เปิดรายชื่อ และคุณสมบัติ 595 คนที่ “เข้ารอบสุดท้าย” เพื่อถูกเลือกเป็น ส.ว.

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 เพื่อขอทราบข้อมูลและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 รวมทั้งรายชื่อผู้ที่ "เข้ารอบสุดท้าย" ก่อนถูกคัดเลือกโดย คสช. ระยะเวลาผ่านไปนานกว่า 7 เดือน จนกระทั่งมีการประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา ชุดพิเศษ 250 คน รวมทั้งรายชื่อสำรองออกมา และทั้ง 250 คน ก็เข้าทำหน้าที่ไปเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จึงเพิ่งถูกเปิดเผย
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการให้ได้มาซึ่งรายชื่อคนที่จะถูกเสนอ "เข้ารอบสุดท้าย" 200 คน เพื่อเสนอให้ คสช. คัดเหลือ 50 คน และให้คณะกรรมการสรรหา คัดเลือกบุคคลไม่เกิน 400 คนที่จะถูกเสนอ "เข้ารอบสุดท้าย" เพื่อเสนอให้ คสช. คัดเหลือ 194 คน และรายชื่อสำรองอีก 50 คน โดยบัญชีรายชื่อทั้งสองชุดต้องเสนอให้ คสช. ก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มีนาคม 2562 ไอลอว์จึงเรียกร้องเพื่อขอให้เปิดเผยรายชื่อ "รอบสุดท้าย" ทั้งสองบัญชี
เมื่อได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องมาแล้วก็พบว่า สำหรับรายชื่อผู้เข้ารอบสุดท้ายที่มาจากคณะกรรมการสรรหา มีรายชื่อบุคคล 395 คน ไม่ได้เสนอเต็มตามที่กำหนดไว้ไม่เกิน 400 คน ส่วนบัญชีรายชื่อที่มาจาก กกต. นั้นครบ 200 คน พอดี จึงมีรายชื่อที่เข้ารอบสุดท้ายรวมทั้งหมด 595 คน
รายชื่อจาก กกต. ไม่บอกคุณสมบัติว่า ใครเป็นใคร
เอกสารรายชื่อ 200 คน ที่ กกต. ส่งให้กับ คสช. ลงวันที่ 3 มกราคม 2562 ระบุว่า รายชื่อทั้งหมดนี้ คือ ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัคร โดย กกต. แบ่งวิธีการสมัครเป็นสองประเภท คือ 1. ประเภทวิธีการสมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง และ 2. วิธีการสมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมแสดงหนังสือแนะนำชื่อผู้สมัครจากองค์กร ในแต่ละประเภทได้แยกออกเป็นสิบกลุ่ม กลุ่มละ 10 รายชื่อเท่ากัน แต่ไม่ได้อธิบายมาในเอกสารนี้ด้วยว่า แต่ละกลุ่มนั้นมีความหมายอย่างไร และมีหลักเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มอย่างไร
รายชื่อถูกจัดเรียงในตารางลักษณะเดียวกัน โดยไม่มีคำอธิบายรายละเอียดที่บอกคุณสมบัติของผู้ที่เข้ารอบสุดท้ายว่า เป็นใครมาจากไหน ประกอบอาชีพใดจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มต่างๆ และมีประสบการณ์การทำงานอย่างไรจึงผ่านการคัดเลือกเข้ามาได้ โดยมีเพียงสองรายชื่อที่ในช่องหมายเหตุมีข้อมูลระบุว่า มีเรื่องร้องคัดค้าน
เอกสารหน้าสุดท้าย ทาง กกต. ยังได้ส่งข้อมูลว่า สองรายชื่อที่มีเรื่องร้องคัดค้าน ได้แก่ นายพงศ์พันธ์ สินผดุง ซึ่งมีข้อกล่าวหาว่า มีคุณสมบัติไม่ตรงตามเจตนาของกลุ่ม แต่รายชื่อนี้ถูกจัดอยู่ในประเภทยื่นใบสมัครตนเอง โดยไม่ได้มีหนังสือแนะนำจากองค์กร อีกรายชื่อหนึ่ง คือ เติมศักดิ์ บุญชื่น ข้อกล่าวหา คือ โทรมาสัญญาว่าจะให้เงินหรือตำแหน่งที่ปรึกษาหรือกรรมการ
รายชื่อจากคณะกรรมการสรรหา เห็นชัด เลือกหยิบคนกันเองกลับมานั่งต่อ
คณะกรรมการสรรหา ที่นำโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน และมีวิษณุ เครืองาม เป็นเลขานุการ ออกรายงานการประชุมเกี่ยวกับการเสนอชื่อที่ระบุวิธีการเสนอรายชื่อว่า ให้กรรมการแต่ละคน ซึ่งมีอยู่ 9 คน เสนอชื่อคนละไม่น้อยกว่า 40 รายชื่อ จากผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่เข้าคุณสมบัติต้องห้าม ซึ่งเป็นที่มาของบัญชีที่ปรากฏยอดรวมทั้งหมดแล้วเป็น 395 รายชื่อ
หลักเกณฑ์การเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อ ในรายงานการประชุมระบุว่า ควรพิจารณาจากรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ, กรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ, คณะรัฐมนตรี ซึ่งองค์กรต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นองค์กรที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมาทำงานภายใต้ยุคของการรัฐประหาร หรือเรียกได้ว่า เป็น "คนกันเอง" ทั้งสิ้น แต่ก็ยังระบุขอบเขตเพิ่มเติมให้เสนอรายชื่อจาก ผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการวิชาการ องค์กรธุรกิจภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ด้วย
จากข้อมูลในช่อง "ประวัติสำคัญ" ของรายชื่อผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 395 คน จะเห็นว่า มีคนที่ถูกระบุว่า เป็นอดีต สนช. อย่างน้อย 110 คน ซึ่งสุดท้ายถูกคัดเลือกให้เป็น ส.ว. อย่างน้อย 89 คน อดีต สปท. อย่างน้อย 58 คน ซึ่งสุดท้ายถูกคัดเลือกให้เป็น ส.ว. อย่างน้อย 35 คน อดีต สปช. 18 คน อดีตรัฐมนตรี 38 คน และมีเจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานอยู่กับ คสช. อีกอย่างน้อย 5 คน เช่น พล.อ.นิวัตร มีนะโยธิน หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช. พล.อ.วสันต์ สุริยมงคล ที่ปรึกษา คสช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พล.ร.อ.อิทธิคมน์ ภมรสูต อดีตรองเลขาธิการ (ประจำ คสช.) ซึ่งจำนวนที่กล่าวมานี้ เป็นจำนวน "อย่างน้อย" ที่นับได้จากเอกสารเท่านั้น เพราะผู้เข้ารอบสุดท้ายหลายคนมีประวัติดำรงตำแหน่งหลายองค์กรและผู้ที่ทำหน้าที่กรอกประวัติใส่ลงในเอกสารอาจจะเลือกเขียนประวัติบางส่วน ไม่ได้ใส่ให้ครบถ้วนทุกตำแหน่งของทุกคน 
อดีตข้าราชการถูกเสนอมากที่สุด 
ในช่อง "ประวัติสำคัญ" ของผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 395 คน ระบุว่า มีผู้ที่เป็นอดีตข้าราชการ มากที่สุด ถึง 136 คน ซึ่งในจำนวนนี้ไม่ได้นับผู้ที่มียศทหารและตำรวจทุกคนเป็นอดีตข้าราชการ จะนับเฉพาะคนที่ถูกกรอกตำแหน่งเป็นข้าราชการต่างๆ เท่านั้น โดยมีคนที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มากมาย เช่น อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม อดีตกระทรวงสาธารณสุข อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจ ป.ป.ส. อดีตอธิบดีกรมขนส่งทางบก อดีตอธิบดีกรมชลประทาน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาล ฯลฯ 
นอกจากจำนวนที่กล่าวมาแล้วยังมีอดีตผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบ เข้ารอบสุดท้าย อย่างน้อย 4 คน ยังไม่รวมดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง มีอดีตทูต 4 คน มีนักวิชาการและผู้บริหารมหาวิทยาลัย 7 คน มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 คน ที่น่าแปลกใจ คือ มีผู้ที่ทำงานใน "องค์กรอิสระ" ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็น ส.ว. ถึงอย่างน้อย 7 คน เช่น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น, ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น, ประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น, ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธาน ป.ป.ช., ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน, กล้าณรงค์ จันทิก อดีต ป.ป.ช. เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อนับจากข้อมูลตามตารางที่ได้รับมา พบว่า ยังมีผู้ถูกเสนอชื่อเข้ารอบสุดท้ายที่เป็นอดีต ส.ว. 18 คน เป็นอดีตรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นอย่างน้อย 38 คน เป็นข้าราชการการเมือง เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี อย่างน้อย 16 คน เป็นสื่อมวลชน 5 คน และมีที่มาจากภาคเอกชน คือ นักธุรกิจอย่างน้อย 20 คน มาจากตำแหน่งนายกสมาคมต่างๆ อย่างน้อย 14 คน เช่น นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายกสมาคมแพทย์อุบัติเหตุ นายกสมาคมเครือข่ายชาวนา นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวภาคใต้ นายกสมาคมมหาวิทยาลัยมหิดล เลขาธิการสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนส เป็นต้น
ทหาร-ตำรวจ มาอื้อ ด้วยโควต้าด้าน "ความมั่นคง" 
จากรายชื่อผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 395 คน พบว่า มีคนที่มียศเป็นนายทหาร 109 คน มีคนที่มียศเป็นนายตำรวจ 27 คน และมีคนที่ไม่ได้มียศทหารหรือตำรวจ 259 คน นายทหารส่วนใหญ่ที่ถูกเสนอนั้นมียศระดับนายพล คือ พลเอก หรือพลเรือเอก หรือพลอากาศเอก ยกเว้น 9 คน ได้แก่ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ, ร.อ.ประยุทธ เสาวคนธ์, พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์, พล.ต.เอกชัย จันทร์ศรี, พล.ต.อนุศิษฐ์ ศุภธนิต, พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม, พล.ท.อำพน ชูประทุม, พล.ร.ท.สนธยา น้อยฉายา, พล.อ.ท.สมพงษ์ สาริยันต์, 
นอกจากประวัติสำคัญแล้ว ผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด ยังถูกระบุคุณสมบัติอยู่ในตารางหัวข้อ "ด้าน" ซึ่งน่าจะหมายความว่า บุคคลนั้นมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านใดบ้าง ซึ่งผู้เข้ารอบบางคนถูกระบุมากกว่าหนึ่งด้าน โดยจากเอกสารพบว่า ผู้เข้ารอบทั้งหมดถูกจัดแบ่งเป็นหลากหลายด้านมาก ดังนี้ 
ด้านความมั่นคง 119 คน 
ด้านการปกครอง 43 คน
ด้านเศรษฐกิจ/ธุรกิจ 41 คน 
ด้านสังคม 37 คน 
ด้านกฎหมาย 26 คน
ด้านการศึกษา 19 คน 
ด้านการต่างประเทศ 19 คน
ด้านสาธารณสุข 15 คน
ด้านรัฐศาสนประสานศาสตร์ 11 คน
ด้านงานสภา 10 คน
ด้านพลังงาน 7 คน
ด้านสื่อสารมวลชน 6 คน
ด้านคมนาคม 6 คน
ด้านงบประมาณ 6 คน
ด้านกีฬา 5 คน
ด้านแรงงาน 4 คน
ด้านการคลัง 4 คน
ด้านระเบียบราชการ 4 คน
ด้านอุสาหกรรม และนวัตกรรม 4 คน
ด้านเทคโนโลยี 4 คน
ด้านประชาสัมพันธ์ 3 คน
ด้านสิ่งแวดล้อม 3 คน 
ด้านต่อต้านการทุจริต 3 คน 
ด้านโซเชียลมีเดีย 1 คน
ด้านการพัฒนา 1 คน
ด้านการวิจัย 1 คน
ไม่มีด้าน 1 คน
จะเห็นว่า จากผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด เป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อในโควต้าด้านความมั่นคงสูงที่สุด ซึ่งมีทั้งทหารและตำรวจ ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่ได้มีข้อมูลในช่องประวัติสำคัญหลายตำแหน่งนัก เช่น เป็นสมาชิก สนช. อย่างเดียว หรือ เป็นอดีตผู้บัญชาการหน่วยงานต่างๆ ในกองทัพ ก็จะถูกระบุว่า เป็นด้านความมั่นคงด้วย
ข้อสังเกต คือ การแบ่ง "ด้าน" นั้นมีความหลากหลายมาก และค่อนข้างไม่แน่นอน เช่น คนที่มียศทหารทุกคนก็ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในด้านความมั่นคง และหลายคนมีด้านพิเศษเพิ่มขึ้นมาตามความเชี่ยวชาญ เช่น พล.อ.ไตรโรจน์ ครุธเวโช ถูกระบุว่า เป็นด้านสาธารณสุข พล.อ.ฉัตรชัย สารกัลยะ ถูกระบุว่า เป็นด้านความมั่นคง เกษตร และเศรษฐกิจ ถึงสามด้านในคนเดียว ผู้ถูกเสนอชื่อบางคนถูกระบุว่า เคยเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศหรือ สปท. ด้านใดด้านหนึ่ง แต่เมื่อถูกเสนอชื่อเป็น ส.ว. กลับถูกระบุเป็นอีกด้านหนึ่ง เช่น ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตสปท.การศึกษา ถูกระบุว่า ด้านสาธารณสุข, พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ อดีตสปท.เศรษฐกิจ ถูกระบุว่า เป็นด้านการต่างประเทศ เป็นต้น 
นอกจากนี้ การกำหนดบุคคลให้เป็นด้านต่างๆ ยังไม่ได้มีหลักเกณฑ์ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด และไม่ได้มีข้อจำกัดว่า ผู้ถูกเสนอจะต้องเป็นตัวแทนของผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ด้านละกี่คน จึงเป็นการคิดค้นระบบ คำนิยาม และหลักเกณฑ์ขึ้นเองโดยคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อ และทีมงานระดับปฏิบัติที่จะจัดให้ผู้ถูกเสนอคนใดถูกระบุว่า เป็นด้านใด และในการตัดสินใจคัดเลือกผู้ที่ได้เป็น ส.ว. รอบสุดท้ายโดย คสช. ก็อาจจะไม่ได้ผูกพันกับการกำหนดด้านมากนัก
คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อตัวเอง รัฐมนตรี คสช. มาเต็ม
จากรายชื่อคณะกรรมการสรรหาทั้ง 10 คน พบว่า มี 8 คนที่ถูกเสนอชื่อให้เป็น ส.ว. ในรอบสุดท้ายด้วย ยกเว้นเพียงสองคนที่ไม่ถูกเสนอชื่อ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เลขานุการคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว. ก็ยังโผล่มีชื่อเป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบสุดท้ายด้วย 
คณะกรรมการสรรหา 6 คน ถูกเลือกกลับเข้าไปเป็น ส.ว. อีกครั้ง รวมทั้งพรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งลาออกจากตำแหน่งคณะกรรมการสรรหาไปก่อน แต่สุดท้ายกลับไปเป็นประธาน ส.ว. เอง ส่วนอีก 4 คนที่ไม่ได้เป็น ส.ว. เอง ก็คือ พล.อ.ประวิตร, สมคิด, วิษณุ และพล.อ.อนุพงษ์ ก็กลับมาเป็นรัฐมนตรีต่อทั้งหมด โดยสามคนแรกเป็นรองนายกรัฐมนตรี ส่วนพล.อ.อนุพงษ์ ก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อไป ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ต่างเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. และเสนอชื่อตัวเองกลับเข้ามา ได้รับตำแหน่ง ส.ว. ต่อเนื่อง ยังไม่หายหน้าไปไหน
นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ในขณะที่ทำการคัดเลือก ส.ว. อีกจำนวนมากที่ถูกเสนอชื่อเข้ามา เช่น ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ, และพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งสองคนได้เป็นรัฐมนตรีต่อ จึงไม่ได้เป็น ส.ว. แต่มีชื่อติดอยู่ในบัญชีสำรองด้วย รวมทั้งรัฐมนตรีอีก 11 คน ก็ถูกเลือกกลับมาเป็น ส.ว. ชุดพิเศษนั่งยาวอยู่ในสภาด้วย ได้แก่
สมชาย หาญหิรัญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
สุธี มากบุญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
วีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ
วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
อดีตรัฐมนตรีอีก 9 คน ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ในขณะที่ทำการคัดเลือก ส.ว. และถูกเสนอชื่อ "เข้ารอบสุดท้าย" แต่สุดท้ายที่ประชุมของ คสช. นำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่หยิบเลือกให้ไปต่อในตำแหน่ง ส.ว. ชุดพิเศษ ได้แก่
ชุติมา บุณยประภัศร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ลักษณ์ วจนานวัช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ศิริ จิระพงษ์พันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
โดยสรุปแล้ว จากผู้ที่เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในช่วงเวลา 5 ปี ภายใต้การปกครองของ คสช. ทั้งหมด 59 คน ถูกเสนอชื่อให้เข้ารอบสุดท้ายมา 33 คน และได้เป็น ส.ว. ต่อ 17 คน มีชื่ออยู่ในบัญชีสำรอง 3 คน
จ๊ะเอ๋! ยังมีชื่อบวรศักดิ์-สมคิด สาย 'น้องชาย' ยังปิ๋วไปอีกหลายคน
จากรายชื่อผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 395 คน พบว่า มีชื่อของบุคคลที่มีชื่อเสียงอยู่จำนวนมากที่เข้ารอบมาแต่ก็ไม่ถูก คสช. คัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 250 ส.ว. ชุดพิเศษ
กลินท์ สารสิน อดีตสปท. และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, เกรียงศักดิ์ แสงจันทร์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา, ดิสทัต โหตระกิตย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอดีต สนช., ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กรรมการปฏิรูปประเทศ, พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตสปท. อดีตรองนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, สุรางคณา วายุภาพ อดีต สนช. และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) รายชื่อเหล่านี้ถูกเสนอเข้ารอบสุดท้าย แต่ คสช. ไม่ได้หยิบเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว. และไม่มีรายชื่อติดในบัญชีรายชื่อสำรองด้วย
แม้ว่า ส.ว. ชุดนี้จะมี "น้องชาย" ของผู้มากบารมีทั้งหลายอยู่มากมาย เช่น พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, สัญชัย จุลมนต์ น้องชายของชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา, พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ์ น้องชายของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม น้องชายของวิษณุ เครืองาม รวมทั้งสม จาตุศรีพิทักษ์ พี่ชายของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แต่ในบัญชีรายชื่อก็ยังมี "น้องชาย" อยู่อีกหลายคน ที่ไม่ได้ถูกคัดเลือกเข้าเป็น 250 คนตัวจริง ได้แก่ ดุสิต เครืองาม อดีตสปท. และกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูป น้องชายอีกคนของวิษณุ เครืองาม, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีต สนช. น้องชายอีกคนของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, สมชัย ฤชุพันธุ์ อดีต สปท. น้องชายของมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นต้น
บุคคลสำคัญสำหรับหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกอย่างน้อยสองคนถูกเสนอชื่อเข้ารอบสุดท้ายด้วย คือ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดแรกภายใต้ คสช. ที่สุดท้ายร่างฉบับของเขาถูกโหวตคว่ำไป และ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตสมาชิก สนช. และอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ที่สุดท้ายร่างฉบับนี้ได้หยิบมาใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งทั้งสองคนก็ยังไม่ได้รับคัดเลือกโดย คสช. ให้ดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว. รวมทั้งไม่ติดในบัญชีสำรอง ส่วน วิชัย ทิตตภักดี หนึ่งในกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดของบวรศักดิ์ ได้รับคัดเลือกเป็นรายชื่อในบัญชีสำรอง
มีชัย ไม่ได้เป็นกรรมการสรรหา แต่โผล่แอบเสนอชื่อนักธุรกิจร้อยล้าน
แม้ว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ทั้ง 10 คน จะเต็มไปด้วยคนของ คสช. เอง และมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็เป็นหนึ่งในสมาชิก คสช. ด้วย แต่มีชัย ไม่ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นหน่ึงในคณะกรรมการสรรหาด้วย จึงไม่มีอำนาจและโอกาสที่จะได้คัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอให้ "เข้ารอบสุดท้าย" มีชัยมีอำนาจเพียงร่วมประชุมกับ คสช. เพื่อตัดสินใจเลือกคนที่จะได้เป็น ส.ว. จากรายชื่อที่เสนอมาเท่านั้น
แต่จากเอกสารที่ได้รับมา ในตารางรายชื่อผู้ที่เข้ารอบสุดท้าย ลำดับที่ 275 ศักดิ์ชัย ธนบุญชัย ปรากฏว่า มีวงเล็บไว้ว่า (คุณมีชัยเสนอ) ซึ่งเข้าใจได้ว่า น่าจะหมายถึง มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งเป็นบุคคลใน คสช. และใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจมากที่สุด ที่น่าจะมีโอกาสใช้อิทธิพลเสนอชื่อบุคคลเข้ามาได้ การเข้ามามีส่วนเสนอชื่อของมีชัยโดยไม่มีอำนาจแสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่ไม่โปร่งใสในการคัดเลือก ส.ว. แม้ว่า กระบวนการทั้งหมดจะแต่งตั้งพวกเดียวกันเอง เพื่อคัดเลือกพวกเดียวกันเองอยู่แล้ว แต่การที่มีบุคคลภายนอกกรรมการสรรหาร่วมเสนอด้วย ย่อมขัดต่อวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ชุดพิเศษที่เขียนไว้รัฐธรรมนูญ มาตรา 269 โดยตัวมีชัยเอง
ศักดิ์ชัย ธนบุญชัย สุดท้ายผ่านการคัดเลือกโดย คสช. และได้ดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว. จากข้อมูลในตารางระบุว่า ศักดิ์ชัย เป็นอดีต สนช. และอดีส.ว. เคยเป็น วิปฯ สนช. หรือคณะกรรมการประสานงานของสมาชิก สนช. ด้วย ปัจจุบัน ศักดิ์ชัย ยังเป็นนักธุรกิจ เป็นกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท ศิครินทร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการโรงพยาบาลศิครินทร์  
สำนักข่าวอิศรา เปิดข้อมูลทรัพย์สินของศักดิ์ชัย พบว่า ศักดิ์ชัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2539 (ยุคบรรหาร ศิลปอาชา) และได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ระบุว่ามีทรัพย์สิน 109,811,655.11 บาท ศักดิ์ชัยยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โรงงานทอผ้าใน อ.พระประแดง จ.สมุทรสาคร ชื่อ บริษัท เอส.เอ.เอส.เท็กซ์ไทล์ คอร์ปอเรชั่น เป็นกรรมการบริษัทที่เปิดดำเนินการ 8 แห่ง รวมทั้ง บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด ในจำนวนบริษัทที่ศักดิ์ชัย เป็นกรรมการ 4 แห่ง ใน 8 แห่ง คือ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) บริษัท มิลล์คอน บูรพา จำกัด บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ศิครินทร์ จำกัด (มหาชน) มี วิษณุ เครืองาม ร่วมเป็นกรรมการด้วย
ในช่วงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 มีข่าวระบุว่า กลุ่มทีซีซีของ "เสี่ยเบียร์ช้าง" เจริญ สิริวัฒนภักดี ทุ่มเงินหมื่นล้านเข้าซื้อกิจการ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ (SSC) หรือ PEPSI ผ่าน บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด ผู้ที่มีบทบาทในครั้งนั้นและมีชื่อเป็นกรรมการทั้งสองบริษัท คือ ศักดิ์ชัย
ประธาน กกต. ไม่เกี่ยว แต่โผล่ขอเสนอด้วย
อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และควรจะไม่เกี่ยวข้องกับ คสช. ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งอยู่ใน "องค์กรอิสระ" ที่สำคัญและทำหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้สมัคร ส.ว. จากระบบสมัครด้วยตัวเองและแบ่งกลุ่มกันคัดเลือก ก็ไม่ควรจะเกี่ยวข้องใดๆ กับการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่ง ส.ว. เลย ไม่ควรมีอำนาจหรืออิทธิพลที่จะเสนอหรือไม่เสนอชื่อของใครได้ด้วยตัวเอง
แต่จากเอกสารที่ได้รับมา ในตารางรายชื่อผู้ที่เข้ารอบสุดท้าย ลำดับที่ 235 ลือชา การณ์เมือง ปรากฏมีวงเล็บไว้ว่า (ประธาน กกต.เสนอ) ซึ่งยังไม่สามารถเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ว่า กกต. จะย่อมาจากอะไรนอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งและไม่สามารถเข้าใจถึงบุคคลอื่นได้ นอกจากตัวอิทธิพร บุญประคอง การที่มีคนจากองค์กรอิสระเข้ามาร่วมเสนอชื่อผู้ที่จะเป็น ส.ว. ด้วย ชัดเจนว่า ขัดต่อกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 และขัดต่อเจตนารมณ์การมีองค์กรอย่าง กกต. ที่ต้องเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสีย และทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกับผู้ที่เข้าสู่อำนาจในสภา
ลือชา การณ์เมือง ผ่านเข้ารอบสุดท้ายแต่ไม่ผ่านการคัดเลือกโดย คสช. ให้ได้เป็น ส.ว. แต่มีรายชื่อติดเป็นลำดับที่ 8 ของบัญชีสำรอง จากข้อมูลในตารางระบุว่า ลือชาเป็นซีอีโอของ SAL Group และอยู่ในด้าน "ธุรกิจ" เมื่อปี 2561 SAL Group เข้าทำสัญญากับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เพื่อให้บริการเช่าอุปกรณ์สำหรับงานภาคพื้นดิน ส่วนตัวของลือชา เคยมีข้อมูลปรากฏว่า เคยเป็นเลขาส่วนตัวของสุรินทร์ พิศสุวรรณ ด้วย
ไฟล์แนบ