ตามหาวันเฉลิม: ถอดบทเรียนการต่อสู้เพื่อกลไกป้องกันการบังคับสูญหาย

11 มิถุนายน 2563 ภาคประชาสังคมที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นป้องกันการทรมานและอุ้มหายนำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์จัดวงเสวนาเรื่อง “ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)” กรณีการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองระหว่างการลี้ภัยในประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ได้กลายเป็นอีกหน้าหนึ่งของบทเรียนการบังคับสูญหายของไทย โดยวงเสวนามีประเด็น เช่น การบอกเล่าเรื่องราวจากคนใกล้ชิดของวันเฉลิม, การสะท้อนประสบการณ์ของครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย และบทเรียนความพยายามในการสร้างกลไกป้องกันการทรมานและการบังคับสูญหาย

“…ไม่ว่าจะเป็นวันเฉลิมหรือใคร หรืออาจจะเป็นอาชญากรที่ฆ่าคนแล้วลี้ภัย เขาไม่สมควรที่จะถูกอุ้มฆ่า…”

ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนวันเฉลิมกล่าวว่า “…ปี 2552 ผมเริ่มรู้จักกับวันเฉลิม รู้จักกันมาสิบปีและทำงานร่วมกันมาห้าปี มีการถกเถียงระหว่างการทำงาน วันเฉลิมหรือต้าร์ เป็นคนน่ารัก ร่าเริงแจ่มใส ตรงไปตรงมา ในเรื่องของการทำงาน เขาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ภายใต้บริบทที่ขบขัน ถ้าเคยไปดูคลิปวิดีโอในยูทูบจะเห็นถึงความขบขัน ถ้าใครเคยย้อนดูทางเฟซบุ๊กที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองจะมีความตลกขบขัน ที่เน้นย้ำคือ ต้าร์ทำร้ายใครไม่ได้ เพื่อนของวันเฉลิมเล่าว่า เมื่อตอนที่ลงสมัครประธานนักเรียน วิธีการหาเสียงของวันเฉลิม ไม่พูดเรื่องนโยบาย แต่พูดเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันในโรงเรียน ความสัมพันธ์ ความปลอดภัย หลังจากนั้นเขาได้ไปทำงานเยาวชนในชายแดนใต้ มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสึนามิ วันเฉลิมเป็นต้นกล้าการพัฒนาสังคมตั้งแต่ตอนที่เป็นเยาวชน 

กรณีของเพจกูต้องได้ร้อยล้านจากทักษิณแน่ๆ ที่มีการระบุว่า วันเฉลิมเป็นแอดมินเพจไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นการกล่าวหาโดยที่เขาเองไม่ได้มีสิทธิที่จะโต้แย้งอะไรเลย เท่าที่ทราบเขาไม่ใช่แอดมินเพจ แต่เป็นการกล่าวอ้าง เหตุผลที่เขาต้องลี้ภัยออกไปในปี 2557 ตอนนั้นผมและวันเฉลิม เรามีหลายเหตุผลที่ต้องยุติการทำงานในองค์กร แต่ยังพูดเรื่องเอดส์ ยาเสพติด เมื่อไหร่ที่มีประเด็นที่เชื่อมต่อกับงานที่เราทำ เราก็จะออกมาพูด แน่นอนว่า งานที่เราทำไม่ได้อยู่แค่ที่ความเป็นอยู่ มันมีเรื่องนโยบาย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดเรื่องการเมือง เขาถูกเรียกตัวโดย คสช. วันเฉลิมไม่ได้มั่นใจความยุติธรรมที่จะได้จากรัฐ วันเฉลิมเลือกที่จะแสวงหาความปลอดภัยด้วยการลี้ภัย

ในเรื่องที่เขาทำอะไรลึกๆ เรามีเพื่อนหลายวง ผมจะอยู่วงนอกออกมา มีการติดต่อทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรม เรื่องกัญชาที่เขาโพสต์ ถ้าเกิดว่า เขาจะทำผิดกฎหมาย เขาจะโพสต์ภาพออกโซเชียลทำไม คอนโดที่อยู่ไม่ได้ใหญ่ จะทำเพื่อธุรกิจได้จริงหรือ เราอยากให้มีการแยกแยะ โดยประเด็นของผม หลักคือ ไม่ว่าจะเป็นวันเฉลิมหรือใคร หรืออาจจะเป็นอาชญากรที่ฆ่าคนแล้วลี้ภัย เขาไม่สมควรที่จะถูกอุ้มฆ่า เรามีกระบวนการกฎหมาย ทุกรัฐมีกระบวนการกฎหมาย ผมเพิ่งตอบคนที่มาบอกว่า การอุ้มหายวันเฉลิมไม่ใช่เรื่องของคนไทย เป็นเรื่องของเพื่อนบ้าน ใช่เป็นเรื่องของเพื่อนบ้าน แต่เขาเป็นคนไทย มีอาชญากรรมเกิดขึ้น เขาต้องตามหาว่า ใครเป็นผู้กระทำ หากผู้กระทำไม่ใช่คนในประเทศกัมพูชา ผมมองว่า เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ และไม่สมควรที่จะมีใครถูกกระทำแบบนี้ เรื่องนี้เกิดมาตั้งแต่เด็กๆ วันเฉลิมไม่ใช่คนแรก เวลาที่เราแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมาเกี่ยวกับรัฐและกฎหมาย มักจะถูกเตือนว่า ระวังนะ คำถามของผมคือ เราไม่มีกฎหมายหรือ เราต้องเตือนความปลอดภัยกันอย่างนี้ใช่ไหม…

[ประเด็นกฎหมายและกลไกการป้องกันการบังคับสูญหาย] ในความเป็นไปได้ในเชิงกฎหมายเราเชื่อมั่นคนรุ่นใหม่และนักการเมืองรุ่นใหม่ในระดับหนึ่ง แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายหากเราจะให้ภาระไปอยู่ที่ผู้มีอำนาจ คนในสังคมเรามีส่วนสำคัญในการที่จะไม่ไปสนับสนุนมูลเหตุที่ทำให้เกิดการอุ้มหาย ในโซเชียลพูดถึงว่า ทำไมพูดให้ร้ายประเทศ เราไม่ได้ให้ร้ายใคร ถ้าไม่อยากคุยเรื่องวันเฉลิม เราลองนึกถึงว่า หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมและใครก็ตาม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวเรายอมรับมันได้หรือครับ…”

 

“…ทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องของวันเฉลิม…วันเฉลิมคือคน เป็นมนุษย์หนึ่งคน สิทธิเบื้องต้นของการเป็นมนุษย์คือการที่จะมีชีวิต ตอนนี้เขาอยู่ในสภาวะที่เขาอาจจะถูกพรากชีวิตไป…”

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์  กล่าวว่า “…ตอนนั้นมันเป็นช่วงหัวค่ำ ผมได้รับโทรศัพท์บอกว่า ต้าร์ถูกอุ้มหาย ผมตกใจมาก หนึ่งเป็นคนที่เรารู้จักกันอยู่ สอง เป็นรูปแบบของการกระทำที่ไม่ได้เกิดขึ้นรายแรก มันมีทิศทางแบบแผนที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องกับคนเห็นต่างที่อยู่ในประเทศไทยไม่ได้ ต้องหลบลี้หนีไปนอกประเทศแล้วยังไม่พ้นชะตากรรม ถูกติดตามไล่ล่า เมื่อตรวจสอบเข้าไปในกัมพูชาเราสามารถยืนยันได้ว่า เกิดเหตุการณ์จริง ทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องของวันเฉลิมไม่ว่าเราจะรู้จักเขาหรือไม่ เรารู้จักเขาในฐานะไหน มีภาพเกี่ยวกับเขาออกมาอย่างไร เริ่มจากหนึ่งเราต้องมองว่า วันเฉลิมคือคน เป็นมนุษย์หนึ่งคน สิทธิเบื้องต้นของการเป็นมนุษย์คือการที่จะมีชีวิต ตอนนี้เขาอยู่ในสภาวะที่เขาอาจจะถูกพรากชีวิตไป การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดได้เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่เราควรจะต้องมีความเห็นอกเห็นใจ ควรจะต้องห่วงกังวล

สอง วันเฉลิมเป็นคนไทย จะเห็นด้วยเห็นต่างกับรัฏฐาธิปัตย์ จะเป็นที่รู้จักตัวกับนายกประยุทธ์หรือไม่ เขาเป็นคนไทย รัฐบาลไทยมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะพิทักษ์คุ้มครองคนไทย โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในสภาวะที่ชีวิตของเขาเผชิญอันตรายอย่างยิ่ง ไม่ต้องบอกว่า รู้จักไม่รู้จัก ประชดเหน็บแนม นั่นไร้สาระ และนั่นคือการทำให้ด้อยค่า เบี่ยงประเด็นเรื่องการรับผิดชอบของรัฐบาลไทย ไม่ต้องมาพูดว่า รู้จักเขาหรือเปล่า จริงๆ ถ้าถามว่ารู้จักเขาหรือเปล่า ตัวคำสั่ง คสช.ที่เรียกวันเฉลิมมารายงานตัว และตัววันเฉลิมเขาไม่ยอมรับความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ การเรียกตัวไปปรับทัศนคติ ซึ่งอาจมีผลทำให้เขาถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ไม่สอดรับกับกติกาสากลใดๆ ทั้งสิ้น นั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่รายงานตัวและลี้ภัย

ผมเสียใจเมื่อวานที่ฟังการอภิปรายตอบคำถามในรัฐสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมันเหน็บที่บอกว่า วันเฉลิมไม่ใช่ผู้ลี้ภัย เช็คกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ไม่มีชื่อ ผมไม่เข้าใจว่า คนระดับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศไม่ได้อ่านคำนิยามตามกติกาสากลว่าด้วยผู้ลี้ภัยหรือ ผู้ลี้ภัยคือคนที่มีความกลัว ทำให้กลัวว่า ตนเองจะถูกประหัตประหารด้วยเหตุผลว่า เขามีความเชื่อทางการเมืองหรือศาสนา หรือเชื้อชาติ หรือสาเหตุอื่นๆ ทำให้ต้องอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเลย เพียงแต่สามารถยืนยันว่า เขามีความกลัวที่อยู่ในบ้านเกิดถิ่นฐานไม่ได้ วันเฉลิมนี่ชัดเจนว่า เป็นเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง การเบี่ยงประเด็นเรื่องการจดทะเบียนกับ UNHCR เหมือนทำให้วันเฉลิมด้อยค่า พยายามสร้างภาพที่เป็นภาพที่บิดเบือนให้สังคมเข้าใจ ในทัศนะของฮิวแมนไรท์วอทช์เขาคือผู้ลี้ภัย

วันเฉลิมเป็นคนเห็นต่างที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติมาตลอด ไม่ใช่คนที่ใช้กำลังรุนแรง ยั่วยุ มีการปลุกปั่นโค่นล้มด้วยกำลังด้วยอาวุธแต่อย่างใด เป็นคนเห็นต่างๆ ที่ทำกิจกรรมอย่างสันติ ไม่ว่าวันเฉลิมจะเป็นอย่างไร ปล่อยให้คนไทยไปเผชิญชะตากรรมสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตไม่ได้ รัฐบาลต้องเดือดร้อนต้องกังวลต้องเร่งในการทวงถามว่า เกิดอะไรขึ้น เรียกร้องให้มีการสอบสวน และเป็นไปได้นำตัวกลับมาโดยปลอดภัย นี่อะไรเมื่อวานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพูดในรัฐสภา รายงานการเรียกร้องให้มีการสอบสวนเป็นเรื่องสร้างกระพือข่าว เรียกร้องความสนใจ ผมไม่คิดว่า จะได้ยินจากปากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันเฉลิมไม่ใช่รายแรก วันเฉลิมเป็นรายที่เก้าแล้วของคนเห็นต่างที่ต้องลี้ภัยและถูกอุ้มหาย ในเก้าคน สองคนพบว่าเป็นศพถูกฆ่าอย่างทารุณ ถูกคว้านท้อง รัดคอ จริงๆ เชื่อว่า มีสามศพด้วยซ้ำ แต่ศพที่สามถูกปล่อยให้ไปตามแม่น้ำ ชะตากรรมของคนที่ถูกอุ้มหายมันเสี่ยงถึงขั้นต่อชีวิตเพราะมีการตายเกิดขึ้น ตอนนี้จะครบสัปดาห์แล้ว ยิ่งเวลาทอดนานเท่าไหร่ ความเสี่ยงต่อชีวิตยิ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะทุกชั่วโมง มัวแต่มาตีฝีปาก ประชดเหน็บแนมมันไม่ใช่วิสัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหรือนายกรัฐมนตรี

สิ่งที่น่ากังวลเราพบว่า ในโซเชียลมีเดียมีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ มีการประสานงานที่จะสร้างมลทินและด้อยค่า เป็นคำศัพท์อย่างเป็นทางการของหน่วยงานความมั่นคงว่า ทำอย่างไรให้คนเห็นต่างและเป็นศัตรูด้อยค่าและมีมลทิน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการนำรูปที่โพสต์โดยวันเฉลิมก็ดี ทำให้วันเฉลิมอยู่ในสถานะที่ทำให้สังคมมองว่า ไปช่วยเขาทำไมคนแบบนี้ นี่คือปฏิบัติการด้านข่าวสารหรือไอโอ นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่า ถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดความด้อยค่าและมีมลทิน

ผลที่ตามมาคือ ช่วยทำให้รัฐบาลกัมพูชาผลักเลี่ยงภาระในการสอบสวน คำถามที่ตามมาคือแล้วช่วยรัฐบาลกัมพูชาทำไม มีเอี่ยวอะไรกันหรือเปล่า สมรู้ร่วมคิดกันหรือเปล่า ข้อเรียกร้องของฮิวแมนไรท์วอทช์จึงเป็นข้อเรียกร้องต่อทั้งสองรัฐบาล รัฐบาลกัมพูชาในฐานะเจ้าของพื้นที่ รัฐบาลกัมพูชาต้องมีคำตอบได้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมเกิดขึ้นกลางวันแสกๆ ท่ามกลางพยานที่เห็นเหตุการณ์และมีภาพวงจรปิด ปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่รับรู้ แต่โฆษกตำรวจกัมพูชาบอกว่า นี่คือเฟคนิวส์ คนที่ใหญ่กว่าบอกว่า ไม่รู้ไม่เห็นจนกระทั่งถูกกดดันจากนานาชาติเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บอกว่า ไหนบอกว่า มีขื่อมีแป ต้องมีคำตอบมิเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อความช่วยเหลือ ส่วนรัฐบาลไทยจะเพิกเฉยต่อวันเฉลิมไม่ได้ ไม่ใช่พวกเดียวกับรัฐบาลก็ไม่ดูดำดูดีไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ไม่ดูดำดูดี แต่มีการประชดเหน็บแนม ทำให้เขาด้อยค่า

ผมอยากเห็นหนังสือที่กระทรวงต่างประเทศส่งไปให้รัฐบาลกัมพูชาว่า สอบถามหรือจี้การสอบสวน ต้องได้เห็นถ้อยคำของหนังสือฉบับนี้ กรรมาธิการสภาควรจะต้องมีการขอเรียกเอกสารฉบับนี้ ขอดูถ้อยคำ ถ้าเป็นถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนไม่ผูกมัดรัฐบาลจะต้องทำให้ครบถ้วน เขียนใหม่หรือเรียกทูตกัมพูชาในไทยมาสอบถามว่า ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ผมอยากจะย้ำว่า ชะตากรรมของผู้ลี้ภัยทางการเมืองแขวนอยู่บนเส้นด้าย ถึงแม้ว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย แต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียน เนื่องจากทางการไทยคือรัฐบาล คสช.ในขณะนั้นขอรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านไม่ให้ขึ้นทะเบียน ต่อให้ UNHCR อยากจะช่วยก็ช่วยไม่ได้ ตีแผ่ออกมาและต้องทำให้หยุดพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ควรมีการขัดขวางไม่ให้กลไกระหว่างประเทศคุ้มครองผู้ลี้ภัย เป็นการละเมิดทำให้ตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงชีวิต…”

 

“…การบังคับสูญหายเป็นเรื่องของการสร้างความคลุมเครือโดยรัฐ ความคลุมเครือระหว่างการมีชีวิตอยู่กับการไม่มีชีวิต มันเหมือนคำสาปที่ครอบครัวต้องเผชิญทุกวัน…”

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า “ถ้าต้องการยุติการบังคับสูญหายเราต้องมีการสร้างกลไก ไม่ว่ากลไกในประเทศเองหรือระหว่างประเทศที่จะเป็นหลักประกันว่าจะต้องไม่มีใครถูกบังคับสูญหาย ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม อย่างที่เมื่อวานเราได้ยินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศพูดว่า ใครก็ไม่รู้ไม่รู้จัก การพูดในลักษณะนี้เป็นการไม่เห็นความสำคัญ เหมือนกับมองว่า ถ้าคนที่ไม่เป็นที่รู้จักจะหายไปสักคนคงไม่มีใครเดือดร้อน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันเป็นความรับผิดชอบของรัฐที่ไม่ว่าใครก็ตามจะต้องไม่ถูกอุ้มหายไปเฉยๆ โดยปราศจากการค้นหา กรณีสมชายก็ทราบดี พอถูกอุ้มไปแล้วนายกฯ ก็พูดว่า สมชายเป็นใครไม่รู้จัก ทะเลาะกับเมียมั้ง รูปข้างหลัง [ภาพของผู้ถูกบังคับสูญหายรายอื่นๆ] ก็ล้วนแล้วแต่ถูกกล่าวหาว่า ค้ายาเสพติดมั้ง บางคนก็เกี่ยวกับการก่อการร้ายในภาคใต้หรือการคอร์รัปชั่น คือคนที่ถูกอุ้มหายมักจะถูกทำให้เป็นคนไม่ดีในสายตาของรัฐ และมีคนที่พร้อมจะเชื่อและเหมือนทำให้เป็นเหตุผลว่า คนไม่ดีหายไปไม่เห็นต้องทำอะไร ไม่เห็นต้องเดือดร้อน ทั้งที่จริงแล้วรัฐควรจะคุ้มครองพลเมืองทุกคนของรัฐ ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ตรงนี้ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้เลย และประเทศไทยพูดอยู่เสมอว่า มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะคุ้มครองไม่ให้ใครสูญหาย มีการลงนามอนุสัญญาคนหาย พยายามที่จะร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-สูญหาย คือเขียนกฎหมายก็เขียนด้วยความกลัว กลัวว่าจะเอาผิดเจ้าหน้าที่หรือเปล่า กลัวไปกลัวมาก็ห้าหกปีทำอะไรไม่ได้ จนวันนี้ไม่มีกลไกอะไรในการคุ้มครอง

16 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยได้ยินเจ้าหน้าที่รัฐคนใดบอกว่าจะให้ความยุติธรรม มีแต่คำพูดที่ทำให้เกิดความสิ้นหวังมากกว่า เช่น ยังไงก็ไม่เจอ ทำใจเถอะ จะให้ช่วยเหลืออะไรบ้าง ทั้งที่รัฐมีความสามารถมากมายในการค้นหา แต่มันอยู่ที่ความเต็มใจที่จะทำหรือไม่ทำเท่านั้นมากกว่า ส่วนตัวผิดหวังมากอย่างเมื่อวานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาบอกว่า วันเฉลิมไม่เคยมาขอความช่วยเหลือ จะให้เขาขออะไร จะให้ไปคุ้มครองพยานหรือขอกองทุนยุติธรรมเขาคงไม่ขอ แต่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ความหวังหน่อยได้ไหม ทำอย่างไรที่จะให้ความเป็นธรรมกับพลเมืองไทยไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศได้ไหม

ในเรื่องของการสูญหาย ทันทีที่รับรู้แล้วจะต้องมีการติดตามหาตัว ประเทศกัมพูชาให้สัตยาบันเรื่องผู้ลี้ภัยปี 1951 หลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา กัมพูชาให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศเยอะมาก เพราะฉะนั้นกลไกเหล่านั้มันมีขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่เป็นก็แล้วแต่ คนที่หนีภัยไม่ว่า จะเป็นภัยการสู้รบ ภัยความอดอยากก็แล้วแต่ เมื่อหนีภัยเข้าไปในประเทศไหน ประเทศนั้นจะต้องมีหลักประกันว่า จะไม่ทำให้ผู้ลี้ภัยไปอยู่ในอันตราย ตรงนี้คือหลักสากล ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาทรมาน ลงนามอนุสัญญาคนหาย และกัมพูชามีความผูกพันที่ชัดมาก เมื่อไหร่ที่รู้ข่าวก็ต้องเริ่มดำเนินการสืบสวนสอบสวน ไม่ใช่มาถึงวันนี้มานั่งถามว่าได้ไปแจ้งความหรือยัง ซึ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดแบบนี้ ถามว่าคุณปิดประเทศอยู่ ยิ่งสถานการณ์แบบนี้ใครจะสามารถทำได้ ถ้ารัฐไม่ทำ เรื่องแบบนี้อยู่ที่ความเต็มใจหรือไม่เต็มใจเป็นประเด็นสำคัญ ไม่ใช่หายไปแล้วบอกว่า เป็นคนไม่ดี เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ประเทศไทยมี [พรรคการเมือง] ที่มีนโยบายกัญชาเสรี แต่พอมาวันนี้บอกกัญชาไม่ดีไปแล้ว ในฐานะที่วันเฉลิมเป็นคนไทยประเทศไทยต้องดำเนินทุกวิถีทางในการสอบสวน กัมพูชาจะต้องสอบสวนเช่นกัน ที่ผ่านมามีหลายคดีเวลาที่เกิดเหตุในประเทศไทยเป็นกรณีของคนต่างชาติ สถานทูตจะประสานความร่วมมือ ไม่ใช่การแทรกแซง อาจจะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ซึ่งทำได้อยู่แล้ว ทุกประเทศที่รับรู้ ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ

ในความเป็นครอบครัวต้องใช้ความอดทนแบบทนทายาด ทนจนไม่รู้จะทนอย่างไร อย่างที่บอกว่า มีคำเตือนแบบหวังดีแต่ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย มีประจำเลย ระวังนะจะถูกอุ้มหายไปอีกคนก็มี บางทีก็มีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมที่บ้าน คนเตือนมานะ มีอะไรอยากจะให้ช่วยก็บอก…การที่จะผ่านมามายืนพูดมันไม่ใช่ทุกคนจะทำได้…การต่อสู้เรื่องการบังคับสูญหายมันใช้เวลานานมาก ชั่วชีวิตเราอาจจะไม่ทราบความจริง แต่หวังว่าจะมีคนรุ่นใหม่ๆ ที่พร้อมจะเรียกร้องความเป็นธรรมจากทุกคน

ในส่วนของครอบครัว สิ่งหนึ่งที่พูดมาตลอดสิบกว่าปีคือเรื่องของการบังคับสูญหาย เป็นเรื่องของการสร้างความคลุมเครือโดยรัฐ ความคลุมเครือระหว่างการมีชีวิตอยู่กับการไม่มีชีวิต มันเหมือนคำสาปที่ครอบครัวต้องเผชิญทุกวัน วันหนึ่งอาจมีคนมาบอกว่า เจอคนหายที่นั่นที่นี่ อีกวันนึงบอกว่าเขาตายไปแล้ว อารมณ์และจิตใจของครอบครัวจะอยู่กับความไม่มั่นคง นอกจากนี้คนที่หายตัวไปยังถูกทำให้เป็นคนไม่ดี ไม่มีคุณค่า เป็นคนที่ไม่ควรมีคนใส่ใจ สร้างความเศร้าสะเทือนใจให้หลายคนที่มีชีวิตอยู่อย่างมาก คิดว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณมากเลย

สิ่งหนึ่งที่เราเรียกร้องมาตลอดคือ การเยียวยาที่ไม่ใช่การจ่ายเงินอย่างเดียว แต่หมายถึงกระบวนการด้านความยุติธรรม การคืนความเป็นธรรม การคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีหลักประกันว่า จะไม่มีใครถูกทำให้สูญหายอีก ในไทยเรื่องของการเยียวยาการบังคับสูญหายครั้งแรกและครั้งเดียวที่มีการยอมรับว่า บังคับสูญหายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจริงและมีการชดเชยครอบครัวในชายแดนใต้ แต่ไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกประการหนึ่งคือ อนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ ให้ความสำคัญกับเหยื่อและครอบครัวมาก ครอบครัวมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย มีส่วนร่วมในการเข้าเป็นกรรมการในการสืบหาความจริง แต่ในร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐแทบจะทุกหน่วยงาน อาจจะมีชื่อของคนทำงานสิทธิมนุษยชน กีดกันครอบครัวในการร่วมร่างกฎหมายและมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการ หวังว่า หากนำ พ.ร.บ.เข้าสู่สภา ญาติคนหายควรจะมีส่วนร่วมเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างกฎหมาย ไม่มีใครที่จะเข้าใจปัญหาของการบังคับสูญหายได้เท่ากับคนที่อยู่ในครอบครัวที่ต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้

ในส่วนของคดี เฉพาะกรณีสมชาย นีละไพจิตร กรมสอบสวนคดีพิเศษงดการสอบสวนไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่า จะมีผลต่อตัวชี้วัดของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และบอกว่า หากมีหลักฐานอะไรให้ส่งมา อยากจะเรียนให้ทราบว่า ทุกวันนี้การพยายามมีชีวิตอยู่ยังยากเลย การต้องเผชิญการคุกคามอยู่ทุกวันยังเอาตัวรอดได้ยากเลย อย่าว่าแต่ไปหาพยานหลักฐานที่ไหนเลย สุดท้ายอยากจะขอให้กำลังใจทุกครอบครัว ชีวิตนับแต่นี้ไป ถ้าหากว่า คุณต้องอยู่ในครอบครัวที่มีการบังคับสูญหายชีวิตมันจะไม่ปกติ เราต้องอยู่กับการคุกคาม ถูกให้ร้ายป้ายสี เรื่อง Cyber Bullying และไอโอเป็นเรื่องปกติ อยากจะเรียกร้องสังคมให้ยืนอยู่ข้างครอบครัวของผู้สูญหายในการเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่อยากให้ปัดความรับผิดชอบมาที่ครอบครัวอย่างเดียวเนื่องจากปัญหาการบังคับสูญหายเป็นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างของสังคมและกรณีที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จำเป็นที่ต้องสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบข้อเท็จจริง…”

 

“…กรณีวันเฉลิมยิ่งตอกย้ำว่า เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจในรัฐไทยเป็นภัยความมั่นคงของประชาชน ประชาชนไม่สามารถไว้วางใจได้…”

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวว่า “…อยากจะชี้ว่า การเกิดขึ้นของผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 เป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยสำคัญมาก ครั้งสุดท้ายที่เรามีผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนมากคือ การรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 แต่หลังจากนั้นมีการลี้ภัยในกลุ่มเล็กที่เป็นผู้นำทางการเมือง ไม่ได้ขยายไปถึงประชาชนเช่นปรากฏการณ์การลี้ภัยของประชาชนจำนวนมากเกิดขึ้นในปี 2557 นี่เป็นบริบทใหญ่ ทำไมมันถึงเกิดขึ้นแบบนี้ จำนวนผู้ลี้ภัยแน่นอนไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่เท่าที่ทราบอย่างน้อยคือหลักร้อย ต้องถือว่าเยอะเป็นประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์นี้มันชี้ให้เห็นว่า การหายไปของวันเฉลิมก็ดี การเกิดปรากฏการณ์ผู้ลี้ภัยจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า รัฐกำลังมองประชาชนเป็นศัตรูเป็นภัยความมั่นคงของชาติ อย่างน้อยมีประชาขนที่รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่มีปรากฏการณ์หลายอย่างที่ชี้แบบนั้น ยกตัวอย่างหลังรัฐประหาร 2557 คสช.เรียกประชาชนไปรายงานตัวอย่างกว้างขวาง ประชาชน นักวิชาการ มีการดำเนินคดีความมั่นคงจำนวนมากตามมา มีการทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐประหารจำนวนมาก

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2549 มีบุคคลจำนวนมากที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นภัยต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  มีการพูดถึงผังล้มเจ้า ในปี 2553 มีการปราบปรามทางการเมือง มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคน นี่คือปรากฏการณ์แวดล้อมว่า ทำไมกรณีของวันเฉลิมจึงมีนัยยะสำคัญ มีคำพูดว่า โลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นยุคใหม่ สิ่งที่น่าเศร้าคือ นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาว่า ไทยยังอยู่ในสงครามเย็นแบบเก่า ฝ่ายความมั่นคงอบรมความคิดเป็นหลักสูตรทางการของฝ่ายความมั่นคง ในหมู่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ เราได้ปากคำในพยานเหตุการณ์บางกรณี พยานยืนยันว่า เขาได้ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติงานบริเวณนั้น เจ้าหน้าที่ได้รับการอบรมว่า ผู้ชุมนุมทำลายสถาบันของชาติ อยู่ในสงครามเย็นแบบเก่า มองประชาชนเป็นศัตรู เหมือนในยุคที่เราต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

กรณีที่เราพูดกันเยอะในเรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผมย้ำว่า ไม่ว่าวันเฉลิมเป็นใคร หรือเกิดขึ้นกับใครก็ตาม สิทธิและเสรีภาพชีวิตเป็นสิ่งพื้นฐานของผู้คน ที่สำคัญมากคือเพราะเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐถูกสงสัยว่า เข้าไปเกี่ยวข้อง เรื่องนี้ถึงมีความสำคัญขึ้นมาเป็นพิเศษ ไม่ใช่ถูกสงสัยว่า เป็นความขัดแย้งส่วนบุคคล เป็นความสงสัยที่มีพื้นฐานรองรับ หลังรัฐประหารปี 2557 มีความพยายามขอตัวผู้ลี้ภัย เรื่องนี้ยิ่งสำคัญมากๆ กรณีวันเฉลิมยิ่งตอกย้ำว่า เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจในรัฐไทยเป็นภัยความมั่นคงของประชาชน ประชาชนไม่สามารถไว้วางใจได้ เรามีอะไรที่เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายของเราบ้าง

เมื่อวานนี้ ส.ส.รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกลตั้งกระทู้ถาม สิ่งที่น่าสนใจคือมีประชาชนที่ฟังจำนวนมากพูดว่า สงสัยต้องช่วยกันเซฟโรมด้วย มันสะท้อนว่า ประชาชนในประเทศนี้รู้ดีว่า หากเราไปแตะต้องผู้มีอำนาจ การกระทำผิดของรัฐ คุณจะไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินหรืออื่นๆ สะท้อนว่า สังคมไทยมีปัญหาอย่างมาก สั่งสมมาเป็นสิบปี เรามีระบบกฎหมายและวัฒนธรรมที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิประชาชนได้และไม่ต้องรับผิดเป็นประเด็นสำคัญที่มาเชื่อมโยงกับกฎหมาย ผมคิดว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับทุกคน เราต้องกล้าที่จะไม่เงียบ ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจในรัฐเชื่อว่า ประชาชนจะไม่กล้าพูดเรื่องนี้และเงียบในที่สุด เราต้องสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ในทางกฎหมาย เราต้องมีกลไกที่คุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกกระทำโดยรัฐ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า หลังรัฐประหารบางส่วนมองว่า จะมีการผ่านกฎหมายได้ แต่ผมเองไม่เชื่อเลย และเชื่อว่า ตราบใดที่มีนายกฯ ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา และมี ส.ว.ชุดนี้ กฎหมายนี้ไม่มีทางผ่าน แต่ในฐานะพรรคการเมืองเราจะผลักดัน พยายามอย่างเต็มที่ที่จะใช้กลไกในสภาผลักดันเรื่องนี้…”