ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ มีกฎหมายทดแทน

22 พฤษภาคม 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2563 เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยเหตุผลในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า เป็นไปเพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพ รวดเร็ว มีมาตรฐาน และเพื่อเป็นการเตรียมรองรับมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องสาธารณสุขที่สูงกว่า เสี่ยงติดเชื้อสูงกว่า จึงยังคงต้องมีมาตรการมากำกับ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด

อย่างไรก็ดี ถ้าย้อนดูจากมาตรการสำคัญตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังหลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการใช้สถานที่ การปิดสถานที่ การควบคุมการเดินทาง รวมถึงการดูแลสุขอนามัย เป็นอำนาจและกลไกปกติของกฎหมายต่างๆ อาทิ พ.ร.บ.โรคติดต่อ อยู่แล้ว นอกจากนี้ การใช้กฎหมายอื่นๆ ทดแทนยังมีข้อดีที่อำนาจไม่ต้องรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางที่ทำให้การกำหนดมาตรการเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่สอดคล้องกับความจำเพาะของแต่ละพื้นที่

 

ย้อนดูมาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังหลงเหลือ 

นับตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 ถึง 25 พฤษภาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้วทั้งสิ้น 7 ฉบับ โดยมาตรการสำคัญจะปรากฏอยู่ในข้อกำหนดฉบับที่หนึ่งและสอง ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การปิดสถานที่ต่างๆ การปิดช่องทางเข้าประเทศ การห้ามกักตุนสินค้า การห้ามชุมนุม การควบคุมการเสนอข่าว และการห้ามออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว)

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม นายกฯ ได้ผ่อนปรนมาตรการบางส่วนโดยแบ่งระยะการผ่อนปรนออกเป็น 4 ระยะ ที่ผ่านมามีการผ่อนปรนไปแล้ว 2 ระยะ ให้บางกิจการและกิจกรรมสามารถกลับมาทำได้ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหารและเครื่องดื่ม กิจกรรมการกีฬาบางประเภท แต่ต้องเป็นไปตามคำแนะนำหรือมาตรการป้องกันที่รัฐกำหนด ทั้งนี้ ยังคงมาตรการเคอร์ฟิว การปิดสถานที่บางแห่ง การห้ามชุมนุม และอื่นๆ ตามข้อกำหนดฉบับที่หนึ่งและสองไว้

 

รัฐใช้กฎหมายอื่นทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้

หากพิจารณาจากเหตุผลในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับมาตรการที่ยังหลงเหลือ จะพบว่า เรายังมีกฎหมายอื่นๆ ที่สามารถทดแทนได้ ดังนี้

หนึ่ง อำนาจตั้งคณะทำงานแบบบูรณาการ

ปัจจุบันโครงสร้างการทำงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ ศบค. ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งนายกฯ ที่ 5/2563 โดยกำหนดให้มีหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐมนตรีจากทุกกระทรวง พร้อมกับข้าราชการประจำ เช่น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมควบคุมโรค และอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นต้น ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวค่อนข้างมีความหลากหลายเพื่อให้เกิดการทำงานด้วยกันอย่างบูรณาการและมีความเป็นเอกภาพ 

แต่ทว่า ภายใต้คำสั่งนายกฯ ดังกล่าว เป็นการนำโครงสร้างของหน่วยงานตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 76/2563 ที่ให้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-2019) มาบรรจุไว้ ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 (6) ที่ให้อำนาจนายกฯ แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใดได้

ดังนั้น โดยโครงสร้างการทำงานตามกฎหมายปกติ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่ได้แตกต่างกัน สิ่งเดียวที่ต่างกันคือ นายกฯ ไม่สามารถรวบอำนาจการบังคับใช้กฎหมายจากรัฐมนตรีมาได้ แต่ปัญหาดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหา ถ้านายกฯ มีภาวะผู้นำในการสั่งการและได้รับความเชื่อถือความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมถึงไม่มีปัญหาเชิงโครงสร้างจากรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาให้เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคจนการทำงานไม่มีความเป็นเอกภาพ

สอง อำนาจสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) 

อำนาจห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว) หรือการห้ามชุมนุมเป็นอำนาจเฉพาะของกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วน พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 34 ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ สั่งผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ หรือผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือเป็นพาหะ ต้องกักตัวตามสถานที่ที่กำหนด 

อีกทั้งยังห้ามบุคคลใดออกจากสถานที่แยกกักกันตัว เว้นแต่ได้รับอนุญาต ซึ่งโดยลักษณะของรูปแบบมาตรการไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่การประกาศเคอร์ฟิวจะยึดขอบเขตจากพื้นที่ แต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อจะยึดจากตัวบุคคล ซึ่งมีข้อดีในแง่ของผลกระทบอาจจะมีขนาดเล็กกว่าและจำกัดสิทธิเสรีภาพได้แบบเฉพาะเจาะจงกว่าการใช้เคอร์ฟิว

สาม อำนาจสั่งห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน

อำนาจสั่งห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน เป็นอำนาจพิเศษเฉพาะกฎหมายความมั่นคงอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกัน แต่ทว่า ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 34 ยังให้อำนาจไว้ครอบคลุมอย่างมาก แม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน แต่ก็มีการบัญญัติให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจห้ามผู้ใดกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป

สำหรับโรคติดต่อที่แพร่เชื้อได้จากการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด การสั่งห้ามการรวมตัวกันในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคย่อมเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามมาตรา 34 อยู่แล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวกับการสั่งห้ามชุมนุมเพื่อแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้องที่อาจต้องพิจารณาลักษณะเสี่ยงเป็นรายกรณีไป

สี่ อำนาจควบคุมการเปิดหรือปิดสถานที่

หากดูจากข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวกับการปิดสถานที่ หลายครั้งจะมีการอ้างอิงถึงอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เนื่องจากในมาตรา 35 กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีอำนาจสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ได้ อาทิ ตลาด สถานประกอบหรือจำหน่ายหรือผลิตอาหาร โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดเป็นการชั่วคราว

สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเพียงแค่สั่งห้ามเข้าไปอยู่ใน “สถานที่ใด” แต่ไม่ได้ให้อำนาจในการสั่งปิดกิจการหรือกิจกรรมบางประเภท เช่น ปิดร้านอาหาร ร้านตัดผม ซึ่งคำสั่งที่ผ่านมาต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อเป็นหลัก ซึ่งให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งได้โดยยึดเขตจังหวัดเป็นศูนย์กลางภายใต้คณะทำงานระดับจังหวัดที่มีความใกล้ชิดคุ้นเคยในพื้นที่ 

ห้า อำนาจควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ

การควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการกำหนดไว้ในข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ทว่าเป็นการใช้ประกอบกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.การเดินอากาศ ที่สามารถห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวได้ หรือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ที่สามารถกำหนดเงื่อนไขในการเดินทางเข้าประเทศจากคนที่มาในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 39 ถึง 43 ยังให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อไว้อย่างเฉพาะเจาะจงในการควบคุมเรื่องสุขอนามัยของผู้โดยสารและยานพาหนะ รวมถึงมีอำนาจสั่งการออกมาตรการป้องกันโรคให้ปฏิบัติตามได้อีกด้วย

หก อำนาจในการแก้ปัญหากักตุนสินค้า

โดยปกติแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีบทบัญญัติโดยตรงเกี่ยวกับการรับมือปัญหาการกักตุนสินค้า แต่ทว่าในข้อกำหนดฉบับที่หนึ่งได้กำหนดมาตรการแก้ปัญหาการกักตุนสินค้าไว้โดยอ้างอิงกับ พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ หรือหมายความว่า ในการแก้ปัญหาการกักตุนสินค้าสามารถทำได้โดยใช้กฎหมายปกติอื่นๆ 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ “กฎหมายควบคุมราคาสินค้า” ที่ให้อำนาจแก่ รมว.พาณิชย์ฯ ประกาศควบคุมสินค้าและบริการได้ โดยกำหนดให้การกักตุนสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนดไว้ มีโทษสูงสุดจำคุกถึง 7 ปี และปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการประกาศให้หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าควบคุม แต่ขาดการบังคับใช้ที่เป็นรูปธรรม 

เจ็ด อำนาจป้องกันการเสนอข่าวปลอม

การรับมือกับข่าวปลอมและการทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ แต่การควบคุมหรือแทรกแซงการเสนอข่าวก็มีโอกาสเสี่ยงจะนำไปสู่การละเมิดเสรีภาพสื่อ หรือครอบงำการนำเสนอของสื่อ ซึ่งทีผ่านมา มาตรการในการจัดการกับข่าวที่รัฐบาลมองว่าเป็น “ข่าวปลอม” ก็จะถูกจัดการโดยการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

แต่ทว่าการใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นการใช้กฎหมายที่ผิดฝาผิดตัว เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวควรนำมาใช้กับการกระทำความผิดในเชิงระบบมากกว่าการกระทำผิดที่เกี่ยวกับการแสดงออกบนโลกออนไลน์ อีกทั้งกฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่มีหลักประกันให้การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือเป็นการติชมเพื่อความเป็นธรรม หรือเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก

การรับมือกับข่าวปลอมสามารถป้องกันได้ด้วยการยกระดับการให้ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ตรวจสอบได้ หรือหากต้องใช้กฎหมายก็ต้องเลือกใช้ให้ตรงกับความร้ายแรงของการกระทำและเจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือความผิดฐาน “บอกเล่าความเท็จ” จนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น

 

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน มาตรการต้องเปลี่ยน

หากพิจารณาจากสถิติผู้ติดเชื้อจากกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 จะพบว่า ในรอบ 20 วันที่ผ่านมา มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่เพียงแค่ 10 จังหวัด ยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ได้เปลี่ยนจากหลักร้อยเหลือเพียงหลักหน่วย และยอดผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็ไม่เกินหลักร้อย ดังนั้น การคงมาตรการรุนแรงแบบเดียวกันไว้ทั่วประเทศจึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สมเหตุสมผล

เมื่อรัฐบาลยังมีมาตรการอื่นๆ ทดแทนได้ จึงควรจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพรุนแรงเกินสมควร ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมอย่างมหาศาล เพราะทุกพื้นที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการเดียวกันโดยไม่จำเป็น และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยงต้องเสียหายไปด้วย ผู้ประกอบการและลูกจ้างไม่มีรายได้ รวมถึงการดำเนินวิถีชีวิตปกติไม่สามารถทำได้ เช่น การให้เด็กได้เรียนหนังสือที่โรงเรียน พบปะกับเพื่อนและคุณครูเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ การรับมือโรคระบาดยังไม่ได้มีแค่เครื่องมือทางกฎหมาย รัฐบาลควรมีมาตรการสำคัญอื่นๆ เช่น การสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อให้ประชาชน การสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐและเอกชนใช้มาตรการส่งเสริมการรักษาระยะห่าง รวมถึงการมีระบบตรวจหาผู้ติดเชื้อที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถกลับมาดำเนินได้เป็นปกติ