คู่มือแก้รัฐธรรมนูญ 2560: สี่เหตุผลต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ

“ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” หรือจะเรียกให้ถูกต้องคือ “ยุทธศาสตร์ คสช.” เป็นอีกหนึ่งประเด็นในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สมควรถูกแก้ไขหรือยกเลิก แม้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตอกย้ำความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติว่าจะเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความต่อเนื่อง แต่เวลาไม่นานหลังการประกาศใช้ในปี 2561 ก็แสดงให้เห็นชัดว่ายุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ไม่สามารถป้องกันประเทศจากวิกฤติต่างๆ ได้ ซึ่งมีเหตุผลสำคัญสี่ข้อที่บอกว่าควรต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ

TN  ยุทธสาสตร์ชาติ

1. กลไกสืบทอดอำนาจ คสช.

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นหนึ่งในเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. ทำให้ชนชั้นนำภาครัฐที่นำโดยกองทัพกับนายทุนผูกขาดสามารถมีบทบาทควบคุมการออกนโยบายการพัฒนาประเทศไปถึง 20 ปี ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยทหารและนายทุน นอกจากนี้ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติเกือบทั้งหมดต่างเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช. ด้วยเหตุนี้ไม่ว่ารัฐบาลในอนาคตจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม แม้จะสามารถชนะเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แต่การออกนโยบายหรือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลนั้นจะอยู่ภายใต้แนวทางยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. วางเอาไว้

2. ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

รัฐบาลสืบทอดอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ เจ้าของยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น จึงยังเห็นชัดว่ายุทธศาสตร์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อรัฐบาล คสช. แต่ในทางกลับกันหากเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ คสช. ก็อาจถูกกลไกยุทธศาสตร์ล้มรัฐบาลได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ ส.ว. แต่งตั้งจาก คสช. มีอำนาจหน้าที่ติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ ยังกำหนดว่า ถ้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่าการกระทำของรัฐบาลขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ โดยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัด ก็ให้ยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องถูกปลดจากองค์กรอิสระซึ่งมีที่มาโยงใยจาก คสช.

3. ล้าสมัยไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ยุทธศาสตร์ชาติมีระยะใช้งาน 20 ปี คือตั้งแต่ปี 2561-2580 นับถึงปี 2563 ยุทธศาสตร์ชาติถูกบังคับใช้เพียง 2 ปีเท่านั้น แม้จะเพิ่งประกาศใช้ไม่นานก็สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการที่จะนำประเทศไทยไปเผชิญความท้าทายกับโลกอนาคต ดังจะเห็นได้จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นหลังยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่พบแนวทางในการแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการระบาดของโรคโควิด 19 ขณะที่การยกระดับรายได้ของคนไทยให้เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วภายใน 20 ปี ก็ดูจะสวนทางกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ตกต่ำและเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. จะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยที่จะคอยเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ และเป็นเครื่องมือทางการเมืองของ คสช. เท่านั้น

4. ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

ยุทธศาสตร์ คสช. เป็นกลไกสำคัญที่กำหนดชะตาชีวิตของคนไทยถึง 20 ปี ซึ่งยาวนานจนแม้แต่คนร่างยุทธศาสตร์ชาติอาจจะไม่ได้เห็นผลลัพธ์ของสิ่งที่ตัวเองก่อไว้ ดังนั้น การจะมียุทธศาสตร์ชาติหรือไม่? เนื้อหาจะเป็นอย่างไร? จะใช้บังคับนานแค่ไหน? ประชาชนเจ้าของประเทศควรมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคต ทั้งนี้ การร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านมา ถูกจัดทำโดย คสช. ฝ่ายเดียว ตั้งแต่คนร่างก็เป็นคนที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น กระบวนพิจารณาเห็นชอบในขั้นต่างๆ ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจาก คสช. และการรับฟังความคิดเห็นก็ทำกันอย่างเงียบๆ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ไม่เห็น และดูจะเป็นการกระทำเชิงพิธีกรรมมากกว่า  

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ