รัฐธรรมนูญในฝัน: อ.ป๋วยเขียน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ฝันถึงสังคมที่ต้องการ

ไอลอว์เชิญชวนนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไปส่งผลงานเข้าประกวดเรียงความและคลิปวิดีโอว่าด้วยรัฐธรรมนูญในฝันตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมและปิดดรับผลงานเข้าประกวด ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562
วันนี้จะเราไปพาไปดูตัวอย่างเรียงความที่แม้จะไม่ได้พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ก็พูดถึงการออกแบบสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันและมีความครบถ้วนในทางเนื้อหา ขณะที่วิธีการนำเสนอก็ทำได้อย่างน่าสนใจและทันสมัยจึงมีอิทธิพลต่อการโน้มนำความคิดสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
ข้อเขียน “ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เขียนโดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ป๋วยเขียนเล่าความต้องการพื้นฐานในชีวิตของเขาตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงเสียชีวิต ด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายในความยาวเพียง 2 หน้า กระดาษเท่านั้น
ด้วยคำเพียงประมาณหนึ่งพันคำ ป๋วยนำเสนอภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เขาต้องการ แม้ประเด็นสำคัญคือ “รัฐสวัสดิการ” ที่ต้องการให้มีหลักประกันสังคมและสภาพชีวิตพื้นฐานที่ดีพอเหมาะพอสมแก่คนไทย แต่เขาก็ได้พูดถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองด้วย เช่น ประชาชน “มีปากมีเสียงในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง” โดย “ไม่ถูกกดขี่ข่มเหงประทุษฐภัย” เป็นต้น
บทความนี้เดิมทีเป็นภาษาอังกฤษ ถูกนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกไกล (Southeast Asian Development Advisory Group – SEADAG) ในเดือนตุลาคม 2516 ก่อนจะตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2516 ในชื่อ The Quality of Life of a South East Asian : A Chronical of Hope from Womb to Tomb และภายหลังถูกแปลเป็นภาษาไทย
เนื้อความถอดจากลายมือภาษาไทยของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดังนี้
การอยู่ดีกินดีของคนไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์ถึงเชิงตะกอน)
“ เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมอยากให้แม่ได้กินอาหารถูกหลักโภชนาการ และได้รับการเอาใจใส่ ด้านสวัสดิการของแม่และเด็ก
ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีมา และผมไม่อยากให้แม่มีน้องกะชั้นชิดกับผมเกินไปนัก
แม่กับพ่อผมจะแต่งงานกันตามประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือแม่กับพ่อต้องอยู่ร่วมกัน และไม่ทะเลาะกันบ่อยๆ
ในระยะ ๒-๓ ปี หลังจากที่ผมเกิดมา ผมอยากให้แม่กับผมได้กินอาหารที่ถูกหลักโภชณาการ เพราะเป็นระยะที่ร่างกายและสมองผมเติบโตขึ้น และเป็นระยะที่จะส่งผลดีผลภัยให้ผมในอนาคต
ผมต้องการไปโรงเรียน และอยากให้พี่สาวหรือน้องสาวผมได้เรียนหนังสือครับ แล้วเรียนรู้วิชาที่จะไปทำงานได้ กับให้โรงเรียนอบรมสั่งสอนเรื่องศีลธรรมจรรยาให้เรา ถ้าเผอิญผมเรียนเก่งไปได้ถึงชั้นสูงๆ ก็ขอให้มีโอกาสเรียนได้สูงที่สุด
เมื่อออกจากโรงเรียน ผมก็อยากทำงานเลี้ยงชีพ และงานนั้นควรจะน่าสนใจพอที่จะรู้สึกว่าผมได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น
บ้านเมืองที่ผมอยู่ควรจะมีขื่อมีแป มีความสงบเรียบร้อย ปลอดภัย และพวกเราไม่ถูกกดขี่ข่มเหงประทุษฐภัย
บ้านเมืองเราควรจะติดต่อมีความสัมพันธ์อันดีมีประโยชน์และชอบธรรมกับต่างประเทศ เราจะได้เรียนรู้วิชาทั้งด้านปัญญาและด้านอาชีพจากมนุษย์ทั่วโลก กับเราจะได้มีทุนจากต่างประเทศมาช่วยเราพัฒนา
บ้านเมืองของเราส่งสินค้าที่ผมทำขึ้นหรือที่เพื่อนร่วมชาติผมทำขึ้นไปขายต่างประเทศ ราคาสินค้านั้นควรจะเป็นราคาที่ยุติธรรม
ถ้าผมเป็นชาวนา ผมก็อยากมีที่นาของผมเป็นกรรมสิทธิ และมีช่องทางที่จะได้สินเชื่อมาลงทุน ได้วิชาแบบใหม่มาใช้เพาะปลูก ได้ตลาดมั่นคง และราคายุติธรรมสำหรับพืชผลของผม
ถ้าผมเป็นชาวเมือง ทำงานรับจ้างเขา ผมก็อยากมีหุ้นส่วนในงานที่ผมทำ และมีส่วนในการดำเนินงานโรงงานหรือห้างที่ผมทำอยู่
ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ผมอยากจะได้อ่านหนังสือพิมพ์ถูกๆ หนังสือเล่มถูกๆ มีวิทยุฟัง มีโทรทัศน์ดู (แต่ไม่อยากฟังหรือดูโฆษณาสินค้ามากนัก)
ผมอยากมีสุขภาพแข็งแรง และหวังว่ารัฐบาลจะจัดให้มีบริการอนามัยป้องกันโรคชะนิดฟรี และบริการรักษาโรคชะนิดที่ถูกและเรียกหาได้ง่าย
ผมหวังว่าจะมีเวลาพักผ่อนเป็นของตนเองบ้าง จะได้มีความสุขร่วมกับครอบครัวผม ถ้าอยากไปเที่ยวสวนก็ไปได้ อยากดูศิลปะชนิดต่างๆ ก็ได้ชม อยากไปงานวัดงานวัฒนธรรมก็ได้ไปเที่ยว
ผมจำเป็นต้องมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ และนำ้สะอาดสำหรับดื่ม
ผมอยากได้ร่วมมือเป็นสหกรณ์กับเพื่อนฝูง จะได้ช่วยกัน เขาบ้าง เราบ้าง แล้วแต่ความจำเป็น
ผมจำเป็นต้องมีโอกาสได้ร่วมงานของชุมชนที่ผมอาศัยอยู่ และสามารถมีปากมีเสียงในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศของผม
เมียผมก็ควรมีโอกาสอย่างเดียวกับผม และเราทั้งสองคนควรได้รับความรู้ และทราบวิธีการวางแผนครอบครัว
พอผมแก่ลง บ้านเมืองก็ควรจะให้บริการทางการเงินและสังคมสังเคราะห์แก่ผม เพราะผมก็ได้ออกเงินบำรุงมาตลอด
เมื่อผมตายแล้ว และเผอิญมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ ผมอยากให้รับฐบาลแบ่งให้เมียผมไว้พอกิน แล้วเอาที่เหลือไปทำประโยชน์ให้คนอื่นได้อยู่ดีกินดีด้วย
นี่แหละคือความหมายอันแท้จริงแห่งชีวิต นี้แหละคือการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของทุกคน "