ถอดบทเรียน “6 ตุลาฯ” การเติบโตและถดถอยของประชาธิปไตย

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นับเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่ดำมืดที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ความดำมืดในที่นี้อาจหมายถึงความโหดร้ายทารุณที่เพื่อนมนุษย์กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ในนามของ ‘ความจงรักภักดี’ แต่อีกนัยหนึ่งความดำมืดนั้นคือภาพสะท้อนของ “ความจริง” ที่ยังไม่กระจ่างชัดทั้งจากฝั่งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ

แม้จะผ่านมาแล้ว 44 ปี แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็มีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แต่อย่างน้อยที่สุด ข้อค้นพบเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในมุมมองของนักวิชาการที่มาร่วมงานเสวนาในหัวข้อ “หา(ย) : อุดมการณ์ – ความทรงจำ – รัฐธรรมนูญ” คือ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นความพยายามเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลง หรืออีกนัยหนึ่งคือความพยายามตัดตอนระบอบประชาธิปไตยของกลุ่มศักดินา โดยเอาชีวิตของเหล่านิสิตนักศึกษาเป็นเครื่องสังเวย

6 ตุลาฯ คือ อาชญากรรมในนามของสถาบันหลักของชาติ  

ศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นผลจากสงครามระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาที่เข้มข้นในช่วงปี 2518-2519 ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของฝ่ายที่เชื่อมั่นในความเสมอภาค ประชาธิปไตย และประชานิยม ในขณะที่อีกฝ่ายเชื่อมั่นในอุดมการณ์ราชาชาตินิยม หรือการเชื่อมั่นในคนดีที่เน้นชนชั้นนำ จึงนำไปสู่การปะทะกัน โดยที่ฝ่ายขวาเลือกใช้ 3 เสาหลักของชาติได้แก่ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ มาปรักปรำต่อต้านขบวนการของนักศึกษา 

ศ.เกษียรอธิบายว่า ฝ่ายขวาไทยพยายามใช้สถาบันหลักของชาติมาเป็นเครื่องมือ ไล่ตั้งแต่การพยายามนิยามความเป็นคนของนักศึกษาให้ห่างจากความเป็นไทย มีการเรียกขานแกนนำนักศึกษาเป็นเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่ไทย รวมถึงการใช้สถาบันศาสนามารองรับการใช้ความรุนแรง ดังที่เคยได้ยินกันว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” อีกทั้งยังมีการดึงสถาบันมาเป็นชนวนสำคัญในการสังหารหมู่นักศึกษาผ่านการให้ข้อมูลเท็จว่า การจำลองเหตุการณ์แขวนคอช่างไฟฟ้าที่ออกมาติดโปสเตอร์คัดค้านจอมพลถนอม คือ การแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท (ในขณะนั้น) 

อย่างไรก็ดี ในทัศนะของนักวิชาการรัฐศาสตร์ ไม่ได้มองแค่เรื่องความขัดแย้งทางอุดมการณ์เท่านั้นที่เป็นสาเหตุของความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพราะในขณะเดียวกัน เบื้องหลังของความรุนแรงคือ “ผลประโยชน์ทางอุดมการณ์” ของฝ่ายขวาที่พยายามจะหยุดกระแส การเปลี่ยนย้ายอำนาจจากกลุ่มชนชั้นนำข้าราชการไปสู่กลุ่มชนชั้นกลางในเมืองที่กำลังเบ่งบานหลังการปฏิวัติประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 

“ผมคิดว่า 6 ตุลา คือ การฆ่าหมู่กับการรัฐประหาร มันเกิดไล่ๆ กันในวันเดียวกัน เพียงตอนเช้ากับตอนเย็น 

ถามว่าโดยใคร โดยรัฐราชการหรือทุกวันนี้จะใช้ว่ารัฐพันลึกก็ได้

ถามว่าเพื่ออะไร เพื่อทวนกระแสการปฏิวัติกระฎุมพี 14 ตุลาฯ ซึ่งมีผลเปลี่ยนระบอบอำนาจ มันพาคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาสู่อำนาจ ในบริทของการเปลี่ยนย้ายอำนาจครั้งที่ 2 จากกลุ่มชนชั้นนำข้าราชการไปสู่กระฎุมพีชาวเมือง 6 ตุลาฯ เกิดขึ้นเพื่อหยุดกระแสการย้ายอำนาจนั้นในช่วง 3 ปีก่อนหน้านั้น” ศ.เกษียรกล่าว

6 ตุลาฯ นักศึกษาคือเป้าหลอก ประชาธิปไตยคือเป้าจริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทยคนหนึ่งแห่งยุคสมัย ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีหลายเรื่องที่ถูกทำให้เข้าใจผิด อาทิ เหตุผลของการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แท้จริงแล้ว ไม่ใช่การรัฐประหารที่มีนักศึกษาเป็นสาเหตุ แต่เป็นเจตนาของผู้ยึดอำนาจที่ต้องการจะตัดตอนประชาธิปไตย

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์มองว่า ความโกลาหลที่เกิดขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไปจนถึง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งถูกคณะรัฐประหารอ้างว่า เป็นชนวนต้นเหตุของการรัฐประหารนั้น แท้จริงแล้ว ไม่ได้เป็นเหตุผลหลัก เพราะการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มกรรมกร ชาวนา นักศึกษา ที่เพิ่มขึ้นนั้นสัมพันธ์กับความตื่นตัวทางประชาธิปไตย ซึ่งเปรียบเสมือนภูเขาไฟที่ระเบิดออก เพราะมีการสั่งสมปัญหาเอาไว้ตลอดช่วงยุครัฐบาลเผด็จการทหาร แต่ทว่าสถานการณ์ก็ค่อยๆ คลี่คลายลงเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์มองว่า สาเหตุที่แท้จริงของการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาฯ จึงอาจจะเป็นเหตุผลอื่น และอาจจะเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2517 เพราะถ้าดูจากคณะรัฐมนตรีในช่วงปี 2516 ถึง 2519 จะพบว่า คณะรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการเติบโตของพลังประชาธิปไตย คณะรัฐมนตรีล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมือง เป็นตัวแทนพรรคการเมืองที่ผ่านการลงสนามรับเลือกตั้ง 

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์มองว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517 ผู้ที่เสียผลประโยชน์คนสำคัญ คือ กลุ่มทหารที่สูญเสียอำนาจไปหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และกลุ่มศักดินาใหม่ที่เพิ่งได้รับการสถาปนาสมัยรัฐบาล ‘สัญญา ธรรมศักดิ์’ ดังนั้น จึงต้องมีการรัฐประหารโดยใช้ชีวิตของนิสิตนักศึกษาเป็นเครื่องสังเวยและปูทางไปสู่การกุมอำนาจรัฐผ่านสิ่งที่เรียกว่า “การฟื้นฟูประเทศ” คล้ายกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่มีระยะเวลาเพียงแค่ 12 ปี

“6 ตุลาคม ถูกอธิบายว่าเพื่อปราบปรามฝ่ายซ้าย ซึ่งนักศึกษามักไปข้างซ้าย เป็นการปราบปรามฝ่ายซ้าย โดยมีนักศึกษาเป็นเครื่องบูชายัญ แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการยิงไปที่ประชาธิปไตยที่กำลังเฟื่องฟู”  ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

6 ตุลาฯ คือ การยับยั้งความก้าวหน้าของประชาธิปไตย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนมองประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงปี 2516 ถึง 2519 ว่า เป็นประวัติศาสตร์ที่เริ่มต้นจากชัยชนะของประชาชนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เริ่มมีสำนึกรู้ตัวว่าประชาชนนั้นเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และทำให้รัฐธรรมนูญ ปี 2517 ที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาฯ เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้า

ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าวว่า ความก้าวหน้าประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ปี 2517 คือ การกระจายอำนาจ โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้การปกครองท้องถิ่นทุกระดับให้มีสภาท้องถิ่นและมีหัวหน้าคณะผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของท้องถิ่นและต้องมีการเลือกตั้งตามระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมาย ซึ่งในปี 2519 คือ ปีที่ครบรอบการเตรียมพร้อมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ทว่าความก้าวหน้าดังกล่าวก็มีเหตุต้องสิ้นสุดลงหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ตามมาด้วยการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ

“ถ้าเรามีการเลือกตั้งท้องถิ่นตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2519 จนถึงวันนี้ ผ่านมา 40 ปี การเมืองท้องถิ่นของเราจะเปลี่ยนแปลงไปถึงไหน นี่ลำพังแค่เรามีโอกาสในการเลือกตั้งหน่วยบริหารท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 นับเนื่องวันนี้ก็ราว 20 ปี แต่ถ้านับย้อนไปถึง 6 ตุลาฯ 2519 เราจะมีสภาท้องถิ่น เราจะมีการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้าในระดับใด” ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว  

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.บัณฑิตมองว่า บทเรียนจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน คือ การต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีเหตุผลไม่ใช่การใช้ความรุนแรง ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนสมัย 14 ตุลาฯ ก็มีความพยายามเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงจนเกิดวิกฤติและปะทุขึ้น และเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็เช่นเดียวกัน ยิ่งในปัจจุบัน ก็มีความพยายามเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการไม่ยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความตึงเครียด

“สังคมอารยะทุกสังคมต้องใช้เหตุผล ต้องใช้หลักวิชาการ ต้องใช้หลักคิดที่มีเหตุผลสนับสนุนรองรับ ไม่ใช่ใช้กระบวนการคิดตามอำเภอใจ หรือมโนเอาว่าสังคมจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้” ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว