เปิด 10 งานวิชาการ บอกเล่าเรื่องราวยุค คสช.

เชื่อเหลือเกินว่าหากคุณติดตามเหตุการบ้านเมือง ตลอดครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ชื่อของคณะรัฐประหารนามว่า คสช. ย่อมเป็นตัวละครหลักๆที่ปรากฎในทุกหน้าฉากการเมืองไทย
ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 มีการประกาศกฎอัยการศึก อย่างเป็นทางการ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ จากนั้นมีการนำกำลังทหารพร้อมอาวุธ เข้าควบคุมพื้นที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเหตุการณ์วันนั้นเอง นำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งของประเทศไทยในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่นำโดยทหาร ข้าราชการ และพลเรือนส่วนหนึ่งก็เริ่มก่อรูปร่างสถาปนาตัวเองเป็นคณะปกครอง ก่อนจะตั้งรัฐบาล และใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ผู้คนมักจดจำได้แต่มาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้าคสช.ไว้อย่างเต็มมือ 
นอกจากนั้น กระบวนการออกคำสั่งที่มีทั้ง คำสั่งและประกาศ คสช. ดูจะกลายเป็นกฎหมายกลายๆ ที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม บางคำสั่งบางประกาศถูกวิพากวิจารณ์ว่ามีเนื้อหาสาระที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว การเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร หรือการห้ามชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมือง ขณะเดียวกันกลวิธีที่ปรามผู้ที่คิดเห็นแตกต่างจาก คสช. ก็ถูกนำมาใช้อยู่ตลอดนั่นก็คือ การปรับทัศนคติ การไปเยี่ยมบ้านหรือติดตามบุคคลที่ถูกมองว่ามีความคิดเป็นภัยต่อการควบคุมสถานการณ์การเมืองของ คสช. 
ด้วยเชื่อในหลักสิทธิเสรีภาพการแสดงออก  สิ่งที่ไอลอว์ทำมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาคือ การเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัว /จับกุม/ ถูกพรากเสรีภาพ และทำบันทึกเป็นตัวเลขเชิงสถิติไว้เพื่อประมวลสิ่งที่เกิดขึ้นและจับตาเฝ้าระวังการใช้อำนาจที่อาจคุกคามประชาชน ทุกปีเมื่อครบรอบ 22 พฤษภาคม เราจะออกรายงานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เราจัดเก็บมา และผูกเป็นธีมที่แปลกต่างกันออกในแต่ละปีว่า ปีนี้เรื่องไหนเด่น ปีนั้นเรื่องอะไรที่ไม่พูดถึงไม่ได้ 
ปีนี้พิเศษกว่าปีที่ผ่านๆมา ข้อมูลและสถาการณ์ที่เคยนำเสนอเราก็ยังพอมีมาบอกเล่า แต่อยากเพิ่มเติมและชวนย้อนไปดูบทเรียนสิ่งที่เกิดขึ้นในยุค คสช. ด้วยการไปค้นและคัดสรร งานวิชาการ ที่พอจะบอกเล่าสถานการณ์ในประเทศช่วงที่คณะปกครองนี้ยังอยู่และมีท่าทีว่าจะสืบทอดอำนาจไปอีกระยะ  
เปิด 10 งานวิชาการ บอกเล่าเรื่องราวยุค คสช. ชิ้นนี้ จะเป็นบทเปิดชุดรายงาน 5 ปี คสช. ที่จะออกมาเร็ววันนี้ และเราก็อยากย้ำว่าเชื่อเหลือเกินว่า วิทยานิพนธ์ งานวิจัยอิสระ และบทความ เหล่านี้จะทำหน้าที่ยืนยันและแอบอิงไปกับสิ่งที่ คสช. ทำไว้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ 
 
วิทยานิพนธ์นี้ ศึกษาเรื่อง “การวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ” 
โดยชี้ให้เห็นว่า วาทกรรมความชอบธรรมของรัฐบาล ประกอบด้วย ประเด็นการเข้ารับตำแหน่งเพื่อบริหารและวางรากฐานของประเทศ การโน้มน้าวให้ประชาชนมีส่วนร่วม การดำเนินการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลในอดีต และการนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน 
สะท้อนความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลทหารจะบริหารประเทศจนนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ทั้งยังแฝงด้วยการสร้างความชอบธรรมด้วยวิธีการต่าง ๆ 
เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนมีส่วนร่วม วาทกรรมการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย ประเด็นการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ควรเคารพยกย่อง สะท้อนถึงความต้องการธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ 
และการนำเอาสถาบันเบื้องสูงมาสร้างความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร วาทกรรมการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ประกอบด้วย ประเด็นประชาชนควรร่วมมือกับรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น 
รัฐบาลมีความพยายามในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น สะท้อนความความตั้งใจของรัฐบาลเพื่อขจัดปัญหาทุจริตให้หมดไปจากสังคมไทย วาทกรรมการบังคับใช้กฎหมาย 
ประกอบด้วย ประเด็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 และการดำเนินคดีกับบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย สะท้อนความต้องการให้ประชาชนเคารพเกรงกลัวกฎหมาย พร้อมทั้งเชื่อมโยงให้เห็นถึงคดีความที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้านวิถีปฏิบัติทางวาทกรรม ประกอบด้วย กระบวนการสร้างตัวบท สะท้อนการเป็นผู้นำที่ใช้อำนาจรัฐสั่งการจนเกิดกระบวนการผลิตวาทกรรมที่แฝงไปด้วยอุดมการณ์สื่อสารไปยังประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรม และกระบวนการบริโภคตัวบท 
ยังสะท้อนระบบความคิดผู้รับสาร มีทั้งที่คล้อยตามและไม่คล้อยตาม อันเนื่องมาจากการตีความบนพื้นฐานประสบการณ์ความเชื่อที่ต่างกัน ส่วนวิถีปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรม 
ประกอบด้วย ปัจจัยด้านสภาพการณ์ทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ เป็นบริบทของสังคมช่วงก่อนและหลังการควบคุมอ านาจของ คสช. ซึ่งถือได้ว่าเป็นเหตุให้เกิดการผลิตตัวบทในวาทกรรมผ่านวิถีปฏิบัติทางวาทกรรม 
เป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างวาทกรรมกับบริบทของสังคม การศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ยึดถือหัวใจสำคัญของการวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์ตาม แนวทางนอร์แมน แฟร์คลัฟ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างวาทกรรมกับบริบทของสังคม ด้วยสังคมไทยบอบชำจากความขัดแย้งในทุกมิติทำให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องสร้างตัวบทในวาทกรรมเพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปประเทศ 
ทั้งยังเป็นกระจกเงาสะท้อนการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร อันจะต้องสร้างแรงสนับสนุนและความเชื่อ ความศรัทธาจากประชาชนทุกฝ่ายโดยอาศัยการสื่อสารผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ
 
 
บทเพลงของ คสช. สามารถตีความทางสัญวิทยาและอ่านความหมายจากแนวคิดที่สอดคล้องกับอุดมการณ์หลักดังนี้ 
มายาคติแห่งชาตินิยม ประกอบไปด้วย 1) มีความเป็นไทย โดยแสดงให้เห็นถึงลักษณที่ดีของคนไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ศิลปวัฒนธรรมที่มีการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ความภาคภูมิใจ การเห็นคุณค่าและประชาชนต้องร่วมกันอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาไทยเพื่อมิให้สูญหาย 2) มีความรักชาติ ยึดมั่นในศาสนา และเทิดทูนพระมหากษัตริย์ โดยมีสัญญะที่แสดงให้เห็นถึงการปกป้องพิทักษ์รักษา เทิดทูน เห็นคุณค่าและแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในความเป็นชาติอย่างเปี่ยมล้น 
มายาคติแห่งอำนาจนิยม ประกอบไปด้วย 1) มีความปรองดอง สมานฉันท์ อันเป็นพันธกิจหลักในการเข้าควบคุมอำนาจของ คสช. สัญญะของบทเพลงส่วนใหญ่มุ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความรัก ความสามัคคีภายในชาติบ้านเมือง หากประชาชนมีความรักซึ่งกันและกัน ย่อมเชื่อได้ว่าสังคมจะก้าวข้ามความขัดแย้งที่ผ่านมาได้ 2) ความมีวินัยในตนเอง สื่อให้เห็นถึงคุณค่าของความมีวินัยในตนเองของประชาชน อันจะทำให้เกิดการกระทำสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคม 
และ มายาคติแห่งชนชั้น ประกอบไปด้วย 1) มีความเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยสื่อให้เห็นถึงความสำคัญในความเข้าใจลักษณะของพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตยของไทย การเคารพกติกากฎระเบียบของสังคม รวมไปถึงยอมรับในระดับทางสังคมตนเองและปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มกำลังความสามารถ
บทเพลงที่วิทยานิพนธ์เล่มนี้ศึกษา ประกอบไปด้วย บทเพลงประเภทเสียง จำนวน 2 เพลง ได้แก่ เพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย และเพลงเพราะเธอคือประเทศไทย บทเพลงประเภทภาพและเสียง จำนวน 3 เพลง ได้แก่ เพลงก้าวข้ามเพื่อตามฝัน เพลงธงชาติ และเพลงค่านิยม 12 ประการ 
 
งานเล่มนี้ ศึกษาบทบาทการกำกับดูแลเนื้อหารายการข่าวของผู้ประกอบการสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรกำกับดูแลที่เป็นอิสระของรัฐในโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำกับดูแลเนื้อหารายการข่าว ตลอดจนแสวงหาแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงการกำกับดูแลเนื้อหารายการข่าวในโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล
โดยรวบรวมข้อมูลด้วยการวิจัยเอกสาร ประกอบกับการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลการวิจัยพบว่า การกำกับดูแลเนื้อหารายการข่าวในโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล 
โดยองค์กรกำกับดูแลของรัฐในช่วงของการปกครองภายใต้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)ให้ความสำคัญกับเนื้อหาด้านการเมืองเป็นลำดับแรก โดยใช้ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 ควบคู่ไปกับการใช้มาตรา 37 แห่ง พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 
นอกจากนี้พบว่าในส่วนของการกำกับดูแลกันเอง ทั้งในระดับองค์กรสื่อและระดับสภาวิชาชีพ/องค์กรวิชาชีพข่าวยังคงมีลักษณะที่ไม่เข้มแข็งและปรากฏการออกอากาศเนื้อหาข่าวที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง จึงควรส่งเสริม กระบวนการกำกับดูแลเนื้อหาและกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นประกอบกับการบังคับใช้มาตรการทางจริยธรรมอย่างเคร่งครัด
ผู้วิจัยเสนอแนะว่าประเทศไทยควรส่งเสริมบทบาทกำกับดูแลกันเองให้เข้มแข็ง ส่งเสริมองค์กรกำกับดูแลกันเอง มีกระบวนการกำกับดูแลเนื้อหาและกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ และบังคับใช้มาตรการทางจริยธรรมอย่างเป็นรูปธรรม สร้างการรับรู้ต่อสาธารณะและสร้างศรัทธาให้เกิดในองค์กรวิชาชีพสื่อว่ามีประสิทธิภาพจริงในการกำกับดูแลกันเอง
 
รัฐบาล-คสช. มีนโยบายการดำเนินการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยกำหนดเป็น ROAD MAP เรื่องการสร้างความปรองดองเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ขั้นตอน โดยขั้นที่ 1 นั้นเป็น “ขั้นการยุติความขัดแย้งเพื่อเตรียมการสร้างความปรองดองสมานฉันท์” และมีการขับเคลื่อนมาตรการสร้างความปรองดองโดยจัดตั้งศูนย์การปรองดองสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปทั้งในส่วนกลาง และให้ครอบคลุมในระดับทุกพื้นที่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด
นอกจากนี้ ยังมีการสั่งการให้ทุกหน่วยงานจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติซึ่งจัดขึ้นโดยหน่วยงาน และกระทรวงต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และคสช. ทั้งนี้ ลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับการสร้างความปรองดองตามแนวทางยุติธรรมในระบบเปลี่ยนผ่าน (Transition Justice) อันเป็นแนวทางที่มีการใช้แก้ไขความขัดแย้งในต่างประเทศที่ได้ผลมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการสร้างความปรองดองดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากแต่ยังคงต้องอาศัยระยะเวลาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้ครบองค์ประกอบ เช่น ด้านการนิรโทษกรรมที่เป็นไปตามหลักความยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย เพื่อให้ความปรองดองนั้นเกิดขึ้นอย่างไม่มีเงื่อนไขและยั่งยืน 
ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยที่แต่ละรัฐบาลในขณะนั้นได้ตั้งขึ้นหลายองค์คณะ ซึ่งล้วนมีผลงานวิจัยที่เสนอผลสะท้อนความจริงของความขัดแย้งได้ดียิ่ง จึงควรนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมกับสังคมไทย ประการสำคัญ การปรองดองต้องสามารถตอบโจทย์ของปัญหาที่เป็นแก่นแท้ของความขัดแย้งได้อย่างตรงจุด ความปรองดองจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
 
 
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเกี่ยวกับมาตรการตามกฎหมายที่รัฐนำมากำกับดูแลหรือควบคุมเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยพิเคราะห์บทบัญญัติมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่องค์กรหรือหน่วยงานควบคุมกำกับของรัฐมักจะนำมาปรับใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพ ของสื่อกระจายเสียงและสื่อโทรทัศน์อยู่หลายครั้งหลายคราว และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557
ที่มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการดำเนินงานของสื่อมวลชน กอปรกับการวิเคราะห์แนวทางการจัดการเรื่องร้องเรียนเพื่อออกคำสั่งลงโทษทางปกครอง
โดยองค์กรหรือหน่วยงานควบคุมกำกับของรัฐ เพื่อแสวงหาข้อบกพร่องและปัญหาต่างๆ ของการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมาย ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขข้อบกพร่องและปัญหาต่างๆ นั้น
จากการศึกษาพบว่า การบังคับใช้มาตรการตามบทบัญญัติมาตรา 37 มีผลกระทบอย่าง
ร้ายแรงต่อเสรีภาพของสื่อกระจายเสียงและสื่อโทรทัศน์ และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหลังจากที่มาตรการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 มีผลใช้บังคับ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายโดยองค์กรหรือหน่วยงานควบคุมกำกับของรัฐมีความเคร่งครัดและเข้มงวดเป็นอย่างมาก
และไม่คำนึงถึงสิทธิในเสรีภาพของสื่อมวลชนเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาสำคัญที่เห็นได้ชัด คือ ความผิดพลาดขององค์กรหรือหน่วยงานควบคุมกำกับของรัฐในการใช้ดุลพินิจวินิจฉัย ถ้อยคำและเจตนารมณ์ในบทบัญญัติแห่งกฎหมาย 
โดยที่ยังไม่สามารถหาแนวทางหรือมาตรฐาน ที่ชัดเจนได้ ส่วนการจัดการเรื่องร้องเรียนเพื่อออกคำสั่งลงโทษทางปกครองนั้นพบว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เป็น “เงื่อนไขแห่งความชอบ
ด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครอง” และมีการใช้ดุลพินิจตัดสินใจกำหนดโทษทางปกครองโดยไม่ เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งกรณีที่เกิดขึ้น
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น องค์กรหรือหน่วยงานควบคุมกำกับของรัฐควรบังคับใช้มาตรการตามบทบัญญัติมาตรา 37 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่97/2557 และฉบับที่ 103/2557 เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามหลักความพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งอาจให้ความสำคัญกับการบังคับใช้มาตรการอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนด
ไว้ก่อน 
หรือให้ความไว้วางใจแก่องค์กรวิชาชีพโดยการส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองตามมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพก่อนที่จะมีการควบคุมกำกับ
โดยภาครัฐประกอบกับการส่งเสริมหลักการรู้เท่าทันสื่อให้แก่ประชาชนโดยทั่วกัน นอกจากนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรหรือหน่วยงานควบคุมกำกับของรัฐควรดำรงตนอยู่ในฐานะที่เป็น “องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ” และปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น ควรดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้มีความทันสมัย โดยลดอำนาจดุลพินิจขององค์กรหรือหน่วยงานควบคุมกำกับของรัฐลง แต่ทำให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างบรรยากาศของการควบคุมกำกับเนื้อหารายการ
 
 
การใช้อำนาจออกกฎหมายในรูปแบบคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเอื้อให้การดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศของรัฐบาลสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น โดยที่คำสั่งเหล่านี้ไม่สอดคล้องต่อสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี ดังนี้
1) กลุ่มคำสั่งที่มีแนวโน้มละเมิดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 47/2560 ซึ่งเป็นกลุ่มคำสั่งที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร ตลอดจนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 31/2560 ซึ่งเป็นคำสั่งที่มีสาระสำคัญในการอนุญาตให้มีการประกอบกิจการปิโตรเลียมได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
2) กลุ่มคำสั่งที่ละเมิดสิทธิการมีส่วนของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 
ก) คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 17/2558 ที่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องและเพียงพอในการดำเนินการจัดหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ข) คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2559 เป็นการอนุญาตให้มีการดำเนินการสรรหาผู้รับเหมาโครงการในขณะที่กระบวนการวิเคราห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่แล้วเสร็จนั้น ถือได้ว่าเป็นการละเลยหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจของรัฐได้ในทุกขั้นตอน
ค) คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 47/2560 เป็นการลดทอนคุณค่าการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง
3) กลุ่มคำสั่งที่ละเมิดสิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ คำสั่งคสช. ที่ 64/2557 คำสั่งคสช. ที่ 66/2557 คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2558 และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 17/2558 ซึ่งเป็นกลุ่มคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินของรัฐ พบว่ารัฐมีการดำเนินการเร่งรัดเวนคืนที่ดินโดยมิได้ตระหนักอย่างรอบด้านส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถเข้าไปทำกินและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจากที่ดินสาธารณประโยชน์ดังเดิมได้ 
ดังนั้น ในการที่จะคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนให้บรรลุผล รัฐจึงควรพิจารณารับรองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และส่งเสริมสนับสนุนสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในกระบวนการกำหนดนโยบายและออกกฎหมาย ตลอดจนควรมีการทบทวนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่อาศัยอำนาจมาตรา 44 ซึ่งเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนในวงกว้างให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
 
 
ผลการศึกษาพบว่าการเมืองไทยภายหลังรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 มีลักษณะเป็นการเมืองแบบรัฐราชการ โดยอาศัยระบบราชการเป็นตัวแสดงที่สำคัญในกระบวนการนโยบาย ทั้งการเสนอนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ สถาบันภายนอกระบบราชการ พรรคการเมือง ภาคประชาชนจำกัดบทบาททำให้ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้  อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง ทำให้การกลับมามีบทบาทนำอีกครั้งของรัฐราชการ ไม่สามารถดำรงรูปแบบเดิมได้ 
รัฐราชการภายหลังรัฐประหาร 2557 มีลักษณะสำคัญคือ 1.ใช้เครื่องมือทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อผนวกรัฐราชการให้อยู่ในโครงสร้างที่เป็นทางกาของระบบและสถาบันทางการเมือง 2.เป็นการผนึกกำลังระหว่างรัฐราชการกับกลุ่มทุนใหญ่เพื่อเอื้อประโยชน์และค้ำจุนกันและกันอย่างชัดเจน 3.ใช้พลังของระบบราชการฝ่ายทหารควบคุมระบบการเมืองโดยมีพลังของระบบราชการคอยสนับสนุน
 
นับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง รวมทั้งสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวในเชิงตรวจสอบรัฐบาลถูกเรียกรายงานตัว และควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร การกระทำในลักษณะนี้ถูกเรียกขานกันในสังคมว่า “การปรับทัศนคติ” 
การเรียกบุคคลไปปรับทัศนคติอาศัยความชอบธรรมทางกฎหมาย ผ่านกฎอัยการศึก และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ที่ให้อำนาจ คสช. ควบคุมตัวประชาชนได้ถึง 7 วัน กระบวนการปรับทัศนคติของ คสช. มี 8 ขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่ 1)การเรียกรายงานตัว/ควบคุมตัว 2)การเดินทาง 3)การตรวจร่างกาย/ทำประวัติ 4)การควบคุมตัวในค่ายทหาร 5)การรับประทานอาหาร 6)การพูดคุย/การสอบสวน 7)การปล่อยตัว 8)หลังการปล่อยตัว 
ในประเด็นด้านผลกระทบที่เกิดจาการปรับทัศนคติของ คสช. พบว่า การปรับทัศนคติส่งผลกระทบที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ถูกปรับทัศนคติ เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองถูกจำกัด และส่งผลกระทบต่อระบบยุติธรรม
 
ศึกษา วิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่เป็นเหตุในการทำรัฐประหาร การอ้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร บทบาทของทหารในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง 
พยว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมีสาเหตุจากรัฐบาลพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ทำให้หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยจึงเป็นเหตุให้มีการชุมนุมประท้วงกดดันรัฐบาลจนนำไปสู่ความวุ่นวาย จนในที่สุดทหารก็ออกมาทำรัฐประหาร โดยใช้เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมาอ้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร นอกจากนี้บทบาทของทหารในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ปรับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์บ้านเมือง โดยอาศัยเหตุการณ์และบริบทที่เกิดขึ้นในสังคมปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองจนสามารถก้าวเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองด้วยการทำรัฐประหารได้ 
 
 
บทเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทยมีการใช้กลวิธีทางภาษาและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในการสร้างความเข้าใจ และการให้ความมั่นใจในการกำกับและควบคุมพฤติกรรมของประชาชนในสังคมด้วยกลวิธีต่างๆ อันประกอบไปด้วย
1) กลวิธีทางศัพท์ เพื่อแสดงสภาพและระดับความสัมพันธ์ ตลอดจนความสำคัญในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของผู้ร่วมสื่อสาร
2) กลวิธีทางวัจนปฏิบัติศาสตร์และวามกรรมเพื่อสื่อความถึงนัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ปรากฏมาก่อนหน้าและเป็นการแฝงเจตนาของผู้ส่งสารในตัวบทด้านความคิดเห็นและความคาดหวัง รวมถึงตอกย้ำให้ผู้รับสารเกิดความมั่นใจในความมั่นคงปลอดภัย 
3) กลวิธีทางวาทศิลป์ โดยใช้บทประพันธ์ซึ่งต้องอาศัยคุณสมบัติทางเสียงและถ้อยคำมาร้อยเรียงให้เกิดความไพเราะ อันเป็นกลวิธีที่ทำให้ผู้รับสารจดจำได้ง่ายและมีความคงทน