4 เหตุผลต้องคว่ำข้อเสนอ “แก้รัฐธรรมนูญ” ของฝั่งรัฐบาล

แม้ถนนทุกสายจะมุ่งหน้าสู่การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่ใช่ว่าทุกเส้นทางจะมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

พรรคร่วมรัฐบาลเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีข้อเสนอเรื่องนี้ แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่าเป็นเพียงความพยายาม “เล่นแร่แปรธาตุ” ให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็น “ข้ออ้างอยู่ยาว” เพื่อรักษาอำนาจของ “ระบอบ คสช.”

เพราะร่างที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาล มีเนื้อหาสาระเพียงให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่ไม่แก้ไขระบอบการเมืองที่ผิดปกติ ซึ่งทั้งพรรคฝ่ายค้านและประชาชนต่างชูธงให้รีบแก้ไขก่อน เช่น การปิดสวิตช์ ส.ว. การยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอก การแก้ปัญหาองค์กรตรวจสอบ ฯลฯ

ไอลอว์ขอนำเสนอเหตุผลที่สังคมต้องช่วยกันหยุดยั้งร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับ “ลักไก่อยู่ยาว” ของรัฐบาล ดังนี้

1. ที่มา สสร. เปิดช่องให้ ‘รัฐบาล คสช.’ เข้าไปกุมอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ

ในร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาล กำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และให้มี สสร.ที่มาจากการสรรหาอีก 50 คน ซึ่งแบ่งเป็น

  • 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา
  • 20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี แบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนหรือรัฐศาสตร์ 10 คน ผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน
  • 10 คน มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา

จากที่มาของ สสร.ดังกล่าว จะพบว่า รัฐบาล คสช. จะมีตัวแทนของตัวเองเข้าไปอยู่ในกลไกการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยในทันที

ยกตัวอย่างเช่น สสร. ที่มาจากการสรรหาโดยรัฐสภาจำนวน 20 คน ถูกผูกเงื่อนไขว่าต้องเป็นไปตามจำนวนหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั่นหมายความว่า จะมี สสร. ในโควต้าของ ส.ว.แต่งตั้งอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือประมาณ 6-7 คน เมื่อไปรวมกับโควต้าของ ส.ส.พรรครัฐบาลอีก เท่ากับว่า รัฐบาล คสช.ได้กุมฐานเสียงข้างมากของ สสร.ส่วนนี้ไว้ได้

นอกจากนี้ สสร.ที่มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดยนักเรียน นิสิต นักศึกษา ยังกำหนดให้ กกต. (ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร) เป็นผู้กำหนดวิธีการคัดเลือกหรือวิธีการได้มา นั่นหมายความว่า สสร. ที่มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา จำนวน 10 คน มีโอกาสจะถูกแทรกแซงโดยรัฐบาล คสช. อีกเช่นเดียวกัน

2. ที่มา สสร. ไม่ตอบโจทย์ความเป็นตัวแทนของกลุ่มทางสังคม

รัฐธรรมนูญที่ดีควรเป็นรัฐธรรมนูญที่โอบอุ้มความฝันของคนทุกกลุ่มทุกประเภท ดังนั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นตัวแทนกลุ่มทางสังคมหรือตัวแทนทางอุดมการณ์ แต่ สสร. ตามร่างของรัฐบาล กลับผูกไว้กับพื้นที่ เพราะกำหนดให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ “รวมเขตเบอร์เดียว” โดยเอาจังหวัดมาเป็นเขตเลือกตั้งและให้ประชาชนลงคะแนนเลือก สสร. ได้เพียง 1 คน 

รองศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยวิพากษ์วิจารณ์ระบบเลือกตั้ง สสร. ในรูปแบบดังกล่าวว่า ยังไม่ตอบโจทย์ความเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ และจะทำให้เราได้ สสร.ที่อยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมืองในพื้นที่ซึ่งอาจทำให้เราได้รัฐธรรมนูญแบบเดิม 

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากระบบเลือกตั้งที่เอาคะแนนเสียงผูกไว้กับพื้นที่หรือจังหวัดจะทำให้เสียงของกลุ่มต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ถูกสะท้อนออกมา และถูกกลบด้วยกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

3. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีข้อห้ามและต้องฟังเสียงรัฐบาล คสช. เป็นพิเศษ

ข้อห้ามสำคัญของร่างฝ่ายรัฐบาล คือ ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ หากรัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นอันตกไป นอกจากนี้ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของพรรครัฐบาล ยังกำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานรัฐ เป็นพิเศษอีกด้วย

4. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญถูกทำให้เป็นการ “ซื้อเวลา” ให้รัฐบาล คสช.

ในร่างฉบับรัฐบาล วางเส้นทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้อย่างยาวนาน 12-15 เดือน โดยความช้าเร็วของกระบวนการขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ

  1. รัฐสภา – เนื่องจากร่างของรัฐบาลกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินด่านแรกว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดย สสร. หรือไม่ หากเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา ให้ กกต. ไปจัดทำประชามติ
  2. ประชามติ – หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการทั้งหมดใหม่อีกครั้ง

จากสองปัจจัยข้างต้น จะพบว่า รัฐบาลจะมีหลักประกันอยู่ในอำนาจได้อีกอย่างน้อย 1 ปี โดยที่ไม่มีข้อเสนอยกเลิกกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. ไปพร้อมๆ กันด้วย ดังนั้น ถ้ารัฐบาลยังต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปก็สามารถสั่งให้ ส.ว. 250 คน และพรรคร่วมรัฐบาลคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อซื้อให้เวลาให้ตัวเองต่อไปได้ และระหว่างที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทอดยาวออกไป รัฐบาล คสช. ก็ยังมี ส.ว.ชุดพิเศษของตัวเองเป็นหลักประกันทางอำนาจ

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่