคำถามว่ากลไกกฎหมายกำลังถูกนำมาใช้มาเล่นงานกับคนที่ไม่เห็นด้วยหรือใช้เพื่อปกป้องใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ ซึ่งในคดีการเมือง มักจะไม่ให้ประกันเพราะไม่อยากให้การชุมนุมมีผู้นำ ถึงแม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะไม่หนีก็ตาม สุรศักดิ์เห็นว่า กรณีของคดีเฉพาะเหล่านี้ ศาลเองก็ต้องกลับมายึดหลักให้ได้ ไม่ควรมีธงว่าว่าจะไม่ให้ประกัน และเห็นว่าพระธรรมนูญศาลยุติธรรมควรกำหนดให้ผู้พิพากษาที่สั่งเรื่องการประกันตัวต้องทำเป็นรูปแบบองค์คณะเพื่อให้ปรึกษากันได้ และผู้พิพากษาคนไหนที่ประชาชนกังขา เปลี่ยนบ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้คนเดิมตลอดเวลา นอกจากนี้ควรให้เหตุผลในการสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 108/1 ศาลต้องให้เหตุผลอธิบายให้ได้
สุรศักดิ์แสดงความเห็นส่วนตัวว่า ไม่ค่อยมั่นใจว่าในความเป็นจริงตุลาการมีอิสระหรือไม่ สุรศักดิ์เชื่อว่า สภาวะทางการเมือง มีอิทธิพลต่อการทำงานของศาล ถ้าการเมืองไม่ดี ศาลจะไม่สามารถมีอิสระได้อย่างเต็มที่ ถ้าไม่ใช่คดีที่มีประเด็นกดดันทางการเมือง ก็คิดว่าศาลมีอิสระพอสมควร อาจจะต้องแก้กฎหมาย เช่น ถ้าเป็นคดีที่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้มีการฝากขังเลย