วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญโดย “สุจริต” ทำได้ แค่ไม่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย

“การวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีที่กระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล”

ข้อความนี้อยู่ในมาตรา 38 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพูดถึงเรื่อง “การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ”

โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี ในส่วนที่บุคคลเข้ามาในบริเวณที่ทำการศาล โดยศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลกระทำหรืองดกระทำเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการห้ามละเมิดอำนาจศาลของศาลทั่วไป

การละเมิดอำนาจศาลมีบทลงโทษตามมาตรา 39 ตั้งเเต่การตักเตือน การไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนั้น การละเมิดอำนาจศาลยังรวมถึง “วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” ที่กระทำด้วยความ ‘ไม่สุจริต’ ซึ่งหมายถึงการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย รวมถึงการวิจารณ์ที่ใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่ ‘หยาบคาย’ ‘เสียดสี’ ’อาฆาตมาดร้าย’ อีกด้วย

เท่ากับว่า หากเป็นการวิจารณ์โดย ‘สุจริต’ และการใช้ถ้อยคำหรือมีความหมาย ‘ไม่หยาบคาย’ ‘ไม่เสียดสี’ ’ไม่อาฆาตมาดร้าย’ ย่อมกระทำได้ ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ในส่วนนี้ อุดม รัฐอมฤต เคยให้ความเห็นว่า การป้องกันการวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่สุจริตนั้นให้ครอบคลุมการใช้สื่อและสังคมออนไลน์ และรวมถึงการปลุกระดมมวลชนที่มาล้อมกดดันศาลด้วย 

ทั้งนี้ การวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีแนวทางปฏิบัติในรายละเอียดที่ชัดเจนว่าการวิจารณ์แบบใดทำได้หรือทำไม่ได้ และยังไม่มีตัวอย่างความผิด เพราะการห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ พึ่งมีขึ้นครั้งแรกใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และใช้บังคับในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 หรือประมาณ 1 ปีเท่านั้นเอง