พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ: ออกข้อกำหนดใหม่ 2 ฉบับ คงเคอร์ฟิว แต่ให้เปิดบางสถานที่

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤษาคม 2563 เป็นต้นไป

สำหรับสาระสำคัญของข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 5 มีดังนี้

หนึ่ง คงมาตรการเคอร์ฟิว ถ้าฝ่าฝืนลงโทษหนัก

ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 ตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 2 แต่มีข้อยกเว้นให้บางกลุ่มอาชีพตามข้อกำหนด ฉบับที่ 3 และผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด เช่น ออกนอกเคหสถาน มั่วสุมชุมนุมทำกิจกรรม หรือเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดที่ไม่เป็นความจริง ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายเหล่านั้นทุกฐานความผิด และพิจารณาการขึ้นทะเบียนรับการช่วยเหลือจากรัฐ

สอง ห้ามหรืองดกิจกรรมบางอย่างตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่

  • ห้ามใช้อาคารสถานศึกษาจัดการเรียน การสอน การฝึกอบรม หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก เว้นแต่ผ่านวิธีอิเล็กทรอนิกส์
  • ห้ามจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ซึ่งรวมถึงการประชุม การสัมมนา การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของ เว้นแต่ได้รับอนุญาต และเป็นสถานที่ที่ไม่แออัด มีมาตรการจำกัดระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร เป็นต้น
  • ห้ามผู้ใดใช้ท่าอากาศยานเพื่อการขึ้นลงของอากาศยานเว้นแต่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
  • ให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าทางบก น้ำ หรืออากาศ ปฏิบัตามหลักเกณฑ์ที่นายกฯ หรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกำหนด
  • ให้ผู้ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสั่งหรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรว่าต้องแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตในสถานที่ที่กำหนด ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
  • ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่สามารถปิดสถานที่ต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดได้ เช่น สถานบันเทิง โรงมหรสพ สถานที่ออกกำลังกาย ห้างสรรพสินค้า
  • การสั่งให้เปิดสถานที่หรือกิจกรรมใด ตามข้อกำหนดฉบับนี้ต้องรอการประเมินสถานการณ์และมีข้อกำหนดให้ผ่อนคลายก่อน

สาม รับรองให้คำสั่งของเจ้าหน้าที่ให้ถือเป็นคำสั่งตามข้อกำหนดฉบับนี้

สี่ การปฏิบัติศาสนกิจหรือศาสนพิธีในวันสำคัญหรือตามประเพณีนิยม ให้เป็นไปตามดุลยพินิจและความรับผิดชอบของผู้ปกครองดูแลศาสนสถานนั้น

ห้า ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่มีความจำเป็นซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งต้องรับการตรวจคัดกรอง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค แม้จะทำให้ใช้เวลามากกว่าปกติ

สำหรับสาระสำคัญของข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 6 มีดังนี้

หนึ่ง การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ประกอบด้วย

กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ได้แก่

  • การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย แต่ไม่รวมสถานบริการ ผับ บาร์ ให้เปิดโดยอาจนำกลับไปบริโภคที่อื่น หรือสามารถทำได้ได้โดยต้องจัดระเบียบการเข้าใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของราชการ ส่วนร้านอาหารหรือเครื่องดื่มซึ่งจำหน่ายสุรา ให้เปิดได้แต่ห้ามบริโภคภายในร้าน
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ด และร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม แต่ร้านอาหารให้เปิดได้เฉพาะซื้อนำกลับไปบริโภคที่อื่น
  • ร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม ตลาด ตลาดน้ำและตลาดนัด ให้เปิดได้โดยต้องควบคุมทางเข้าออก จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ให้ และผู้ใช้บริการ การเว้นระยะห่างในการเลือกสินค้าและการชำระราคา
  • ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมสำหรับบุรุษหรือสตรีให้เปิดได้เฉพาะกิจกรรมสระ ตัด ซอยผม แต่งผม และต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน

กิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ

  • โรงพยาบาล คลินิก สถานทันตกรรมหรือสถานพยาบาลทุกประเภท ที่จัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย เปิดได้
  • สนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟให้เปิดได้แต่ต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกันหรือเป็นการแข่งขัน ในกรณีของสโมสร คลับเฮาส์ หรือร้านอาหารในบริเวณดังกล่าวให้ปฏิบัติตามที่ราชการกำหนด
  • สนามกีฬาเฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้งและตามกติกาสากล ผู้เล่นต้องมีระยะห่างไม่คลุกคลีกัน
  • สวนสาธารณะ ลาน – พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬาเปิดได้เฉพาะพื้นที่โล่งแจ้ง
  • สถานที่ให้บริการดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์

สอง ให้เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ทุกประเภทมีหน้าที่รับผิดชอบการดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่ ภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ และจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจ ให้คำแนะนำ หรือตักเตือนห้ามปรามได้ตลอดเวลา หากพบว่ามีการฝ่าฝืนเป็นอันตรายต่อการป้องกัน ให้เสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อสั่งปิดสถานที่นั้นเฉพาะรายได้