จับตาสังคมไทยในยามที่ความขัดแย้งกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ความรุนแรง

"จากคนที่เคยคุยกันได้ทุกเรื่องกลับกลายเป็นการคุยกันได้แค่บางเรื่อง" "หลายเรื่องกลายเป็นเรื่องที่คุยกันได้แค่กับบางคน" "บางบทสนทนามีแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือเปล่า?" เสียงสะท้อนเหล่านี้ถูกยกขึ้นมาเพื่อฉายภาพความขัดแย้งในสังคมไทยที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน
ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานส่งผลให้ปัจจุบันสังคมไทยเผชิญหน้าความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเชิงกายภาพและเชิงโครงสร้าง มีการคุกคามทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมือง มีการใช้ถ้อยคำยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกันมากขึ้น และทางออกจากความขัดแย้งก็ดูจะหลุดลอยไกลออกไป
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ 'จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย' จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย" เพื่อมองหาแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่จะพอมองหาได้ในขณะนี้
สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าความเกลียดชังจากข้อมูลที่ไม่จริง
ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านนิเทศาสตร์ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ "Hate Speech" หรือ การสื่อสารให้เกิดความเกลียดชัง กล่าวเริ่มต้นงานเสวนาผ่านงานศึกษาวิจัยที่ตนเองเป็นคนทำว่า จากการศึกษาการใช้  Hate Speech  ในสังคมไทยอยู่ในระดับที่เรียกว่า เป็นการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ซึ่งจะพบมากในช่วง ความขัดแย้งทางการเมืองตอนปี 2553 
แต่ในปี 2562 ศ.ดร.พิรงรอง ตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์การใช้ Hate Speech โดยเฉพาะในพื้นที่ออนไลน์ ว่า จะปรากฎพร้อมกับ Disinformation ทางการเมือง (การให้ข้อมูลที่เป็นเท็จและไม่ถูกต้อง โดยเจตนาจะหลอกลวงและให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ) ในขณะเดียวกันสังคมไทยก็เผชิญหน้ากับภาวะ Post-truth ที่คนเลือกเชื่อความจริงในแบบที่ตัวเองต้องการจะเชื่อ และปรากฎในช่วงที่มีการเลือกตั้งปี 2562 ที่สะท้อนการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ศ.ดร.พิรงรอง ยังต้องข้อสังเกตอีกว่า Hate Speech จะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็น Echo Chamber หรือพื้นที่ของคนที่มีความคิดเหมือนกันมาแลกเปลี่ยนกันเองและและผลิตซ้ำความเชื่อซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะพื้นที่ออนไลน์ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการทำงานของโลกออนไลน์เองที่ทำให้เราเห็นแต่สิ่งที่เราชอบหรือเราอยากจะเห็น
ความเกลียดชังลดทอนความเป็นมนุษย์ให้น้อยลง
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความเกลียดชังในสังคมไม่มีความเกี่ยวข้องกับระดับการศึกษาของคน และไม่เกี่ยวข้องกับความมีเหตุและมีผลของคนเท่าไรนัก ไม่ว่าจะมีการให้ข้อมูลและเหตุผลอย่างไรก็ไม่แก้ปัญหาความเกลียดชังในสังคมได้ เพราะในความขัดแย้งทำให้คนมองไม่เห็นในสิ่งที่อีกคนหนึ่งต้องการจะสื่อสาร
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ความขัดแย้งทำให้คนตกอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกซึ่งบดบังทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้น ปรากฎการณ์ความขัดแย้งและความเกลียดชังในสังคมไทยจึงอาจไม่ใช่ความบกพร่องในการได้รับข้อมูลข่าวสาร
ข้อสังเกตหนึ่งที่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เห็นจากความขัดแย้งทางการเมือง คือ ความขัดแย้งเกิดจากการ "เลือกมอง" คนที่เห็นต่างแค่เพียงมิติเดียวหรือด้านเดียวโดยไม่สนใจมิติอื่นๆ ยกตัวอย่าง กรณีการทำร้ายร่างกาย 'จ่านิว' สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เป็นภาพสะท้อนของการมองเห็นตัวตนของนิวเพียงมุมใดมุมหนึ่ง
"เวลาเราเห็นคนเราเห็นอย่างไร ถ้าเรามองเห็นความจริง เราจะมองว่าคนคนหนึ่งเป็นองค์ประกอบของความซับซ้อนหลายอย่าง แต่ทว่าเราอยู่ในโลกที่ทำร้ายสิ่งเหล่านี้ให้เหลือมิติเดียวหมด ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มันมักจะเกิดในตอนที่เราจะทำสงครามกับคน พอเราจะทำสงครามกับคนเราก็จะลดทอนความจริงให้เหลือเพียงมิติเดียว" ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าว
"เมื่อเราเห็นคนถูกทำร้ายขนาดนี้ กลางเมืองเช่นนี้ ในที่สาธารณะเช่นนี้ เราเห็นอะไร ผมอยากจะตอบว่า สิ่งที่ผมเห็นคือ ผมเห็นความป่าเถื่อน และมันไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับสิรวิชญ์ มันเกิดขึ้นกับใครก็ได้" ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าว  
ความเกลียดชังในสังคมไทยต้องมีกลไกกำกับควบคุมไม่ให้ลุกลาม
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ทางออกจากความขัดแย้งที่มองเห็นได้ในตอนนี้ มีอยู่อย่างน้อย 2 ทาง ทางเลือกแรก คือ การสร้างเครือข่ายการป้องกันพลเรือนโดยปราศจากอาวุธ เช่น การสร้างการรวมกลุ่มของคนที่เห็นต่างกัน หรือที่เรียกว่า Non Violence accompaniment ซึ่งอาจจะไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนหรือภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่รวมไปถึงสภาที่จะสร้างโครงการให้คนเห็นต่างมีจุดร่วมบางอย่างร่วมกัน
ทางเลือกที่สอง คือ การออกกฎหมายควบคุมข่าวลวงบนโลกออนไลน์อย่างในประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีข้อถกเถียงเยอะ แต่กลไกการทำงานคือการค้นหาต้นตอของข่าวว่ามีความเกลียดชังอยู่หรือไม่ และหาวิธีไปจัดการ ดังนั้น เราต้องมาถกเถียงกันว่าถ้าจะมีกลไกแบบนี้ มีอะไรที่เรายอมถอยให้กันได้บ้างโดยไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพจนเกินไป โดยเหตุผลที่ต้องทำแบบนี้ เพราะต้องยอมรับว่าความเกลียดชังมีลักษณะพิเศษคือ "ส่งต่อกันได้"
  
ความรุนแรงจากความเห็นต่างสะท้อนภาวะอดทนอดกลั้นต่ำ
รศ.ดร.ฉันทนา บรรพสิริโชค หวันแก้ว ผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยในปัจจุบัน มีความน่ากังวลที่จะต้องจับตาเพราะเป็นความรุนแรงที่มีรูปแบบอย่างชัดเจน แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงตอบโต้กันไปมาจากความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่รับได้ แต่ปัจจุบันมีการทำร้ายร่างกายอย่างเป็นระบบและบ่อยครั้ง
รศ.ดร.ฉันทนา กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจและน่ากังวลยิ่งไปกว่านั้นคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกำลังจะกลายเป็น "ใบอนุญาต" ในการทำร้ายร่างกายคนที่เห็นต่างทางการเมืองหรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้นสังคมไทยจะตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
รศ.ดร.ฉันทนา กล่าวว่าหลักพื้นฐานของการแก้ไขความขัดแย้งมีอยู่ 4 ข้อ ได้แก่ การไม่ใช้ความรุนแรง การสร้างความไว้วางใจ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการอดทนอดกลั้นต่อกัน ซึ่งมีข้อสังเกตว่าการทำร้ายร่างกายคนที่เห็นต่างทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาจากการขาดความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่างทั้งต่างไปจากตัวเองหรือต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคม
รัฐต้องป้องกันไม่ให้เกิดใบอนุญาตใช้ความรุนแรงกับคนทีเห็นต่าง
สำหรับทางออกที่ รศ.ดร.ฉันทนา พอจะมองเห็นก็คือ ในระยะสั้น ในกรณีที่มีการทำร้ายร่างกายกัน สิ่งที่ต้องทำคือการใช้กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเมื่อเป็นอาชญกรรมที่เกิดจากความขัดแย้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมต้องชัดเจนและมีประสิทธิภาพ หากความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีรูปแบบ หน่วยงานของรัฐต้องมาเฝ้าระวังมิเช่นนั้นความรุนแรงจะขยายตัว
สิ่งที่ต้องทำต่อมาในสายตาของ รศ.ดร.ฉันทนา คือ ต้องป้องกันไม่ให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนำไปสู่การมีใบอนุญาตใช้ความรุนแรงที่เห็นต่าง รวมถึงต้องมีการพัฒนาการสื่อสารเพื่อลดความเกลียดชังหรือสร้างความเกลียดชัง โดยอาจจะเป็นหน้าที่ของสื่อหรือกลุ่มทางสังคมสามารถเข้ามาเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลและลดความขัดแย้ง
"ถ้าถามว่าใครที่จะเป็นคนรับผิดชอบเรื่องความยุติธรรมในกรณีการทำร้ายร่างกายคนที่มีสาเหตุมาจากทางการเมือง การบอกว่ารัฐมาแก้ปัญหามันง่าย แค่ผลักออกไปจากตัว แต่สิ่งที่ต้องถามต่อคือรัฐอะไรที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนที่จะมาทำเรื่องนี้ ถ้าเขาไม่รู้สึกต้องรับผิดชอบต่อประชาชนเลยก็เป็นเรื่องยาก" รศ.ดร.ฉันทนา กล่าวทิ้งท้าย