ส.ว.ประชุมลับ เห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ 4 คน ไม่เห็นชอบ 1 คนตัวแทนศาลปกครองสูงสุด

11 กุมภาพันธ์ 2563 วุฒิสภามีมติเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับเสนอตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ) ได้ขอเลื่อนการพิจารณาคุณสมบัติมากถึง 4 ครั้ง นับจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 162 วัน สุดท้ายแล้ววุฒิสภามีมติเห็นชอบว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 4 จาก 5 คน คนที่ไม่ได้รับการเห็นชอบคือ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตัวแทนจากศาลปกครองสูงสุด

 

วุฒิสภาเห็นชอบว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 จาก 5 คน

ที่ประชุมวุฒิสภา มีนัดประชุมในวาระ ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ตามมาตรา 12 วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561) โดยมีผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมดห้าคน ได้แก่

1. ผู้ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) ของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 3 คน คือ

  • อุดม สิทธิวิรัชธรรม ผู้พิพากษาศาลฎีกา เสียงข้างมากเห็นชอบ 216 คะแนน ไม่เห็นชอบ 3 คะแนน ไม่ออกเสียง 0 คะแนน
  • วิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาศาลฎีกา เสียงข้างมากเห็นชอบ 216 คะแนน ไม่เห็นชอบ 3 คะแนน ไม่ออกเสียง 0 คะแนน
  • จิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เสียงข้างมากเห็นชอบ 217 คะแนน ไม่เห็นชอบ 2 คะแนน ไม่ออกเสียง 0 คะแนน

2. ผู้ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) ของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 1 คน คือ

  • ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด เสียงข้างมากไม่เห็นชอบ 139 เสียง เห็นชอบ 52 คะแนน ไม่ออกเสียง 28 คะแนน 

3. ผู้ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (5) ของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 1 คน คือ

  • นภดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงต่างประเทศ เสียงข้างมากเห็นชอบ 203 คะแนน ไม่เห็นชอบ 12 คะแนน ไม่ออกเสียง 4 คะแนน

สุดท้ายแล้วถือว่าวุฒิสภามีมติเห็นชอบว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 4 จาก 5 คน คนที่ไม่ได้รับการเห็นชอบคือ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตัวแทนจากศาลปกครองสูงสุด

 

วุฒิสภาเลื่อนพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ 4 ครั้ง รวมกว่า 160 วัน

การพิจารณาคุณสมบัติผู้ได้รับเลือกเป็นศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน เริ่มตั้งแต่การประชุมวุฒิสภา 2 กันยายน 2562 โดยที่ประชุมได้มีมติตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ กำหนดเวลาปฏิบัติงานภายใน 45 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภามีมติตั้ง กมธ.ดังกล่าว ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 16 ตุลาคม 2562 แต่ทว่าวุฒิสภาได้ขยายเวลาออกไปถึง 4 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขอขยายเวลาในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 16 กันยายน 2562 เป็นเวลา 30 วัน
  • ครั้งที่ 2 กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขอขยายเวลาในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 20 ตุลาคม 2562 เป็นระยะเวลาอีก 30 วัน
  • ครั้งที่ 3 กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขอขยายเวลาในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 3 ธันวาคม 2562 เป็นเวลาอีก 30 วัน
  • ครั้งที่ 4 กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขอขยายเวลาในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 6 มกราคม 2563 เป็นเวลาอีก 15 วัน

ซึ่งกำหนดครบระยะเวลาในวันที่ 29 มกราคม 2563 และได้ดำเนินการแล้วเสร็จจนนัดประชุมลงมติในวันนี้ โดยได้ทำรายงานคุณสมบัติเป็นรายงานลับรายงานต่อวุฒิสภา

การขยายระยะเวลาการพิจารณาคุณสมบัติว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น กำหนดอยู่ในข้อที่ 105 วรรคสอง ของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 กำหนดให้การตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลต้องกระทําให้เสร็จครบทุกรายภายใน 60 วันนับแต่วันที่ตั้งกรรมาธิการสามัญ ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในกําหนดเวลาดังกล่าว กมธ.อาจขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน เว้นแต่จะมีกฎหมายกําหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น

แต่เนื่องจากการขอขยายเวลาของ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ เป็นการขอขยายเวลาเกินที่ข้อที่ 105 วรรคสองกำหนด คือ 90 วัน ดังนั้น ที่ประชุมจึงลงมติให้งดใช้ข้อบังคับ ข้อ 105 วรรคสอง เป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณีนี้ เพื่อให้ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขยายเวลาการพิจารณาได้ตามที่ต้องการ

 

ประธาน กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ยอมรับใช้เวลาพิจารณานาน แต่บอกเหตุผลไม่ได้

ในการประชุมวุฒิสภา ก่อนเข้าช่วงประชุมลับในการพิจารณาคุณสมบัติของว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้เปิดโอกาสให้ ส.ว.ได้สอบถามเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาหลังจาก พล.อ.อู้ด เบื้องบน ประธาน กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ รายงานการทำงานแล้วเสร็จ

วันชัย สอนสิริ ได้สอบถามว่า ในขั้นตอนการทำงานของ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ขอขยายระยะเวลามากถึง 4 ครั้งนั้น อยากจะให้ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ อธิบายเหตุผลว่าเหตุใดจึงใช้ระยะเวลายาวนานเช่นนี้

พล.อ.อู้ด เบื้องบน ประธาน กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ได้ตอบในประเด็นนี้ว่า การทำงานของ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ นั้นถูกจำกัดด้วยระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด แต่ในทางปฏิบัตินั้นต้องมีหน่วยตรวจสอบในเรื่องต่างๆ ตามที่ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ต้องการตรวจสอบในเชิงลึก ซึ่งในการตรวจสอบแต่ละครั้งเป็นการตรวจสอบในเรื่องลับ ซึ่งไม่สามารถพูดในที่นี้ได้

ขั้นตอนการตรวจสอบนั้น เมื่อได้รับข้อมูลประวัติมาแล้วทาง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ก็จะส่งรายละเอียดตามที่ต้องการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งระบุไปว่าเป็นเรื่องลับ ในกรณีที่เป็นเรื่องล่าช้านั้น เป็นเพราะระบบราชการของบ้านเรา ในการจัดเก็บเอกสารต่างๆ เป็นระบบเก่ารุ่นโบราณ จะหาแต่ละสิ่งได้จึงต้องใช้เวลา

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา ได้ให้ความเห็นว่า กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ควรจะอธิบายเหตุผลในการใช้ระยะเวลาได้ดีกว่านี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้การทำงานของวุฒิสภาซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และทำให้ประชาชนเห็นกระบวนการทำงานที่เข้มข้นที่จะตรวจสอบคุณสมบัติของคนที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

เสรี สุวรรณภานนท์ ได้อภิปรายว่า ในการตรวจสอบประวัติของ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ นั้น เข้าใจว่าการตรวจสอบนั้นมีความเข้มข้น จึงต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานออกไป หากการใช้เวลาที่มากขึ้น ทำให้การตรวจสอบนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ ผมก็ขอขอบคุณ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ที่ทำงานอย่างเต็มที่

 

ส.ว.กังวล แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงตามคุณสมบัติ

ในการลงมติเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นหลัง พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ถามว่า การเห็นชอบตุลาการทั้ง 5 คน ของ ส.ว. จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด นั่นก็คือ ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ที่ปัจจุบันมี 2 คน แต่กฎหมายกำหนดให้มีคนเดียว ดังนั้น พล.อ.ต.เฉลิมชัยจึงถามต่อว่า ถ้าให้ลดผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์โดยให้กรรมการย้าย ปัญญา อุดชาชน (อดีตเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ) ไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากสายอาชีพราชการแทนได้หรือไม่

ด้าน นัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ตอบว่า ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติฯ ส่วนพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ตอบเสริมว่า กรรมาธิการไม่มีอำนาจในการรับผิดชอบเรื่องนี้จึงไม่อนุญาตให้ถาม แต่การแก้ปัญหานี้เป็นปัญหาในข้อกฎหมาย ต้องแก้ตั้งแต่การร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งตอนนี้ก็สายไปเสียแล้วที่จะแก้ไข และเห็นว่าหากขัดกับรัฐธรรมนูญแต่แรก กรรมการสรรหาซึ่งเป็นด่านแรกต้องไม่ทำการสรรหาแล้ว แต่พอกรรมการสรรหาทำการสรรหามาแล้ว ผมก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ สุดท้ายแล้วปัญหาในข้อกฎหมายก็ทำให้ภาระตกมาที่ประธานวุฒิสภาอย่างผม

สมชาย แสวงการ อดีตวิป สนช. ผู้แปรญัตติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนอยู่ต่อ อภิปรายต่อว่า ปัญญา อุดชาชน อาจจะเข้ามาตรา 8 วรรค 1 (5) ได้ เนื่องจากมีตำแหน่งเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะเข้าใจว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านรัฐศาสตร์ ตามมาตรา 8 วรรค 1 (4) แต่ท่านจบรัฐศาสตร์ในปริญญาตรี แต่ท่านได้จบปริญญาเอก ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วด้วย ซึ่งไม่น่ามีปัญหาด้านคุณสมบัติ

พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม กล่าวว่า เคยเป็นกรรมาธิการร่าง พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เขียนแก้ไขปัญหานี้ไว้แล้วใน มาตรา 80 วรรค 4 ให้ศาล รธน. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อน ให้กรรมาธิการสรรหาเลือกว่าคนพวกนั้นจะอยู่ในประการใด

สุดท้าย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้ประกาศว่าหากไม่มีการอภิปรายใดใดแล้ว ตามระเบียบข้อที่ 112 วรรค 2 คณะกรรมาธิการสามัญร้องขอให้ประชุมสภาประชุมลับ และอนุญาตให้ประชุมลับจึงปิดการถ่ายทอดสด

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์