“ยกเลิกสวนป่าคอนสาร” ความฝันของชุมชนบ่อแก้วหลังแพ้ในชั้นศาล

ข้อมูลโดย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
เหตุการณ์การเข้าปิดหมายบังคับคดีของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสนธิกำลังกันกว่า 50 นาย ที่ชุมชนบ่อแก้ว เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 อาจเป็นเพียงเหตุการณ์เล็กๆ ที่ปรากฏขึ้น ท่ามกลางการแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีหลากหลายเรื่องราวที่จะส่งผลต่อความเป็นไปของสังคม การเมืองไทยหลังจากนี้ และหนึ่งในนั้นคือ นโยบายด้านการจัดการที่ดิน และทรัพยากร และกรณีสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ชุมชนบ่อแก้ว” อาจเป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อการดำเนินนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลปัจจุบัน

ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่ดินทำกินเดินหน้าเรียกร้องสิทธิและชุมนุมที่หน้าสำนักงานสวนป่าคอนสาร เมื่อวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2547 กระทั่งนำมาสู่การแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีหัวหน้าสวนป่าคอนสาร เป็นประธาน ร่วมกับผู้แทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน ผลการตรวจสอบข้างต้น คณะทำงานได้ประชุมเมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2548 มีมติว่า “สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของราษฎรจริง ให้ยกเลิกสวนป่า แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน ทั้งสิ้น 277 ราย” 
ภายหลังจากนั้น มีมติ ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวอีกหลายครั้ง ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกัน เช่น มติประชาคมตำบลทุ่งพระ วันที่ 8 พฤษภาคม 2552 ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 21 กันยายน 2550 “ให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสวนป่าคอนสาร ตามมติคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2548 ภายใน 60 วัน และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ร้อง โดยสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกับหน่วยงานรัฐ จัดทำแผนการจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการจัดเป็นป่าชุมชน ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ยกเลิกสวนป่าคอนสาร” เป็นต้น  
อย่างไรก็ตาม แม้กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมติต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะมีความชัดเจน เป็นที่ยุติร่วมกัน แต่ในทางปฏิบัติ กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น กระทั่งนำมาสู่การเข้าไปในพื้นที่ของชาวบ้านผู้เดือดร้อน และวันที่ 27 สิงหาคม 2552 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ฟ้องขับไล่ ชาวบ้านรวม 31 คน ให้ออกจากพื้นที่พิพาทต่อศาลจังหวัดภูเขียว พร้อมกันนี้ ได้ขอคุ้มครองชั่วคราว ให้ศาลสั่งห้ามมิให้ขยายเขตพื้นที่ครอบครองออกจากพื้นที่เดิม ห้ามนำวัสดุสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และห้ามขัดขวางโจทก์ในการเข้าตรวจสอบ บำรุงดูแลพื้นที่สวนป่าพิพาท ซึ่งศาลอนุญาตตามคำขอ และได้นำหมายห้ามชั่วคราวมาติดในพื้นที่พิพาท วันที่ 28 สิงหาคม 2552
ชุมชนบ่อแก้ว กำเนิดขึ้นในวันที่ 17 กรกฏาคม 2552 ภายหลังความล่าช้าในการทำงานของรัฐ และการรุกไล่ยึดพื้นที่ของชาวบ้าน
วันที่ 28 เมษายน 2553  ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาให้ชาวบ้าน 31 คน ออกจากสวนป่าคอนสารแปลงปลูก 2522 (2550) ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ และบริวารที่ได้นำไปปลูกไว้ในพื้นที่พิพาท และปรับสภาพพื้นที่สวนป่าให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และห้ามเข้าเกี่ยวข้องในพื้นที่สวนป่าคอนสารทั้งหมดอีก และให้ใช้ค่าทนายความแทน 10, 000 บาท
วันที่  24  มิถุนายน   2553  ทนายความฝ่ายชาวบ้าน (จำเลย) ได้ยื่นขออุทธรณ์  และคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี ซึ่งศาลได้รับคำอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีดังกล่าว  ศาลรับอุทธรณ์ในวันที่  17  สิงหาคม  พ.ศ. 2553 
วันที่  9  สิงหาคม  2553   ทนายความฝ่ายโจทก์ (ออป.) ได้ยื่นแก้อุทธรณ์ คัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีและขอออกหมายบังคับคดีต่อศาล
วันที่  7  ตุลาคม 2553  ทนายฝ่ายชาวบ้าน (จำเลย) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว ศาลรับคำร้องวันที่  20  ตุลาคม  พ.ศ. 2553  ซึ่งศาลนัดไต่สวนคำร้องของดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว
วันที่  13  ธันวาคม  2553  ศาลนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค  3 เรื่องการขอทุเลาการบังคับคดี และนัดไต่สวนคำร้องของดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว  ซึ่งศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดี   
วันที่ 21 ธันวาคม 2554 นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
วันที่ 29 มกราคม 2562 ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา มีคำสั่งให้ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน นับจากมีคำสั่งศาลฎีกา และเป็นที่มาของการติดหมายบังคับคดี
 
ในอีกด้านหนึ่ง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ของชาวบ้านผู้เดือดร้อน จากการตรวจสอบของคณะทำงาน พบว่า ชาวบ้านเข้าถือครองทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บท.11 ต่อมาปี พ.ศ. 2516 รัฐได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม และปี พ.ศ. 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ขอเข้าทำประโยชน์ปลูกสร้างสวนป่า ในระบบสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เนื้อที่ 4,401 ไร่ และนำมาสู่การผลักดัน ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย จำนวน 12 ครัวเรือน 
นับตั้งแต่การเข้ามาของ ออป. ชาวบ้านเคลื่อนไหวคัดค้านมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถยุติการดำเนินงานได้ กระทั่งพื้นที่ทำกินกลายสภาพเป็นสวนยูคาลิปตัสในที่สุด โดยรายสุดท้ายที่จำต้องออกจากพื้นที่ ในปี พ.ศ. 2529 คือ นายวัก โยธาธรรม 
ต่อมา ปีพ.ศ. 2547 ชาวบ้านได้ชุมนุม และสร้างกลไกร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น และมีพัฒนาการแก้ไขปัญหาต่อเนื่องมา กระทั่งปัจจุบัน ทั้งนี้ มีข้อสังเกตุสำคัญๆ ได้แก่
1. กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับพื้นที่ของคณะทำงาน คณะกรรมการ และอนุกรรมการต่างๆ มีแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เป็นที่ยุติแล้ว กล่าวคือ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน เหลือเพียงการตัดสินใจทางนโยบายเท่านั้น ซึ่งมีความล่าช้า กระทั่งนำมาสู่ปัญหาการดำเนินคดีในที่สุด
2. กระบวนการแก้ไขปัญหาของคณะทำงานระดับพื้นที่ ตามคำสั่งอำเภอคอนสารที่ 61/2548 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาราษฎรกรณีปลูกป่าทับที่ดินทำกิน เป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ทั้งนี้ พื้นที่สวนป่า อยู่ในประเภทพื้นที่อื่นๆที่สงวนหรืออนุรักษ์ไว้เพื่อกิจการป่าไม้ มีมาตรการแก้ไขปัญหาคือ “กรณีที่มีราษฎรร้องเรียนเสนอปัญหา ให้จังหวัดแต่งตั้ง คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง  โดยให้มีทั้งฝ่ายราชการ และราษฎรฝ่ายละเท่าๆกัน การตรวจสอบข้อเท็จจริงให้พิสูจน์การอยู่อาศัย ครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ให้ชัดเจนว่ามีมาก่อนหรือไม่ ราษฎรเดือดร้อนอย่างไร เคยได้รับการช่วยเหลือจากราชการมาแล้วหรือไม่  แล้วเสนอมาตรการ หรือแนวทางแก้ไขปัญหาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการ  และแนวทางของแต่ละพื้นที่ที่เป็นปัญหา ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบให้ความเป็นธรรมกับราษฎรให้มากที่สุด” นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้ตั้งข้อสังเกตให้กรมป่าไม้พิจารณาในข้อ 2.4 ความว่า “กรณีที่มีราษฎรร้องเรียนเกี่ยวกับการปลูกป่าในพื้นที่ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เช่าจากกรมป่าไม้ว่า ปลูกป่าทับที่ของราษฎร กรมป่าไม้ควรประสานกับ ออป. ให้ระงับการปลูกป่าในพื้นที่ที่มีข้อพิพาทไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติ และหากพิสูจน์ได้ว่า ออป. ปลูกป่าทับที่ราษฎรจริง ควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าไม้ที่ได้ปลูกไปแล้วจะดำเนินการอย่างไร”
3. ผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2552 เรื่องผ่อนผันให้ราษฎรได้อาศัยทำกินในพื้นที่ตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ  และครั้งที่ 1/2553 ที่รองผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ผู้แทนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อยุตินั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายต้องพิจารณาดำเนินการต่อไป 
ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาได้ข้อยุติ ควรนำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกสวนป่าคอนสาร จากนั้นให้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานการปฏิรูปทีดินเพื่อเกษตรกรรม ( สปก.) ดำเนินการปฏิรูปที่ดินแก่ราษฎรผู้เดือดร้อน หรือจัดการบริหารที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน ภายใต้แผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ยั่งยืน โดยชุมชน ต่อไป