การนิรโทษกรรมกับสังคมไทย

 

พรรคภูมิใจไทยเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ จากเหตุการณ์การชุมนุมและความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
ที่มาภาพ : Tim Pearce, Los Gatos
นิรโทษกรรม หมายถึง การทำให้ไม่มีโทษ หรือการอันไม่มีโทษ โดยในทางกฎหมายจะแบ่งเป็นการนิรโทษกรรมทางแพ่ง และทางอาญา
นิรโทษกรรมทางแพ่ง คือ การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แต่กฎหมายบอกว่าไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย เช่น เราจะถูกทำร้ายและเราก็ป้องกันตัวทำให้คนที่ทำร้ายเราบาดเจ็บ แม้เขาจะบาดเจ็บเกิดความเสียหายขึ้น แต่เราไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย เพราะกฎหมายยกเว้นให้
นิรโทษกรรมทางอาญา คือ การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
ในแง่ดี การนิรโทษกรรม หรือ การยกเลิกความผิดทั้งหลายที่ได้กระทำผ่านมา ไม่เพ่งเล็งจะจับตัวบุคคลมาลงโทษให้เข็ดหลาบ เสมือนหนึ่งว่าเป็นการให้อภัยซึ่งกันและกัน เรื่องที่แล้วมาแล้วก็ให้แล้วต่อกันไป อาจสร้างบรรยากาศการความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม เอื้อต่อการหันหน้ามาพูดคุยกัน แล้วเริ่มต้นกันใหม่อย่างสร้างสรรค์
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจะทำให้การกระทำที่ผ่านมาไม่เป็นความผิดโดยสมบูรณ์ ไม่สามารถกลับมาลงโทษตามความผิดที่เกิดขึ้นได้อีกเลย ไม่สามารถจะรื้อฟื้นกระบวนการหาตัวผู้กระทำความผิดและกระบวนการตามหาความจริงกลับขึ้นมาได้อีก ไม่ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
หากว่ากันในระยะยาวเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองสามารถออกกฎหมายยกเลิกความผิดที่กระทำไปแล้วได้ ย่อมสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีขึ้นในสังคม หากการกระทำเช่นนี้ได้รับการยอมรับ ก็เท่ากับว่าผู้มีอำนาจไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวต่อการทำผิดกฎหมาย เพราะสามารถออกกฎหมายยกเลิกความผิดของตัวเองได้
ในอดีตนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเคยออกกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ครั้ง เรียบเรียงได้ดังนี้ คือ
1.พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2475 ประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ โดยให้การกระทำทั้งหลายของคณะราษฎรที่เป็นการละเมิดกฎหมาย ไม่ให้เป็นการละเมิดบทกฎหมายเลย
2. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ออกโดย พระยาพหลพลลพยุหเสนา โดยคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
3. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ.2488 ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ มีการปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมดเป็นอิสระ โดยผู้กระทำผิดจะได้ถูกฟ้องรับโทษตามคำพิพากษาแล้วหรือไม่และไม่ว่าผู้กระทำผิดนั้นจะได้หลบหนีจากที่ใดไปยังที่ใดหรือไม่ ให้เป็นอันพ้นจากความผิดนั้น ๆ ทั้งสิ้น
4. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ.2489 ออกโดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นการยกโทษให้แก่ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นในครั้งที่ญี่ปุ่นเข้ามาไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
5. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ ในครั้งที่มีกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พล..ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนิรโทษแก่ผู้ที่ทำการรัฐประหารในคราวนั้นทั้งหมด
6. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 กลับมาใช้ พ.ศ.2494 ออกโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นการรัฐประหารของจอมพลป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหารตัวเอง (ยึดอำนาจตัวเอง)
7. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 ออกโดยจอมพลป. พิบูลสงครามเนื่องจากพระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ ๒๕ ศตวรรษ จึงมีการอภัยทานความผิดฐานกบฏจลาจลนั้นเพื่อไม่มุ่งหมายจองเวรแก่กัน จึงได้นิรโทษกรรมทั้งหมด
8. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2500 ออกโดยนายพจน์ สารสิน เป็นการรัฐประหาร จอมพลป.พิบูลสงคราม นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันเนื่องมาจากประชาชนไม่พอใจการเลือกตั้งที่ทุจริต และสมาชิกพรรคมนังคศิลาของจอมพลป. เสนอให้จัดการเด็ดขาดกับจอมพลสฤษดิ์ ที่แถลงให้จอมพลป.ลาออกจากตำแหน่ง จอมพลสฤษดิ์จึงทำการรัฐประหารตัดหน้าเสียก่อน แล้วให้นายพจน์ สารสินขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง
9. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร สืบเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม ในการรัฐประหารในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น การรัฐประหารเงียบ หรือ ยึดอำนาจตัวเอง ออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที่ เบ็ดเสร็จ และเด็ดขาด ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 17
10.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 พ.ศ.2515 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ยึดอำนาจตัวเอง เหมือนรัฐประหาร พ.. 2494 ของจอมพล. พิบูลสงคราม โดยได้มีการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการปฏิวัติหรือร่วมทำการปฏิวัติพ้นจากความผิดทั้งสิ้น
11.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ.2616 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยเหตุที่นักเรียน  นิสิต นักศึกษาและประชาชนเดินขบวนเรียกร้อง ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไทย 14 ตุลาคม 2516 ภายหลังจากเหตุการณ์จึงมีการนิรโทษกรรมทั้งหมด
12.พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2515 พ.ศ. 2517 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นการนิรโทษกรรมบุคคล โดยให้ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ที่ให้ควบคุมตัวนายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ
13.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 พ.ศ.2519 ออกโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐบาลในขณะนั้นคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช คุมสถานการณ์ไม่อยู่ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ และให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ทำการรัฐประหารในคราวนั้น
14.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ.2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จากเหตุการณ์กบฏในวันที่ 25 มีนาคม 2520 ซึ่งเป็นความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดย พล..ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ เมื่อคราวผ่านพ้นไปจึงได้มีการนิรโทษกรรมทั้งหมด
15.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ.2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องมาจากการรัฐประหารนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐประหารนายธานินท์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นการกระชับอำนาจตนเอง ถือเป็นการรัฐประหารตัวเอง และได้นิรโทษกรรมทั้งหมด
16.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ โดยเห็นว่าหากมีการดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น จึงมีการนิรโทษกรรม
17.พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 พ.ศ.2524 ออกโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในเหตุการณ์ที่มีความพยายามจะรัฐประหารรัฐบาลพลเอก เปรม โดยเรียกชื่อกลุ่มว่ายังเติร์ก แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้น พลเอกเปรม จึงได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมกลุ่มเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อความสามัคคีของคนในชาติ
18.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จากเหตุความพยายามรัฐประหารของนายทหารนอกราชการ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการนิรโทษกรรมเพื่อความสามัคคีของชนในชาติ
19.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร  ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์  พ.ศ. 2532 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์
20.พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 ออกโดยนายอานันท์ ปันยารชุน จากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการรัฐประหารพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยให้นิรโทษผู้ที่ร่วมในการรัฐประหารทั้งหมด
21.พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ.2535 ออกโดย พลเอก สุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นพ้นผิดทั้งหมด ไม่ว่าจะประชาชนที่เข้าชุมนุม และทหารที่ทำการปราบปรามประชาชน
22.ครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทยมีการนิรโทษกรรม บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในมาตรา 309 ที่ว่า “บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้”
ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติการนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ จากสาเหตุการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
จะเห็นว่าการนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยและโดยมากเป็นการนิรโทษกรรมหลังจากการรัฐประหารเพื่อให้ตนพ้นผิด หรือนิรโทษกรรมผู้ก่อการกบฎเพื่อให้เกิดความสามัคคีของคนในชาติ
การออกกฎหมายนิรโทษกรรม จากเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต ได้สอนบทเรียนหลายอย่างให้สังคมในปัจจุบันแล้ว
ปัจจุบันยังมีผู้ต้องหาจำนวนมากที่มีคดีความวุ่นวาย คั่งค้างกันอยู่ทั้งในชั้นศาล พนักงานอัยการ และชั้นพนักงานสอบสวน อย่างไม่มีทางออกตามกระบวนการปกติ
ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกตัดสินให้มีความผิด ต้องโทษตามกฎหมาย จากความวุ่นวายทางการเมือง
ยังมีคำถามจำนวนมากที่รัฐบาลตอบสังคมไม่ได้ หากยอมรับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้แล้วสังคมไทยในอนาคตจะต้องมองหาวิธีการแสวงหาความจริงในแนวทางอื่นต่อไป
เป็นโจทย์ฺร่วมกันของทุกคนในสังคม