#saveวันเฉลิม: บทเรียนละตินอเมริกา 5 ปัจจัยการเมือง ‘เช็คบิลย้อนหลัง’การละเมิดสิทธิยุคเผด็จการทหาร

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองสัญชาติไทยรายแรกที่ถูกอุ้มหายในประเทศเพื่อนบ้าน รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า 6 ปีที่ คสช.ยึดอำนาจ มีประชาชนต้องลี้ภัยทางการเมืองไปนอกประเทศรวมอย่างน้อย 104 ราย และตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา คนกลุ่มนี้ถูกอุ้มหายไปในลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมแล้ว 9 ราย คิดเป็นราว 9% ของผู้ลี้ภัยยุค คสช. 

เรื่องนี้สอดคล้องกับรายงานของคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหายในปี 2561 ที่ระบุว่าผู้อพยพซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองกำลังเผชิญความเสี่ยงอย่างมากในการถูกบังคับสูญหาย และมีคำเตือนในรายงานของคณะทำงานดังกล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติประจำปี 2562 ด้วยว่า จะมีการร่วมมือกระทำการอุ้มหายนอกอาณาเขตมากขึ้น 

ในทางสากล การบังคับสูญหายหรือที่เรียกกันว่า การอุ้มหาย เป็นการกระทำที่มี 3 องค์ประกอบหลัก คือ มีการลิดรอนเสรีภาพโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ให้ความยินยอม มีการยินยอมหรืออนุมัติการอุ้มหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีการปฏิเสธการละเมิดเสรีภาพรวมถึงปกปิดชะตากรรมของผู้สูญหาย 

การอุ้มหายมักเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลในระบอบทหารหรือเผด็จการใช้กระทำต่อประชาชนผู้เห็นต่าง ซึ่งเกิดมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่น 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535 และสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ เป็นต้น 

รายงานของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหายระบุว่า ตั้งแต่ปี 2523 – 2562 ประเทศไทยมีการอุ้มหายอย่างน้อย 90 กรณี ในจำนวนนี้คณะทำงานยังคงติดตามอยู่ 79 กรณี และมีเพียง 3 กรณีที่คณะทำงานได้รับความกระจ่างชัดจากรัฐบาลไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 3% เทียบกับ 0% ในกัมพูชาและลาว และ 66% ในเวียดนาม 

แต่ก่อนที่จะสิ้นหวังในการตามหาความยุติธรรม กระทั่งการป้องกันการอุ้มหายที่อาจเกิดขึ้นอีก เราอยากชวนผู้อ่านมองออกไปยังบริบทโลกเพื่อค้นหาบทเรียนและปัจจัยของความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นแล้ว 

 

บทเรียนจากละตินอเมริกา

ในภูมิภาคละตินอเมริกาช่วงทศวรรษที่ 1970 – 1980 รัฐบาลเผด็จการก็นิยมใช้ ‘การอุ้ม’ เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ เช่น ประเทศอาร์เจนตินาภายใต้การนำของคณะรัฐประหาร รัฐบาลนายพลวิเดลา ประเทศชิลีภายใต้การนำของปิโนเช และอุรุกวัยภายใต้การปกครองของคณะเผด็จการร่วมระหว่างพลเรือนและทหาร 

บทเรียนของโลกบอกเราว่าเมื่อปัจจัยทางการเมืองเปลี่ยนและรัฐบาลพลเรือนขึ้นสู่อำนาจ แต่ละประเทศก็มีการจัดการเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมุษยชนรวมถึงการอุ้มหายภายใต้รัฐบาลทหารแตกต่างกันไป บ้างทำได้มาก บ้างทำได้น้อย การเปลี่ยนผ่านเช่นนั้นเป็นกระบวนการที่เรียกว่า ‘ความยุติธรรมยุคเปลี่ยนผ่าน’ หรือ Transitional Justice โดยจะมีการใช้เครื่องมือต่างๆ ของรัฐ ทั้งกระบวนการยุติธรรม อำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และการทำงานของข้าราชการ เพื่อผลักดันการคืนความยุติธรรม คืนข้อเท็จจริงสู่สังคม เยียวยา ป้องกัน และแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในยุครัฐบาลทหาร แต่กระบวนการเหล่านี้มักใช้เวลาดำเนินการยาวนาน 

อาร์เจนตินา เป็นตัวอย่างการคืนความยุติธรรมแก่เหยื่ออุ้มหายที่ใครๆ มักจะนึกถึง เนื่องจากความสำเร็จของรัฐบาลอัลฟอนซินที่เริ่มกระบวนการคืนความยุติธรรม เรียกว่าเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พลเรือนสามารถดำเนินคดีผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้การปกครองของเผด็จการซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงได้ในชั้นศาล 

ชิลีและอุรุกวัย เป็นอีก 2 ประเทศที่มีรัฐบาลทหารและเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลพลเรือนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับอาร์เจนตินาในทศวรรษ 1980 แต่กลับประสบความสำเร็จในการดำเนินคดีเพื่อคืนความยุติธรรมแก่เหยื่ออุ้มหายน้อยกว่า โดยชิลีสามารถตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ ส่วนอุรุกวัยทำได้เพียง ‘ปรองดอง’แล้วมองข้ามไป 

งานวิจัยของ David Pion-Berlin นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือนในละตินอเมริกา ตั้งคำถามว่าทำไมอาร์เจนตินาถึงดำเนินคดีกับผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสมัยรัฐบาลทหารได้ในขณะที่ประเทศอื่นทำไม่ได้ โดยศึกษาผ่านมุมมองทฤษฎีการตัดสินใจและบริบททางการเมืองเปรียบเทียบระหว่างอาร์เจนตินา-ชิลี-อุรุกวัย จนออกมาเป็น 5 ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศที่สำคัญในการผลักดันเอาความยุติธรรมกลับคืนมาสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการลืม

โหดแค่ไหนในอาร์เจนตินา-ชิลี-อุรุกวัย

ทำความเข้าใจกันก่อนว่า บริบทก่อนการรัฐประหารในทศวรรษ 1970 ในทั้ง 3 ประเทศเป็นพลวัติการเมืองยุคสงครามเย็น มีการแย่งชิงพื้นที่เขตอิทธิพล ‘หลังบ้าน’ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและคิวบากับสหภาพโซเวียต ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ตัวละครหลัก ได้แก่ กลุ่มการเมืองต่างๆ ทหาร นายทุน กลุ่มสหภาพแรงงาน และกระทั่งกองกำลังติดอาวุธ นำมาสู่การก่อการร้ายในทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา หน่วยงานความมั่นคงในแต่ละประเทศต้องร่วมมือกันรับมือ ‘ภัยคอมมิวนิสต์’ เมื่อการก่อการร้ายเริ่มหนักขึ้น รัฐบาลพลเรือนทั้งในอาร์เจนตินา ชิลี และอุรุกวัยก็เริ่มให้อำนาจฝ่ายทหารมากขึ้นเพื่อปราบภัยก่อการร้ายและคอมมิวนิสต์จนสิ้นฤทธิ์ในเวลาอันไม่นานนัก แต่ก็ทำให้มีผู้บริสุทธิ์จำนวนมากเสียชีวิต 

การปราบปรามลามมาที่ภัยความมั่นคงของตัวรัฐบาลเอง เมื่ออำนาจให้ทหารไปแล้ว การคานอำนาจทหารก็ยากจะเกิดขึ้น สภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอกก็ย่ำแย่ มีการประท้วงจากกลุ่มแรงงาน มีการหยุดงานอย่างกว้างขวาง มีการก่อจลาจล ขณะพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามก็ต้องการยืมมือทหารโค่นรัฐบาลจึงเกิดเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายทหารออกมา ‘รักษาความสงบ’ โดยในชิลีและอุรุกวัยมีการรัฐประหารในปี 1973 ตามมาด้วยอาร์เจนตินาในปี 1976 

รัฐบาลทั้ง 3 ประเทศใช้การอุ้มหาย ฆาตกรรม กักขังหน่วงเหนี่ยว ทรมาน เพื่อขยายผลความหวาดกลัว และบริหารราชการโดยอำศัยอำนาจเบ็ดเสร็จของฝ่ายบริหารและหน่วยงานความมั่นคง นอกจากนี้ยังมีการจับมือกับหน่วยงานความมั่นคงข้ามชาติเพื่อการปราบปรามศัตรูความมั่นคงซึ่งกันและกันภายใต้ Operation Condor เช่น จำนวนศัตรูทางการเมืองชาวอุรุกวัย กว่า 5 ใน 6 ถูกบังคับสูญหายในอาร์เจนตินา และมีชาวอาร์เจนตินาที่ถูกอุ้มหายในอุรุกวัยเช่นกัน 

การปราบปรามศัตรูทางการเมืองภายในประเทศก็มีความเข้มข้นอย่างมาก 

  • อาร์เจนตินา คณะรัฐประหารภายใต้ชื่อ ‘กระบวนการปฏิรูปแห่งชาติ’ ปราบปรามศัตรูด้วย ‘สงครามสกปรก’ มีการจัดตั้งค่ายกักกันและมีการทรมานเกิดขึ้นในรั้วค่ายทหารกว่า 340 แห่งทั่วประเทศ มีการอุ้มหายและอุ้มฆ่ากว่า 10,000-30,000 คน ทำให้มีผู้ที่ต้องลี้ภัยอย่างน้อย 800,000 คน 
  • ชิลี มีการอุ้มหายและอุ้มฆ่าประมาณ 3,000-10,000 คน มีผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 200,000 คน 
  • อุรุกวัย มีเหยื่อเสียชีวิตรวมราว 180 ราย มีผู้ลี้ภัยราว 10% ของประชากรหรือ 300,000 คน 

ยังไม่นับว่าแต่ละประเทศได้จับนักโทษการเมืองคุมขังอีกจำนวนมาก ด้วยวิธีการและความเหี้ยมโหดที่ต่างกันไป

การปราบปรามศัตรูทางการเมืองอย่างอุกอาจ เป็นระบบ และกว้างขวางเช่นนี้ทำให้มีเสียงวิจารณ์จากทั้งในและนอกประเทศ องค์กรภาคประชาชนเริ่มเคลื่อนไหว ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้รัฐบาลทหารอาร์เจนตินาเริ่มอยู่ยาก จนต้องตัดสินใจทำสงครามเพื่อหวังให้กระแสชาตินิยมพยุงตนไว้แต่ในที่สุดก็แพ้สงคราม ทหารเสียความชอบธรรมจนทานกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งไม่ไหว ส่วนในชิลีกับอุรุกวัย แม้จะไม่เจอวิกฤติหนักเช่นในอาร์เจนตินา แต่การเดินหมากทางการเมืองที่ผิดพลาด แพ้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือประชามติยืดอายุทางการเมืองก็ทำให้มีการเปิดทางคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างมีเงื่อนไข 

  • อาร์เจนตินากลับคืนสู่การปกครองโดยพลเรือนในปี 1983 
  • อุรุกวัยกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนในปี 1985 
  • ชิลีกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนในปี 1990 

การเช็คบิลย้อนหลังกับระบอบทหารที่โหดเหี้ยม

กรณีอาร์เจนตินา รัฐบาลนำโดย ราอุล อัลฟอนซิน (1983-1989) สามารถยกเลิกการนิรโทษกรรมตัวเองของทหาร ริเริ่มกระบวนการยุติธรรมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้นำเผด็จการทหาร 9 ราย และจัดตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงการอุ้มหายได้เพียงไม่กี่วันหลังสาบานตนรับตำแหน่งในปี 1983 ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้ตีพิมพ์รายงานในปี 1984 และเริ่มการไต่สวนผู้นำคณะรัฐประหาร (Trial of the Juntas) และกลุ่มติดอาวุธได้ในปี 1985 

กรณีอุรุกวัย รัฐบาลพลเรือนนำโดย ฮูลิโอ มาเรีย ซังกวิเนตติ (1985-1990, 1995-2000) ได้ให้นิรโทษกรรมทหารทั้งหมดโดยอ้างความปรองดองในปี 1985

กรณีชิลี รัฐบาลพลเรือนนำโดย พาทริซิโอ อัลวิน (1990-1994) สามารถจัดตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงได้ในปี 1990 ซึ่งตีพิมพ์รายงานในปี 1991 แต่ไม่มีการดำเนินคดี 

จะเห็นได้ว่าในช่วงต้นของการเปลี่ยนผ่าน อาร์เจนตินาสามารถริเริ่มกระบวนการยุติธรรมได้ก้าวหน้าที่สุด ตามมาด้วยชิลีและอุรุกวัยตามลำดับ ทำไมอาร์เจนตินาถึงได้ก้าวไกลกว่าประเทศอื่นเช่นนี้ Pion-Berlin ได้วิเคราะห์ออกมาดังนี้ 

ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ 5 ข้อที่สร้างเงื่อนไข ‘ช่วย’ หรือ ‘ฉุดรั้ง’ รัฐบาลพลเรือนในการทวงคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่ออุ้มหายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารทั้งปวงด้วยกระบวนการยุติธรรมยุคเปลี่ยนผ่าน ได้แก่

1. รูปแบบและความโหดเหี้ยมของการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2. ความสมดุลเชิงอำนาจระหว่างองค์กรทหารและพลเรือน
3. ทัศนคติของชนชั้นผู้นำทางการเมือง
4. แรงกดดันและการเคลื่อนไหวจากภาคประชาสังคม
5. คณิตศาสตร์ทางการเมือง จากโครงสร้างและบริบททางการเมือง ณ เวลาของการเปลี่ยนผ่าน

1. รูปแบบและความโหดเหี้ยม: ยิ่งละเมิดมากยิ่งโดนต้านมาก?

• หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งน่าจะสร้างแรงต้านในสังคมมากขึ้นเท่านั้น คำถามคือมุมมองนี้สามารถใช้มองเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การกดดันหรือเรียกร้องความยุติธรรมช่วงเปลี่ยนผ่านได้หรือไม่

• จุดประสงค์ วิธี ลักษณะ เวลา และจำนวนเหยื่อของรัฐบาลทหารทั้ง 3 ประเทศมีความแตกต่างกัน อาร์เจนตินาใช้การอุ้มฆ่าและทรมานเพื่อความสะใจเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการกับศัตรูของรัฐ ความน่าสะพรึงคือ การจัดการแบบนี้รวมไปถึงครอบครัว คนรู้จัก และเด็กทารกอีกด้วย มีการประเมินว่าจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายและเสียชีวิตในอาร์เจนตินามีราว 9,000-15,000 คน เทียบกับ 2,000-5,000 คนในชิลี และ 164 คนในอุรุกวัย ประกอบกับการบังคับสูญหายในอาร์เจนตินามีเพิ่มมากขึ้นหลังประธานาธิบดีผู้นำคณะรัฐประหารประกาศด้วยตัวเองว่าได้ปราบกลุ่มติดอาวุธจนหมดสิ้นแล้ว ทำให้สามารถอ้างได้ว่าอาร์เจนตินาเป็นประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุด และไม่แปลกที่ผลลัพธ์นำไปสู่การดำเนินนโยบายสิทธิมนุษยชนเพื่อทวงความเป็นธรรมแก่เหยื่ออุ้มหายได้ก้าวหน้าที่สุด

• หากมองในเชิงอัตราส่วนประชากรที่ได้รับผลกระทบ อุรุกวัยก็ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการกดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นที่สุดในโลกประเทศหนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว การจัดการกับศัตรูทางการเมืองและกลุ่มติดอาวุธในอุรุกวัยประกอบด้วยการอุ้มเพื่อกักขังและทรมานเป็นเวลายาวนาน โดยแพทย์มีบทบาทคอยดูแลไม่ให้เหยื่อเสียชีวิตเพื่อให้การทรมานทำได้สม่ำเสมอ ในอุรุกวัยมีนักโทษการเมืองที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวเป็นเวลานานเฉลี่ย 6.8 ปี ราว 4,000 คน ชิลีมี 6,500 คนและอาร์เจนตินามี 7,000 คน เมื่อปรับเป็นอัตราส่วนต่อประชากร ชาวอุรุกวัยมีโอกาสถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าชาวชิลี 4 เท่าและมากกว่าชาวอาร์เจนตินา 10 เท่า 

โดยสรุป ตรรกะดังกล่าวเปิดทางให้มองขนาดของการละเมิดได้จาก 2 มุมมอง คือจำนวนการละเมิด หรืออัตราส่วนของการละเมิดต่อประชากร หากเป็นมุมแรกอาร์เจนตินาเป็นอันดับหนึ่ง แต่จากอีกมุมหนึ่ง อุรุกวัยเป็นอันดับหนึ่ง แต่กลับมีความก้าวหน้าในการคืนความยุติธรรมน้อยที่สุด แสดงว่าอาจมีปัจจัยอื่นอีกที่ส่งผลต่อการคืนความยุติธรรม

2. ความสมดุลของอำนาจกองทัพกับพลเรือน: ทหารจบสวย คนซวยคือเหยื่อ

• รัฐบาลพลเรือนจะทำให้กองทัพจำนนต่อเจตนารมณ์ทางการเมืองของพลเรือนได้แค่ไหน Pion-Berlin อ้างทฤษฎีความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างทหารและพลเรือนของ Samuel Huntington ว่า การควบคุมโดยพฤตินัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจของทั้งสองกลุ่มเอื้อให้เกิดทัศนคติของความเป็นทหารอาชีพในชนชั้นนำของกองทัพ ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพของประเทศต่างๆ ในละตินอเมริกามีประวัติศาสตร์ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน มีความเป็นสถาบันมาก่อนประเทศเหล่านี้จะได้รับอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมสเปน ประกอบพร้อมกับการปกครองที่ประสบความสำเร็จผ่านรัฐราชการแบบอำนาจนิยม (bureaucratic authoritarianism) ทำให้การตีกรอบอำนาจกองทัพซึ่งยากโดยนิยามอยู่แล้วยิ่งทวีความท้าทายขึ้นไปอีก แต่ความผิดพลาดของเผด็จการทหารในการบริหารประเทศจะเป็นช่องโอกาสที่สำคัญในการดึงอำนาจมาสู่พลเรือน

• อาร์เจนตินาประสบปัญหาเศรษฐกิจมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนมีการรัฐประหาร ในปี 1976 อย่างไรก็ดี ปัญหาเศรษฐกิจกลับไม่ได้ดีขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร เมื่อรัฐบาลตัดสินใจไม่ได้ว่าจะจัดการกระแสความไม่พอใจในประเทศอย่างไร รัฐบาลก็เลือกทำสงครามกับอังกฤษเพื่อยึดหมู่เกาะมัลวินาส (Falklands) คืนในปี 1982 หวังให้กระแสชาตินิยมช่วยพยุง แต่กลับพ่ายแพ้ภายใน 2 เดือน ความปราชัยจึงเป็นการตอกฝาโลงคณะรัฐประหาร และไม่สามารถทัดทานกระแสต่อต้านของพลเรือน จนต้องเปิดทางให้จัดการเลือกตั้ง 

• อุรุกวัยก็เผชิญปัญหาเศรษฐกิจคล้ายกับอาร์เจนตินา มิหนำซ้ำยังแพ้การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 1980 ด้วย ทำให้ทหารมีอำนาจต่อรองไม่มากนัก ในทางกลับกัน เทคโนแครตสายเสรีนิยมใหม่ ‘ชิคาโกบอยส์’ ได้ช่วยทำให้เผด็จการชิลีประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ สามารถลดอัตราเงินเฟ้อทำให้เศรษฐกิจมวลรวมเติบโตอย่างน่าทึ่ง ทำให้รัฐบาลทหารมีแต้มต่อรองกับพลเรือนมากจนสามารถควบคุมกระบวนการช่วงเปลี่ยนผ่านให้ไม่เสียเปรียบได้ 

ฉะนั้น หากวิเคราะห์ด้วยปัจจัยความสมดุลเชิงอำนาจ รัฐบาลพลเรือนของอาร์เจนตินาจึงน่าจะมีอิสระในการจัดการกับอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติในยุคเผด็จการทหารมากที่สุด ตามมาด้วยอุรุกวัยและชิลี แต่ว่ามุมมองนี้ช่วยให้เราเข้าใจเพียงว่าแต่ละประเทศน่าจะมีโอกาสและอำนาจต่อรองมากแค่ไหนเท่านั้น การจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยถัดไป

3. ทัศนคติของชนชั้นนำทางการเมือง: คนเดียวเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ ถ้าใจถึง 

• ประวัติศาสตร์การเมืองละตินอเมริกาถูกควบคุมโดยชนชั้นนำมาโดยตลอด นอกจากนี้ระบบการปกครองในหลายประเทศก็ให้อำนาจบริหารแก่ประธานาธิบดีไว้มาก สถาบันทางการเมืองอื่นก็ไม่เข้มแข็ง ถูกแทรกแซงได้ง่าย ทำให้อำนาจการตัดสินใจและนโยบายแทบจะถูกผูกขาดไว้ด้วยประสบการณ์ มุมมอง และเจตนารมณ์ของคนหยิบมือเดียว

• กรณีอาร์เจนตินา Pion-Berlin ชี้ว่าคู่แข่งของว่าที่ประธานาธิบดีอัลฟอนซิน คือ อิตาโล ลูเดอร์ ปฏิเสธการยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมของทหารไว้อย่างชัดเจนในขณะหาเสียง โดยลูเดอร์และพรรคมีบทบาทอนุมัติปฏิบัติการทางทหารจนเกิดสงครามสกปรก ตรงกันข้ามกับพรรคของอัลฟอนซินที่ทั้งหมดสนับสนุนให้ดำเนินนโยบายยุติธรรมต่อผู้มีส่วนก่ออาชญากรรม นอกจากนี้อัลฟอนซินเองก็มีประวัติเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งและประธานร่วมขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่งที่คอยช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่ออุ้มหาย ทำให้ตอนหาเสียงได้สัญญาว่าจะโละกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองของทหารทิ้งเสีย เมื่อเขาได้รับเลือกตั้ง ความรู้จักสนิทสนมกับนักวิชาการกฎหมายก่อให้เกิดกลุ่มเทคโนแครตสายสิทธิกลุ่มใหม่ในระบบราชการและนักออกแบบนโยบายของพรรค ประธานาธิบดียุคเปลี่ยนผ่านจึงมีคนคอยช่วยผลักดันวาระคืนความยุติธรรมนั่นเอง

• ประธานาธิบดีช่วงเปลี่ยนผ่านของชิลี คือ อัลวิน มีประวัติเป็นทนายความ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับผู้นำพรรคการเมืองที่มีบทบาท ‘เคาะประตูค่าย’ จนทำให้ปิโนเชได้ขึ้นสู่อำนาจ จึงไม่แปลกที่อัลวินมีบทบาทเป็นนักประนีประนอม อย่างไรก็ดี อัลวินถือหลักการว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารปิโนเชนั้นไม่สามารถลบล้างได้ด้วยความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ทำให้เขาเลือกที่จะตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผลักดันถึงขั้นดำเนินคดีผู้มีส่วนละเมิดสิทธิมนุษยชน

• ประธานาธิบดีช่วงเปลี่ยนผ่านของอุรุกวัยคือ ซังกวิเนตติ เป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ยาวนาน มีประวัติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก่อนทหารยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จ เขาเป็นนักปฏิบัติและเป็นนักเจรจา ไม่ผูกมัดตัวเองด้วยอุดมการณ์ ทำให้ระมัดระวังไม่ตำหนิรัฐบาลระหว่างที่เผด็จการทหารคุมอำนาจ และยังสามารถไต่เต้าไปเป็นผู้นำคณะพลเรือนเข้าเจรจาการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากทหารได้ในเดือนสิงหาคม 1984 แต่เขาก็มิได้ใช้โอกาสนั้นเจรจาเรื่องการคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งที่ช่วงนั้นมีรายงานว่าประชาชนส่วนมากให้การสนับสนุน การเลือกที่จะละเว้นถกประเด็นการเอาผิดต่อทหารทั้งที่น่าจะมีแต้มต่อสอดคล้องกับที่เขามองตนเองว่าเป็นนักเจรจาที่ไม่ผูกมัดตนไว้กับอุดมการณ์หรือหลักการใด กรณีอุรุกวัยไม่มีแม้แต่การตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและได้นิรโทษกรรมให้ทหารทั้งหมด 

4. การเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม: ส่งเสียงไว้ก่อน เดี๋ยวต่อยอดได้

• กลุ่ม แม่แห่งจตุรัสมาโย และ ย่ายายแห่งจตุรัสมาโย (Mothers of Plaza de Mayo, Grandmothers of Plaza de Mayo) เป็นต้นแบบการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่สตรีมีบทบาทอย่างมากและเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ตั้งแต่ปี 1977 และยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่องจนแม้กระทั่งมีการเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว เพื่อพยายามผลักดันให้เอาผิดผู้กระทำผิดทั้งหมด โดยมองว่าอัลฟอนซิน ‘ไปไม่สุด’ จากการเลือกเอาผิดเพียงหัวหน้าคณะรัฐประหารบางคน และต่อมาผ่านกฎหมาย 2 ฉบับที่มีค่าเทียบเท่าการนิรโทษกรรม ขณะที่ภาคประชาสังคมผลักดันให้ดำเนินนโยบาย ‘เอาผิดสุดซอย’ ทำให้ผู้นำกองทัพที่อยู่ในสภาพระส่ำระส่ายยอมรับนโยบายของประธานาธิบดีอัลฟอนซินได้ว่าสมเหตุสมผลในระดับหนึ่ง รัฐบาลพลเรือนจึงมีช่องว่างทางโอกาสในการเอาผิดก่อนกองทัพเริ่มกลับมามีเสถียรภาพ (ก่อนปี 1985-1986) ซึ่งเป็นช่วงแรกของการปกครองโดยพลเรือน 

การเคลื่อนไหวของประชาชนในอาร์เจนตินาแม้ไม่ได้มีผลนำไปสู่การดำเนินคดีหรือตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงโดยตรง แต่ก็มีบทบาทที่สำคัญมากในการเปิด ขยาย และรักษาช่องว่างโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเปิดฉากดำเนินนโยบายเอาผิดอาชญากรจากสงครามสกปรกได้โดยอ้างความชอบธรรมจากประชาชน

• แม้การแสวงหาความจริงและดำเนินคดีในชิลีและอุรุกวัยจะไปไม่ไกลเท่าอาร์เจนตินา องค์กรภาคประชาสังคมใน 2 ประเทศดังกล่าวก็มีบทบาทในการเรียกร้องความยุติธรรมไม่แพ้กัน ในชิลี ศาสนจักรภายใต้ชื่อ ‘Vicaria de la Solidaridad’ เป็นองค์กรที่คอยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่องค์กรสิทธิอื่นๆ ให้สามารถทำงานสังคมสงเคราะห์ได้ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารของปิโนเช และผลักดันให้มีการเอาผิดจนมีประชาชนกว่า 60-80% สนับสนุนการตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงในยุคประชาธิปไตย ส่วนในอุรุกวัย องค์กรสิทธิมนุษยชน Servicio Paz y Justicia (SERPAJ) มีบทบาทจับตาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารเสมือนคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงแต่ไม่มีอำนาจรัฐในมือ กระนั้นก็สามารถเขียนรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้จนเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมโลก นอกจากนี้ภาคประชาสังคมยังได้จัดตั้งองค์กรพิเศษ คือ ‘National Pro-Referendum Commission’ หรือคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการทำประชามติเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองของทหาร จนสามารถรวบรวมชื่อได้ 634,000 รายชื่อ แต่ประธานาธิบดีซังกวิเนตติก็ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อผลักดันการทวงคืนความยุติธรรม 

• ข้อสรุปโดยรวมคือ แม้จะไม่มีอำนาจรัฐในมือ องค์กรภาคประชาสังคมรวมไปถึงองค์กรทางศาสนา มีบทบาทที่สำคัญมากในการสร้างเงื่อนไขทางการเมืองให้เอื้อต่อการดำเนินนโยบายสิทธิมนุษยชน การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ พร้อมกับการแสวงหาบทบาทและรูปแบบการเคลื่อนไหวใหม่ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทวงความยุติธรรม

5. คณิตศาสตร์การเมือง ณ ช่วงเปลี่ยนผ่าน: จังหวะก้าวของรัฐบาลพลเรือน

• Pion-Berlin อธิบายว่า การมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจจะส่งผลให้ผู้นำพลเรือน ‘กล้า’ หรือ ‘เลี่ยง’การดำเนินนโยบายสิทธิมนุษยชนที่เป็นความเสี่ยง และส่งผลต่อการเลือกยุทธศาสตร์และการให้ความสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของทหารเองด้วย

กรณีอาร์เจนตินา อัลฟอนซินถือว่าประเมินแต้มต่อของตนเองได้อย่างแม่นยำ หลังรัฐบาลทหารเพลี่ยงพล้ำอย่างหนักจากการแพ้สงครามประกอบกับสภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่ระส่ำระส่ายเต็มที อัลฟอนซินที่ขึ้นสู่อำนาจหลังก๊กต่างๆ ของทหารยังไม่สามารถรวมตัวกันได้ ภายใน 6 เดือนแรกจึงสบโอกาส ‘ลงโทษทางนโยบาย’ ต่อกองทัพด้วยการตัดงบประมาณและปรับโครงสร้างองค์กรให้อยู่ภายใต้การปกครองของพลเรือนมากขึ้น พร้อมริเริ่มการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดี โอกาสทางการเมืองตอนนั้นเป็นใจเพราะไม่ใช่แค่ทหาร แต่พรรคอุดมการณ์ประชานิยมฝ่ายค้านของอดีตประธานาธิบดีเปรอนก็ไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้ อัลฟอนซินคุมเสียงข้างมากได้ใน 2 สภา แต่นั่นหมายความว่าโอกาสปะทะกับกองทัพมีมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายทหารรู้สึกว่าการดำเนินคดีต่อองค์กรของตนไม่เป็นธรรมเนื่องจากการกระทำต่างๆ ในช่วงสงครามสกปรกเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อปกป้องประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์ การดำเนินคดีจึงเป็นการหักหลังและย่ำยีศักดิ์ศรีทหาร อาจมีผลให้เกิดการรัฐประหารครั้งใหม่ อัลฟอนซินทราบความเสี่ยงนี้จึงพยายามดำเนินคดีแต่กับผู้บังคับบัญชาอย่างเดียว แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งฝ่ายตุลาการและนิติบัญญัติที่ผ่านกฎหมายและรุดหน้าเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เมื่อสภาพเศรษฐกิจไม่เป็นใจต่อเนื่อง ทหารจึงสามารถต่อกรได้ด้วยการจลาจลขนาดย่อมๆ จนในปี 1986-1987 หรือไม่เกิน 4 ปีหลังการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคประชาธิปไตย รัฐบาลพลเรือนผ่านกฎหมาย 2 ฉบับ ‘Full Stop’ กำหนดให้ยุติอายุความคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุครัฐบาลทหารที่จำเลยยังไม่ได้ให้ความในชั้นศาล และ ‘Due Obedience’ มีผลให้ผู้กระทำผิดซึ่งเป็นผู้ใต้บัญชาไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย หลังจากนั้นการคืนความยุติธรรมก็ค่อยๆ ถดถอยลงเรื่อยๆ จนรัฐบาลถัดไปได้นิรโทษกรรมทหารทั้งหมดอีกครั้ง เป็นการปิดฉากการเดินนโยบายสิทธิมนุษยชนที่นำโดยฝ่ายการเมือง

กรณีชิลี โครงสร้างทางการเมืองถูกควบคุมผ่านรัฐธรรมนูญที่ทำให้ปิโนเชสามารถควบคุมนักการเมืองไว้ได้จำนวนมาก ประกอบกับกองทัพยังอยู่ภายใต้การควบคุมของปิโนเชอย่างเด็ดขาด แต่แม้ทหารก่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจนมั่นใจในอำนาจของตัวเอง แต่ก็กลับพลิกล็อคแพ้การลงคะแนนเสียงร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งทั้งที่เป็นฝ่ายคุมเกม เมื่อเห็นเช่นนี้รัฐบาลทหารคิดว่าคงไม่สามารถต้านทานกระแสประชาธิปไตยได้อีกต่อไป จึงประกาศว่าจะเคารพรัฐบาลพลเรือน หลังเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย รัฐบาลพลเรือนของอัลวินจึงสามารถใช้กระแสประชาธิปไตยผลักดันให้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลทหารได้ แต่ก็ต้องหยุดการดำเนินนโยบายสิทธิมนุษยชนไว้แต่เพียงเท่านี้ เพราะกองทัพแสดงความไม่พอใจต่อสาธารณชนอย่างชัดเจนผ่านการแถลง อีกปัจจัยคือ แรงทางการเมืองอื่นๆ ไม่อำนวย พรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่กล้าออกเสียงสนับสนุนการตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงดังกล่าว และศาลสูงสุดก็ตัดสินให้กฎหมายนิรโทษกรรมที่รัฐบาลทหารผ่านเมื่อปี 1978 มีผลบังคับใช้ต่อ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงก็ได้เผยแพร่รายงานที่มีผลให้ประชาชนยังคงนำไปเรียกร้องความยุติธรรมต่อไปได้ 

กรณีอุรุกวัย Pion-Berlin มองว่ารัฐบาลซังกวิเนตติดำเนินนโยบายที่ระมัดระวังเกินไป เนื่องจากการเจรจา ‘Club Naval Talk’ ปี 1984 ก่อนการเปลี่ยนผ่านไม่มีหลักฐานว่าได้ตกลงจะละเว้นการเอาความผิดทหารผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี เขาตัดสินใจไม่ตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือดำเนินคดีใดๆ ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลทหาร นั่นจึงอาจอธิบายได้ว่าซังกวิเนตติให้น้ำหนักต่อปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเอาผิดทหารไว้อย่างมากจนทำให้ไม่กล้าดำเนินนโยบายใดๆ หรือให้น้ำหนักความกลัวมากเกินไป ทั้งที่กองทัพคืนอำนาจให้กับประชาชนหลังแพ้ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 1980 ซึ่งนั่นเป็นต้นเหตุของการเจรจา Club Naval Talk นอกจากนี้รัฐบาลพลเรือนยังมีเสียงกว่า 72% สนับสนุนการดำเนินคดีเอาผิดผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงอาจถือได้ว่ารัฐบาลพลเรือนพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

ปัจจัยอื่นๆ 

• Pion-Berlin สรุปว่าการดำเนินคดีในอาร์เจนตินาส่งผลทางอ้อมต่อการดำเนินคดีในประเทศอื่นไม่มากนัก การ ‘ปรองดอง’ ของอุรุกวัยเกิดขึ้นก่อนสัญญาณความเพลี่ยงพล้ำของฝ่ายพลเรือนจากการออกกฎหมาย ‘Full Stop’ จะเป็นที่ประจักษ์ ส่วนกรณีชิลี การรวมฐานอำนาจของฝ่ายทหารในอาร์เจนตินาหลัง 1986 ประกอบกับวิกฤติอื่นๆ ที่รุมเร้าอัลฟอนซินคอยเตือนให้อัลวินไม่ดำเนินการ ‘สุดซอย’ เท่าในอาร์เจนตินา

• การเมืองในประเทศที่สามก็มีบทบาทแวดล้อมสำคัญต่อการดำเนินคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในปี 1985 สเปนผ่านกฎหมายให้ศาลมีเขตอำนาจสากล (universal jurisdiction) ในกรณีอาชญากรรมร้ายแรงบางประเภท ในปี 1998 ตุลาการสเปนอาศัยอำนาจกฎหมายนี้ตั้งข้อหานายพลปิโนเช หลังได้รับคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตำรวจเทศบาลกรุงลอนดอนจึงจับกุมปิโนเชที่เดินทางมารักษาตัวที่อังกฤษได้ ทั้งที่องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล รายงานว่าประชาชนชิลีในขณะนั้นไม่ได้คาดหวังในประเด็นการดำเนินคดีแล้ว จึงเป็นการใช้หลักเขตอำนาจสากลให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองต่อการดำเนินคดีในชิลี นอกจากนี้ ศาลประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปก็มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีต่อการอุ้มหายในอาร์เจนตินาที่เกิดขึ้นต่อหรือกระทำโดยพลเมืองของตน นำไปสู่คำให้การจำนวนมากของนายทหารที่มีส่วนร่วมในสงครามสกปรก จนมีผลเป็นแรงกดดันจากนานาชาติให้กระบวนการคืนความยุติธรรมกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในอาร์เจนตินาจนมีการดำเนินคดีระลอกใหม่ 

Pion-Berlin เห็นว่า แม้การดำเนินคดีในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านจะเป็นไปได้น้อยกว่าที่ภาคประชาสังคมคาดหวังไว้ แต่ก็สำเร็จมากกว่าที่นักสัจนิยมคาดไว้ การดำเนินคดีจะไปได้ไกลแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพการเมือง หากประชาชน ภาครัฐ และนักการเมืองเลือกที่จะไม่ลืม ก็ต้องเร่งสร้างเงื่อนไขตามหลัก 5 ปัจจัย แล้วอุปสรรคในวันนี้ก็คงทัดทานเจตจำนงแห่งประชาไว้ได้ไม่นาน

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน 

อาร์เจนตินา นายพลวิเดลาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปี 1985 จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างยุคเผด็จการทหาร แต่หลังจำคุกได้เพียงห้าปีก็ได้รับนิรโทษกรรมเมื่อปี 1990 อย่างไรก็ดี นายพลวิเดลาถูกดำเนินคดีอีกครั้งในปี 1998 จากกรณีการขโมยทารกของผู้ถูกอุ้มหาย เขาถูกตัดสินกักบริเวณ และต่อมาถูกส่งตัวไปคุกทหาร  

ขณะที่การดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ กับการละเมิดในยุคสงครามสกปรกเริ่มต้นอีกครั้งหลังศาลสูงสุดตัดสินยกเลิกกฎหมายสองฉบับที่บังคับไม่ให้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาในปี 2005 และศาลสูงสุดตัดสินให้กฎหมายนิรโทษกรรมขัดต่อรัฐธรรมนูญในปี 2007 ซึ่งคำตัดสินศาลสูงสุดทั้งสองครั้งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กติการะหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนกว่า 10 ฉบับมีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายภายในประเทศ

จากนั้น นายพลวิเดลาถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง และในปี 2010 ศาลตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตฐานก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติจากการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง เขาถูกจำคุกในเรือนจำในกรุงบัวนอสไอเรส และระหว่างจำคุกในปี 2012 ถูกตัดสินจำคุกเพิ่มอีก 50 ปีจากกรณีการขโมยเด็กทารกของผู้ถูกอุ้มหาย นายพลวิเดลาเสียชีวิตในเรือนจำในปี 2013 ขณะที่การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรายอื่นยังคงดำเนินต่อไป

ชิลี ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารนายพลปิโนเชถูกจับกุมในอังกฤษตามอำนาจหมายจับของศาลสเปนในข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติในปี 1998 แต่ถูกปล่อยตัวในปีครึ่ง 

ในปี 1991 คณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงเรทติกได้เผยแพร่รายงาน (Rettig Report) แต่ไม่ได้นำไปสู่การดำเนินคดี เนื่องมาจากก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารร่างได้ให้ตำแหน่งนายพลปิโนเชเป็น “สมาชิกวุฒิสภาตลอดกาล” ทำให้เขาคงอิทธิพลและอำนาจทางการเมืองอยู่ แม้หลังมีรัฐบาลพลเรือนแล้วก็ตาม 

นายพลปิโนเชกลับมายังชิลีในปี 2000 ลาออกจากตำแหน่ง ส.ว. ตลอดกาล แต่รัฐสภามอบตำแหน่งใหม่เป็น “อดีตประธานาธิบดี” มีสถานะพิเศษที่ทำให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม ในปีเดียวกันฝ่ายตุลาการก็เปิดเรื่องตั้งข้อหานายพลปิโนเชจากกรณีอุ้มหายศัตรูทางการเมือง 75 คน หรือที่เรียกว่าปฏิบัติการ “คาราวานแห่งความตาย” โดยศาลสูงสุดพิจารณายกเลิกเอกสิทธิแต่สุดท้ายศาลปฏิเสธการตั้งข้อกล่าวหาเนื่องจากจำเลยมีสุขภาพไม่พร้อม

การดำเนินคดีต่อปิโนเช ทั้งหมดรวมอย่างน้อยห้าครั้ง ทุกครั้งยุติลงจากการที่ศาลตัดสินใจไม่ดำเนินคดีต่อโดยอ้างเรื่องสุขภาพ จนมีอัยการท่านหนึ่งเปรียบเปรยว่า “ความยุติธรรมในประเทศนี้ถูกจำกัดไว้แล้วด้วยการเมืองยุคเปลี่ยนผ่าน” 

อย่างไรก็ดี ความพยายามดำเนินคดีได้ทำให้มีคำเบิกความจากนายพลปิโนเชอยู่ในสำนวนบ้าง และในปี 2005 กองทัพชิลียอมรับความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคปิโนเช และในปี 2006 ก่อนเสียชีวิต ขณะถูกกักบริเวณรอดำเนินคดีในบ้าน ปิโนเชก็ได้กล่าวในงานวันเกิดตัวเองยอมรับผิดชอบต่อ “สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด

อุรุกวัย ผู้นำเผด็จการ ฮวน บอร์ดาเบอรี่ ถูกตั้งข้อหาในปี 2006 ฐานมีส่วนรู้เห็นในการฆาตกรรมผู้นำการเมืองฝ่ายค้าน 4 คนขณะพำนักอยู่ในอาร์เจนตินาเมื่อปี 1976 ถูกตัดสินจำคุก 30 ปีในปี 2010 และถูกคุมขังอยู่ในบ้านพักของตนจนเสียชีวิตไปในปีถัดมา นี่จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นได้บ้างว่าแสงแห่งความหวังที่ริบหรี่ในวันแห่งความเปลี่ยนผ่าน แม้จะดับไปบ้างก็อาจถูกจุดให้กลับมาโชติช่วงชัชวาลย์ได้เมื่อมีเจตจำนงและสภาพทางการเมืองที่เหมาะสม 

ข้อสังเกตสำคัญ: ตุลาการและศาลมีบทบาทอย่างมากในการ ‘เช็คบิล’ ในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่าน

ศาลของอาร์เจนตินากลับมามีบทบาทอีกครั้งหลังฝ่ายการเมืองได้สร้างปัจจัยหนุน โดยรัฐบาลเมเนม (1989-1999) แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไปได้มากทำให้รัฐบาลพลเรือนมีความชอบธรรมอีกครั้ง เมื่อได้ประธานาธิบดีคนใหม่ เนสเตอร์ เคียร์ชเนอร์ (2003-2007) จึงสามารถผลักดันให้มีการดำเนินคดีได้ โดยศาลก็รับบทบาทตามอย่างทันท่วงที นำไปสู่คำตัดสินยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรม

ส่วนในชิลีและอุรุกวัย ฝ่ายตุลาการรับบทบาทนำการเมืองในประเทศ โดยตุลาการอาศัยช่องโหว่ในกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อเปิดคดีใหม่ ได้แก่กรณีการอุ้มหายสำหรับกรณีชิลี และกรณีการอุ้มหายผู้หนีภัยการเมืองนอกประเทศสำหรับกรณีอุรุกวัย ทำให้มีการดำเนินคดีระลอกที่สองในทั้งสองประเทศ จึงอาจถือได้ว่าการรับบทบาทนำหรือรับช่วงต่อของฝ่ายตุลาการเป็นปัจจัยสำคัญที่หกในการเอาผิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนยุคเผด็จการทหาร

 

ช่องทางติดตามวันเฉลิมและคนอื่นๆ

ปัจจุบันนี้การริเริ่มกระบวนการหาข้อเท็จจริง แก้ไข ป้องกันและเยียวยาผลกระทบจากการบังคับสูญหายที่เกิดต่อพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างเช่นกรณีของวันเฉลิมนั้นมีแนวทางหลากหลายให้ประเทศที่มีเจตจำนงทางการเมืองได้เลือกนำมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นกลไกตามอนุสัญญา ICPPED ซึ่งเกิดขึ้นจากผลพวงของการเคลื่อนไหวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยขององค์กรภาคประชาสังคมที่ริเริ่มในภูมิภาคละตินอเมริกา และเป็นตัวบทกฎหมายที่เปิดทางให้ครอบครัวของวันเฉลิมเรียกร้องให้สหประชาชาติออกจดหมายเร่งด่วนแก่ทางการกัมพูชาได้ 

อีกช่องทางหนึ่งคือ ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of ICC) ซึ่งถือให้การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ประเทศไทยได้ลงนามในทั้ง 2 อนุสัญญาข้างต้น แต่รัฐไทยกลับไม่ได้ให้สัตยาบันกับทั้ง 2 อนุสัญญาดังกล่าว จึงไม่มีพันธะที่จะทำให้มีการผลักดันเร่งรัดการอนุวัติการกฎหมายให้สอดคล้อง 

นอกจากนี้ข้อเสนอขององค์กรภาคประชาสังคมและแม้แต่หน่วยงานของรัฐเองก็ยังคงอยู่ในกระบวนการค้นหาความจริงของกรรมาธิการในสภาจนกระทั่งปัจจุบัน แม้จะเป็นความคืบหน้าที่สำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการคืนความยุติธรรมแก่วันเฉลิมและเหยื่ออุ้มหายผู้ลี้ภัยทางการเมืองสัญชาติไทยในประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี 2559 อีก 8 ราย

แท้จริงแล้วปัญหาเกิดจากปัจจัยทางการเมือง เพราะประเทศไทยมีกลไกสำหรับการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีอุ้มหายภายในประเทศอยู่แล้ว โดยมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 จัดตั้งอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำการทรมานและบังคับสาบสูญ โดยในส่วนของการหาข้อเท็จจริงการอุ้มหายมีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นประธาน แต่กลับไม่มีผลงานใด นอกจากรายงานการประชุมและเสนอให้สหประชาชาติถอดถอนชื่อคนหายบางรายออกจากบัญชีของสหประชาชาติ 

นอกจากนี้ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหายก็เคยยื่นหนังสือขอเข้าเยี่ยมเยือนประเทศไทยมาแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2011 แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ ล่าสุดได้ส่งหนังสือทวงถามความคืบหน้าไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2019 ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมของไทย เช่น ครอบครัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ก็ได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีการผลักดันร่างกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ แล้ว แต่จะผ่านสภาหรือไม่ยังคงต้องติดตามกันต่อไป 

สุดท้ายแล้ว เครื่องมือทางกฎหมายเหล่านี้จะมีประโยชน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละภาคส่วนในสังคมมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะนำกลไกทางกฎหมายเหล่านี้มาใช้ประโยชน์อย่างไร และความหวังย่อมมีเพิ่มขึ้นหากไม่ใช่รัฐบาลทหารซึ่งในด้านหนึ่งนับได้ว่าเป็นคู่กรณีกับผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหายโดยตรง


ช่องทางศึกษาเพิ่มเติม

– ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน
https://prachatai.com/journal/2010/11/31944

– ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน กรณีศึกษาประเทศอาร์เจนตินา https://prachatai.com/journal/2010/11/31728

– ประวัตินายพลปิโนเช
https://prachatai.com/journal/2015/06/59892

– ประวัติศาสตร์การเมืองชิลีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารของปิโนเช
https://www.the101.world/upheaval-review/

– รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลทหารในอาร์เจนตินาของคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง CONADEP
http://www.desaparecidos.org/nuncamas/web/english/library/nevagain/nevagain_001.htm

– เอกสาร CIA ประเมินความท้าทายต่อรัฐบาลอัลฟอนซินในปี 1984 หนึ่งปีหลังอาร์เจนตินาเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองโดยพลเรือน 
https://www.cia.gov/library/readingroom/docs/CIA-RDP87T00217R000500060003-5.pdf

– บันทึกความทรงจำของเจ้าหน้าที่ Amnesty International ต่อการใช้หลัก universal jurisdiction ที่นำไปสู่การจับกุมนายพลปิโนเชในอังกฤษ
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2013/10/how-general-pinochets-detention-changed-meaning-justice/