ผู้บัญชาการทหารอากาศคนใหม่ ‘พล.อ.อ. มานัต วงษ์วาทย์’ เตรียมเป็น ส.ว. อัตโนมัติ

7 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ราชกิจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ซึ่งให้มีผล 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป มีการแต่งตั้ง ‘พล.อ.อ. มานัต วงษ์วาทย์’ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) คนใหม่ ลำดับที่ 26 แทนที่ พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. คนที่ 25 และตามบทเฉพาะกาล (มาตรา 269) รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ให้ ผบ. เหล่าทัพดำรงตำแหน่งวุฒิสภา (ส.ว.) ทำให้ พล.อ.อ. มานัต เป็น ส.ว. อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย 
พล.อ.อ. มานัต วงษ์วาทย์ อายุ 59 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 (ตท.20) รุ่นเดียวกันกับ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ทั้งนี้ พล.อ.อ. มานัต ได้เลื่อนจากตำแหน่งเสนาธิการทหารอากาศเป็น ผบ.ทอ. และมีอายุราชการถึงเดือนกันยายนปีหน้า (2563) ทำให้ พล.อ.อ. มานัต จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทอ. เพียง 1 ปี 
ด้าน พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ซึ่งเกษียณอายุราชการในปีนี้ อายุ 60 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 18 (ตท.18) อดีตเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 12 กรกฎาคม 2562 และเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2559 จากนั้นก็ได้เป็น ส.ว. ต่อ ตั้งแต่ 11 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา
ในการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ว. วันที่ 15 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน จำนวน 137 ราย จาก ส.ว. ทั้งหมด 250 คน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 105 ให้บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิก สนช. หรือ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ “ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน” ซึ่งมี ส.ว. ถึง 113 คน ที่เคยดำรงตำแหน่ง สนช. มาก่อน โดยผบ. เหล่าทัพ 5 คนที่ได้เป็น ส.ว. ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เพราะเคยเป็น สนช. มาก่อน 
แต่ในกรณี พล.อ.อ. มานัต ซึ่งดำรงตำแหน่ง ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญด้วยนั้น จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อ ป.ป.ช. ภายใน 60 วันและจะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ ให้ประชาชนทราบภายใน 30 วันหลังยื่น 
อย่างไรก็ดี ตำแหน่ง ส.ว. แต่งตั้งที่มาจากตำแหน่งผุ้นำเหล่าทัพยังมี "ข้อยกเว้นพิเศษ" นั้นคือ ยกเว้นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 2560 ในหมวด 9 ว่าด้วย "การขัดกันแห่งผลประโยชน์" เช่น ยกเว้น มาตรา 184 ที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาต้อง (1) ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และ (3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสหากิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจ 
หรือหมายความว่า  ตำแหน่ง ส.ว. จากผู้นำเหล่าทัพจะมีตำแหน่งทั้งข้าราชการเมืองและข้าราชการประจำ พร้อมทั้งได้รับผลประโยชน์จากทั้งสองทาง
นอกจากนี้ ยังให้งดเว้นมาตรา 185 ที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการของตน กระทำการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้ 
(1) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(2) กระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโคงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นการดำเนินการในกิจการของรัฐสภา
(3) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดินประจำและมิใช่ช้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
หรือหมายความว่า ส.ว.จากผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพจะยังคงไว้ซึ่งอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการแบบที่นักการเมืองคนอื่นทำไม่ได้ และยังมีส่วนในการเห็นชอบงบประมาณที่ตนนั้นจะเป็นผู้ใช้งบประมาณดังกล่าวเสียเอง