จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ใครต้องรับผิดชอบ?

ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 และจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นภาพสะท้อนการบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาดของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จนวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ต้องยอมแถลงขออภัยเนื่องจากไม่สามารถหาวัคซีนได้ทันตามจำนวนที่ควรจะเป็นจนไม่เพียงพอต่อสถานการณ์



การบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาดอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ความพยายามออกพระราชกำหนดเพื่อ "นิรโทษกรรม" ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีนโควิด-19 โดยการหนุนอย่างเต็มที่จากผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ในขณะที่ประชาชนยังได้รับวัคซีนไม่เพียงพอ และยังคงสับสนว่า มหากาพย์วัคซีนที่ผ่านมามีใครที่เกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบบ้าง 



เริ่มแรกจัดหาวัคซีนเป็นอำนาจสาธารณสุข



คำชี้แจงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ของ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนอธิบายว่า “สถาบันวัคซีน มีหน้าที่เจรจาจัดหาวัคซีน โดยการติดต่อผู้ผลิตวัคซีนทั้งที่มีวัคซีนแล้ว และที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563  และพยายามหาช่องทางจองวัคซีนล่วงหน้า แม้ว่าวัคซีนจะอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ต่อมาเมื่อกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มาตรา 18 (4) ที่เปิดให้สถาบันวัคซีน ทำการจองวัคซีนล่วงหน้าที่อยู่ในระหว่างการวิจัยได้ จึงเป็นที่มาในการจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส เป็นการจองล่วงหน้าตั้งแต่ สิงหาคม 2563 จากคำชี้แจงของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติทำให้ทราบว่าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เริ่มมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 

 

 

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ใช้อำนาจมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 18 (4) ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในกรณีมีฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็น พ.ศ.2563 จึงเป็นที่มาของการจัดหาและจองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ได้มอบอำนาจให้กับหน่วยงานรัฐสองแห่งจัดหาวัคซีนที่รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ได้แก่

1. “สถาบันวัคซีนแห่งชาติ” ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน มีหน้าที่จัดทำบันทึกความตกลงร่วมเพื่อให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่วงหน้า หากการทำบันทึกข้อตกลงต้องใช้งบประมาณเพื่อการจองล่วงหน้า ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไข และให้ประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อดำเนินการจัดหาวัคซีน

 

 

2. “กรมควบคุมโรค” ภายใต้คณะกรรมการควบคุมโรค ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีหน้าที่จัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน โดยร่วมกับองค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย ผู้ผลิตวัคซีน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการวัคซีน

 

 

นอกจากนี้ในหนังสือ “แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาดปี 64 ของประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโดยกรมควบคุมโรค เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังได้ระบุถึง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 เพื่อประชาชนไทย” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดทำข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายการจัดหาวัคซีน และแผนการจัดหาวัคซีนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนและติดตามผลการจัดหาวัคซีนให้เป็นไปตามแผนและกรอบเวลา รวมทั้งเจรจาต่อรองเพื่อจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ มีการแต่งตั้งคณะทำงานสำหรับจัดทำข้อตกลงและเจรจาจัดหาวัคซีนเพื่อให้การต่อรองและพิจารณาร่างสัญญาจัดหาวัคซีนมีความคล่องตัว โดยคณะกรรมการชุดมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีกรมควบคุมโรคเป็นเลขานุการ



อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสกดดันให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนให้มีหลากหลายชนิดมากกว่าแค่ แอสตร้าเซเนก้า กับ ซิโนแวค วันที่ 9 เมษายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จึงได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2564 แต่งตั้ง “คณะทำงานพิจารณาการจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19)” ทำหน้าที่เสนอแนวทางการจัดหาวัคซีน และดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกฯ มอบหมาย โดยคณะทำงานชุดนี้มีทั้งหมด 18 คน มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยากร ที่ปรึกษา ศบค. เป็นประธาน มีองค์ประกอบคณะทำงานมาจากทีมผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข และทีมผู้บริหารจากโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ



โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายกลไกการจัดหาวัคซีนว่าแบ่งเป็นสองส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก กลไกลตามกฎหมายปกติ คือ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และส่วนที่สอง กลไกการบริหารราชการแผ่นดิน โดย อนุทิน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชน ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, อธิบดีกรมควบคุมโรค, ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ, เลขาธิการ สปสช., ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นต้น จากนั้นพลเอกประยุทธ์ ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดหาวัคซีนทางเลือกอีก ที่มี นพ.ปิยะสกล เป็นประธาน

 

 

ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวบอำนาจบริหารจัดการวัคซีนสู่มือประยุทธ์เบ็ดเสร็จ



อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 พลเอกประยุทธ์ ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ซึ่งเป็นการโอนอำนาจตามกฎหมายของรัฐมนตรีตามกฎหมาย 31 ฉบับ มาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี “เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชน” รวมทั้งกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.ยา, พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ และ พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม ทำให้อำนาจตามกฎหมายเหล่านี้หลุดออกจากมืออนุทิน มาอยู่ในมือของพล.อ.ประยุทธ์ และ ศบค. เป็นหลัก

 



นอกจากนี้ วันที่ 8 มิถุนายน 2564 พลเอกประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ยังได้ออกประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ซึ่งประกาศฉบับนี้ทำให้เห็นความชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามีหน่วยงานใดเกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนบ้าง โดยในประกาศได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 



1. “คณะกรรมการอาหารและยา” ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนวัคซีน รวมทั้งประสานและสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ลงทะเบียนวัคซีนอย่างคล่องตัว

 

 

2. “กรมควบคุมโรค” “องค์การเภสัชกรรม” “สถาบันวัคซีนแห่งชาติ” “สภากาชาดไทย” “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” และ “หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่บริการการแพทย์แก่ประชาชน” ทำหน้าที่จัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีน 

 





ทั้งนี้ การเพิ่มราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเปิดทางให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เข้ามามีส่วนในการจัดหาวัคซีน อาจเป็นผลมาจากการประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เพื่อให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอำนาจจัดหาหรือซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ ซึ่งประกาศฉบับนี้ลงนามโดย สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัคราชกุมารีฯ ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์