เปรียบเทียบที่มาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายประเทศ ไทยยัง ‘พิเศษ’ ที่ให้โควต้าข้าราชการ

ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีหน้าที่หลักเป็นองค์กร ‘พิทักษ์รัฐธรรมนูญ’ ต้องคอยตรวจสอบว่า กฎหมายขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือการกระทำใดของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้หรือไม่ แต่ประวัติศาสตร์ 20 ปีของศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในหน้าที่หลักไม่เด่นชัดนัก ขณะเดียวกันบทบาทรองที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยยุบพรรคการเมือง หรือสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะนั้นโดดเด่นเป็นที่จดจำของสังคมกว่ามาก

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทกำหนดความเป็นไปทางการเมืองอย่างชัดเจน และแนวคำวินิจฉัยในคดีสำคัญหลายคดีก็ออกมาเป็นประโยชน์กับกลุ่มการเมืองกลุ่มเดิม ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงอำนาจที่ล้นเหลือของศาลรัฐธรรมนูญ และ “ที่มา” ของคนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและใช้อำนาจชี้ขาดทางการเมืองว่า จะทำอย่างไรจึงได้คนที่มีความรู้ความสามารถ สุจริต และยัง “เป็นกลาง” ทางการเมืองด้วย หรืออย่างน้อยก็ไม่มีอคติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคน แยกได้เป็นสามกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่หนึ่ง ผู้พิพากษาและตุลาการอาชีพ จำนวนห้าคน แบ่งเป็น สามคนมาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และสองคนมาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด กลุ่มที่สอง ผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการ จำนวนสองคน จากสาขานิติศาสตร์และสาขารัฐศาสตร์อย่างละหนึ่งคน กลุ่มที่สาม ผู้ทรงคุณวุฒิสายข้าราชการ จำนวนสองคน มาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า 

ผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการ และสายราชการ ให้ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งกำหนดให้ประกอบไปด้วย

  • ฝ่ายตุลาการ คือ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด
  • ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ประธานสภาและผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
  • บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้ง หรือ ‘คนนอกที่แต่งตั้งโดยองค์กรอิสระ’ องค์กรละหนึ่งคน รวมหกคน

ผู้ที่จะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจํานวนคณะกรรมการสรรหา จากนั้นจึงเสนอรายชื่อไปยังวุฒิสภาเพื่อลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวน ส.ว. ทั้งหมด หาก ส.ว. ไม่เห็นชอบผู้ได้รับการสรรหารายใด ต้องส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาพร้อมเหตุผล เพื่อให้ดําเนินการสรรหาใหม่แล้วเสนอต่อ ส.ว. อีกครั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญมีขึ้นเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 และมีในรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 เป็นต้นมา เมื่อเปรียบเทียบที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากโครงสร้างทั้งสามฉบับแล้วพบว่า รัฐธรรมนูญ 2540 โดดเด่นที่สุดเพราะให้มีตุลาการถึง 15 คน และเน้นหนักไปที่ผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาการ ส่วนรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีตำแหน่งพิเศษเพิ่มขึ้นมา คือ มีผู้ทรงคุณวุฒิสายข้าราชการ ซึ่งไม่เคยมีมาในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี เมื่อได้ศึกษาและพิจารณาวิธีการวางโครงสร้าง “ที่มา” ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ช่วยให้เห็นว่า ตุลาการที่มาจากสายข้าราชการนั้นเป็นระบบเฉพาะตัวมากที่ไม่เหมือนระบบของประเทศอื่น และยังเปิดมุมมองให้เราคิดต่อได้มากขึ้นว่า มีทางเลือกอย่างไรบ้างที่ประเทศไทยยังไม่เคยทดลองใช้ เพื่อจะออกแบบกติกาการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาทำหน้าที่ได้ตรงกับความคาดหวังหลักมากกว่าการเข้ามามีบทบาททางการเมือง

 

ออสเตรีย

ศาลรัฐธรรมนูญของออสเตรียเป็นศาลรัฐธรรมนูญแห่งแรกของโลก จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1920 โดยการผลักดันของฮันส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen) นักนิติศาสตร์และนักปรัชญาชื่อดัง เริ่มจากการตั้งคำถามว่า “ใครควรเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” และได้ข้อยุติว่าศาลซึ่งเป็นองค์กรตุลาการควรเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (The Guardian of The Constitution : der Hüter der Verfassung) โดยระบบศาลรัฐธรรมนูญแบบออสเตรียเป็นต้นแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีในช่วงแรก อิตาลี ตุรกี สเปน และโปรตุเกส โดยศาลรัฐธรรมนูญออสเตรียมีระบบองค์คณะเดี่ยว ประกอบไปด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญหนึ่งคน รองประธานอีกหนึ่งคน และตุลาการอีก 12 คน รวมทั้งสิ้น 14 คน และมีตุลาการสำรองอีกหกคน  

ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ:

ศาลรัฐธรรมนูญออสเตรียยังมีความพิเศษกว่าศาลรัฐธรรมนูญประเทศอื่นๆ ในการกำหนดคุณสมบัติของตุลาการไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการทุกคนไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไร จะต้องสำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จบมาอย่างน้อยสิบปี 

สำหรับที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออสเตรียก็มีความหลากหลายในมิติองค์กรที่ทำการเสนอชื่อตุลาการ แบ่งได้เป็นสามที่มา โดยประธานและรองประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการหกคน และตุลาการสำรองสามคน ที่มาจากผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และศาสตราจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ที่สอนในมหาวิทยาลัย ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีตามข้อเสนอของรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐ (Bundesregierung) และตุลาการที่เหลืออีกหกคน ตุลาการสำรองอีกสามคน กฎหมายไม่ได้กำหนดที่มาทางด้านอาชีพเดิมไว้เป็นการเฉพาะ ในแง่ที่มาของตุลาการเหล่านี้ สามคนและตุลาการสำรองอีกสองคน ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีตามข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎร (Nationalrat) อีกสามคน และตุลาการสำรองหนึ่งคน ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีตามข้อเสนอของสภาแห่งสหพันธ์ (Bundesrat) ซึ่งมีลักษณะเป็นสภาสูงหรือวุฒิสภา 

เพื่อให้ตุลาการมีความเป็นกลางทางการเมือง จึงกำหนดคุณสมบัติไม่ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเคยประกอบอาชีพในรัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ สภายุโรป หรือทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ

อำนาจวินิจฉัยคดี:  

  1. วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในทางทรัพย์สินของสหพันธ์ มลรัฐ และขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  2. วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทระหว่างศาลกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ข้อพิพาทระหว่างมลรัฐกับมลรัฐ และข้อพิพาทระหว่างมลรัฐกับสหพันธ์
  3. ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและสัญญาระหว่างประเทศ
  4. ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการเลือกตั้ง 
  5. วินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของ ส.ส. 
  6. วินิจฉัยเกี่ยวกับการโต้แย้งผลประชามติ
  7. วินิจฉัยเกี่ยวกับการฟ้ององค์กรของรัฐทั้งในระดับสหพันธ์และระดับมลรัฐให้ต้องรับผิดตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการละเมิดกฎหมายขององค์กรของรัฐ

 

เยอรมนี 

ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนี (Bundesverfassungsgericht) ในตอนแรกได้รับอิทธิพลมาจากศาลรัฐธรรมนูญออสเตรีย ต่อมาภายหลังเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง มลรัฐทางฝั่งเยอรมันตะวันตกจึงร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เรียกว่า ‘กฎหมายพื้นฐาน’ (Grundgesetz) และเนื่องจากปัญหาเผด็จการเสียงข้างมากของรัฐสภาในช่วงการปกครองของพรรคนาซี คณะยกร่างกฎหมายพื้นฐานจึงกำหนดศาลรัฐธรรมนูญแบบเยอรมันขึ้นเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายการเมือง ภายใต้รากฐานของ ‘หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ’ โดยรูปแบบของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันนั้นเป็นต้นแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเทศทั่วโลกทั้งในทวีปยุโรป เอเชีย แอฟริกา และถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญระดับสหพันธ์ของเยอรมนีจะมีอำนาจที่กว้างขวางในการตรวจสอบฝ่ายการเมือง แต่เคยตัดสินยุบพรรคการเมืองเพียงสองครั้งนับแต่ก่อตั้ง คือพรรคสังคมนิยม (Sozialistische Reichspartei: SRP) ของนีโอนาซี และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี (Kommunistische Partei Deutschlands: KPD)

เพื่อความเป็นอิสระและไม่ถูกแทรกแซง ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันจะมีงบประมาณของศาล ที่เสนอและได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ขึ้นกับหน่วยงานใดๆ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้วมีวาระดำรงตำแหน่ง 12 ปี  พ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุ 68 ปี

ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ ประกอบด้วยตุลาการ 16 คน เป็นระบบองค์คณะคู่โดยแบ่งออกเป็นสององค์คณะ (Senat) องค์คณะละแปดคน มาจากการคัดเลือกของสภาผู้แทนราษฎรแปดคน หนึ่งในนั้นจะได้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และมาจากการคัดเลือกของสภามลรัฐแปดคน หนึ่งในนั้นจะได้เป็นรองประธาน

องค์คณะแรกจะมีรองประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นประธาน องค์ที่สองมีประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นประธาน แต่ละองค์จะทำหน้าที่แตกต่างกัน องค์คณะแรกจะพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการตีความรัฐธรรมนูญ องค์คณะที่สองจะพิจารณาคดีทั่วไป เช่น การฟ้องประธานาธิบดี ผู้พิพากษา กรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ขององค์กร รวมทั้งคําร้องทุกข์ของประชาชนกรณีมีการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ละองค์คณะยังมีการแยกเป็นองค์คณะกลั่นกรอง (Kammer) องค์คณะละสามคน เพื่อแบ่งเบาภาระขององค์คณะใหญ่

ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ: 

สภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) และ สภาผู้แทนสหพันธรัฐ (Bundesrat) ซึ่งมีลักษณะเป็นสภาสูง มีหน้าที่เลือกสมาชิกของศาล สภาละแปดคน และจะสลับกันเลือกประธานศาล รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) ได้กำหนดให้ในแต่ละองค์คณะมีตุลาการสามคน ที่ได้รับคัดเลือกมาจากผู้พิพากษาศาลสูงสุดแห่งสหพันธ์ ที่ปฏิบัติงานในศาลสูงสุดแห่งสหพันธ์มาแล้วอย่างน้อยสามปี โดยศาลสูงสุดแห่งสหพันธ์ไม่ได้หมายความเฉพาะศาลยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังมีความหมายรวมไปถึงศาลปกครองสูงสุด ศาลแรงงานสูงสุด ศาลสังคมสูงสุด และศาลภาษีอากรสูงสุดอีกด้วย สำหรับตุลาการที่เหลือในสององค์คณะ องค์คณะละห้าคน จะมาจากผู้ประกอบอาชีพในทางนิติศาสตร์ โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าต้องประกอบอาชีพใด ในทางปฏิบัติมักมีตุลาการที่มาจากหลากหลายอาชีพ โดยส่วนใหญ่จะมาจากศาสตราจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ ทั้งในด้านกฎหมายมหาชน กฎหมายภาษี กฎหมายระหว่างประเทศ นิติปรัชญา บางส่วนมาจากสภาผู้แทนราษฎร บางส่วนมาจากนักการเมืองเช่นรัฐมนตรี และบางส่วนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ในทางนิติศาสตร์

สภาผู้แทนราษฎร ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เลือกโดยประชาชนทุกๆ สี่ปี มีหน้าที่พิจารณาออกกฎหมาย ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี (Bundeskanzler) รวมทั้งลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีก็ได้ เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎรของไทย และยังมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในองค์กรระดับสูง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์จำนวนครึ่งหนึ่ง ผู้ว่าและรองผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

สภาผู้แทนสหพันธรัฐ ประกอบด้วยผู้แทน 69 คนจาก 16 มลรัฐทั่วเยอรมนี แต่ละรัฐจะส่งตัวแทนมา ส่วนมากจะเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐ หรือรัฐมนตรี โดยจำนวนสมาชิกของแต่ละรัฐขึ้นอยู่กับขนาดและประชากร สภาผู้แทนรัฐมีอำนาจให้ความเห็นชอบกฎหมายที่กระทบถึงอำนาจของมลรัฐ แม้ว่าท้ายสุด สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นฝ่ายตัดสิน

การปกครองในระดับมลรัฐของเยอรมนี แต่ละรัฐจะมีรัฐธรรมนูญ และฝ่ายบริหารเป็นอิสระ โดยต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหพันธ์ มีสภาผู้แทนที่ได้รับการคัดเลือกจากประชาชน ซึ่งสภาผู้แทนในแต่ละรัฐจะทำการคัดเลือกนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีเพื่อวางนโยบายและบริหารต่อไป

คุณสมบัติของบุคคลที่จะถูกคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีดังต่อไปนี้

  1. อายุไม่น้อยกว่า 40 ปี
  2. มีคุณสมบัติเป็นตุลาการได้ตามกฎหมายตุลาการ
  3. เป็นผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  4. ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนรัฐ หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  5. ประกอบอาชีพเป็นนักนิติศาสตร์

อำนาจวินิจฉัยคดี:  

  1. วินิจฉัยกรณีมีปัญหาว่า กฏหมายของสหพันธ์หรือมลรัฐชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามคำร้องของรัฐบาลกลาง, มลรัฐ หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันหนึ่งในสี่
  2. วินิจฉัยกรณีประชาชนเห็นว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
  3. วินิจฉัยกรณีการขัดกันของหน้าที่ระหว่างรัฐบาลมลรัฐและรัฐบาลกลาง
  4. วินิจฉัยข้อพิพาทเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างหน่วยงานราชการ
  5. วินิจฉัยคำร้องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การได้มาและเสียไปซึ่งสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎร
  6. วินิจฉัยกรณีการถอดถอนเจ้าหน้าที่รัฐออกจากตำแหน่ง
  7. วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง
  8. วินิจฉัยคดีฟ้องประธานาธิบดีสหพันธ์
  9. วินิจฉัยคดีฟ้องผู้พิพากษาของสหพันธ์หรือของมลรัฐ

ที่มา: 
http://elibrary.constitutionalcourt.or.th/research/detail.php?ID=206
http://lawwebservice.com/lawsearch/AcharnVorachet06.pdf

 

ฝรั่งเศส

เรื่องของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส (French Constitutional Council) เขียนไว้ในหมวดที่เจ็ดของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส

ที่มาของตุลาการแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ตุลาการที่มาจากการแต่งตั้ง มีสมาชิกเก้าคน มีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งซ้ำได้ โดยสมาชิกจะหมดวาระลงและต้องเลือกคนใหม่สามคน ในทุกๆ สามปี และอีกประเภทหนึ่งคือ ตุลาการโดยตำแหน่ง ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐทุกคนจะเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญตลอดชีพ

ที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญ:

ตุลาการรัฐธรรมนูญที่มาจากระบบแต่งตั้งเก้าคน แบ่งเป็น สามคนแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ซึ่งการแต่งตั้งจะต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ ต้องผ่านการรับรองของคณะกรรมาธิการทั้งสองสภา และต้องไม่มีเสียงคัดค้านของคณะกรรมาธิการจากสองสภาที่รวมกันแล้วถึงสามในห้าของคณะกรรมาธิการทั้งหมด สามคนแต่งตั้งโดยประธานสภาผู้แทนราษฎร และอีกสามคนแต่งตั้งโดยประธานวุฒิสภา ซึ่งการแต่งตั้งโดยประธานของแต่ละสภาต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของแต่ละสภา

ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสไม่ได้กำหนดถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ ไม่ได้กำหนดอายุ และไม่กำหนดด้วยว่า จะต้องเป็นนักกฎหมายหรือมีประสบการณ์ทำงานในวิชาชีพด้านกฎหมาย กำหนดเพียงแต่ว่า ห้ามเป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ห้ามเป็นข้าราชการยกเว้นอาจารย์มหาวิทยาลัย ห้ามผู้บริหารระดับสูงในรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่รับทำงานให้รัฐ

อำนาจวินิจฉัยคดี:

  1. วินิจฉัยเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ควบคุมไม่ให้กฎหมายใดๆ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับสภา กฎหมายทั่วไป และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยต้องไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ คำปรารภของรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย
  2. ตรวจสอบและควบคุมการเลือกตั้ง วินิจฉัยกรณีที่มีการคัดค้านผลการเลือกตั้ง ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. การเลือกตั้ง ส.ว. และการเลือกตั้งประธานาธิบดี
  3. อำนาจแต่งตั้งประธานวุฒิสภาให้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดี กรณีที่ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ค้นหาความจริงกรณีประธานาธิบดีถูกถอดถอน เกิดอุบัติเหตุ เจ็บหนัก ถูกลักพาตัว หรือหายสาบสูญ
  4. กรณีที่มีการทำประชามติ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับองค์กรที่จะเผยแพร่ขั้นตอนและวิธีการในการลงคะแนนเสียงแสดงประชามติ และยังมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของการลงคะแนนเสียง และประกาศผลการทำประชามติด้วย

 

เบลเยี่ยม

เบลเยี่ยมแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2531 เพื่อเพิ่มอำนาจให้ศาลสามารถกำกับดูแลหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญอย่างหลักความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ และสิทธิเสรีภาพ เมื่อเริ่มแรกอำนาจนี้เป็นของ “ศาลอนุญาโตตุลาการ” (Court of Arbitration) ต่อมาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งเมื่อปี 2550 ก็เปลี่ยนชื่อศาลนี้เป็นศาลรัฐธรรมนูญ 

ที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญ:

ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ประกอบด้วย ผู้พิพากษา 12 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ โดยการเสนอจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาด้วยมติสองในสามของสมาชิกที่มีอยู่ ตุลาการหกคน มาจากกลุ่มชุมชนภาษาดัตช์ และอีกหกคน มาจากกลุ่มชุมชนภาษาฝรั่งเศส ทั้งนี้ในแต่ละกลุ่มชุมชนภาษานั้น จะต้องประกอบด้วย ผู้พิพากษาสามคน ที่มีคุณสมบัติความรู้และประสบการณ์ทางด้านกฎหมาย เช่น เป็นศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยในเบลเยี่ยม เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของศาลฎีกา และเลขานุการด้านกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น และอีกสามคน ที่มีคุณสมบัติประสบการณ์เป็นสมาชิกรัฐสภามาไม่น้อยกว่าห้าปี 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่รู้ภาษาเยอรมัน และนอกจากนี้ผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญนั้นต้องประกอบด้วยเพศชายและเพศหญิง อย่างน้อยแต่ละเพศมีจำนวนหนึ่งในสามของตุลาการทั้งหมด คุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีอายุอย่างน้อย 40 ปี และอยู่ในตำแหน่งได้ถึงอายุ 70 ปี 

อำนาจวินิจฉัยคดี:  

  1. วินิจฉัยก่อนการทำประชามติแต่ละครั้งว่า การทำประชามติสอดคล้องกับกฎหมายของภูมิภาคนั้นๆ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยการทำประชามติแต่ละครั้งต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นชอบก่อน
  2. วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติขัดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เรื่องความจงรักภักดีต่อสหพันธรัฐ การเก็บภาษีที่ต้องชอบด้วยกฎหมาย การเก็บภาษีที่ต้องเสมอภาค ฯลฯ
  3. ตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 

ที่มา:
https://www.const-court.be/public/brbr/e/brbr-2014-001e.pdf
https://www.const-court.be/public/brbr/e/brbr-2014-002e.pdf

 

เกาหลีใต้ 

ศาลรัฐธรรมนูญประเทศเกาหลีใต้ ประกอบไปด้วยตุลาการทั้งหมดเก้าคน โดยเเบ่งเป็นประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งคนเเละตุลาการแปดคน โดยจะดำรงตำเเหน่งวาระทั้งหมดหกปี เเละสามารถดำรงตำเเหน่งซ้ำได้

ที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญ:

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นมาได้จากสามวิธีการด้วยกัน 

  1. คัดเลือกโดยตรงจากประธานาธิบดีโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งประธานาธิบดีมีที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยระบบเสียงข้างมาก ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจะได้เป็นประธานาธิบดี โดยจะมีการจัดขึ้นทุกๆ ห้าปี
  2. สามคนมาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา ซึ่งสมาชิกรัฐสภาของเกาหลีใต้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนทั้งหมด 300 คน เเบ่งเป็น ส.ส. เเบบเเบ่งเขตจำนวน 253 คน และ ส.ส. เเบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 47 คน โดยมีการจัดขึ้นทุกสี่ปี
  3. สามคนมาจากการเสนอรายชื่อโดยประธานศาลสูงสุด (Chief Justice of the Supreme Court) และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

คุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีอายุมากกว่า 40 ปี และไม่เกิน 70 ปี จะต้องมาจากผู้ดำรงตำเเหน่งผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 ปี หรือดำรงตำแหน่งหลายอย่างนับเวลาต่อกันก็ได้ หรือเป็นทนายความที่เคยทำงานกฎหมายให้กับหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือเคยดำรงตำเเหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์หรือสูงกว่าในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกห้ามไม่ให้เป็นข้าราชการ ผู้ถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุก หรือผู้ที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมายังไม่เกินห้าปี ต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองและไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมือง

อำนาจวินิจฉัยคดี:  

  1. วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายระดับรัฐบัญญัติ (เป็นกฎหมายที่มีสถานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ)
  2. วินิจฉัยยุบพรรคการเมือง กรณีที่วัตถุประสงค์หรือกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้นขัดต่อหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน
  3. วินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐต่างๆ หรือข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น หรือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นด้วยกันเอง รวมทั้งข้อพิพาทระหว่างรัฐสภา รัฐบาล ศาล และคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย

บุคคลใดก็ตามที่สิทธิที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญถูกละเมิดจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานของรัฐบาล ไม่รวมการตัดสินคดีของศาล สามารถยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการเรียกร้องตามมาตรการที่กฎหมายอื่นๆ เขียนไว้ทั้งหมดแล้ว

 

ไต้หวัน

ศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) จะมีตุลาการ 15 คน โดยมีประธานและรองประธาน ตำแหน่งละหนึ่งคน จากหนึ่งใน 15 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นประธานและรองประธานของสภาตุลาการ (Judicial Yuan) ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าสภาซึ่งกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาล

ที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญ:

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีหนึ่งในคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้พิพากษามาอย่างน้อย 15 ปี และมีผลงานที่โดดเด่น
  • เป็นอัยการมาอย่างน้อย 15 ปี และมีผลงานที่โดดเด่น
  • ทำงานเป็นทนายความมาอย่างน้อย 25 ปี และมีผลงานที่โดดเด่น
  • ทำงานเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยอิสระที่ได้รับการรับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างน้อย 12 ปี และสอนวิชาที่เกี่ยวกับ มาตรา 5 ย่อหน้าที่ 4 ของรัฐบัญญัติผู้พิพากษา (เกี่ยวกับการคัดเลือกผู้พิพากษา) และมีผลงานตีพิมพ์พิเศษ
  • ทำงานเป็นผู้พิพากษาในศาลระหว่างประเทศ หรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายเปรียบเทียบในสถาบันการศึกษาและมีงานตีพิมพ์ซึ่งถูกตีพิมพ์ด้วยมืออาชีพ
  • มีงานวิจัยในหลักนิติศาสตร์ และมีประสบการณ์ทางด้านการเมืองการปกครองอย่างโดดเด่น

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คนจะได้มาโดยการเสนอชื่อและแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ด้วยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติ (Lagislative Yuan) ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าสภาซึ่งกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาลและมาจากการเลือกตั้ง

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีวาระดำรงตำแหน่งแปดปี ต้องอยู่เหนือพรรคการเมือง และเมื่อหมดวาระแล้วไม่สามารถถูกเลือกกลับมาใหม่ได้

ตามมาตรา 30 ของรัฐบัญญัติวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court Procedure Act) ถ้าไม่ปรากฏอื่นใดในรัฐบัญญัตินี้ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะมาจากเสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ทั้งหมด ด้วยจำนวนองค์ประชุมสองในสามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเข้ามีส่วนในการตัดสิน

อำนาจวินิจฉัยคดี:  

  1. วินิจฉัยเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย คดีการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
  2. วินิจฉัยคดีความขัดแย้งระหว่างองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ
  3. วินิจฉัยคดีการฟ้องร้องเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดี
  4. วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น
  5. วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับรูปแบบการตีความกฎเกณฑ์และข้อบังคับ
  6. วินิจฉัยคดียุบพรรคการเมืองที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กรณีที่พรรคการเมืองนั้นมีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อการมีอยู่ของสาธารณรัฐจีนหรือหลักการเป็นประชาธิปไตยเสรีตามรัฐธรรมนูญ

ขอบคุณ ทีมค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้น
นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ ชั้นปีที่ 1
วิชา TU101 Civic Engagement