จับตา #ประชุมสภา พิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ และ ร่าง พ.ร.บ. รวมกันสี่ฉบับ

วันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีการพิจารณาเรื่องด่วนซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกเสนอโดยคณะรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 ฉบับ และมีการพิจารณาร่างกฎหมายที่คณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วอีกอย่างน้อย 2 ฉบับ ดังนี้
หนึ่ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว  
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบรับหลักการ (วาระที่หนึ่ง) ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. หรือ ร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ จำนวนสองฉบับได้แก่ ร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย และร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล และได้มีการตั้ง "คณะกรรมาธิการ" ขึ้นมาหนึ่งชุด เรียกว่า "กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ" เพื่อพิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญก่อนจะนำมาพิจารณาอีกครั้งในวาระสองและวาระสาม
โดยในวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ทาง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ได้พิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วและได้ส่งกลับมายังสภาเพื่อให้พิจารณาในวาระสอง และสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ คือ
หนึ่ง แก้ไขมาตรา 256 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการและในวาระที่สามขั้นสุดท้ายต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มร่างรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า "สองในสาม" ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา 
อีกทั้ง การแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ และหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ
สอง เพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 200 คน โดยจะเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดย สสร. จะมีกรอบระยะเวลาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จะทำไม่ได้ หากมีการแก้ไขในประเด็นดังกล่าวให้รัฐสภาวินิจฉัยให้ร่างดังกล่าวตกไป
หลังจาก สสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภาเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นแต่ไม่มีการลงมติ หลังจากนั้น ให้นำร่างรัฐธรรมนูญส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญก็ให้ดำเนินการทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป
สอง ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ฉบับที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว   
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติเห็นชอบรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่งคณะกรรมาธิการได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นที่เสร็จสิ้นจึงส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาต่อในวาระสองและสาม
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อกฎหมาย คือ การเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ในการอำนวยความสะดวกประชาชนในการใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย อาทิ ช่วยในการจัดทำร่างกฎหมาย ช่วยในการเป็นหน่วยงานรับเอกสารการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมถึงการประชาสัมพันธ์ร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการเสนอโดยภาคประชาชน อีกทั้ง ยังมีการเปิดรองรับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ทางออนไลน์ ได้อีกด้วย
สาม ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ
ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอขึ้นมาโดยคณะรัฐมนตรีในฐานะ "กฎหมายปฏิรูป" เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ตราขึ้นตามการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) และกฎหมายดังกล่าวจะถูกพิจารณาโดยที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งต่างกับกฎหมายปกติที่ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาก่อนเสมอ
การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 24 และ 25 กุุมภาพันธ์นี้ จะเป็นกาพิจารณาในวาระ "วาระแรก" หรือ ชั้นลงมติรับหลักการว่า รัฐสภาเห็นด้วยกับหลักการของกฎหมายหรือไม่ โดยหลักการของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ คือ ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และการพิจารณาบำเหน็จความชอบ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้
ส่วนสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ คือ การโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ภารกิจตำรวจรถไฟ หรือ ภารกิจตามกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น อีกทั้ง ยังมีการจัดระเบียบโครงสร้างทางราชการและกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ รวมถึงมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ดูแลปกป้องตำรวจจากผู้บังคับบัญชา เป็นต้น
สี่ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ
ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม หรือ ร่าง พ.ร.บ.นวัตกรรมฯ  เป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอขึ้นมาโดยคณะรัฐมนตรีในฐานะ "กฎหมายปฏิรูป" ดังนั้น รัฐสภาจึงจะเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว โดยการพิจารณาร่าง ร่าง พ.ร.บ.นวัตกรรมฯ  ในวันที่ 24 และ 25 กุุมภาพันธ์นี้ จะเป็นกาพิจารณาในวาระ "วาระแรก" หรือ ชั้นลงมติรับหลักการว่า รัฐสภาเห็นด้วยกับหลักการของกฎหมายหรือไม่ โดยหลักการของ ร่าง พ.ร.บ.นวัตกรรมฯ คือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม
ส่วนสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.นวัตกรรมฯ คือ การรับรองสิทธิความเป็นเจ้าของของผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัติกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานของรัฐ แต่ต้องอยู่ภายใต้การประเมินและติดตามโดยหน่วยงานภาครัฐว่า ผู้รับทุนหรือนักวิจัยได้นำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ หากว่าไม่ ให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมตกกลับมาเป็นของผู้ให้ทุน อีกทั้ง ยังให้สิทธิกับผู้ที่ต้องการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนตามแต่กรณี
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ให้ใช้เฉพาะกับการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม และให้ยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายนี้กับ การวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ใช้เงินของตัวเอง การวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือการวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโญชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งไม่สมควรให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ