เปิดนิทรรศการ ELECT คาดแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นวาระสำคัญในอนาคต ด้าน ‘ไอติม’ เสนอให้ยกเลิกระบบ ส.ว.

เว็บไซต์และสื่อข้อมูลการเลือกตั้งไทย ELECT จัดเวทีเสวนาหัวข้อ ELECT after Election : เลือกแล้วได้อะไร? ประชาธิปไตยไทยหลังการเลือกตั้ง โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ, พริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองรุ่นใหม่ และพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวเว็บไซต์ The MATTER ในวงเสวนาได้ร่วมกันตั้งคำถามถึงอนาคตของการเมืองไทย ภายหลังการเลือกตั้งที่ผลออกมาเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และสะท้อนถึงบทบาทของสมาชิกวุฒสภา (ส.ว.) ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการจัดตั้งรัฐบาล
สฤณี กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาได้ทำให้สังคมไทยได้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่นักวิชาการเคยตั้งข้อสังเกตกันมาตั้งแต่ก่อนลงประชามตินั้น ได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน เช่น เรื่องรัฐบาลผสมที่เคยมีการคาดเดาไว้ก่อนแล้วว่ามีโอกาสเกิดได้สูง
“สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการเลือกตั้งครั้งนี้คือ บทเรียนที่ว่ากลไกใหม่ๆ เมื่อเริ่มใช้จริงแล้วจะเป็นอย่างไร หรือปัญหาทางการเมืองที่นักวิชาการเคยพูดเรื่องรัฐบาลผสม พอผลเป็นแบบนี้ เราก็ยิ่งเห็นปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น” สฤณี ระบุ
ทั้งนี้ สฤณีวิเคราะห์ว่า ในอนาคตสังคมไทยอาจจะมองเห็นถึงปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กันมากขึ้น และอาจนำไปสู่ฉันทามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ด้าน พริษฐ์ กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงต่อประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน โดยสิ่งที่น่ากังวลที่สุด คือปัญหาเรื่องการตีความสูตรการคิดคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว สำหรับทิศทางการเมืองในอนาคตนั้น พริษฐ์เสนอให้มีการแก้ไขระบบรัฐสภาไทย พร้อมกับตั้งคำถามว่า การเมืองไทยยังคงจำเป็นที่จะมี ส.ว. อีกหรือไม่ เหมือนกับกระแสที่หลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นกำลังเดินไปสู่การยก เลิก ส.ว.
“ในตอนนี้มีหลายประเทศที่กำลังจะเปลี่ยนจากระบบสภาคู่เป็นสภาเดี่ยว ข้อดีของการยกเลิก ส.ว. คือเรื่องลดงบประมาณ รวมถึงความรวดเร็วในการทำงาน เพราะจะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้นในเรื่องออกกฎหมาย” อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
นอกจากนี้ เขายังเสนอให้ประชาชนทุกคนร่วมกันเป็นฝ่ายค้านอิสระ ช่วยกันทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้ง ส.ส.ที่เป็นตัวแทนในเขตของตนเอง
ขณะที่ พงศ์พิพัฒน์ กล่าวว่า วันนี้สื่อมีบทบาทในเรื่องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากกว่าเดิมเป็นอย่างมาก และพลังการตรวจสอบของสื่อมวลชนนั้น ถือเป็นแรงกดดันสำคัญที่ให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนในช่วงก่อนเลือกตั้งให้ได้
“บทบาทของสื่อควรติดตามประเด็นที่นักการเมืองเคยให้สัญญาไว้ก่อนเลือกตั้ง ขณะเดียวกันสื่อเองก็สามารถเริ่มต้นเปิดประเด็นทางสังคมด้วยตัวเองเช่นกัน” บรรณาธิการบริหาร The MATTER ระบุ
บนเวทีเสวนายังได้พูดถึงปัญหาข่าวปลอม (fake news) ด้วยเช่นกันพงศ์พิพัฒน์และสฤณี เห็นตรงกันถึงความสำคัญของการรู้เท่าทันในข่าวสารที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย รวมถึงบทบาทของความเกลียดชังที่ทำให้ข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้ อย่างรวดเร็ว ขณะที่พริษฐ์เสนอว่า หากจะมีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ก็ควรจะอยู่ห่างไกลจากอำนาจรัฐให้มากที่สุด
นับตั้งแต่เริ่มต้น โครงการ ELECT ได้ผลิตชุดข้อมูลและความรู้ที่ผ่านการนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงเคยผลิตการ์ดเกมประชาธิปไตยเพื่อเป็นสื่อสำหรับการศึกษา ในวาระและความหวังที่ประชาธิปไตยจะถูกขับเคลื่อนไปต่อทางโครงการจึงอยากรวบรวมเอาชุดข้อมูลและความรู้ที่มีอยู่พร้อมบางส่วนที่อาจจะยังไม่เคยนำเสนอมาปรับเปลี่ยนเป็นนิทรรศการชั่วคราว เพื่อสร้างอีกรูปแบบของประสบการณ์ในการเข้าถึงข้อมูลให้กับคนไทย โดยไฮไลท์ของนิทรรศการอยู่ที่ รัฐสภาจำลอง ที่ผู้เข้าชมสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้แทนได้ด้วยตัวเอง หรือสามารถทดลองนั่งเป็นสมาชิกรัฐสภาเองได้โดยจะมีการจำลองเสียง บรรยากาศในวันเลือกนายกรัฐมนตรีไว้อีกด้วย
 
นิทรรศการ “ELECT after Election : เลือกแล้วได้อะไร? ประชาธิปไตยไทยหลังการเลือกตั้ง” จะจัดขึ้นในช่วงวันอังคารที่ 27 สิงหาคม – วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2562 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น L (BACC) เปิดให้ผู้เข้าชมทั่วไป เข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย