Pride Month: สำรวจ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต-กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส

เดือนมิถุนายนถูกกำหนดให้เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในแทบทุกพื้นที่ทั่วโลก แต่จนถึงทุกวันนี้แม้แต่เรื่องพื้นฐานของชีวิตอย่างการมี ‘ครอบครัว’ ก็ยังเป็นวาระที่ต้องผลักดันกันอยู่

ในประเทศไทย สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งที่เป็นสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 เองก็ได้รับรองหลักการห้ามเลือกปฏิบัติไว้

ความว่างเปล่าทางกฎหมายเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะแม้จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเหมือนคู่ชายหญิง (ตามเพศกำเนิด) แต่ก็ไร้กลไกของรัฐที่มารับรองสิทธิ และไม่สามารถดำเนินการแทนคู่รักของตนได้ในหลายๆ ประการ เช่น การยินยอมให้ทำการรักษาพยาบาล การจัดการทรัพย์สิน การดำเนินคดีอาญา ฯลฯ

เมื่อสังคมเริ่มตระหนักถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น หลายกลุ่มก็ได้เริ่มผลักดันกฎหมายรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีอยู่ 2 แนวทางหลักด้วยกัน

แนวทางแรก คือ เสนอให้ยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (พ.ร.บ.คู่ชีวิต) ออกมาเป็นกฎหมายแยกต่างหาก เพื่อรับรองสิทธิตามกฎหมายของคู่รักเพศเดียวกันเป็นการเฉพาะ

แนวทางที่สอง คือ เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) บรรพ 5 ว่าด้วยการสมรสที่แต่เดิมระบุเพียง ชาย-หญิง ให้ทุกเพศสามารถสมรสได้ตามกฎหมาย เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียม

การปะทะของ 2 แนวคิด: ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต vs. แก้กฎหมายแพ่งเรื่องการสมรส

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 2555 มีคู่รักคู่หนึ่งคือ นที ธีระโรจนพงษ์ และ อรรถพล จันทวี ไปจดทะเบียนสมรสแล้วถูกปฏิเสธ จึงได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง นำไปสู่แนวคิดการกำหนดกฎหมายแยกออกมาโดยการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับแรกเกิดขึ้นราวช่วงปี 2556 ก่อนมีการรัฐประหาร ริเริ่มโดยกระทรวงยุติธรรมแต่ก็ตกไปก่อนเข้าสภา ต่อมาได้มีภาคประชาชนและเอ็นจีโอที่พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ภาคประชาชน แต่ก็ไม่คืบหน้าด้วยสถานการณ์ทางการเมือง ความรับผิดชอบหลักในร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตจึงกลับมาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ คือ กระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง

ขณะที่อีกฟากหนึ่ง ภาคประชาชน เอ็นจีโอ และพรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกลมีวิธีคิดอีกแบบและได้เสนอให้แก้กฎหมายว่าด้วยการสมรสที่มีอยู่แล้ว คือ ป.พ.พ. เพื่อปรับถ้อยคำให้มีความเท่าเทียมสำหรับทุกเพศ

ในเดือนสิงหาคม 2562 คณะทำงานเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ร่วมกับองค์กรและบุคคล 80 รายชื่อได้แสดงจุดยืนโดยการยื่นจดหมายเปิดผนึกไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตและเสนอให้แก้ ป.พ.พ. แทน ทว่ากลับไม่ได้รับการตอบกลับจากหน่วยงานภาครัฐ

ปลายปีเดียวกัน จึงมีความเคลื่อนไหวอีกครั้งโดยอาศัยกลไกของทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.พ.พ.ที่รับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเฉพาะชายหญิง (ตามเพศกำเนิด) ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าห้ามเลือกปฏิบัติหรือไม่ สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งที่ 68/2562 ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่า การที่เจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียนสมรสเป็นการกระทำทางปกครอง สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้ จึงต้องห้ามไม่ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังให้เหตุผลอีกว่า

“ขณะนี้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กำลังดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. … ในขั้นตอนของฝ่ายบริหาร เพื่อคุ้มครองและรับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันให้มีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสต่างเพศ…”

การให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญนี้เป็นข้อบ่งชี้หนึ่งว่า แนวทางการรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวที่ภาครัฐเลือก คือ การกำหนด ‘กฎหมายแยก’ ออกมาเพื่อใช้สำหรับคู่ชีวิตซึ่งเป็นบุคคลที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไข ป.พ.พ.ก็ใช่ว่าจะยุติไป พรรคก้าวไกลยืนยันที่จะเดินหน้าผลักดันการแก้ไข ป.พ.พ.ที่ประกาศมาตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง ล่าสุด ในเดือนมิถุนายนปีนี้พรรคก้าวไกลระบุว่าพร้อมยกร่างแก้ไข ป.พ.พ. และจะผลักดันร่างดังกล่าวเข้าสู่สภา

 

เปรียบเทียบสิทธิต่างๆ ใน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต-ป.พ.พ. 

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 25 ธันวาคม 2561 และผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว จึงถูกส่งกลับไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้ยืนยันเนื้อหาเพื่อเสนอไปยัง ครม. ให้ลงมติอีกครั้งก่อนจะเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของสภาต่อไป 

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปลายปี 2561 ที่ร่าง พ.ร.บ.ผ่านมติ ครม. จนถึงมิถุนายน 2563 เป็นเวลา 1 ปีกว่า ความคืบหน้าที่ปรากฏมีเพียงผ่านการตรวจจากกฤษฎีกาและปรับเนื้อหาของร่างกฎหมายเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่กลับไร้ความคืบหน้าที่ชัดเจนว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะเข้าสู่สภาในช่วงเวลาใด

ในอีกฟากหนึ่ง ทางพรรคก้าวไกลก็ได้ทำการยกร่างแก้ไข ป.พ.พ. โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนและเอ็นจีโอ เช่น กลุ่ม 1448 For All เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียม ให้ทุกเพศสามารถสมรสได้ตามกฎหมาย

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อธิบายเหตุผลที่เสนอให้แก้ ป.พ.พ.ว่า สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน การออกแบบกฎหมายจึงต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วย การแก้ ป.พ.พ. จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองเฉพาะคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่มีเป้าหมายเพื่อรองรับสิทธิของ ‘ทุกคน’ ให้สอดคล้องต่อความลื่นไหลทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของสังคม โดยจะแก้ไขบทบัญญัติบางส่วนที่สำคัญก่อน เพื่อรื้อถอนกรอบทางเพศให้การรับรองสิทธิต่างๆ เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายและแก้กฎหมายเพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนชุดความคิดของคนในสังคมอีกทางหนึ่ง

สำหรับกระบวนการและกรอบระยะเวลานั้น ทางพรรคก้าวไกลทำการลงมติโดย ส.ส. ทุกคนในพรรคเพื่อรับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน และ ส.ส. พรรคก้าวไกลได้ยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563

สำหรับแนวทางการกำหนดกฎหมายแยกคือร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับการแก้ไขกฎหมายเดิม ป.พ.พ. มีข้อเปรียบเทียบและข้อพิจารณาที่อาจแยกเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้

บุคคลที่ได้รับรองสิทธิตามกฎหมาย

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้กำหนดนิยาม ‘คู่ชีวิต’ ให้หมายถึงบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายคู่ชีวิตเนื่องจากไม่สามารถใช้สิทธิจดทะเบียนสมรสได้ตาม ป.พ.พ. เพราะเหตุแห่งเพศสภาพ จึงใช้ได้เฉพาะการจดทะเบียนของชายและชาย หญิงและหญิงเท่านั้น ในขณะที่การแก้ไข ป.พ.พ. ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลที่มุ่งไปที่แก้ไขถ้อยคำเดิมที่ยังสะท้อนถึงฐานความคิดสองเพศ เช่น ชาย หญิง สามี ภรรยา เป็นคำใหม่ที่ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะมีเพศใดได้รับรองสิทธิตามกฎหมาย

การหมั้น

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการหมั้น ในขณะที่การแก้ไข ป.พ.พ. โดยแนวทางของพรรคก้าวไกลเปิดโอกาสให้ทุกเพศสามารถทำการหมั้นได้ โดยกำหนดให้บุคคลสามารถทำการหมั้นเพื่อเป็นสัญญาว่าจะแต่งงานกันต่อไปเมื่อมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ โดยทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนของหมั้น และบุคคลทั้งสองฝ่ายต่างส่งมอบสินสอดให้แก่บุพการีของอีกฝ่าย โดยไม่จำกัดให้เฉพาะฝ่ายชายที่ต้องส่งมอบสินสอดให้บิดามารดาของฝ่ายหญิง ซึ่งณัฐวุฒิ บัวประทุม มองว่าการให้ฝ่ายชายเป็นผู้มอบของหมั้นและสินสอดอาจส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมในบ้านจนลามไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวได้ เนื่องจากชายอาจรู้สึกว่าตนมีอำนาจเหนือกว่าหญิงเพราะเป็นผู้ให้ทรัพย์สินแก่ฝ่ายหญิงและครอบครัว จึงต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการรื้อชุดความคิดนี้ออก

อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียน

เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กำหนดไว้ที่ 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งต่างจากการสมรสของชายหญิงตาม ป.พ.พ. ที่กำหนดไว้ที่ 17 ปีบริบูรณ์โดยต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา และหากมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็สามารถจดทะเบียนสมรสได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม แต่ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งทางออนไลน์และผ่านงานสาธารณะแล้ว กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายของ พ.ร.บ.คู่ชีวิตขึ้น ได้ปรับอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนคู่ชีวิตลงเป็น 17 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรสตาม ป.พ.พ. ในขณะที่พรรคก้าวไกลได้ปรับเปลี่ยนอายุขั้นต่ำในการสมรสให้เริ่มที่ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ก็ยังคงหลักการเดิมไว้ว่าหากมีกรณีสมควร เช่น เด็กตั้งครรภ์ก่อนอายุที่จะทำการสมรสได้ ก็ให้ศาลอนุญาตให้ทำการสมรสก่อน

สิทธิต่างๆ ในทางกฎหมาย

คู่ชีวิตตามร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตมีสิทธิทำการต่างๆ ในฐานะคู่ชีวิต เช่น ให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล ดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิตของตน การจัดการศพ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนการขาดไร้อุปการะกรณีที่มีผู้ทำละเมิดต่อคู่ชีวิตของตน ฯลฯ ในขณะที่การแก้ไข ป.พ.พ. ก็จะทำให้คู่สมรสทุกเพศได้สิทธิตามกลไกปกติของกฎหมาย

การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตให้นำบทบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตาม ป.พ.พ. มาใช้โดยอนุโลม กล่าวคือทรัพย์สินที่หามาได้ก่อนจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นจะเป็นสินส่วนตัวซึ่งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งสามารถจัดการได้โดยลำพัง และทรัพย์สินที่หามาได้ระหว่างจดทะเบียนคู่ชีวิตจะมีลักษณะเป็นสินสมรส ซึ่งการจัดการสินสมรสบางกรณีต้องได้รับความยินยอมจากคู่ชีวิตอีกฝ่าย เช่น การขาย การจำนองอสังหาริมทรัพย์ ให้กู้ยืมเงิน สำหรับการแก้ไข ป.พ.พ.ก็จะทำให้บุคคลทุกเพศมีสถานะเป็นคู่สมรส และใช้หลักการในการจัดการทรัพย์สินตามกลไกปกติของกฎหมาย

การสิ้นสุดความสัมพันธ์ตามกฎหมาย

มีกระบวนการที่คล้ายคลึงกับการหย่าของชายหญิงตาม ป.พ.พ. กล่าวคือ สามารถใช้วิธีจดทะเบียนเลิกคู่ชีวิตได้ตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หรือใช้กระบวนการศาลโดยต้องมีเหตุที่จะขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนคู่ชีวิต และอีกกรณีหนึ่งคือคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต สำหรับการแก้ไข ป.พ.พ.ก็จะทำให้คู่สมรสทุกเพศสามารถใช้กลไกการหย่าได้ตามปกติ

การรับมรดก

นำกฎหมายมรดกตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือเมื่อคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม คู่ชีวิตฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ก็สามารถรับมรดกได้ในฐานะทายาทโดยธรรมเหมือนคู่สมรสชายหญิง สำหรับการแก้ไข ป.พ.พ.ก็จะทำให้บุคคลทุกเพศมีสถานะเป็นคู่สมรส อันเป็นทายาทโดยธรรมที่จะได้รับมรดกกรณีที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม

การมีบุตร

ในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่ได้บัญญัติเรื่องการรับบุตรบุญธรรมไว้เป็นการเฉพาะ คู่ชีวิตที่ต้องการรับบุตรบุญธรรมต้องไปใช้หลักการตาม ป.พ.พ. โดยบุตรบุญธรรมหนึ่งคนจะมีผู้รับบุตรบุญธรรมได้เพียงแค่หนึ่งคนเท่านั้น มีแค่ ‘คู่สมรส’ ตาม ป.พ.พ. จึงจะสามารถรับบุตรบุญธรรม ‘ร่วมกัน’ ได้ ทำให้คู่ชีวิตอาจไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แต่หลังจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งทางออนไลน์และผ่านงานสาธารณะแล้ว ได้มีปรับเปลี่ยนโดย ‘อนุญาต’ ให้คู่ชีวิตรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แต่ก็ยังไม่มีการรับรองกลไกการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีทางชีวภาพ ในขณะที่แนวทางการแก้ไข ป.พ.พ. เปิดโอกาสให้ทุกเพศรับบุตรบุญธรรมได้ สำหรับการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีทางชีวภาพ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ได้แสดงความคิดเห็นว่า การแก้ไข ป.พ.พ.จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.บ.อุ้มบุญ เพื่อตอบสนองต่อ ‘ความเป็นครอบครัว’ ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่ในกรอบทางเพศ เพราะบุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็สามารถเป็นบุพการีและเป็นแบบอย่าง (Role Model) ให้แก่บุตรของเขาได้

สิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตได้กำหนดถ้อยคำที่แยกออกมาเป็น ‘คู่ชีวิต’ ทำให้คู่ชีวิตขาดโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ที่รัฐได้กำหนดไว้ให้ ‘คู่สมรส’ เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรสตามประมวลรัษฎากร สำหรับการแก้ไข ป.พ.พ.จะทำให้คู่สมรสมีโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐที่รับรองแก่ ‘คู่สมรส’ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสวัสดิการของรัฐใช้คำว่า ‘สามี-ภรรยา’ ซึ่งไม่ตรงกับแนวทางของพรรคก้าวไกลที่จะทำลายกรอบทางเพศและให้บุคคลไม่ว่าเพศใดมีสถานะเป็นคู่สมรสกัน ณัฐวุฒิ บัวประทุม แสดงความคิดเห็นว่า การแก้ไข ป.พ.พ.จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้ต้องไปปรับแก้ถ้อยคำในกฎหมายอื่นๆ ด้วย เพื่อรับรองสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐแก่คู่สมรสทุกเพศอย่างเท่าเทียม

ตารางเปรียบเทียบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต-การแก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส

                        ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต
(กระทรวงยุติธรรม)
แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ว่าด้วยสมรส (ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล)
บุคคลที่ได้รับรองสิทธิตามกฎหมาย   เฉพาะผู้ที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรส สามารถจดทะเบียนเป็น “คู่ชีวิต” ได้  บุคคลไม่ว่าเพศใดก็ตามสามารถจดทะเบียนสมรสเป็น “คู่สมรส” ได้
การหมั้น ไม่มีบทบัญญัติรับรองการหมั้นบุคคลสามารถทำการหมั้นได้เมื่อมีอายุ 17 ปี โดยแลกเปลี่ยนของหมั้นทั้งสองฝ่ายและทั้งสองฝ่ายต่างมอบสินสอดแก่บุพการีของอีกฝ่าย
อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียน17 ปีบริบูรณ์18 ปีบริบูรณ์
สิทธิต่างๆ ในทางกฎหมายตามความสัมพันธ์คู่ชีวิต/คู่สมรสมีมี
การจัดการทรัพย์สินร่วมกันจัดการทรัพย์สินร่วมกันได้จัดการทรัพย์สินร่วมกันได้
การสิ้นสุดความสัมพันธ์ตามกฎหมาย โดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายหรือใช้กระบวนการศาล และอีกกรณีหนึ่งคือคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หรือใช้กระบวนการศาล และอีกกรณีหนึ่งคือคู่สมรสฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต
การรับมรดก (กรณีคู่ชีวิตหรือคู่สมรสไม่ได้ทำพินัยกรรม)สามารถรับมรดกของคู่ชีวิตได้สามารถรับมรดกของคู่สมรสได้
การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
สิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐยังไม่ชัดเจนมีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการของรัฐบางประการสำหรับ “คู่สมรส” และเปิดทางให้แก้ไขกฎหมายบางอย่างที่ให้สวัสดิการเฉพาะชายหญิง
You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา