ความเป็นอิสระของศาล คือการคุ้มครองสิทธิของประชาชน

หลักอิสระของศาล เป็นหลักการที่เกิดขึ้นพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยโดยเป็นหนึ่งในอำนาจรัฐ คืออำนาจตุลาการ ที่มีความเป็นอิสระแยกออกจากอำนาจอื่นเพื่อการถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกันภายใต้หลักนิติรัฐและท้ายที่สุดแล้วหากปล่อยให้กลไกของประชาธิปไตยทำงานดังนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือ "ประชาชน"

 

ตามที่มีข่าวผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลายิงตัวเองหลังอ่านคำพิพากษา และมีการเผยแพร่คำแถลงการณ์เล่าถึงความอึดอัดจากการทำหน้าที่ผู้พิพากษา ที่ต้องส่งร่างคำพิพากษาให้ผู้พิพากษาระดับผู้ใหญ่ รวมทั้งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ตรวจก่อน และถูกแทรกแซงความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจตัดสินคดี นำมาซึ่งข้อเรียกร้อง "คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน

 

ไอลอว์ได้อธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่มาของอธิบดีผู้พิพากษาภาคและระเบียบปฏิบัติที่ผู้พิพากษาทุกคนต้องรายงานคดีสำคัญให้กับผู้พิพากษาผู้ใหญ่พิจารณาก่อนไว้แล้ว

 

 

แม้จะมีระเบียบปฏิบัติให้ผู้พิพากษาต้องส่งร่างคำพิพากษาในคดีบางประเภทให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจทานก่อนอ่านให้คู่ความฟัง แต่ระเบียบดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเพื่อให้การใช้ดุลพินิจของศาลให้เป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกันเท่านั้น ไม่น่าจะมีเจตนารมณ์ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสกว่ามีดุลพินิจเหนือเจ้าของสำนวนและสั่งให้กลับหรือแก้ไขคำพิพากษาได้ ซึ่งทำให้มีข้อสังเกตต่อไปว่าแท้ที่จริงแล้วผู้พิพากษาที่นั่งบนบัลลังก์ทำหน้าที่พิจารณาคดีนั้นมีอิสระในการใช้ดุลพินิจของตัวเองมากน้อยเพียงใด และมีกฎหมายที่คุ้มครองหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาอย่างไรบ้าง

 

 

ความเป็นอิสระของศาล เป็นเสาหลักในระบอบประชาธิปไตย

 

สำหรับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอำนาจตุลาการเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของ "อำนาจอธิปไตย" ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ” 

 

กล่าวคือ อำนาจอธิปไตยจะถูกใช้โดยสามองค์กร คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้มีอำนาจในการออกกฎหมาย ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรีหรือผู้บริหารประเทศ และสุดท้าย คือ ฝ่ายตุลาการ ผู้มีอำนาจตัดสินคดีความข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น ความจำเป็นในการแบ่งแยกอำนาจนั้นก็เพื่อให้ทั้งสามอำนาจเป็นอิสระจากกัน และเพื่อที่จะสามารถทำการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของกันและกันได้ โดยหลักการแล้วมีความเชื่อว่า เมื่ออำนาจอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวโดยปราศจากการตรวจสอบ อาจส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด (Absolutely power) และใช้อำนาจอย่างอำเภอใจ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองหรือประชาชนได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจนั้น

 

แม้ว่า อำนาจอธิปไตยจะถูกแบ่งออกเป็นสามเสาหลักแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ถืออำนาจทั้งสามจะใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีขอบเขต เพราะการใช้อำนาจบริหารและการตัดสินคดีความของศาลก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายเขียนเอาไว้เท่านั้น ถ้ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจทำสิ่งใดไว้ ก็ไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ ที่เรียกกันว่าหลักนิติรัฐ” 

 

 

 

กฎหมายไทยเทศ คุ้มครองความเป็นอิสระของศาล

 

หลักความเป็นอิสระของศาลล เป็นหลักการสากลที่ปรากฏอยู่ในตราสารระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น หลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของตุลาการ โดยจัดทำขึ้นในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรม และการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ครั้งที่ 7 ที่นครมิลาน และได้รับความเห็นชอบโดยที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติในเวลาต่อมา

 

ในหลักการแรกได้กำหนดไว้ว่าความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการจะต้องได้รับการรับประกันโดยรัฐและถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของรัฐ ทุกรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ มีหน้าที่ที่จะต้องเคารพ และรักษาความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ

 

และที่สำคัญ คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 10 เรื่องการได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ซึ่งมีเนื้อหาว่า

ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและไม่ลำเอียงในการพิจารณากำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและข้อกล่าวหาอาญาใดต่อตน”  

 

และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14.1 เรื่องการได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ซึ่งมีเนื้อหาว่า

บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการ ในการพิจารณา คดีอาญา ซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด หรือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม โดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีอำานาจ มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง

 

ซึ่งในระบบกฎหมายของไทยก็ได้กำหนดหลักความเป็นอิสระของศาลไว้ในกฎหมายด้วยเช่นกัน โดยการกำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 188 ดังนี้

 

การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไป ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง

 

 

 

คุ้มครองศาล คือ คุ้มครองประชาชน

 

หลักความเป็นอิสระของศาล ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อคุ้มครอง "ศาล" ที่เป็นตัวอาคารสถานที่ หรือกระทั่ง ศาลในความหมายที่หมายถึง "คน" ในสถานะผู้พิพากษาแต่เพียงเท่านั้น แต่โดยนัยยะแล้วเมื่อศาลได้รับการคุ้มครองที่จะพิจารณาคดีอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง ปราศจากอคติหรือรวมถึงการแทรกแซงทั้งภายในและนอกองค์กร  ย่อมทำให้เกิดความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี เมื่อศาลมีดุลพินิจที่เป็นอิสระจากปัจจัยทั้งหลายศาลก็ต้องตัดสินคดีโดยผูกพันกับข้อเท็จจริงในสำนวนคดี และข้อกฎหมายเท่าที่มีอยู่เท่านั้น  

 

ซึ่งท้ายที่สุด เมื่อศาลสามารถทำหน้าที่โดยไม่ต้องหวาดกลัวแรงกดดัน หรือปัจจัยอื่นๆ ศาลก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้ ทำให้ผู้ใช้อำนาจอื่นๆ ไม่สามารถใช้อำนาจจนเกินขอบเขตและละเมิดสิทธิของประชาชนได้ ตัวอย่างเช่น หากเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมประชาชนโดยที่ประชาชนไม่ได้กระทำความผิด ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง หากทหารพาประชาชนไปควบคุมตัวในค่ายทหารโดยไม่มีอำนาจ ศาลก็ต้องสั่งให้ปล่อยตัว

 

เมื่อศาลมีดุลพินิจเป็นอิสระแล้ว ประโยชน์สูงสุด ก็จะตกกับ ประชาชนนั่นเอง