ถอดบทเรียนทวงคืนผืนป่า : คนจนคือเหยื่อ-รัฐขาดมาตรฐาน-ทหารต้องออกไปจากการจัดการป่า

 
 
วันที่ 7 ธันวาคม 2562 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟจัดวงเสวนาเรื่อง “จากปารีณา 1,700 ถึงปัญหาที่ดินของคนจน : ข้อเสนอและทางออก” โดยมีตัวแทนภาคประชาสังคมเช่น ประยงค์ ดอกลำใย ประธานกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าร่วมแลกเปลี่ยน
 
 
 
 
“…ต้องมีการทบทวน สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลคสช. คสช.มักจะบอกว่า เขาประสบความสำเร็จมากในการทวงคืนผืนป่า…ชาวบ้านถูกดำเนินคดี 46,000 คดี มันแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งคนที่ถูกดำเนินคดีจำนวนมากยังเป็นคนยากไร้…” 
 
 
ประยงค์ ดอกลำใย ประธานกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า  “…ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาการจัดการสองมาตรฐานหรือหลายมาตรฐานของการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  ย้อนกลับไปเมื่อปี 2484 เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มีเจตจำนงให้ป่าทั้งประเทศกลายเป็นที่ดินภายใต้อำนาจของรัฐ ก่อนหน้ากฎหมายฉบับนี้การจัดการป่าไม้อยู่ในอำนาจของเจ้าผู้ครองนครต่างๆ การรวบอำนาจให้ป่าทั้งประเทศเป็นของรัฐได้คือ การออกพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 และให้คำนิยามคำว่า ป่า เป็นครั้งแรก ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้ยังมีผลบังคับใช้ นิยามนี้ยังมีอยู่
 
 
 
 
กฎหมายป่าไม้มีความซ้อนทับกันหลายฉบับ ปี 2507 มีการประกาศพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติและประกาศทับซ้อนกับป่าตามความพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ต่อมามีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติก็ซ้อนทับป่าตามความในพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ นี่คือที่มาของความขัดแย้งทั้งหมดเพราะนิยามนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เวลาที่จับกุมในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขาจะตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.อุทยานฯ, พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ และพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 เวลาเขาฟ้องจะฟ้องคลุมทั้งหมด หากจำเลยสู้ชนะว่า อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ จำเลยก็อยู่มาทีหลังป่าสงวนแห่งชาติ หากมีหลักฐานว่า คุณอยู่มาก่อนปี 2507 คุณก็อยู่หลังปี 2484 อยู่ดีนี่คือ สิ่งที่เป็นปัญหา
 
 
 
นโยบายป่าไม้แห่งชาติ เกิดขึ้นในปี 2528 ถ้าจำได้ช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ ป่าสงวนแห่งชาติประกาศตั้งแต่ปี 2507 รวมมาถึงปัจจุบันประกาศมา 1,200 แห่ง ป่าทุกผืนที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติเคยถูกให้สัมปทานมาแล้วทั้งสิ้นเพราะเจตนาของการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ คือเป็นป่าสงวนก่อนและใครต้องการทำไม้ ให้มาขออนุญาตตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ
 
 
 
วันนี้พื้นที่ป่าของไทยมีร้อยละ 31 ของพื้นที่ทั้งหมด หรือคิดเป็น 102 ล้านไร่ ถ้าจะทำตามนโยบายป่าไม้จะต้องหาเพิ่มอีก 26-28 ล้านไร่ ซึ่งเป็นป่าตามกฎหมายของรัฐจริง แต่มันไม่มีต้นไม้แล้ว นี่คือความไม่เป็นธรรมทางนโยบายที่เกิดขึ้น ล่าสุดคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติได้มติยืนยันเหมือนเดิมว่า ให้ประเทศไทยมีป่าร้อยละ 40 เป็นป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 หรือคิดเป็น 80 ล้านไร่ ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไปได้ประมาณ 71 ล้านไร่ เหลืออีกเก้าล้านไร่ที่รอการประกาศ หลังจากนี้มีพื้นที่ที่รอการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นทางการประมาณ 21 แห่ง ทั้งหมดมีชาวบ้านครอบครองทำกินอยู่ในพื้นที่ทั้งสิ้น
 
 
 
ตามข้อมูลแล้วจังหวัดที่มีป่ามากที่สุด แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ และน่าน ร้อยละ 61 คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ แม่ฮ่องสอน ป่าร้อยละ 86 ถ้าเทียบกันแล้วแม่ฮ่องสอนมีสิทธิที่จะเปิดป่าให้เป็นพื้นที่ทำกินได้อีกร้อยละ 40 ใช่หรือไม่ ถ้ามันเป็นธรรมทุกจังหวัดต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40  ขณะที่อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ที่เคยมีป่าแต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ฉะนั้นแล้วนโยบายจะต้องเป็นธรรมบ้าง หลายจังหวัดในภาคเหนือมีพื้นที่ป่าและรักษาป่าไว้มากกว่าสัดส่วนที่คาดหวังแล้ว ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้มีการนำพื้นที่บางส่วนมาใช้ทำกิน…นโยบายทวงคืนป่าจากพื้นที่จังหวัดอื่นๆมาเพื่อชดเชยพื้นที่ป่าที่เสียไปในจังหวัดอื่นๆเป็นธรรมหรือไม่?
 
 
 
ตอนนี้กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯกำลังอยู่ในภารกิจการทวงคืนผืนป่าเพิ่มให้ได้ครบร้อยละ 40 ตามเป้าหมาย ซึ่งเหลืออีกร้อยละเก้าเท่านั้น แต่พื้นที่เป้าหมายในการทวงคืนมันเป็นป่าตามนิยามกฎหมายแต่สภาพจริงคือ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกิน ห้าปีที่ผ่านมาประชาชนคัดค้านไม่มีทางที่จะทวงคืนผืนป่าได้ มันคือแผ่นดินชาวบ้าน คุณกำลังประกาศเป็นศัตรูกับประชาชนสิบล้านคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าตามกฎหมาย
 
 
 
ความล้มเหลวของนโยบายนี้คือ ถ้าคุณคิดแบบนี้ คุณล้มเหลวตั้งแต่ต้นแต่เขาไม่เชื่อ เขาดำเนินการต่อไป  สิ่งที่คสช.ทำได้คือออกคำสั่งคสช.ที่ 64/2257 และ 66/2557 และบอกว่า การทวงคืนจะไม่กระทบกับผู้ยากไร้ แต่ที่ผ่านมามีประจักษ์พยานเกิดขึ้นชัดเจนเช่น กรณีของจังหวัดน่านมีชาวบ้าน 198 รายถูกทวงคืนโดยไม่มีการคัดกรองว่า เป็นผู้ยากไร้หรือไม่ ต่อมาพี่น้องเคลื่อนไหวให้มีการคัดกรองปรากฏว่า 48 รายที่เข้าสู่กระบวนการคัดกรองเป็นผู้ยากไร้ทั้งหมด
 
 
ชาวบ้านบางคนที่เป็นผู้ยากไร้ต้องถูกดำเนินคดี มีกรณีของพี่แสงเดือนที่ตอนนี้คดีอยู่ในการตัดสินของศาล รอการตัดสินในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ฉะนั้นการทวงคืนผืนป่าจะไม่กระทบกับผู้ยากไร้ก็ไม่เป็นจริง คนที่ถูกดำเนินคดีไปในรอบห้าปีที่ผ่านมาเรามีตัวเลขว่า มี 46,000 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีก่อนการบังคับใช้นโยบายทวงคืนผืนป่าพบว่า ในพื้นที่การดูแลของกรมป่าไม้มีคดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 ในปีแรกของการทวงคืนผืนป่าตามนโยบายของคสช. พื้นที่การดูแลของกรมอุทยานฯมีคดีป่าไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 18  สิ่งที่น่าเสียใจคือ กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ไม่สามารถบอกได้ว่า คดีมาจากนายทุนจำนวนเท่าไหร่ และเป็นคดีของชาวบ้านยากไร้จำนวนเท่าไหร่ แต่อย่างที่เห็นคือ คนที่ถูกดำเนินคดีเป็นผู้ยากไร้ทั้งนั้น
 
 
ผมคิดว่า ต้องมีการทบทวน สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลคสช. คสช.มักจะบอกว่า เขาประสบความสำเร็จมากในการทวงคืนผืนป่า ตั้งเป้าว่า จะทวงคืนผืนป่าให้ได้ปีละประมาณสองล้านไร่ อยู่ไปห้าปีได้แค่ 750,000 ไร่ ชาวบ้านถูกดำเนินคดี 46,000 คดี มันแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งพื้นที่การทวงคืนก็น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้มาก ทั้งคนที่ถูกดำเนินคดีจำนวนมากยังเป็นคนยากไร้และหน่วยงานของรัฐแม้กระทั่งกอ.รมน.ยังตรวจสอบแล้วว่า พวกเขาเป็นผู้อยู่ในข่ายได้รับการคุ้มครอง แต่คดียังเดินหน้าอยู่ เขาบอกว่า ให้ไปสู้กันในศาล
 
 
ถัดมาเรื่องพ.ร.บ.ป่าชุมชนฯ เราต่อสู้กันมา 35 ปี ประเด็นที่ขัดแย้งกันระหว่างรัฐและประชาชนมีเรื่องเดียวคือ ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์สามารถจัดการป่าชุมชนได้หรือไม่ และเรายืนยันชัดเจนว่า ถ้าไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องมีป่าชุมชน ปรากฏว่า คสช.บอกว่า ความขัดแย้งยุติแล้ว ประสบความสำเร็จแล้ววันนี้เราประกาศใช้พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯได้แล้ว แต่เนื้อหาในพ.ร.บ.ป่าชุมชนฯฉบับคสช.คือสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้ ถ้าเรายอมรับได้เรื่องมันจบไปตั้งแต่ 35 ปีแล้ว เพราะประเด็นขัดแย้งเดิมมันไม่ได้ถูกแก้ไขในพ.ร.บ.นี้
 
 
ยกตัวอย่างเช่น คำนิยาม ป่าชุมชนที่ระบุว่า ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์ หรือพื้นที่อื่นของรัฐนอกพื้นที่อนุรักษ์ ความหมายคือ นอกเหนือจะป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติที่รัฐจะประกาศให้เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญตามระบบนิเวศน์ ฉะนั้นป่าที่จะจัดตั้งเป็นป่าชุมชนได้คือ ป่าวัด ป่าบ้าน ป่าโรงเรียนและป่าช้า ฉะนั้นผมไม่อยากเรียกว่า ป่าชุมชน ขอเรียกพ.ร.บ.ป่าช้าครับ เพราะมันทำได้แค่พื้นที่เสื่อมโทรม มันเป็นความผิดเพี้ยนทางนโยบาย
 
 
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 มาตรา 64 ให้กรมอุทยานฯสำรวจการทำกินของชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ประกาศแล้ว ใช้เวลา 240 วัน คำถามคือ อุทยานแห่งชาติที่กำลังประกาศอีก 21 แห่ง ชุมชนในพื้นที่เหล่านั้นไม่มีสิทธิเลย  การสำรวจพื้นที่ทำกินคือ ถ้าใครมีร่องรอยในภาพถ่ายทางอากาศ 2545 หรือทำกินหลังปี 2545 แต่คำสั่งคสช.ที่ 66/2557 และเป็นผู้ยากไร้ก็อยู่ได้ อย่างไรก็ตามวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 มีมติครม. ออกมาระบุเกณฑ์ในการสำรวจที่ดินมีการนิยามคำว่า พื้นที่ล่อแหลม ซึ่งหากมีการทำกินในพื้นที่ล่อแหลมตามนิยามจะไม่สามารถนำเข้าไปสู่กระบวนการตามมาตรา 64 ของพ.ร.บ.อุทยานฯได้ แต่กลับอนุญาตให้บริษัทปูนใหญ่ทำเหมืองในพื้นที่ล่อแหลมกว่า 3,000 ไร่ แต่ชาวบ้านปลูกเผือกปลูกมันในพื้นที่ล่อแหลมบอกว่า ทำไม่ได้
 
 
ในปี 2559 คสช.ออกคำสั่งที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย เนื้อหาหลักคือ ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ดำเนินการตรวจสอบที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่เป้าหมาย หนึ่งในพื้นที่ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการคือ ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป และจัดสรรคให้แก่เกษตรกร ปรากฏว่า ที่ดินที่ปารีณา ไกรคุปต์ ครอบครองอยู่เป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เกิน 500 ไร่ แล้วทำไมไม่มีการตรวจสอบ สืบย้อนดูพบว่า ที่จังหวัดราชบุรีมีการทวงคืนเก้าแปลง อำเภอจอมบึงสองแปลง อำเภอลานบัว หมู่แปดหนึ่งแปลง แต่ที่ดินของปารีณาอยู่หมู่หกของอำเภอลานบัว น่าจะไกลกันมาก ส.ป.ก.เลยไปไม่ถึง พอจะเห็นความสองมาตรฐานแล้วหรือยัง…” 
 
 
 
 
“…กระบวนการยุติธรรมในคดีป่าไม้ที่ดิน…มีกระบวนการกดดันบางอย่างเพื่อให้เรายอมรับ ใครที่สู้คดีจะเรียกว่า หนักหนาสาหัสมาก คำถามคือ ทำไมเป็นแบบนั้น ผมได้ยินหลายครั้งว่า คดีนโยบาย…มันเหมือนกับว่า ฝ่่ายนโยบายมีอิทธิพลเหนือฝ่ายตุลาการ เข้าไปกำหนดวิธีคิด แนวนโยบายในการตัดสินคดีต่อฝ่ายตุลาการ…”
 
 
 
สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า “…อยากพูดในมิติของปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม คดีความที่เกิดขึ้น กระบวนการของคสช.ตามคำสั่งคสช.ที่ 64/2559 และ 66/2559 เขาออกแบบกระบวนการมาตั้งแต่ต้น ในกระบวนการที่ลงไปสแกนพื้นที่ เข้าไปเพื่อที่จะให้ชาวบ้านออกมาแสดงตัวโดยอ้างเงื่อนไขต่างๆเช่น ถ้าไม่ออกมาแสดงตัวจะยึดพื้นที่ หรือบางที่อาจจะบอกว่า ใช้วิธีการว่า ถ้าออกมาแสดงตัวอาจจะได้สิทธินะ ฉะนั้นในช่วงปี 2557-2558 ชาวบ้านจะถูกกระบวนการเช่นนี้ จึงเข้าใจว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลอยู่ทั้งหมดแล้วในทุกที่ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ และให้เซ็นเอกสารปึกหนึ่ง ไม่ใช่แผ่นหรือสองแผ่นซึ่งชาวบ้านเองก็คงไม่ได้อ่านรายละเอียดมาก แต่มีหลายแผ่นที่เขียนทำนองว่า ถ้าตรวจสอบแล้วเป็นพื้นที่ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ตามมติครม. 30 มิถุนายน 2541 จะต้องคืนพื้นที่
 
 
ชาวบ้านเข้าใจว่า ถ้าออกไปแสดงตัวแล้วการแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้น แต่กลับกลายเป็นหลักฐานที่ย้อนมาเป็นคดี ซึ่งขณะนั้นไม่มีกระบวนการที่จะนำเกณฑ์ตามคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 เรื่องไม่ให้ใช้บังคับกับคนยากไร้ การผลักดันและเรียกร้องให้นำเกณฑ์ตามคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 มาใช้เกิดขึ้นในภายหลังและพยายามผลักดันให้หน่วยงานรัฐดูว่า ตกลงแล้วเกณฑ์เรื่องผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อยมันคือใครกันแน่ ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายหลัง ในช่วงปี 2557-2558 ชาวบ้านโดนไปหมดแล้ว หลายพื้นที่โดนคดีขึ้นสู่ศาลไปหมดแล้ว และเกณฑ์ที่บอกว่า ใครเป็นนายทุนใครเป็นผู้ยากไร้เหล่านี้ไม่มีลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนว่า กระบวนการคัดกรองต้องทำอย่างไร เป็นคำถามว่า เงื่อนไขตามคำสั่งดังกล่าวคุ้มครองใครบ้าง 
 
 
รัฐพยายามจะพรีเซนต์ว่า การทวงคืนผืนป่าเอาเฉพาะนายทุนเท่านั้น แล้วนายทุนคือใครบ้าง นายทุนในความหมายของรัฐที่ไปดำเนินการคือใคร แต่จากที่เก็บข้อมูลคือ ใครพอจะมีฐานะบ้าง มีอาชีพพอที่จะมีบ้าน มีมอเตอร์ไซด์ก้ตีความว่า ไม่ใช่ผู้ยากไร้ตามคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 แต่เป็นนายทุนหรือไม่ ไม่รู้ ส่วนตัวผมอยากรู้ว่า 750,000 ไร่คือยึดคืนจากใคร เพื่อยืนยันว่า ความสำเร็จที่รับบาลทำทวงคืนผืนป่าจากนายทุนได้ เราจะช่วยเฉลิมฉลองให้รัฐบาลบ้าง แต่ภาพสะท้อนที่เห็นที่ผ่านมามันเป็นคำถามว่า มันใช่หรอ ตกลงแล้วทวงคืนผืนป่ามันดำเนินการอย่างถูกต้องชอบธรรมหรือไม่
 
 
 
 
ปัญหาใหญ่คือ กระบวนการยุติธรรมในคดีป่าไม้ที่ดิน กระบวนการการต่อสู้คดีในศาล ตำรวจหรืออัยการเอง หรือกระทั่งที่ศาลเองมีกระบวนการกดดันบางอย่างเพื่อให้เรายอมรับ ผมพูดในฐานะที่เราเป็นทนายความในคดี มันมีการกดดันให้รับสารภาพที่จะไม่ต้องสู้คดี ใครที่สู้คดีจะเรียกว่า หนักหนาสาหัสมาก คดีลุงอาแมถูกคดีครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าจำนวน 80 ไร่ ตอนที่ถูกคดีครั้งแรกถูกกดดดันให้รับสารภาพ พอมาถึงมือเรา เรายื่นคำร้องต่อศาลยังไม่ต้องพิจารณาตัดสินคดีและขอถอนคำให้การเดิมเพื่อจะต่อสู้ เป็นเรื่องใหญ่มาก ถูกกดดันไม่ให้เราสู้คดี พอเวลาเข้าสู้กระบวนการยุติธรรม มันมีพลังบางอย่างกดดันให้รับสารภาพเสีย
 
 
คำถามคือ ทำไมเป็นแบบนั้น ผมได้ยินหลายครั้งว่า คดีนโยบาย คำนี้ปรากฏขึ้นหลายครั้งและผมได้ยินจากปากผู้พิพากษาหลายคน รวมทั้งผู้พิพากษายิงตัวตายเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาคำนี้ปรากฏในถ้อยแถลงเขาใช้คำว่า นิตินโยบาย มันเหมือนกับว่า ฝ่่ายนโยบายมีอิทธิพลเหนือฝ่ายตุลาการ เข้าไปกำหนดวิธีคิด แนวนโยบายในการตัดสินคดีต่อฝ่ายตุลาการ ออกมาเป็นนโยบายภายในกระบวนการตุลาการ ผมไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่เราได้ยินหลายครั้งในกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลหรือได้ฟังจากปากผู้พิพากษาหลายท่าน 
 
 
มีคดีหนึ่งที่นายอำเภอสั่งไม่ฟ้อง แต่พอคดีมาในชั้นอัยการ อัยการสั่งฟ้อง อัยการบอกว่า นี่คือคดีนโยบาย ผมได้ยินคำนี้มาตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมาฝากให้คิดต่อว่า ทำไมกระบวนการยุติธรรมถึงต้องใช้แนวทางนโยบายประกอบในการดำเนินคดี อันนี้เป็นที่มาว่า กระบวนการต่อสู้คดีป่าไม้ที่ดินยากมาก การพิสูจน์คดีในศาลไม่ง่าย พยานหลักฐานยากมาก นี่คือสภาพของคดีที่เกิดขึ้น
 
 
อีกเรื่องหนึ่งคือทีดีอาร์ไอเคยสำรวจต้นทุนทางเศรฐศาสตร์ คดีอาญามีต้นทุนประมาณ 70,000 บาท คดีป่าไม้ในช่วงยุคคสช.มีทั้งหมด 40,000 คดี คุณเข้าไปเราใช้ทุนไป 2,800 ล้านบาทในการดำเนินดคีกับชาวบ้าน 40,000 คดีหรือครอบครัว ผมขอใช้คำว่า ครอบครัวเพราะเมื่อคนหนึ่งโดนแล้วหมายรวมถึงที่ทำกินทั้งครอบครัว เราใช้ภาษีในการทำคดีไป 2,800 ล้านบาทเพื่อผลิตความยากจนและความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในครอบครัวเหล่านั้น เพราะคนเหล่านี้กลายเป็นคนไร้ที่ดินทันทีเมื่อถูกดำเนินคดี ยังไม่นับรวมต้นทุนของชาวบ้านที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน นำเงินไปประกันตัว ลูกเต้าไม่มีเงินเรียน 
 
 
คดีนี้นอกจากถูกกล่าวหาเรื่องบุกรุกป่า มันยังมีค่าเสียหายตามมาด้วย ถ้าเป็นพื้นที่ล่อแหลมไร่ละ 160,000 บาท สิบไร่ก็เป็นล้านแล้ว ค่าเสียหายคือ การทำให้โลกร้อน คิดจากการที่ได้ที่คืนมาแล้วนำแอร์เปิดตรงนั้นและนำค่าไฟไปคำนวณเป็นค่าเสียหาย หลายคนบอกเจอค่าเสียหายไปสามล้านบาทคิดไม่ออกว่า จะไปยังไงต่อ นี่คือตัวอย่างของผลกระทบที่เกิดขึ้นในการดำเนินคดีที่ผ่านมาในรอบห้าปี เราได้อะไร เราได้ความทุกข์ที่เพิ่มชึ้นใช่ไหม เพลงของคสช.คือ คืนความสุข แต่สำหรับครอบครัวของ 40,000 ครอบครัวมันคือความเศร้า มันคือโศกนาฏกรรม ผมคิดว่า พวกเขาคงทนฟังไม่ได้แน่
 
 
กฎหมายประเทศไทยมันเหมือนกับเราห่มผ้า ประเทศไทยเป็นประเทศที่หนาวมากเราต้องห่มผ้าหลายครั้ง มีประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484, พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ, พ.ร.บ.อุทยานฯและพ.ร.บ.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ทุกพื้นที่ที่ประกาศอะไรลงไปเขาไม่เคยถอนสภาพเดิมออก เขาประกาศทับลงไป และไม่แปลกว่า เวลาที่พี่น้องโดนดดีมันจะถูกกล่าวหาเยอะมากเพราะต้องอ้างอิงกฎหมายเยอะมาก ในพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนจะครอบคลุมกฎหมายคือ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484และพ.ร.บ.ป่าสงวนฯ เวลาศาลตัดสินก็จะลงโทษในกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด หลุดจากนี้ไปโดนอีกฉบับ ความหมายของผมคือ ถ้าหากหลุดจากป่าสงวนมาได้ก็ผิดกฎหมายอื่นอีกอยู่ดี 
 
 
ถ้าถามกลับมากรณีที่ส.ป.ก.ของปารีณา ตามกฎหมายที่พูดไป ที่ดิน ส.ป.ก เป็นที่ของรัฐ ส.ป.ก.ไม่เป็นเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่ดิน ส.ป.ก.เป็นป่าตามพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484  ที่ตรงนั้นต่อให้ส.ป.ก. ทวงคืนหรือไม่ทวง มันยังเป็นที่ของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 คำถามคือ ส.ป.ก.จะทำอย่างไร ถ้าจะเอาผิดเพิ่มเติมก็สามารถใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ทำได้ แต่เขาเลือกที่จะใช้พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินฯ ซึ่งไม่มีโทษทางอาญา ทำได้คือทวงคืนที่ดิน เขาเลือกที่จะใช้กฎหมายของตัวเองไม่ใช้กฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมไม่บอกว่า มันผิดมันถูก ลองคิดกลับกันว่า ถ้าเป็นที่ของประชาชนในเขตส.ป.ก. ผมเคยทำคดีที่ลำปาง เป็นที่ดินเหมือนกันเลยแต่ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ป่าสงวนฯ ทั้งที่อยู่ในเขตส.ป.ก.  มีการสำรวจของส.ป.ก.เรียบร้อยแต่ยังไม่ได้ประกาศกฤษฎีกา ศาลตัดสินว่า ผิดแต่โชคดีว่า ศาลรอลงอาญา ทำให้เห็นว่า การตีความกฎหมายมันมีโอกาสตีความกฎหมายไปทางใดทางหนึ่งได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง
 
 
การประกาศเขตป่านั้นนิติบัญญัติไม่มีส่วนร่วมเลย มันออกโดยฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรีบวกข้าราชการ ฉะนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยผ่านผู้แทนราษฎรไม่มีส่วนเลยในการกำหนดพื้นที่ป่า  
 
 
ข้อเสนอคือ หนึ่ง กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นอิสระและวินิจฉัยไปตามความเป็นจริง เปิดโอกาสให้ประชาชนนำเสนอความจริงเช่นความเป็นอยู่ดั้งเดิม นำข้อเท็จจริงนั้นมาประกอบด้วยไม่ใช่ดูแค่ตัวบทกฎหมายว่า ที่ตรงนั้นเป็นป่าหรือไม่ ถ้าเป็นป่าผมคิดว่า ไม่สอดคล้่องกับความเป็นจริงและกำลังเป็นปัญหาอย่างมาก
 
 
สอง กฎหมายที่ซ้อนทับกันเป็นขนมชั้น ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปป่าไม้ทั้งระบบแล้วหรือไม่ มีข้อเสนอคือ รวมประมวลกฎหมายป่าไม้และทรัพยากรเพื่อออกแบบกลไกให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่ถูกคัดค้านมาตลอด จัดการด้วยวิธีการหรือเครื่องมืออันเดียว ปัจจุบันมีกฎหมายเยอะเพราะมีหน่วยงานเยอะ และปฏิบัติคนละทางแต่ผลกระทบตกกับประชาชน ให้การตัดสินใจกลับไปที่ฝ่ายนิติบัญญัติอีกรอบหนึ่งให้เขาในฐานะตัวแทนประชาชนมีโอกาสศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในอดีต สังคายนามันใหม่ให้สอดคล้องกับประชาชน…”
 
 
"…ประเทศไทยไทยจะต้องนำทหารออกไปจากการจัดการป่า…วิธีคิดของทหารมองประชาชนคนยากจนเสมือนกับเป็นศัตรูของชาติ ราวกับปฏิบัติในสงคราม นี้คือความอันตรายของคนในประเทศนี้…"
 
 
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม   กล่าวว่า “…วันนี้จะพูดสี่ประเด็นคือ อย่างแรกสุดอยากจะชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นผลจากการนำความรู้ในการจัดการป่ามาจากตะวันตก โดยละเลยความรู้ที่มีอยู่ในบ้านเรา ความรู้จากตะวันตกคือ ถ้าไม่มองทรัพยากรว่าต้องนำมาใช้ประโยชน์สูงสุด ก็จะมองแบบแยกมนุษย์ออกจากป่า ชัดเจนว่า ร้อยกว่าปีในการจัดการปาไม้ของรัฐไทย ระยะแรกสุดเน้นไปที่อรรถประโยชน์นิยมคือ การนำป่าไม้มาใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุดนำไปสู่การสัมปทานป่าไม้ตั้งแต่สมัยอาณานิคม จนกระทั่งการยกเลิกสัมปทานในปี 2532 หลังเกิดวิกฤตดินโคลนถล่ม ฉะนั้นป่าหมดไม่ได้มาจากคนจนแต่มาจากรัฐนำทรัพยากรไปให้ทุนแสวงประโยชน์
 
 
ในแง่นี้คุณยังเชื่ออยู่หรือว่า รัฐไม่ได้คิดเช่นนี้ ในกรณีของการยึดป่าชุมชนที่หนองคายไปให้นายทุนเช่า หรือการให้สัมปทานเหมืองหินปูนที่มีระบบนิเวศน์เฉพาะถึง 3,000 ไร่ไปทำเหมืองหินปูน มีหลายเรื่องมากในยุคคสช. แล้วเรายังเชื่ออีกหรือว่า การจัดการป่าของรัฐเพื่อการอนุรักษ์จริงๆ ความรู้แบบนี้แยกคนออกจากธรรมชาติ ดังนั้นเขาไม่มองหรอกว่า พี่น้องกะเหรี่ยงที่บางกลอยรักษาป่ามาอย่างไร เขามีโลกทัศน์เกี่ยวกับธรรมชาติอย่างไร ป่าถึงอยู่ได้ ปู่คออี้มำลายป่าหรือไม่ แกผิดอะไรขนาดนั้นทีต้องอพยพเขาออกมา เราไม่เคยเรียนรู้เลยว่า คนอยู่กับธรรมชาติอย่างไร แต่วิธีการแบบนี้สากลไม่ยอมรับแล้ว ตัวอย่างคือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เป็นมรดกโลกไม่ได้เพราะปัญหาการแยกคนออกจากป่า
 
 
สอง การจัดการป่าไม้ของรัฐไทยคตลอดประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันไม่มีมิติสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน โลกกำลังพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โลกพูดถึงเรื่องนี้อยู่ สิทธิชุมชนจะต้องถูกนำมาพิจารณา ทำอย่างไรคนจนจะมีที่ดินทำกินด้วย รัฐเองอยากได้ป่าก็คุยกับคนได้ เราจะทำเกษตรแบบไหน มันมีวิธีการคุยมากมาย สิทธิชุนชนหายไปหมดเลย เรามีมติที่ยอมรับสิทธิของชนพื้นเมืองแต่เคยนำมาปฏิบัติไหมไม่เคยเลย แต่จะเลือกมติที่นำคนเข้าคุกเท่านั้น นี่ผมชี้ให้เห็นถึงปัญหา
 
 
สาม ข้อเสนอคือ ประเทศไทยจะต้องนำทหารออกไปจากการจัดการป่า ทหารมีบทบาทในการจัดการป่าไม้ในปี 2533 ในสมัยชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ใครเคยได้ยินอีสานเขียวไหม เราอยากจะเขียวให้ทหารเข้ามาจัดการ เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเกิดเผด็จการขึ้นมาในประเทศนี้ทหารจะเข้ามาจัดการป่าไม้ทันที กรณีใหญ่สุดคือ โครงการจัดการที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้หรือคจก. ที่มีการอพยพคนทั่วประเทศ คนที่ถูกอพยพมากขึ้นคือ คนอีสาน เราจะเห็นได้ว่า หลังจากคจก. ประเทศมันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นทหารลดความเข้มข้นลง แต่พอมาถึงยุคคสช.เกิดนโยบายทวงคืนผืนป่าเข้ามาอีก วิธีคิดของทหารมองประชาชนคนยากจนเสมือนกับเป็นศัตรูของชาติ ราวกับปฏิบัติในสงคราม นี้คือความอันตรายของคนในประเทศนี้ การจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่มีความละเอียดอ่อน และกระทบคนจำนวนมากแบบนี้ เราจะใช้วิธีการรุนแรงไม่ได้ ใช้วิธีการแบบทหารไม้ได้ เราหักด้ามพร้าด้วยเข่าไม่ได้เพราะผลลัพธ์คือ ความเจ็บปวดของคนบนแผ่นดินนี้ ฉะนั้นการที่จะเกิดความมั่นคงของชาติกลายเป็นความไม่มั่นคงของชาติ
 
 
 
 
ในยุคประชาธิปไตย ถ้าคุณประกาศอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านและชุมชนโดยรอบทีไ่ด้รับผลกระทบเช่นไปประกาศทับซ้อนที่ทำกินเขา ต้องเดินรังวัดแนวเขตใหม่ มีกลไกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น ที่วาริชภูมิ ชาวบ้าน,เจ้าหน้าทีอุ่ทยานและฝ่ายปกครอง เดินรังวัดและพูดคุยกัน แต่กลไกนี้ถูกยกเลิกทั้งหมดหลังจากมีนโยบายทวงคืนผืนป่า อำนาจที่มันเคยสมดุลกันต่อรองกันได้ระหว่างรัฐและประชาชนหายไป ชาวบ้านที่วาริชภูมิบอกว่าเมื่อก่อนผมยังเจรจากับเจ้าหน้าที่ได้ สวนยางยังอยู่ได้ พอรัฐประหารป่าไม้มาพร้อมกับทหารที่มีอาวุธ พืชผลถูกโค่นทั้งหมด ทั้งที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวน หลายที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดี นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านต้องแบกรับ
 
 
สี่ ความไร้มาตรฐานในการจัดการป่าไม้ มันไม่ใช่ความสองมาตรฐานหรือหลายมาตรฐาน แต่ไร้มาตรฐาน ผมลงพื้นที่ที่บ้านจัดระเบียบ จังหวัดสกลนคร ชาวบ้านที่นี่โดนคดีทั้งหมด 34 ราย ชาวบ้านเหล่านี้เป็นคนจนทั้งนั้นเลย ไปทำงานกรีดยางที่สุราษฎร์ธานี เก็บเงินมาซื้อที่ภบท.5 สร้างสวนยาง กว่าจะสร้างสวนยางได้ใช้เวลาสิบปี บางคนเพิ่งเริ่มกรีดยางแค่สองมีดเอง ตอนแรกปี 2555 สุดหลอกให้ชาวบ้านไปยืนแปลง ไปชี้แปลงว่า อันนี้ของใคร เรียบร้อยเลยครับ แต่ตอนนั้นอย่างที่ผมบอกมันเป็นประชาธิปไตยอยู่ยังมีการจัดการร่วมกันได้
 
 
แต่พอมีนโยบายปี 2557 ขึ้นมามีการเร่งรัดให้ดำเนินการ เรียบร้อยเลยชาวบ้านถูกจับทั้งหมด 34 ราย แต่ละรายผมสัมภาษณ์ คนหนึ่งแกมีที่สี่ไร่ ขอให้รังวัดใหม่ เจ้าหน้าที่ไม่ทำ เอ้อ แต่บางคนรังวัดใหม่รีบไปรังวัดเลยครับ มีการดำเนินคดีแก 54 ไร่ แกสู้คดีเพราะแกมีแค่สี่ไร่ ศาลตัดสินว่า ผิดจำคุกห้าปีสี่เดือน ตอนนี้ยังอยู่ในคุก แกถือครองที่ดินสี่ไร่เท่านั้นแต่ไม่ดำเนินการให้แก ชาวบ้านบ้านจัดระเบียบเรียกร้องที่ศูนย์ดำรงธรรมให้มารังวัดที่ดินสามครั้ง แต่ไม่เคยมารังวัด 
 
 
คนอีสานเวลาถือครองที่ดิน เขาถือครองแบบ ปู่ไม่ตาย ปูไม่แบ่งมรดก มีที่ร้อยไร่ ลูกหลานทำกินในแปลงเดียวกัน พอมีที่ร้อยไร่กลายเป็นนายทุนไป นี่คือปัญหาของรัฐในการเลือกปฏิบัติ ไม่มีมาตรฐานในการปฏิบัติ คุณจะทำยังไงก็ได้ถ้าคุณอยากจะทำก็ทำ กรณีไร้มาตรฐานคือ เรียกร้องให้รังวัด แล้วไม่ทำ ติดคุกไปแล้วรังวัดเพิ่งเสร็จในปี 2562 ความไร้มาตรฐานแบบนี้คือ ความแย่ที่สุดในการจัดการที่ดินของรัฐ ผลกระทบที่เกิดขึ้นที่บ้านจัดระเบียบ มันโหดร้ายมาก ภรรยายืนชี้แปลง ภรรยาติดคุก สามีไปรับจ้างข้างนอกกลับมาภรรยาติดคุก ขอยื่นเปลี่ยนตัวเพื่อให้ภรรยาไปอยู่กับดูแลลูกสุดท้ายถูกดำเนินคดีทั้งสองคนในแปลงเดียวกัน ปรากฏว่า แม่ช็อคตาย พี่ซึ่งอยู่กรุงเทพฯต้องกลับไปดูแลลูก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แกนนำถูกดำเนินดคี ภรรยาเสียสติ กรณีบ้านจัดระเบียบ บางคนอายุ 73 ตามัว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยังถามเลยว่า แก่ขนาดนี้ทำไมจับมาขังคุก คดีป่าไม้ที่ดินเป็นคดีที่ถูกติดคุก้ป็นอันดับสองรองจากยาเสพติด จับคนจนขังคุก ได้อะไร
 
 
กรณีการทวงคืนผืนป่าของชัยภูมิมีระดมทุนขึ้นมาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบบ้านจัดระเบียบขึ้นมาอีก ระดมทุนจากสังคมเพื่อให้ครอบครัวอยู่ได การเยียวยา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องยอมรับว่า นโยบายทวงคืนผืนป่า ทำร้ายคนมหาศาลมาก เราจะเยียวยาเขาอย่างไร ผมคิดว่า จะต้องมีกองทุนเยียวยา กองทุนยุติธรรมคงไม่เพียงพอ ผมคิดว่า เกิดอีกสิบชาติจะใช้หนี้หมดหรือไม่ นิรโทษกรรมน่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นำมาพูด…”