เสวนาหน้าศาล: ทนาย-นักวิชาการ รุมอัดศาล! ไร้ความกล้าหาญที่จะยืนยันสิ่งที่ถูกต้อง

28 เมษายน 2564 ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เครือข่าย People Go Network จัดกิจกรรม “เสวนาหน้าศาล” ในหัวข้อ “ความยุติธรรมกับการคืนสิทธิประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไข” โดยมี ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คอรีเยาะ มานุแช สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมวงเสวนา 
ผู้ร่วมเสวนาทั้งสองคน เห็นตรงกันว่า การที่ศาลไม่ให้สิทธิในการประตัวกับผู้ต้องหาในคดี "มาตรา 112" หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความอยุติธรรม เพราะประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว และเหตุผลที่ว่า "กลัวจำเลยจะกระทำความผิดซ้ำตามที่เคยถูกฟ้อง" ก็เป็นการให้เหตุผลที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และศาลควรมีความละอายและกล้าหาญที่จะยืนยันในสิ่งที่ถูกต้อง ก่อนที่ประชาชนจะหมดศรัทธาไปมากกว่านี้
ศาลกำลังก่ออาชญกรรมผ่านการพรากสิทธิผู้ต้องหา
คอรีเยาะ มานุแช สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในตอนนี้มีคนที่กำลังถูกจองจำอยู่ในเรือนจำด้วยความอยุติธรรมเพราะไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายทั้งในประเทศไทยและระหว่างประเทศ 
ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 29 ระบุว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยหรือผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และในระหว่างนั้นจะปฏิบัติเสมือนว่าเขากระทำความผิดไม่ได้ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน แต่ทว่า ในทางปฏิบัติรัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย ถูกคนที่ถือกฎหมายในวันนี้ ละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา กลายเป็นว่า ผู้ที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพก่ออาชญากรรมด้วยการพรากสิทธิของประชาชนไป
คอรีเยาะ กล่าวต่อว่า นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มีการระบุถึงหลักการที่จำเลยหรือผู้ต้องหาต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยหลักการสูงสุด คือ ต้องปล่อยตัวเป็นหลัก และจะไม่ปล่อยตัวชั่วคราวได้ตามแต่กรณีที่กฎหมายกำหนด เช่น กลัวจำเลยหลบหนี กลัวไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน กลัวว่าจะไปก่ออันตรายประการอื่น หรือ เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน หรือ หลักประกันตัวไม่เพียงพอ เงื่อนไขเหล่านี้ศาลอาจใช้เป็นเหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวได้
สำหรับกรณีการไม่ให้ประกันตัวจำเลยในคดี 112 ที่ศาลให้เหตุผลว่ากลัวจำเลยจะไปกระทำความผิดซ้ำตามฟ้อง คอรีเยาะ มองว่า เป็นเหตุผลที่ไม่สามารถรับได้ เพราะว่าเป็นการตีความที่ก้าวล่วงไปถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งการกระทำที่ถูกฟ้องอยู่ก็เป็นการกระทำที่ยังไม่ได้รับการตัดสินว่าเป็นความผิด ดังนั้น เหตุผลของศาลจึงเป็นการก้าวล่วงและตีความเกินเลย รวมถึงเป็นการริดรอนสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น 
ศาลกำลังมัดมือชกจำเลยด้วยการไม่ให้ประกันตัว
คอรีเยาะ มานุแช กล่าวว่า การที่จำเลยถูกควบคุมตัวในพื้นที่จำกัด การพบเจอผู้คนที่จำกัด เขาก็จะไม่มีโอกาสในการไปแสวงหาพยานหลักฐาน หรือพบปะทนายความในการปรึกษาหารือคดี หรือเตรียมตัวเพื่อต่อสู้คดี ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ แล้วที่ผ่านมาศาลค่อนข้างจะมีมาตรการที่เข้มงวดในการที่จะให้ผู้ต้องหาได้พบกับทนายความ ทำให้การเสาะหาหรือแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมันเป็นไปได้ยาก เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากลูกความที่เพียงพอ
คอรีเยาะ กล่าวว่า ตัวลูกความเป็นกุญแจสำคัญในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในการต่อสู้คดี ในเมือผู้ต้องหาถูกขังก็ไม่มีโอกาสได้พบใคร ทนายความจะไปควานหาข้อเท็จจริงจากไหน และมันกลายเป็นปัญหาใหญ่เพราะทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยขาดโอกาสในการแสวงหาหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีและปกป้องตัวเอง
คอรีเยาะ ยังกล่าวด้วยว่า ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ศาลควรจะจัดหาให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลย แต่เมื่อจำเลยหรือผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วศาลจะมาพูดว่า ศาลจะอำนวยความยุติธรรมให้คุณอย่างเต็มที่ มันก็เป็นคำพูดที่น่าไม่อาย คือคุณจะให้ความยุติธรรมอย่างเต็มที่ได้อย่างไร ในเมื่อจำเลยยังถูกควบคุมตัวอยู่
สิ่งที่ขาดหายไปในสถาบันตุลาการคือ "ความกล้าหาญ"
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คุณสมบัติหนึ่งซึ่งอาจจะขาดมากๆ ในวงการนิติศาสตร์ โดยเฉพาะในวงการตุลาการ นั่นคือเรื่องของความกล้าหาญ หรือคำในภาษาอังกฤษว่า "Courage" 
ความกล้าหาญในที่นี้ไม่ใช่ความกล้าที่จะไปรบราฆ่าฟันกับใคร หรือไปตีกับใครอย่างไม่กลัวตาย แต่มันหมายถึง ความกล้าที่จะยืนยันว่า สิ่งใดไม่ถูกต้อง และก็พูดในสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาต่อหน้าอำนาจ ซึ่งความกล้าประเภทนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความฉลาดหรือความโง่ ความรวยหรือความจน ไม่ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาหรือวัย แต่เรื่องตลกร้ายคือ คนที่มีทุกสิ่งพร้อมที่จะแสดงความกล้าหาญเช่นนั้น มีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีหลักประกัน มีการศึกษา การงานที่ดี พร้อมที่จะแสดงความกล้าหาญกว่าคนอื่นกลับมักจะเป็นผู้ที่ไม่มีความกล้าหาญมากนัก
เข็มทอง กล่าวว่า เรื่องคลกร้ายแบบนี้ก็เช่นเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นกับศาล เพราะเชื่อว่าศาลรับรู้เกี่ยวกับการทำกิจกรรมของประชาชนอย่างที่ทุกคนมายืนที่หน้าศาล และไม่เชื่อว่า ศาลไม่ได้ปิดหูปิดตาจนไม่รู้ว่าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้มันถูกทำให้กลายเป็นความเงียบ แต่ก็เป็นความเงียบแบบที่มีคนเปรียบเปรยว่า "เงียบจนหูจะแตก" เพราะเกิดเรื่องใหญ่ขนาดนี้ขึ้น แต่ข้างในศาลกลับไม่มีใครโต้แย้ง หรือยกประเด็นนี้ขึ้นมาโต้เถียงกันอย่างเปิดเผย และมีได้อย่างมากก็คือเป็นการกระซิบ หรือพูดกันลับหลังโดยไม่กล้าพูดต่ออำนาจ
ศาลกำลังเอา "ความน่าเชื่อถือ" มาวางเดิมพันในเกมส์อำนาจ
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง กล่าวว่า ศาลเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจในอธิปไตยของชาติ ที่แสดงให้เห็นว่า ไทยมีมาตรฐานที่ทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ เราถึงได้เอกราชทางศาลคืนมา และต้องใช้เวลานานแสนนานกว่าจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจหรือความน่าเชื่อถือ แต่ทว่า ความน่าเชื่อถือดังกล่าวก็สามารถล้มสลายลงได้ภายในชั่วพริบตา
เข็มทอง กล่าวว่า ถึงแม้ศาลจะอ้างถึงสิทธิประกันตัวว่าใช้มาตรฐานเดียวกับศาลอังกฤษ หรือมีสถิติเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ให้ประกันตัว แต่ทว่า ต่อให้มีเพียงกรณีเดียวหรือเปอร์เซ็นเดียวที่แสดงให้เห็นว่า มันเป็นความอยุติธรรม มันก็เพียงพอที่จะทำให้ความน่าเชื่อถือของตุลาการทั้งหมดมันพังทลายลง และมันจะเกิดขึ้นถ้าไม่มีใครกล้าลุกขึ้นพูดต่ออำนาจ
เข็มทอง กล่าวว่า มันเป็นเดิมพันที่สูงแต่ไม่คุ้มค่า เวลามีปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม มันคงมีผู้พิพากษาหรือใครบ้างคนไม่กี่คนที่ได้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ แต่ในทางกลับกันมันก็เป็นการเอาชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของคนทั้งหมดในองค์กรไปพนันไปแลกกับประโยชน์ ซึ่งไม่ยุติธรรมกับคนที่เหลือในองค์กรและวิชาชีพทั้งหมด และในวันที่คนหมดความเชื่อถือต่อศาลไปแล้ว แม้ศาลจะเปลี่ยนใจและอนุญาตให้ประกันตัว แต่คนก็จะไม่แซ่ซ้องสรรเสริญศาล 
"ผมหวังว่า คนที่ประกอบอาชีพนิติศาสตร์จะมีโอกาสขบคิดทบทวนสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่วันนี้ และคิดต่อไปว่าวันพรุ่งนี้จะทำอะไรต่อดี"  เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว