วงเสวนาชี้ ยุบพรรคการเมืองคือการทำลายเสียงประชาชน

8 มกราคม 2563 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีวงเสวนาในหัวข้อ “พรรคการเมืองกับอนาตประชาธิปไตย” ที่ว่าด้วยความสำคัญของสถาบันพรรคการเมือง ปมปัญหาของรัฐธรรมนูญ และบทบาทขององค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งส่งผลต่ออนาคตประชาธิปไตยไทย

โดยวิทยากรประกอบไปด้วย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.โคทม อารียา อดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมและตัวแทนเครือข่าย People Go

 

การยุบพรรคการเมือง คือ การทำลายเสียงของประชาชน

สุภาภรณ์ มาลัยลอย กล่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในขบวนการภาคประชาชน จากการต่อสู้บนท้องถนนได้เปลี่ยนไปสู่การทำงานในสภา คนที่ทำงานในประเด็นปัญหาต่างๆ บางคนก้าวสู่การลงสมัครเป็น ส.ส. บางคนก้าวเข้าไปสู่การทำงานกับพรรคการเมือง ดังนั้น กลไกอย่างการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และ ส.ส. จึงเป็นพื้นที่ให้กับภาคประชาชน

เมื่อมีการเลือกตั้ง ภาคประชาชนตื่นเต้นกับการเลือกตั้ง และตื่นตัวในการตรวจสอบว่า พรรคการเมืองได้ทำตามนโยบายหรือสิ่งที่ตนได้หาเสียงไว้หรือไม่ หรือตัวแทนของพื้นที่ต่างๆ ที่เข้าไป ได้ทำหน้าที่หรือเปล่า ดังนั้น สภาจึงมีบทบาทในการเป็นที่พึ่ง มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ หรือการแก้ไขปรับปรุงปัญหาเชิงโครงสร้าง

สุภาภรณ์ยกตัวอย่างของบทบาทสภาในการทำหน้าที่ตรวจสอบแทนภาคประชาชน อาทิ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อีอีซี” โครงการดังกล่าวถูกริเริ่มมาในยุค คสช. ซึ่งในตอนนั้น แม้ว่า ภาคประชาชนจะพยายามคัดค้านตรวจสอบอย่างไรก็ไม่เกิดผล แต่เมื่อมีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง สภามีการทำงานกดดัน มีความพยายามตั้งคณะทำงาน คณะกรรมาธิการเข้าไปตรวจสอบ แม้จะตั้งคณะกรรมาธิการไม่สำเร็จ แต่ก็พยายามตั้งอนุกรรมการขึ้นมาแทน

ดังนั้น หากมีการยุบพรรคการเมืองที่ประชาชนลงคะแนนเลือกเข้ามา ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล อีกนัยหนึ่งก็คือการทำให้เสียงของประชาชนขาดหายไป ประชาชนไม่มีช่องทางหรือเครื่องมือในการนำเสียงเข้าสู่สภา เมื่อไม่มีพรรคการเมือง เส้นทางการเข้าไปมีส่วนร่วมอาจจะถูกทำลายไปพร้อมกับพรรคการเมือง 

 

ยุบพรรค คือ ปฏิบัติการทางการเมืองของชนชั้นนำ  

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า ปัญหาของสังคมไทยเป็นปัญหาเรื่องการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ ดังนั้น การมองบทบาทของตุลาการกับพรรคการเมืองหรือประชาธิปไตยต้องมองให้เห็นกระบวนการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจผ่านสถาบันตุลาการ

โดยกรอบที่จะใช้ในการมองเป็นงานการศึกษาจากต่างประเทศของ Ran Hirsch ที่วิเคราะห์บทบาทของสถาบันตุลาการว่า ในสังคมที่ชนชั้นนำทางการเมืองสามารถยึดกุมอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐสภาได้ อำนาจตุลาการจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางการเมือง แต่ถ้าเมื่อใดที่ชนชั้นนำไม่สามารถยึดกุมอำนาจจากการเลือกตั้งได้ สถาบันตุลาการจะกลายเป็นเครืองมือของชนชั้นนำ ในฐานะที่ตั้งชื่อให้ว่า เป็น “ผู้ธำรงอำนาจนำดั้งเดิม”

ภายใต้กรอบดังกล่าว รศ.สมชายชี้ให้เห็นว่า ก่อนการรัฐประหาร ปี 2549 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 สถาบันตุลาการไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางการเมือง แต่หลังการรัฐประหารในปี 2549 เราเห็นนัยสำคัญมากขึ้น เช่น คดียุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือคดีถอดถอนสมัคร สุนทรเวช จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากชนชั้นนำกำลังสูญเสียอำนาจโดยมีคู่ขัดแย้งเป็นพรรคไทยรักไทยของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่เข้ามาเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์การเมืองไทย และกลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่ชนชั้นนำเริ่มจะคุมไม่ได้

รศ.สมชายกล่าวว่า ในช่วงหลังปี 2549 บทบาทของสถาบันตุลาการมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ พรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมาก ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งถูกยื่นยุบพรรคเหมือนกันกลับหลุดรอดมาได้ด้วยปมปัญหาทางเทคนิคที่ กกต. ยื่นคำร้องไม่ทันตามเวลาที่กำหนด

จนกระทั่งในปี 2560 เป็นต้นมา เป้าหมายทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปเพราะตัวชนชั้นนำเองสามารถกุมอำนาจจากการเลือกตั้งได้พอสมควร ทำให้เป้าหมายเปลี่ยนจากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากเป็นพรรคที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจของชนชั้นนำ ยกตัวอย่าง การเสนอยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นเพราะข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่เข้าไปกระทบผลประโยชน์ของชนชั้นนำ เช่น การยกเลิกเกณฑ์ทหารแบบบังคับ การตัดงบประมาณกองทัพ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี รศ.สมชายมองว่า การยุบพรรคการเมืองไม่ทำให้การจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ประชาชนต้องการขาดหายไป ดังที่เราเคยมีบทเรียนมาแล้วว่า เมื่อพรรคหนึ่งถูกยุบก็สามารถตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาได้ ต่อให้ยุบพรรคอนาคตใหม่การจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองก็ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่อยู่ดี และองค์กรที่ใช้อำนาจที่ส่งผลทางการเมืองต้องถูกปฏิรูปให้อยู่กับร่องกับรอย

 

หากศาลจะยุบพรรคต้องมีความผิดที่ชัดเจน

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ถ้าไม่มีการรวมตัวหรือรวมกลุ่มกันเป็นพรรคการเมือง คงเป็นการยากที่จะคาดเดาตัวบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือนโยบายรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองมีหน้าที่เสนอตัวผู้สมัคร ส.ส. ควบคู่ไปกับการเสนอนโยบาย และพรรคที่ได้เสียงข้างมากก็จะได้จัดตั้งรัฐบาล 

ดังนั้น พรรคการเมือง คือ เครื่องมือในการสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองจากประชาชน ทุกคนที่มีอุดมการณ์และนโยบายสามารถรวมตัวกันแล้วขับเคลื่อนผ่านพรรคการเมือง ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญจึงต้องประกันเสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง

แต่ภายใต้กฎกติกาการเลือกตั้งที่ออกแบบโดย คสช. อาทิ ระบบการเลือกตั้ง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่สอบตกกับผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากระบบเลือกตั้งเอาคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไปเป็นฐานคำนวณที่นั่ง ส.ส. ซึ่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อค่อนข้างจะสบายกว่าในการหาเสียง ในขณะเดียวก็ยังทำให้เสถียรภาพทางการเมืองย่ำแย่ เนื่องจากมีพรรคการเมืองจำนวนมากในสภา แต่รัฐบาลมีเสียงเพียงแค่ “ปริ่มน้ำ” พรรครัฐบาลไม่ได้มีเอกภาพในการบริหาร แถมยังมี ‘งูเห่า’ ทางการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง

ปัญหาสำคัญอีกประการ คือ การยุบบพรรคการเมือง ซึ่ง ผศ.ดร.ปริญญา มองว่า ข้อหาที่ใช้ในการยุบพรรคการเมืองเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจของสถาบันตุลาการมากจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (2) ที่ใช้คำว่า “อาจจะ” เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการใช้คำว่า “อาจจะ” ยังไม่เพียงพอต่อการยุบพรรค หากเป็นกรณีอาจจะเป็นปฏิปักษ์ ศาลมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำนั้นตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ก็เพียงพอแล้ว 

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวต่อว่า ส่วนกรณีของพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังเป็นกรณีศึกษาขณะนี้ มีสองเรื่องคือ ปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองก็เป็นตามที่ตนได้พูดไปแล้ว และเรื่องเงินกู้ ซึ่งตนยังกังขาว่าเป็นเหตุให้นำไปสู่การยุบพรรคได้ด้วยหรือ เพราะใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ไม่มีการระบุว่าเงินกู้เป็นรายได้ของพรรคการเมืองได้ แต่ทั้งนี้ การบอกว่าเงินกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายถือว่าเป็นการไปไกลเกินไป เพราะหลักกฎหมายมหาชนมีอยู่ชัด ว่าถ้าเป็นองค์กรของรัฐ สิ่งใดที่กฎหมายไม่ให้อำนาจไว้จะทำไม่ได้ แต่ระหว่างประชาชนด้วยกันต้องใช้กฎหมายแพ่ง ถ้าสิ่งไหนกฎหมายไม่ห้ามเอาไว้ย่อมทำได้ พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล เป็นการรวมตัวกันของพลเมือง ตามหลักกฎหมายแพ่งการไม่ห้ามแปลว่าทำได้ หลักมีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ปริญญาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่เป็นปฏิกิริยาที่ตอบโต้กลุ่มอำนาจเก่าที่อยู่ในอำนาจนานเกินไป หากกลุ่มอำนาจเก่าทำตามสัญญาและใช้เวลาไม่นานอย่างที่บอกกล่าว พรรคอนาคตใหม่คงไม่เกิดขึ้นมา ดังนั้น การต่อสู้ทางการเมืองควรอยู่ในสภา และในทางกลับกันควรส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองที่หลากหลาย เพิ่มช่องทางให้ภาคประชาชนที่มีความหลากหลายได้นำประเด็นเข้าสู่สภา 

 

รัฐธรรมนูญกีดกันคนเห็นต่าง ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

รศ.โคทม อารียา กล่าวว่า ในอดีตเราเคยกลัวว่า พรรคการเมืองจะถูกครอบงำโดยอำนาจธนาธิปไตย หรือคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจเงินเยอะๆ ต่อมาระบอบประชาธิปไตยมีนามสกุล ทำให้อะไรก็ตามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่จงรักภักดี ก็จะถูกยุบ ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ยอมให้มีคนที่เห็นต่างทางการเมือง

รศ.โคทมมองว่า การยุบพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ควรเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กว้าง ควรให้โอกาสการต่อสู้ทางความคิด ทางนโยบาย แล้วให้ประชาชนเป็นผู้เลือกหรือตัดสินใจ ถ้าเราใช้การยุบพรรคการเมืองเรื่องนี้จะไม่จบง่ายๆ และจะเป็นการผลักให้คนกลุ่มหนึ่งออกไปจากรัฐสภาทั้งที่การต่อสู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยควรเกิดขึ้นที่นั่น 

รศ.โคทมกล่าวทิ้งท้ายว่า ปมปัญหาทางการเมืองส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยาก เพราะมีเงื่อนไขว่า ต้องได้เสียงจาก ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ถึงหนึ่งในสาม และต้องใช้เสียงจาก ส.ส.ฝ่ายค้านอีกอย่างน้อยยี่สิบเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน ถ้าเสียงประชาชนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องก็ควรจะคล้อยตามเจตจำนงของประชาชน

นอกจากนี้  รศ.โคทมยังกล่าวถึงคดีเงินกู้ โดยระบุว่าในความเห็นของตน เงินกู้ไม่ใช่รายได้เด็ดขาด เพราะเป็นเงินที่ต้องคืน ตนเคยไปตรวจสอบมาว่ามีพรรคการเมืองไหนที่กู้เงินเขามาบ้างหรือไม่ ตนก็ตรวจสอบเจอว่ามีหลายพรรค กู้มาก็ต้องคืน บังเอิญจำนวนกู้ไม่เท่ากัน แต่ถ้าพรรคอนาคตใหม่ผิด พรรคอื่นๆ ก็น่าจะต้องผิดด้วย

 

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ