ส.ว.แต่งตั้ง: เริ่มโดยคสช. เลือกโดยคสช. เพื่อสืบทอดอำนาจให้ คสช.

หลังจากการประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ พอจะเห็นแล้วว่าสัดส่วนของ ส.ว. มีทั้งอดีตคนที่เคยร่วมงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อนร่วมรุ่น คนใกล้ชิดกับ คสช. รวมถึง พลเอก ปรีชา จันทร์โอขา น้องชายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.

 

คงไม่ใช่เรื่องยากอะไร หากเพราะจุดเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ  2560 ได้ร่างขึ้นโดย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ กับคณะบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นโดย คสช. ก็ได้เขียนเรื่องการสรรหา ส.ว. เอาไว้ในรัฐธรรมนูญว่า คณะกรรมการที่จะมาดำเนินการสรรหา ส.ว. แต่งตั้งโดย คสช. แม้จะมีระบบการสรรหา ส.ว. สองแบบทั้งมาจากกลุ่มอาชีพ และให้คณะกรรมการสรรหาฯ เป็นคนเลือก แต่ท้ายที่สุด คสช. ก็จะเป็นคนเลือกเองทั้งหมด 250 คน

 

ทว่าการเลือก ส.ว. เป็นเพียงแค่ประตูด่านแรกเท่านั้น เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังระบุอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ชุดนี้เอาไว้ โดยมีบทบาทสำคัญอย่างมาก จนอาจทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน “ไร้ความหมาย” 

 

ส.ว. แต่งตั้ง ตัวแปรหลักเลือกนายกรัฐมนตรี-เปิดทางนายกคนนอก

 

อย่างที่พอจะทราบกัน และจะได้เห็นในเร็ววันนี้ก็คือ “อำนาจในการยกมือเลือกนายกรัฐมนตรี” ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ประชาชนเลือกมา ตามมาตรา 272 ในบทเพาะกาล ระบุว่า ใน 5 ปีแรกการเลือกนนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น "การประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา" ทำให้ ส.ว. มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย  

 

ทั้งนี้ บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือ 376 เสียง ซึ่งจำนวน ส.ว. ก็นับเป็น 1 ใน 3 ของทั้งสภาแล้ว ขณะที่พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งก็ยากที่จะได้เสียงข้างมาก หรือที่นั่ง ส.ส. เกิน 250 ที่นั่ง เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA ได้สร้างวิธีการคำนวนที่นั่ง ส.ส. ที่จะทำให้พรรคการเมืองเดียวยากที่จะได้ที่นั่งมากเกินครึ่งของสภา ดังนั้น หากพรรค ส.ว. 250 คน + เสียงของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคที่สนับสนุน คสช. เพียง 126 คน ก็สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี ได้อย่างไม่ยากอะไร

 

อย่างไรก็ดี ตามมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ วรรคสองยัง ระบุว่า “ในระหว่าง 5 ปี หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีช่ืออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของท้ังสองสภารวมกัน จํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อท่ีพรรคการเมือง" 

 

ซึ่งหมายความว่า หาก ส.ว.ไม่พอใจรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอรายชื่อมา ก็สามารถเปิดทางให้เกิด “นายกคนนอก” โดยร่วมกับ ส.ส อีก 126 คน ขอไม่เลือกนายกรัฐมนตรีได้ จากนั้นก็จะต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 500 คนในการเสนอชื่อ “นายกคนนอก” และใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 376 ลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนึง

 

รัฐธรรมนูญ แก้ไม่ได้ หากไร้เสียง ส.ว.

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นประเด็นสำคัญที่พรรคการเมืองแทบจะทุกพรรค และประชาชนต้องการให้มีการแก้ไข แต่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะมีการวางเงื่อนไขสำคัญเอาไว้ใน มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560  ที่กำหนดหลักเกณฑ์ของการแก้รัฐธรรมนูญว่า ในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ จะต้องใช้เสียง ส.ว. ร่วมด้วย โดยมีเงื่อนไขพ่วงด้วยว่าเสียงเกินครึ่งหนึ่งขึ้นไปจากสองสภา และต้องมี ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด (250 คน) นั่นก็คือ 84 คน ดังนั้นต่อให้ ส.ส.ทั้งสภาเห็นด้วย แต่มี ส.ว. เห็นด้วยไม่ถึง 84 คน ไม่เอาด้วยก็ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไม่ได้ 

 

และเมื่อผ่านมาจนถึงวาระที่สาม ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายก็ยังกำหนดว่า “จะต้องใช้เสียงอีกกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา” เพื่อผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าจะต้องมีเสียงของ ส.ว. ด้วย ซึ่งหาก ส.ว. ที่มาจากการเลือกของ คสช. ไม่ยินยอม ก็เท่ากับว่าไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ

 

สภาตรายางสอง – ส.ว. รวบอำนาจผ่านกฎหมายปฏิรูปประเทศ 

 

หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว รัฐบาลจะต้องบริหารประเทศ ภายใต้ หมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การปฏิรูปประเทศต้องมีการดำเนินงานที่สัมฤทธิ์ผลภายใน 5 ปี ซึ่งในหมวดนี้เองได้ระบุถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศเอาไว้ถึง 11 ด้าน ครอบคลุมเรื่องการพัฒนาประเทศที่กว้าง ยากจะตีความได้ว่าอะไรไม่ใช่การปฏิรูปประเทศ อย่างเช่น การเมือง การศึกษา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ การถือครองที่ดิน และระบบหลักประกันสุขภาพ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศเอาไว้ จนเรียกได้ว่า เข้ามาคุมเองเกือบทั้งหมด

 

ในมาตรา 270 ในบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจเร่งรัด และติดตามการดำเนินงานปฏิรูปประเทศ ตามหมวด 16 ให้สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ทว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่วรรค 2 ที่กำหนดว่า ในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศให้เป็น "การพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา" นั่นหมายความว่า  ส.ว. จะเข้ามามีบทบาทในการ "ร่วมพิจารณา" กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

ด้วยเสียงของ ส.ว. ที่มากถึง 250 คน ทำให้ ส.ว. กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ เกือบครึ่งหนึ่งของสภา โดยใช้เสียง ส.ส. อีก 126 เสียง ก็จะสามารถผ่านกฎหมายฉบับนั้นได้ โดยแทบจะไม่ต้องพึ่ง ส.ส. ส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเลย

 

นอกจากนี้ มาตรา 270 วรรค 3 ยังกำหนดไว้ว่า การเสนอกฎหมายใดๆ คณะรัฐมนตรีจะต้องแจ้งต่อประธานรัฐสภาว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ หากคณะรัฐมนตรีเสนอกฎหมายโดยไม่ได้แจ้งว่าเกี่ยวข้อง แต่ ส.ส. หรือ ส.ว. เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาวินิจฉัยได้ หากประธานรัฐสภาวินิจฉัยแล้วว่า เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ส.ว. ก็จะมีอำนาจเข้ามาร่วมยกมือผ่านกฎหมายนั้นได้