ศาลสั่งตำรวจ ‘ใช้ความระมัดระวัง-ให้ส่งรายงานวิธีควบคุมการชุมนุม’ ไม่ได้ห้ามยิงกระสุนยาง .

51383282522_609a662b43_o
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 สื่อมวลชนจากสำนักข่าว PLUS SEVEN และ The Matter ร่วมกับทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพวกรวม 4 คน จากกรณีได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา พร้อมยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว และคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนโดยฉุกเฉิน สั่งคุ้มครองไม่ให้ตำรวจใช้กระสุนยางในลักษณะนี้อีก 
ในวันดังกล่าว ศาลมีคำสั่งให้รับฟ้องไว้เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยกฟ้องจำเลยส่วนที่เหลือ ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 2, ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จำเลยที่ 3 และผู้บังคับการกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน จำเลยที่ 4 เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และยกคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวโดยให้ศาลมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม #ม็อบ7สิงหา ในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 และการชุมนุมครั้งต่อๆไป เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตไม่อาจคาดเดาได้ จึงไม่มีเหตุฉุกเฉิน
อ่านรายละเอียดสรุปคำฟ้องและคำขอคุ้มครองชั่วคราว พร้อมทั้งเหตุผลที่ศาลยกคำร้องได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/5939 
อย่างไรก็ตามในกิจกรรม #ม็อบ7สิงหา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยังคงปรากฏการใช้ความรุนแรงจากฝั่งตำรรวจ พบว่า มีสื่อมวลชนหลายคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุมก็ยังคงได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ทำให้ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ทางโจทก์ทั้งสองและทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวโดยฉุกเฉินอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นครั้งที่สอง โดยมีคำขอดังนี้ 
1. ให้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางใส่โจทก์ทั้งสอง สื่อมวลชนอื่น และประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำการหรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตบุคคลอื่น  
2. ให้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนคุกคาม ข่มขู่ จำกัดพื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนอื่น
3. ให้จำเลยที่ 1 สั่งการเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน
4. ห้ามจำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 
ดูรายละเอียดคำสั่งศาลที่ https://civil.coj.go.th/cms/s41/u392/6408/PR640809th.pdf 
10 สิงหาคม 2564 หลังจากศาลคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาและไต่สวนคำร้องแล้วนั้น ศาลได้มีคำสั่งดังนี้ 
ในคำขอข้อที่ 1 ศาลเห็นว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดมิให้ใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวขณะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจพิเศษบางประการในการออกประกาศและข้อกำหนดเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติโดยเร็ว ซึ่งในวันที่ 25 ธันวาคม 2563 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดซึ่งออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 ห้ามชุมนุม ทำกิจกรรมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เช่นนี้ หากมีการฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจในการสลายการชุมนุมด้วยวิธีการที่เหมาะสมตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละครั้ง รวมถึงความจำเป็นในการใช้กระสุนยางขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงของผู้ชุมนุมในแต่ละครั้ง อีกทั้ง ไต่สวนแล้วไม่ปรากฎว่าเจ้าพนักงานตำรวจจงใจหรือมุ่งกระทำต่อบุคคลที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะ และหากโจทก์ทั้งสอง สื่อมวลชนและประชาชนมิได้ฝ่าฝืนกฎหมาย ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิงด้วยกระสุนยาง ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญาโดยที่ศาลไม่ต้องสั่งคุ้มครองชั่วคราวอยู่แล้ว 
ในคำขอข้อที่ 4  ศาลเห็นว่า เป็นคำขอให้คุ้มครองผู้เข้าร่วมชุมนุม เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในฐานะสื่อมวลชนมิได้เป็นผู้ร่วมชุมนุม จึงไม่อาจร้องขอในส่วนนี้ได้ 
คำขอข้อที่ 2 และข้อที่ 3 ศาลเห็นว่า เมื่อไต่สวนแล้วยังไม่ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจจำกัดพื้นที่ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนอื่น อีกทั้งโจทก์ทั้งสองก็มิได้มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลห้ามจำเลยที่ 1 จำกัดพื้นที่การปฏิบัติงานของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในกรณีดังกล่าวได้ 
แต่อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 โดยเจ้าพนักงานตำรวจใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางในการสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้สื่อมวลชนหลายรายซึ่งมิใช่ผู้ร่วมชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนยาง ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและไม่ปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจทำให้ได้รับอันตรายแก่กายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจได้ 
กรณีจึงเหตุที่จะคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนั้น โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนด้วย จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสอองและสื่อมวล ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน 
ดูรายละเอียดคำสั่งศาลที่ https://civil.coj.go.th/cms/s41/u392/S_15532116.jpg 

ศาลมีคำสั่งให้ สตช. ชี้แจงแนวทางควบคุมการชุมนุม

11 สิงหาคม 2564 ทนายความยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะจำเลยที่ 1 มาไต่สวนเพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัด เนื่องจากพบว่ายังมีการใช้กระสุนยางยิงสื่อมวลชนอีกครั้งจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ อย่างน้อย 2 คน ในการควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุมใน #ม็อบ10สิงหา อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งยกคำร้องโดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า 
“ตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว การที่โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนจะได้รับความคุ้มครอง โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนด้วย กรณีตามคำร้องของโจทก์ทั้งสอง ไม่ปรากฏว่า สื่อมวลชนที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนแล้วหรือไม่ อย่างไร อันจะได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งดังกล่าว กรณียังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะไต่สวนตามคำร้องของโจทก์ทั้งสอง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ”
ดูรายละเอียดคำสั่งศาลที่ https://civil.coj.go.th/cms/s41/u392/6408/PR640811th.pdf 
อย่างไรก็ตาม พบว่าเจ้าพนักงานตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนก็ยังคงไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะนอกจากใน #ม็อบ10สิงหา ที่มีสื่อมวลชนอย่างน้อย 2 รายถูกยิงแล้ว #ม็อบ11สิงหา พบว่ามีสื่อมวลชน 1 ราย ถูกเจ้าพนักงานตำรวจใช้กระบองตีไหล่ที่ด้านขวา หลังจากนั้น #ม็อบ13สิงหา และ #ม็อบ15สิงหา ก็ยังคงมีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมอีกด้วย 
17 สิงหาคม 2564  ทนายความจึงยื่นคำร้องเป็นครั้งที่สอง โดยขอให้ศาลเรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องมาไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการประการใดบ้างเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศาลดังกล่าวและเพื่อให้ได้ความว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการหรือมีมาตรการอย่างไรต่อไปเพื่อให้คำสั่งของศาลดังกล่าวมีสภาพบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติหรือในประเด็นอื่นอันเกี่ยวข้องกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทั้งนี้ ในคำร้องได้ระบุว่า โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนอื่นได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนแล้ว 
ต่อมา ศาลมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในชั้นนี้กรณีมีเหตุสมควรให้จำเลยที่ 1 รายงานมาตรการ วิธีการ และขั้นตอนในการปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง กรณีไม่จำต้องเรียกจำเลยที่ 1 หรือผู้แทนมาไต่สวน หมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทราบ”
ดูรายละเอียดคำสั่งศาลที่ https://civil.coj.go.th/cms/s41/u392/6408/PR6408172en.jpg