เหลือไม่ถึงสิบรัฐ! มลรัฐในอเมริกาปิดเมืองชะลอโควิดระบาด

ในวันที่ 10 มีนาคม 2563 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาสูงถึง 463,619 คน ผู้เสียชีวิต 16,695 คน สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลก คิดเป็นหนึ่งในสามของยอดรวมผู้ติดเชื้อทั่วโลก นิวยอร์กเพียงรัฐเดียวมีผู้ติดเชื้อ 159,937 คน มากที่สุดในสหรัฐฯ โดย 42 จาก 50 มลรัฐประกาศภาวะฉุกเฉิน และมีมาตรการปิดเมืองไปแล้ว

แม้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีอำนาจสั่งปิดประเทศไม่ให้มีการเข้าออกได้ แต่ด้วยระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ (Federal Republic) รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจเหนือมลรัฐ อำนาจสั่งปิดเมืองหรือประกาศเคอร์ฟิวจึงไม่ได้อยู่ในมือของโดนัล ทรัมป์ แต่ขึ้นอยู่กับผู้ว่าการรัฐนั้นๆ นิวยอร์กเป็นรัฐที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งก็ได้ออกมาตรการที่เข้มงวดและผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,000 ดอลลาร์ ขณะที่แคลิฟอร์เนียมีผู้ติดเชื้ออันดับต้นๆ เช่นกัน แต่ชะลอการระบาดได้ดี ด้วยมาตรการที่รวดเร็วเด็ดขาดแต่ไม่เน้นบทลงโทษใดๆ

 

ทรัมป์สั่งห้ามคนจากจีนเข้าประเทศ 

สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรก ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563 ประมาณ 10 วันให้หลังประธานาธิบดี (ปธน.) โดนัลด์ ทรัมป์ อาศัยอำนาจประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขออกคำสั่งปิดประเทศรอบแรกในวันที่ 31 มกราคม 2563 ห้ามผู้ที่อยู่ในเขตแพร่ระบาด ได้แก่ จีน ฮ่องกง และมาเก๊า ในเวลา 14 วัน เดินทางเข้าสหรัฐฯ 

ทิ้งระยะเวลามาประมาณหนึ่งเดือนกว่า ในวันที่ 11 มีนาคม ปธน.ทรัมป์ ออกคำสั่งปิดประเทศรอบที่สอง ห้ามผู้ที่อยู่ในเขตแพร่ระบาดในยุโรปเข้าประเทศ สองวันถัดมา ปธน.ทรัมป์ ใช้อำนาจจากกฎหมายภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ (National Emergencies Act 1976) ประกาศภาวะฉุกเฉิน ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 มีนาคม 2563 มอบอำนาจรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขยกเว้นข้อกำหนดและกฎหมายทางสาธารณสุขบางอย่างได้ เพื่อจัดการกับโรคระบาดได้เร็วขึ้นและคล่องตัว

อย่างไรก็ดี สามวันหลังประกาศภาวะฉุกเฉิน ปธน. ทรัมป์กลับออกเพียง “คำแนะนำ” (Guidance) เป็นประกาศสองหน้าให้งดการรวมตัวเกิน 10 คน และแนะนำให้ผู้สูงอายุอยู่บ้าน ฯลฯ โดยไม่ได้เน้นคำสั่ง “ห้าม” เพื่อเอาผิดกับบุคคลที่ฝ่าฝืน

 

ทรัมป์สั่งปิดมลรัฐไม่ได้

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายเดือนมีนาคม สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 เข้าขั้นวิกฤติในมลรัฐนิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ และคอนเนตทิคัต แม้ว่า ปธน.ทรัมป์ จะยังไม่ได้กำหนดทิศทางหรือมาตรการกลางสำหรับทั้งประเทศ แต่ก็กล่าวว่าพิจารณาจะกักกันพื้นที่ในบางจุด (a quarantine for the region) ขณะที่ผู้ว่าการมลรัฐนิวยอร์ก แอนดรูว์ คัวโม ซึ่งประกาศภาวะฉุกเฉินในรัฐและมีคำสั่งให้ประชาชนอยู่บ้านแล้ว สวนกลับว่า ถ้า ปธน.ทรัมป์จะสั่งการกักกันพื้นที่ในลักษณะปิดเมืองห้ามเข้าออก (lockdown) เท่ากับ “ประกาศสงครามกับมลรัฐ (a declaration of war on states.)

ปธน.ทรัมป์จึงให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางออกแถลงการณ์แนะนำให้ประชาชนในมลรัฐเหล่านั้นหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นเป็นเวลา 14 วันแทน ในวันที่ 28 มีนาคม 2563

เนื่องจากสหรัฐอเมริกาใช้ระบบปกครองแบบสหพันธรัฐ (Federal Republic) คือ รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจเหนือมลรัฐ มาตรการภายในมลรัฐไม่ว่าจะเป็นคำสั่งให้ประชาชนอยู่ในบ้านหรือกำหนดเวลาเคอร์ฟิว จึงเป็นอำนาจของผู้ว่าการรัฐนั้น ผู้ว่าการรัฐสามารถออกคำสั่งระดับมลรัฐ (executive orders) และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐตัวเองได้ (state of emergency) ซึ่งนับถึง 9 มีนาคม 2563 ไม่ต่ำกว่า 42 จาก 50 มลรัฐของอเมริกาประกาศภาวะฉุกเฉินและคำสั่งให้อยู่บ้านแล้ว (a stay-at-home order)

ตัวอย่างเช่น มลรัฐเพนซิลเวเนีย ระดับผู้ติดเชื้อ 18,379 คน ออกคำสั่งให้อยู่บ้านเดือนเมษายนทั้งเดือน ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ปิดโรงเรียนมาแล้วสองสัปดาห์ ปิดร้านอาหารและบาร์ และสั่งห้ามการรวมตัวไม่เกิน 1,000 คน และให้หลีกเลี่ยงการรวมตัวเกินกว่า 10 คน มลรัฐวอชิงตัน ผู้ติดเชื้อระดับ 9,608 คน มีออกคำสั่งให้อยู่บ้านตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมถึง 8 เมษายน อนุญาตให้เฉพาะกิจกรรมที่จำเป็น ได้แก่ ซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น ไปดูแลคนในครอบครัว เพื่อน และสัตว์เลี้ยง ออกกำลังกายซึ่งต้องรักษาระยะห่างกัน แต่ให้ยกเว้นคนไร้บ้าน และคนได้รับความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น

ภาพโดย Mario Luengo

 

นิวยอร์กผู้ติดเชื้อมากสุด มาตรการรักษาระยะห่าง ฝ่าฝืนปรับ 1,000 ดอลลาร์

มลรัฐนิวยอร์กถือเป็นรัฐที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด มีผู้ติดเชื้อ 159,837 คน ครึ่งหนึ่งในนั้นหรือ 87,028 คน อยู่ในมหานครนิวยอร์ก (New York City) ผู้ว่าการรัฐ แอนดรูว์ คัวโม (Andrew Cuomo) ประกาศภาวะฉุกเฉินทางภัยพิบัติ (disaster emergency) ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2563 วันเดียวกับที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ประกาศให้การระบาดของโรคเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ

ในวันที่ 16 มีนาคม ผู้ว่าฯ คัวโม ประกาศให้หลีกเลี่ยงการรวมตัวกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป สั่งให้ปิดบาร์และร้านอาหาร โดยร้านอาหารเปลี่ยนเป็นการสั่งกลับบ้านหรือบริการไปส่งถึงบ้านเท่านั้น รวมถึงปิดยิม คาสิโน โรงเรียน และโรงภาพยนตร์ ต่อมา 20 มีนาคม ผู้ว่าฯ ประกาศยกระดับมาตรการขึ้น ออกนโยบาย “นิวยอร์กระหว่างพัก (New York on PAUSE)” ปิดเมืองอย่างเข้มข้น และออก “กฎมาทิลด้า (Matilda’s Law)“ เพื่อปกป้องผู้สูงอายุ และผู้มีปัจจัยเสี่ยง

“นิวยอร์กระหว่างพัก (New York on PAUSE)” เป็นคำสั่งสิบข้อ ดังนี้

  1. ปิดร้านค้าธุรกิจที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เช่น บาร์ ร้านอาหาร ร้านทำผม โรงภาพยนตร์ งานที่จำเป็นที่ให้เปิดเช่น โรงพยาบาล ธุรกิจโทรคมนาคม โรงแรม ร้านซ่อมรถ ร้านของชำ ร้านสะดวกซื้อ ร้านยา ปั๊มน้ำมัน ไปรษณีย์ ธนาคาร ฯลฯ
  2. ห้ามรวมตัวกันโดยไม่จำเป็น งานปาร์ตี้ งานเฉลิมฉลอง และงานสังคมใดๆ ให้ยกเลิกและเลื่อนไป
  3. การพบปะกันนอกที่พักจำกัดให้เฉพาะงานที่จำเป็นเท่านั้น และต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน
  4. ในที่สาธารณะต้องรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 6 ฟุต (1.82 เมตร) 
  5. ธุรกิจและบริการที่เปิดต้องทำตามมาตรการรักษาระยะห่าง 
  6. หลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกที่มีลักษณะต้องใกล้ชิด
  7. จำกัดการใช้ขนส่งสาธารณะในยามจำเป็นจริงๆ และต้องรักษาระยะห่าง 
  8. ผู้ป่วยไม่ควรออกจากบ้าน เว้นจำเป็นต่อการรักษา 
  9. เยาวชนควรทำตามมาตรรักษาระยะห่าง 
  10. ใช้อุปกรณ์ฆ่าเชื้อ เช่น เจลแอลกอฮอล์

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรการรักษาระยะห่างที่สั่งห้าม เช่น เปิดร้านค้าหรือการรวมตัวที่ไม่จำเป็น มีโทษปรับ 1,000 ดอลลาร์ ปรับขึ้นจากเดิม 500 ดอลลาร์ โดยให้ประชาชนสามารถร้องเรียนเมื่อพบการรวมตัวที่ไม่จำเป็นในร้านอาหาร บาร์ ออฟฟิศ และสวนสาธารณะ รวมถึงลูกจ้างสามารถร้องเรียนธุรกิจที่ฝ่าฝืนไม่มีมาตรการรักษาระยะห่างด้วย

กฎมาทิลด้า (Matilda’s Law)“ ซึ่งมาทิลด้าเป็นชื่อมารดาของผู้ว่าการรัฐ กำหนดว่า สำหรับผู้มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน หรือมีโรคแทรกซ้อนอยู่ ให้อยู่บ้าน สามารถออกกำลังกายนอกบ้านได้โดยต้องแยกจากผู้อื่น ห้ามเยี่ยมบ้านที่มีผู้อาศัยอยู่หลายคน ถ้าพบปะคนอื่นให้ใส่หน้ากากอนามัย ห้ามใช้ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

นอกจากนี้ มลรัฐนิวยอร์ออกคำสั่งให้มีมาตรการด้านต่างๆ อาทิ การตรวจผู้ติดเชื้อ เช่น การลงทุนในธุรกิจเอกชนเพื่อผลิตชุดตรวจให้เพียงพอ (rapid testing) ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ พักชำระหนี้ 90 วัน และชดเชยการว่างงาน 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์สำหรับชาวนิวยอร์กทุกคนเป็นเวลา 39 สัปดาห์ และด้านจิตใจ การลดธงลงครึ่งเสาในที่ทำการรัฐอาลัยผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และยังมีบริการสายด่วนให้การสนับสนุนด้านสภาพจิตใจ (Emotional Support Hotline)

 

แคลิฟอร์เนียผู้ติดเชื้ออันดับสี่ แต่ชะลอการระบาดได้ดี

มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับสี่ของสหรัฐ ซึ่งมีจำนวน 20,191 คน ไม่ต่างจากอันดับสามคือมลรัฐมิชิแกน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 21,375 คน เท่าไหร่นัก แต่แคลิฟอร์เนียมียอดผู้เสียชีวิต 548 คน น้อยกว่าเกือบครึ่งนึงของมิชิแกนที่มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,076 คน และมีอัตราเพิ่มต่ำ (case growth rate) ต่ำมากเมื่อเทียบกับรัฐที่มียอดผู้ติดเชื้ออันดับต้นๆ 

ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เกวิน นิวซัม (Gavin Newsom) เริ่มคำสั่งให้อยู่บ้านตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 เป็นรัฐแรกในสหรัฐฯ ปิดโรงเรียน ปิดบาร์ ร้านอาหาร ขณะที่ธุรกิจและบริการที่ยังให้เปิดคือ ตลาด ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารให้สั่งซื้อกลับบ้าน ปั๊มน้ำมัน ร้านขายยา ธนาคาร ร้านซักรีด หน่วยงานราชการที่สำคัญ เช่น ตำรวจ และยังให้ออกนอกบ้านเพื่อไปออกกำลังกายหรือสูดอากาศได้ สามารถออกไปเดิน วิ่ง ปั่นจักรยานในละแวกบ้านได้ พาสุนัขไปเดินเล่น สวนสาธารณะยังเปิดสามารถไปใช้ได้ แต่ทุกกิจกรรมต้องรักษาระยะห่าง 6 ฟุตจากคนอื่นๆ ทั้งนี้ มาตรการเหล่านี้ไม่มีกำหนดโทษใดๆ 

ผู้ว่าฯ นิวซัม ออกคำสั่งให้มีมาตรการด้านต่างๆ เช่น การชะลอการปิดงาน ชดเชยการว่างงาน ออกคู่มือจัดการความเครียด ออกคำสั่งให้หน่วยงานสาธารณสุขใช้ระบบออนไลน์ในการให้บริการทางการแพทย์ได้ (Telehealth Services) ออกโครงการห้องกุญแจ (Project Roomkey) ร่วมมือกับโรงแรมและโฮสเทลกว่า 1,000 ห้อง เป็นที่พักให้คนไร้บ้าน ออกคำสั่งห้ามตัดน้ำบ้านเรือนและธุรกิจขนาดเล็ก ร่วมมือกับกูเกิ้ลให้โรงเรียนใช้อินเทอร์เน็ตฟรีทั้งปีการศึกษารวมสำหรับการเรียนทางไกลในขณะที่ตัวโรงเรียนปิดทำการ นอกจากนี้ยังวางแนวทางและให้การสนับสนุนการเรียนทางไกลและการส่งมื้อกลางวันให้กับนักเรียนอีกด้วย