“กฎหมายตก–ถูกถอดถอน–ตัดสิทธิการเมือง–คดีอาญา” ย้อนสี่บรรทัดฐานการเมืองไทย กรณีเสียบบัตรแทนกัน

กรณีเสียบบัตรแทนกันของ ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จังหวัดพัทลุง ที่ออกมายอมรับว่าไม่ได้อยู่ประชุมสภา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 แต่มีชื่อว่าลงคะแนนโหวต วาระ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. …. นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยคลิปจาก ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่ ส.ส. คนเดียวเสียบบัตรลงคะแนนซ้ำเกินหนึ่งใบ ทำให้เกิดข้อสงสัยต่างๆ นานาว่าผลของการกดโหวตแทนกันจะนำไปสู่อะไรบ้าง

จากนี้ไปคือสี่บรรทัดฐานทางกฎหมายที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 กรณีเสียบบัตรแทนคนอื่นในการโหวตกฎหมายสองฉบับของ นริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย

-01

 

ร่างกฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะการออกเสียงไม่สุจริต

การเมืองไทยในปี 2556 – ต้นปี 2557 นับว่าเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อพรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. เพื่อดันเมกะโปรเจกต์ยกระดับประเทศด้วยการกู้เงินถึง 2 ล้านล้านบาท และการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ส่งผลให้การเมืองไทยต้องร้อนระอุ เมื่อ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึง ส.ว. ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการสรรหา ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายสองฉบับว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยหนึ่งประเด็นสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.หยิบยกมาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือการกระทำของนริศร ทองธิราช ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่กดบัตรลงคะแนนแทน ส.ส. คนอื่น ว่ามีส่วนทำให้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผลคำตัดสินคือ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการเสียบบัตรแทนกันทําให้การออกเสียงลงคะแนนของ ส.ส. ในการประชุมพิจารณานั้นเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อกระบวนการออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่างกฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่ามติของ ส.ส. ในกระบวนการตราร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างกฎหมายที่ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเหตุผลประกอบคือ

1) การกระทําดังกล่าวเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 122

2) ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ ส.ส. ได้ปฏิญาณตนไว้ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 123

3) ขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 126 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนน

 

ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส.ส.

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับตกไป เนื่องจากการเสียบบัตรและลงคะแนนแทนกัน ไม่นานหลังจากนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ถูกรัฐประหาร 22 พฤกษาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แน่นอนมีการยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) ทิ้งไป ตามมาด้วยการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ามาทำหน้าที่แทน จะเห็นว่านอกจาก สนช. ชุดนี้จะมีอำนาจออกกฎหมายแล้ว พวกเขายังมีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

อย่างไรก็ตามผลจากการเสียบบัตรแทนผู้อื่นของ นริศร ทองธิราศ ส่งผลให้เขาถูก ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ สนช. พิจารณาถอดถอน ถึงแม้ว่าขณะนั้นไม่ได้เป็น ส.ส. แล้ว โดยวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ที่ประชุม สนช. ลงมติถอดถอนนริศร จากกรณีใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่น ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ถอดถอน 220 เสียง ไม่ถอดถอน 1 เสียง ไม่ออกเสียง 2 เสียง ส่งผลให้เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

 

ถูกตัดสิทธิทางการเมือง

การเสียบบัตรแทนผู้อื่นของนริศร ทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แม้อาจจะดูไม่เป็นธรรมนักที่ให้ สนช. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เป็นผู้ถอดถอน แต่ สนช.ก็อ้างว่าเป็นการทำหน้าที่แทน ส.ว. อย่างไรก็ตามการเสียบบัตรแทนกันในกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ผู้ที่เสียบบัตรแทนครั้งนี้จะไม่ได้ถูกถอดถอนโดยสภาเช่นครั้งก่อนแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ให้อำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้กับสภา แต่ให้อำนาจถอดถอนกับศาลฎีกาแทน

สำหรับกรณีการเสียบบัตรแทนกันอาจพิจารณาได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตาม ข้อ 8 ที่ว่าด้วยการ “ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ”

ซึ่งรัฐธรรมนูญ ม. 235 กำหนดว่า หากบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีความเห็นต่อผู้กระทำผิดทางจริยธรรม ถ้าหากผลการไต่สวนพบว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดตามมาตรฐานทางจริยธรรม ป.ป.ช.ก็จะดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลฎีกา หากศาลฎีการับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และถ้าหากศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิดจริง ต้องหยุดทำหน้าที่ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิการรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี

 

ถูกดำเนินคดีอาญา

กระบวนการเอาผิดกับการเสียบบัตรแทนกันจะจบลงที่การถูกดำเนินคดีทางอาญา ในกรณีของนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 อัยการสูงสุดเพิ่งมายื่นฟ้องนริศร ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ม. 123/1 ซึ่งหากศาลฎีกาตัดสินว่านริศรทำผิด เขาอาจจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับสูงสุด 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แม้ วิษณุ เครืองาม จะหาพยายามทางออกกรณีการเสียบบัตรแทนกันในการโหวต ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่าอาจมีความแตกต่างจากในอดีต แต่คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าการเสียบบัตรแทนกันเป็นการออกเสียงที่ทุจริต ทำให้กระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายก็ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน 

ประเด็นนี้มีนักวิชาการหลายคนเคยเตือนตั้งแต่ปี 2556 ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยกรณีของนริศร หนึ่งในนั้นคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมุมมองของนักวิชาการคือ ถ้ากระบวนการลงมติมีข้อบกพร่องก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการลงมติที่จบไปแล้ว คะแนนเสียงที่เสียบบัตรแทนกันก็สามารถหักออกไปได้ ดังนั้นการเสียบบัตรแทนกันจะมาล้มร่างกฎหมายที่ผ่านสภาไปแล้วไม่ได้ ถ้ามีการเสียบบัตรแทนกันจริงก็แค่ต้องไปลงโทษคนที่เสียบบัตรแทน ไม่ใช่มาล้มร่างกฎหมายนั้นๆ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเสียบบัตรแทนกันทำให้ร่างกฎหมายต้องคว่ำไป จะเป็นการเปิดช่องให้แกล้งกันในทางการเมืองได้ เช่น หากเสียงข้างน้อยในสภาโหวตเท่าไหร่ก็ไม่ชนะสักที ก็อาจจะใช้การเสียบบัตรแทนกันเพื่อทำลายมติคว่ำร่างกฎหมายนั้นไปได้  

สำหรับ ส.ส. ที่เสียบบัตรแทนกันถ้าเราใช้บรรทัดฐานทางกฎหมายเดียวกัน แน่นอนว่าคนที่เสียบบัตรแทนผู้อื่นจากการโหวต ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 จะต้องได้รับผลคือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และถูกดำเนินคดีอาญาจากกระทำเช่นเดียวกับ นริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”