เครือข่าย People Go แถลงจุดยืน เข้าร่วมครช. เดินหน้าแก้ไข-สร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

14 ตุลาคม 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์​ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 6 เครือข่ายใน People Go Network และเครือข่ายอื่นๆ ที่เข้าร่วมกัน แถลงเข้าร่วมกับ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เพื่อรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 สร้างสังคมประชาธิปไตย สร้างพื้นที่ให้ประชาชน พร้อมทำกิจกรรมเดินรอบสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศเจตนารมณ์สร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่าย People Go อ่านแถลงการณ์โดยระบุว่า ตามที่หลายหลายภาคส่วนของสังคมกำลังให้ความสนใจกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผ่านการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มาแล้ว ทำให้สังคมเห็นปัญหาและบทเรียนจากกลไกที่ช่วยให้ผู้เข้าสู่อำนาจไม่ได้มาจากเสียงสนับสนุนของประชาชนอย่างแท้จริง เครือข่าย People Go ก็เห็นผลกระทบและปัญหาความไม่เป็นธรรมจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่นเดียวกัน

เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานในประเด็นต่างๆ เช่น รัฐสวัสดิการ เกษตรกรรมทางเลือก ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชน กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ต่างพบว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีเนื้อหาที่ละเลยสิทธิของประชาชนในประเด็นที่แต่ละเครือข่ายกำลังประสบปัญหาและต่อสู้อยู่ ทั้งยังมอบอำนาจรัฐให้กับองค์กรที่สืบทอดมาจากการรัฐประหาร อนาคตภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีแนวโน้มเพียงว่า ปัญหาของประชาชนจะถูกละเลย ขณะที่กลไกต่างๆ ในสังคมถูกบิดเบือนเพื่อรักษาอำนาจให้กับคณะทหารชุดเดิม

เครือข่าย People Go จึงต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเดินหน้ารณรงค์ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเห็นควรเข้าร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชน ที่ใช้ชื่อว่า คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ที่ประกาศตัวต่อสาธารณะไปแล้วก่อนหน้านี้ และหลังจากนี้จะจัดกิจกรรมสร้างช่องทางการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเปิดเวทีสาธารณะร่วมกันต่อไป

ด้าน สมชาย กระจ่างแสง จากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ แถลงว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีหลายถ้อยคำและมาตราที่ตอกย้ำลดทอดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้เพิ่มมากขึ้น จึงจะร่วมเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิทธิของประชาชนในการได้รับสวัสดิการโดยปราศจากเงื่อนไข และรัฐต้องมีหน้าที่จัดสวัสดิการพื้นฐานในประชาชน ได้แก่ การสร้างหลักประกันทางสุขภาพ รายได้ และการศึกษา โดยการจัดสวัสดิการดังกล่าวรัฐต้องมีนโยบายการเงิน การคลัง และการจัดการงบประมาณอย่างเป็นธรรม
ด้าน อารัติ แสงอุบล เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก แถลงว่า เครือข่ายเกษตรทางเลือกเห็นว่ารัฐธรรมนูญต้องให้หลักประกันในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเกษตรและสิทธิชุมชนในฐานะผู้สร้างความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารของชาติ โดยรัฐธรรมนูญต้องประกันสิทธิด้านที่ดินให้เกิดการกระจายที่ทำกินให้เกษตรกรอย่างเป็นธรรม สร้างหลักประกันด้านสิทธิในการปกป้องและเข้าถึงฐานทรัพยากร สิทธิในการเกิด อยู่อาศัย และทำเกษตรกรรมในสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัยจากสารเคมี รวมถึงมีสิทธิในด้านการผลิต การตลาดที่เป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงสินเชื่อ
ด้าน สุชิน เอี่ยมอินทร์ จากเครือข่ายสลัมสี่ภาค แถลงว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เคารพต่อเสียงประชาชน มีการเขียนรัฐธรรมนูญโดยเอาเรื่องด้านสิทธิมนุษยชนที่ควรอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐไปไว้ในแนวนโยบายของรัฐ เพื่อเปิดช่องให้มีการละเว้น นอกจากนี้ เรื่องสิทธิที่อยู่อาศัยกลับไม่ได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้คนจนจำนวนมากต้องประสบกับความยากจน
ด้าน กรรณิกา ไชยแสงราช จากเครือข่ายทรัพยากรและสิทธิชุมชน แถลงว่า ที่ผ่านมารัฐบาล คสช. ได้ดำเนินนโยบายทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิชุมชนแและสิทธิมนุษชนอย่างรุนแรงหลายประการ และยังสานต่อนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น การออกคำสั่งและกฎหมายส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นโยบายแย่งยึดที่ดินทำกินผ่านใต้คำว่าทวงคืนผืนป่า และไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในการฟื้นฟูชุมชนจากสารพิษเพราะอุตสาหกรรมและการทำเหมืองแร่ ซึ่งรัฐธรรนูญ ปี 2560 ไม่สามารถเป็นกฎหมายแม่บที่จะช่ายคานหรือยับยั้งอำนาจของนโยบายและกฎหมายลูกที่กระทำย่ำยีประชาชน
ด้าน ณัฐาศิริ เบิร์กแมน เครือข่ายนักกฎหมายและนักวิชาการ แถลงว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แต่สิทธิดังกล่าวกลับไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง และผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวยังถูกปฏิบัติเสมือนผู้กระทำความผิดแล้ว นอกจากนี้ การเขียนเรื่องสิทธิยังไม่ถูกรับรองในหมวดสิทธิของประชาชนแต่ไปอยู่ในหน้าที่ขอองรัฐที่ต้องจัดให้ เพื่อสิทธิไม่ได้อยู่ที่ตัวเองทุกคนก็ไม่สามารถยกสิทธิขึ้นยันต่อบุคคลอื่นได้
ด้าน วัชรพล นาคเกษม เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง แถลงว่า เครือข่ายเห็นด้วยต่อทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขาดความเป็นประชาธิปไตยและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ถึงแม้จะมีการทำประชามติแต่ก็ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และหนึ่งปัญหาที่สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งแผนนี้จะผูกมัดประเทศไม่ให้หลุดพ้นจากกรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นการบีบบังคับให้เดินตามคสช. เพราะแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวร่างโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
นอกจากเครือข่าย People Go แล้ว ในวันนี้ยังมีอีกสองเครือข่ายที่มาเข้าร่วมกับ ครช. ได้แก่ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)  นำโดย พัชนีย์ คำหนัก แถลงว่า ทาง คปอ. ไม่ยอมรับและไม่นับผลประชามติที่ไม่มีเสรีภาพและไม่มีความเป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และหวังให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขยายสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี
เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ จากเครือข่ายด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า เราเชื่อมั่นในหนทางว่า รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน และเราไม่ยอมรับในอำนาจเผด็จการหรืออำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำงานในระบอบประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงมิติทางเพศ และความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ความไม่เสมอภาคเหล่านี้ต้องลดลง โดยวิธีการที่มาจากการรับฟังเสียงของประชาชนจริงๆ