หลายเหตุผล คนดัง ยังไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.

ผ่านไปแล้วกับการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และกติกาต่างๆ ที่ คสช. เขียนขึ้น ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่นี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียให้ได้เรียนรู้กันหลายประการ หากพิจารณาผลการเลือกตั้งเพึยงแค่ว่า ใครได้จัดตั้งรัฐบาล อาจยังไม่เห็นถึงการทำงานของระบบกลไกชุดนี้มากนัก แต่หากพิจารณาผลการเลือกตั้งลงรายละเอียดขึ้นก็จะพบการทำงานของกลไกใหม่ๆ ที่ทำให้ได้ผลการเลือกตั้งออกมา 
เมื่อ กกต. ประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการออกมา ปรากฏว่า แกนนำคนสำคัญของบางพรรคการเมือง, อดีต ส.ส. หลายสมัย, คนที่มีชื่อเสียงก่อนและระหว่างการเลือกตั้งจำนวนมาก กลับไม่ได้รับคะแนนเสียงมากพอให้ได้ที่นั่ง ส.ส. หรือ "สอบตก" ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และมีแนวโน้มสูงว่า จะไม่มีที่นั่งในสภาชุดใหม่ หลายคนก็แพ้เพราะความนิยมและปัจจัยที่พลิกผันทางการเมือง ส่วนบางคนก็ต้องออกจากสนามการเลือกตั้งไปด้วยเหตุผลหลากหลายที่ต่างกัน เมื่อพิจารณาเหตุที่ทำให้คนมีชื่อเสียงเหล่านี้ไม่ได้กลับเข้าสภา ก็อาจจะช่วยให้เห็นกลไกต่างๆ ที่ถูกวางไว้ในระบบนี้ได้ชัดขึ้น และเห็นภาพความพิกลของการเลือกตั้งภายใต้ คสช. ได้ชัดขึ้น
สุดารัตน์ – ชัยเกษม – เฉลิม พรรคเพื่อไทยไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์เลย
ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปรากฏออกมาว่า พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. มากที่สุด คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ ส.ส. จากระบบแบบแบ่งเขตทั้งหมด แต่ไม่ว่า จะคำนวนหาจำนวน ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อด้วยสูตรคำนวนแบบไหน พรรคการเมืองนี้ก็ไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว ซึ่งก็เป็นผลมาจากการออกแบบสูตรคำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อขึ้นใหม่ โดยฝีมือของคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เรียกชื่อว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือระบบ MMA
การคำนวนที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อในระบบ MMA จะต้องหาจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงจะมีได้ และนำไปลบกับจำนวน ส.ส. จากระบบแบ่งเขตที่พรรคนั้นได้ไปแล้ว จึงจะเป็นจำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น เท่ากับว่า ยิ่งพรรคการเมืองใดชนะในระบบแบ่งเขตได้มาหลายที่นั่ง ก็ยิ่งจะได้จำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อน้อยลง หรือเป็นระบบที่คิดค้นมาเพื่อทำลายพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ให้ไม่มีพรรคใดสามารถครองที่นั่งจำนวนมากในสภาได้อย่างง่ายดาย เว้นเสียแต่ว่า จะชนะการเลือกตั้งชนิด "ถล่มทลาย" จริงๆ
แต่เนื่องจากพรรคเพื่อไทยลงสนามเลือกตั้งในครั้งนี้โดยการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเพียง 200 จาก 350 เขต คนอีก 150 เขตที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันก็ไม่สามารถลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองนี้ได้เลย ทำให้คะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคเพื่อไทยไม่ได้คิดจากฐานผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ทำให้คะแนนดิบที่พรรคเพื่อไทยได้รวมทั้งประเทศเมื่อนำมาคำนวนรวมกันแล้วก็ยังไม่เพียงพอให้พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อเลยแม้แต่ที่นั่งเดียว ผลมาจากการวางหมากทางการเมืองที่ผิดพลาด รวมทั้งผลพวงโดยตรงจากระบบ MMA ที่แสดงอิทธิฤทธิ์ของมันให้เห็นอย่างชัดเจน ทำให้แกนนำคนสำคัญของพรรค รวมทั้งว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค และบุคคลสำคัญๆ ของพรรคล้วน "สอบตก" ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้  
ตัวอย่างเช่น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคและผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สมัครในบัญชีว่าที่นายกฯ, ชัยเกษม นิติศิริ ผู้สมัครในบัญชีว่าที่นายกฯ, ภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรค, เสนาะ เทียนทอง กุนซือรุ่นเก๋า, เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงและประธานการปราศรัยในการหาเสียงของพรรค, พงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตมือกฎหมายพรรคไทยรักไทย และโฆษกประจำตัวของทักษิณ ชินวัตร ฯลฯ 
ดูเรื่องสูตรคำนวนปาร์ตี้ลิสต์ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5059
อุตตม, สนธิรัตน์, กอปรศักดิ์, สุวิทย์ ขาดคุณสมบัติไม่ได้ลงสมัคร 
แกนนำพลังประชารัฐสี่คนที่ร่วมกันก่อพรรคตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาล คสช. และขับเคลื่อนพรรคมาด้วยกัน ได้แก่ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค,  สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค และกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ไม่ได้รับการเลือกตั้งและไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะทั้งสี่คนมาจัดตั้งพรรคการเมืองและเป็นแกนนำเดินลงสู่สนามเลือกตั้งโดยที่ตัวเองไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ด้วยตั้งแต่แรกเนื่องจากขาดคุณสมบัติ
รัฐธรรมนูญ มาตรา 263 และ 264 กำหนดไว้เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน และป้องกันการใช้อำนาจหน้าที่เอาเปรียบกันในสนามเลือกตั้งว่า หากสมาชิก สนช. หรือรัฐมนตรี ต้องการจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในสมัยแรกต้องลาออกภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หรือลาออกภายในเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งทั้งสี่คนยังคงเป็นรัฐมนตรีมาต่อเนื่องไม่ได้ลาออกภายในกำหนดเวลา จึงมีคุณสมบัติต้องห้ามไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยแรกด้วยตัวเองได้ แต่แม้จะไม่ได้ลงสมัครเป็น ส.ส. เองทั้งสี่คนก็เป็นแกนนำของพรรค เป็นแกนนำในการหาเสียง กำหนดแนวทาง วางนโยบาย และดำเนินกิจการต่างๆ อย่างเต็มที่มาตลอด
นอกจากทั้งสี่คนนี้แล้ว บุคคลสำคัญอื่นๆ ที่ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาล คสช. ก็เคลื่อนไหวร่วมกันกับพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจนยังมีอีกมาก เช่น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่นั่งยาวอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็มาเคลื่อนไหวร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ด้วย
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามหากจะกลับมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ถ้าพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ และยังไม่ห้ามหากจะกลับเข้ามาสู่สภาโดยดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว. ที่ คสช. คัดเลือก หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นที่ไม่ใช่ ส.ส. 
ดูเรื่องข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4871
วัฒนา – หมวดเจี๊ยบ เพื่อไทย "เสียงแตก" เสียหลายที่นั่ง
ก่อนที่จะมาถึงวันเลือกตั้ง ภายใต้การปกครองของ คสช. มีนักการเมืองพรรคเพื่อไทยบางคนที่ไม่ยอมหยุดแสดงความคิดเห็นตามที่ คสช. ต้องการและถูกเรียกรายงานตัว ถูกจับกุม ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นหลายครั้ง หนึ่งในนั้น คือ วัฒนา เมืองสุข ที่ถูกเรียกรายงานตัวในค่ายทหารและถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 6 คดี รวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการวิจารณ์พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพูดเรื่องหมุดคณะราษฎร (อ่านเรื่องคดีของวัฒนา ต่อได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/WattanaComputercrime)
วัฒนา ลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตในนามพรรคเพื่อไทย จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต 28 บางแค ได้คะแนนเสียง 23,510 คะแนน ได้เป็นอันดับสาม รองจากพรรคที่ได้อันดับหนึ่ง คือ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้ 29,590 คะแนน และพรรคอันดับสอง พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้ 29,413 คะแนน วัฒนาจึง "สอบตก" ไม่ได้เป็น ส.ส.
อีกคนหนึ่ง คือ ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง หรือ หมวดเจิ๊ยบ อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งก็ถูกดำเนินคดีฐานยุยงปลุกปั่น และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในยุค คสช. จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เรื่องการไม่ให้ชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าพบ (ดูคดีของหมวดเจี๊ยบต่อได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/811)
ร.ท.หญิงสุณิสา ลงสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตในนามพรรคเพื่อไทย จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต 8 ลาดพร้าว วังทองหลาง ได้คะแนนเสียง 26,122 คะแนน ได้เป็นอันดับสอง รองจากพรรคที่ได้อันดับหนึ่ง คือ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้ 29,090 คะแนน ร.ท.หญิงสุณิสา จึง "สอบตก" ไม่ได้เป็น ส.ส. ส่วนพรรคอนาคตใหม่ได้อันดับสาม ได้คะแนนเสียง 25,656 คะแนน
ทั้งสองเขตที่คนมีชื่อเสียงของพรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้ง จะสังเกตได้ว่า พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีแนวทางต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. เช่นเดียวกันได้รับคะแนนเสียงไปจำนวนมากเช่นกัน ทำให้เมื่อรวมแล้วคะแนนเสียงของประชาชนที่จะเลือกอนาคตประเทศแบบ "ไม่เอา คสช." ถูกกระจายออกไปยังพรรคใหญ่ทั้งสองพรรค และพรรคเล็กอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยเสียที่นั่ง ส.ส. ไปหลายที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร
New Dem ไอติม – หมอเอ้ก ประชาธิปัตย์แพ้รวดในเมืองหลวง
พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวเข้าสู่สนามการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างฮือฮา เมื่อมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคมาออกหน้าทำกิจกรรม และเสนอไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในนามกลุ่ม "New Dem" นำโดยสมาชิกหน้าใหม่ อย่าง ไอติม-พริษฐ์ วัชระสินธุ หลายชายของอดีตหัวหน้าพรรคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ หมอเอ้ก-คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ อดีตแพทย์ นักแสดง และนายแบบ 
ไอติม-พริษฐ์ ลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตในนามพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต 13 บางกะปิ หัวหมาก ได้คะแนนเสียง 17,958 คะแนน ได้เป็นอันดับสี่ รองจากพรรคที่ได้อันดับหนึ่ง คือ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้ 27,489 คะแนน อันดับสองพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ 23,912 คะแนน อันดับสามพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้ 23,707 คะแนน จึง "สอบตก" ไม่ได้เป็น ส.ส.
หมอเอ้ก-คณวัฒน์ ลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตในนามพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต 7 บางซื่อ ได้คะแนนเสียง 12,896 คะแนน ได้เป็นอันดับสี่ รองจากพรรคที่ได้อันดับหนึ่ง คือ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้ 25,180 คะแนน อันดับสองพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ 23,998 คะแนน อันดับสามพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้ 21,339 คะแนน จึง "สอบตก" ไม่ได้เป็น ส.ส.
ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ชนะการเลือกตั้งในจังหวัดกรุงเทพมหานครเลยแม้แต่เขตเดียว และส่วนใหญ่อยู่ลำดับที่สามหรือสี่ ตามหลังทั้งสามพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. แบ่งๆ กัน กระแสความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ตกลงอย่างน่าใจหายในเมืองหลวง อาจมีสาเหตุจากความไม่ชัดเจนในจุดยืนของพรรคว่าจะสนับสนุนแนวทางแบบ คสช. ต่อหลังการเลือกตั้งหรือไม่ และทำให้ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ทั้งหลายแพ้การเลือกตั้งกันไปอย่างผิดความคาดหมายในหลายๆ เขต
ฟิล์ม รัฐภูมิ ได้คะแนนไม่พอ ไม่ได้เป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์
ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ อดีตนายแบบ นักร้อง นักแสดงชื่อดัง สร้างความฮือฮาเปิดตัวลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคพลังท้องถิ่นไทย ที่นำโดยชัชวาลย์ คงอุดม หรือ "ชัช เตาปูน" และร่วมออกหน้าเป็นเหมือนพรีเซ็นเตอร์ให้กับพรรคในกิจกรรมต่างๆ ฟิล์ม-รัฐภูมิ ลงสมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ อยู่ลำดับที่ 8 ขณะที่พรรคพลังท้องถิ่นไทยได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 213,129 คะแนน ไม่ชนะในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลย เมื่อคำนวนเป็นที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อแล้วได้ 2 ที่นั่ง ฟิล์ม-รัฐภูมิจึง "สอบตก" ไม่ได้เป็น ส.ส.
เอนก เหล่าธรรมทัศน์, จักษ์ พันธ์ชูเพชร ได้คะแนนไม่พอ ไม่ได้เป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์  
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ผันตัวมาลงสนามการเมืองหลายระลอกในนามของหลายพรรคการเมือง แต่ชัดเจนในจุดยืนว่า ร่วมกับพรรคการเมืองที่ "ไม่เอาทักษิณ" มาตลอด และในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เปิดตัวกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมขายภาพของการเคลื่อนไหวของ กปปส. ชัดเจน ช่วงแรกถูกคาดหมายว่า จะถูกชูขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ที่มีสุเทพเป็นตัวจริงอยู่เบื้องหลัง แต่สุดท้ายตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปตกกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ "หม่อมเต่า" 
เอนก ซึ่งยังคงนั่งตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ลงสมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 8 แต่ส่งลูกชาย เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ลงสมัครในลำดับที่ 3
จักษ์ พันธ์ชูเพชร อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของฉายา "ปริญญาห้าใบ" ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวร่วมกับ กปปส. และเป็นที่รู้จักกันในนามนักวิชาการฝ่าย "ไม่เอาทักษิณ" ที่พูดจารุนแรง มีจุดยืนชัดเจนตลอด จักษ์ลาออกจากราชการมาลงสมัคร ส.ส. ร่วมกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยลงสมัครระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 13
พรรครวมพลังประชาชาติไทยได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 416,324 คะแนน และมี ส.ส. ที่ชนะเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต 1 คน เมื่อคำนวนเป็นที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อแล้วได้ 4 ที่นั่ง ทั้งเอนกและจักษ์ จึง "สอบตก" ไม่ได้เป็น ส.ส.  
ไพบูลย์ นิติตะวัน ได้คะแนนไม่พอ ไม่ได้เป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์
ไพบูลย์ นิติตะวัน เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ให้เป็นสมาชิก สปช. หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ ไพบูลย์จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเองชื่อพรรคประชาชนปฏิรูป และเป็นหัวหน้าพรรคเอง พร้อมประกาศสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคนี้ยังถูกพูดถึงอย่างมากจากป้ายหาเสียงที่ประกาศจะ "น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า" และมีชื่อเสียงมากขึ้นจากการให้สัมภาษณ์ช่วงก่อนเลือกตั้งยืนยันชัดเจนที่จะต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ พร้อมกับแต่งตั้ง ส.ว. มาสนับสนุนตัวเอง
ไพบูลย์ ยังลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อและอยู่ลำดับที่ 1 ของพรรค ซึ่งพรรคประชาชนปฏิรูปได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 45,508 คะแนน และไม่ได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตเลย ซึ่งคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคนี้น้อยกว่า คะแนนเฉลี่ยของผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด คือ 500 ซึ่งคิดเป็น 70,065 คะแนน พรรคนี้จึงต้องไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเลย และไพบูลย์ต้อง "สอบตก" แต่มีความพยายามตีความวิธีการคำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้ผิดเพี้ยนไปโดย กกต. เพื่อให้พรรคประชาชนปฏิรูปส่งไพบูลย์เข้าสภาไป 1 ที่นั่งได้สำเร็จ 
มงคลกิตติ์, มาร์ค พิทบูล ได้คะแนนไม่พอ ไม่ได้เป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์
หนึ่งในสีสันทางการเมืองของการเลือกตั้งปี 2562 คือ การเกิดขึ้นของพรรคไทยศิวิไลซ์ นำโดย มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หรือ เต้ ผู้ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองในทาง "ไม่เอาทักษิณ" มาก่อน พร้อมจับมือกับณัชพล สุพัฒนะ หรือ "มาร์ค พิทบูล" ผู้มีชื่อเสียงในโลกโซเชี่ยลจากการจัดรายการวิเคราะห์ปัญหาสังคมการเมืองในยูทูป ที่พูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมา แต่มีแนวทาง "ไม่เอา คสช." 
พรรคไทยศิวิไลซ์มีแนวทางต่อต้านการคอร์รัปชั่นชัดเจน เสนอการปฏิรูปตำรวจ และการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่างการหาเสียงก็ใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ถ่ายทอดกิจกรรมของพรรคตัวเอง และกลายเป็นสีสันที่เรียกความสนใจและกระแสโจมตีกลับได้หลายครั้ง จากพฤติกรรมของแกนนำทั้งสองที่ออกทาง "นักเลง" โดยมงคลกิตติ์ เคยพูดถึงพรรคการเมืองที่เสนอลดงบประมาณกองทัพด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า “จะตบปาก” ก่อนออกมาขอโทษภายหลัง 
มงคลกิตต์ ลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ส่วนณัชพล อยู่ลำดับที่ 2 ซึ่งพรรคไทยศิวิไลซ์ได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 60,421 คะแนน และไม่ได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตเลย ซึ่งคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคนี้น้อยกว่า คะแนนเฉลี่ยของผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด คือ 500 ซึ่งคิดเป็น 70,065 คะแนน พรรคนี้จึงต้องไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเลย และทั้งสองคนต้อง "สอบตก" แต่มีความพยายามตีความวิธีการคำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้ผิดเพี้ยนไปโดย กกต. เพื่อให้พรรคไทยศิวิไลซ์ส่งมงคลกิตติ์เข้าสภาไป 1 ที่นั่งได้สำเร็จ 
หมอวรงค์ แพ้อนาคตใหม่
วรงค์ เดชกิจวิกรม หรือ "หมอวรงค์" อดีตแพทย์ที่ผันตัวเข้าสู่การเมืองเป็น ส.ส. พิษณุโลก ในนามพรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในปี 2561 หมอวรงค์ได้ลงสมัครเป็นคู่แข่งกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยเสนอแนวทางที่จะสนับสนุน คสช. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งแตกต่างกับอภิสิทธิ์ ที่เสนอแนวทางแตกต่างจาก คสช. แต่อภิสิทธิ์ชนะการเลือกตั้งได้เป็นหัวหน้าพรรคด้วยคะแนนเสียงที่ไม่ขาดลอย ทำให้หมอวรงค์และผู้สนับสนุนก็ยังคงร่วมงานกันอยู่ในพรรคต่อไปภายใต้ความคิดเห็นเรื่องแนวทางของพรรคที่แตกต่างกัน
ในการเลือกตั้งครั้งนี้หมอวรงค์ลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต จังหวัดพิษณุโลก เขต 1 ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของตัวเอง ได้คะแนนเสียง 18,613 คะแนน ได้เป็นอันดับสามรองจาก อันดับหนึ่งพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้ 35,579 คะแนน และอันดับสองพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้ 23,682 คะแนน หมอวรงค์จึง "สอบตก" ไม่ได้เป็น ส.ส.
อิทธิพล คุณปลื้ม แพ้อนาคตใหม่ 
อิทธิพล คุณปลื้ม ลูกคนที่ 4 จากพี่น้องทั้ง 5 คน ของสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ ผู้มีอิทธิพลในภาคตะวันออก เป็นอดีต ส.ส. จังหวัดชลบุรีหลายสมัย เคยสังกัดทั้งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเมืองพัทยาตั้งแต่ปี 2551-2559 และพ้นจากตำแหน่งตามประกาศ คสช. ต่อมาเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค นอกจากนี้ยังได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ด้วย 
อิทธิพล ลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต จังหวัดชลบุรี เขต 6 ในฐานะ "ตัวเต็ง" ด้วยบารมีของตระกูลคุณปลื้มและการทำงานพื้นที่ต่อเนื่องยาวนาน โดยเขตนี้ไม่มีผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยด้วย ผลการเลือกตั้งในเขตนี้ต้องถือว่า เป็นเหตุการณ์ "ล้มช้าง" เมื่ออิทธิพลได้คะแนนเสียง 33,440 คะแนน เป็นอันดับที่สอง รองจากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้ 39,189 คะแนน จึง "สอบตก" ไม่ได้เป็น ส.ส.
"น้องวิว" เยาวภา แพ้อนาคตใหม่
เยาวภา บุรพลชัย หรือ "น้องวิว" นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองแดงกีฬาโอลิมปิก 2004 และอีกหลายเหรียญรางวัลในหลายรายการ ผู้ซึ่งเคยเข้าร่วมกับพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ภายใต้การนำของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เจ้าพ่อวงการกีฬา และเคยลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วครั้งหนึ่งในปี 2554 แต่ไม่ชนะการเลือกตั้ง ต่อมาในสนามการเลือกตั้งปี 2562 ก็ลงสนามในนามพรรคชาติพัฒนา และยังดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกพรรคด้วย
เยาวภาลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต 28 บางแค ได้คะแนนเสียงเพียง 812 เสียง ได้เป็นอันดับที่ 7 ขณะที่ พรรคที่ได้อันดับหนึ่ง คือ พรรคอนาคตใหม่ ได้ 29,590 คะแนน และพรรคอันดับสอง คือ พรรคพลังประชารัฐ ได้ 29,413 คะแนน จึง "สอบตก" ไม่ได้เป็น ส.ส. อีกหนึ่งสมัย
แรมโบ้ อีสาน แพ้ภูมิใจไทย
สุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ "แรมโบ้อีสาน" เป็นอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย และเป็นแกนนำการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีภาพลักษณ์ที่สังคมจดจำในฐานะของ "เสื้อแดงฮาร์ดคอร์" แต่ช่วงก่อนถึงการเลือกตั้งสุภรณ์สร้างเซอร์ไพรส์ เป็นหนึ่งในเหยื่อ "พลังดูด" ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐที่มีจุดยืนทางการเมืองในขั้วตรงกันข้าม สร้างความแปลกใจและผิดหวังให้กับมวลชนชาวเสื้อแดง 
สุภรณ์ เคยให้สัมภาษณ์เรื่องการย้ายข้างทางการเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า “ผมยืนยันว่าไม่ได้ทรยศ ไม่ได้หักหลังประชาชน แต่เราอยากเห็นประชาชนมีความสุข มีความรักสมัครสมานสามัคคี ไม่อยากให้มาขัดแย้งกัน เราไม่ได้พูดแบบเอาตัวรอด วันนี้ถ้ามองอย่างนั้นบ้านเมืองจะเดินไปไม่ได้ มัวแต่คิดจะต่อต้านแล้วเมื่อไรบ้านเมืองจะเดินไปได้ การเมืองมันไม่ไหวแล้ว มันแรงกันไปใหญ่แล้ว ถึงเวลาที่จะต้องเสียสละกันบ้าง เลยขอเป็นตัวอย่างคนแรกที่ยุติบทบาททางการเมือง ถ้ามัวแต่คิดจะเอาชนะคะคานกันเรื่องก็ไม่จบ " (อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/politic/report/309054)
สุภรณ์ลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตจังหวัดนครราชสีมา เขต 10 ได้คะแนนเสียง 28,778 คะแนน เป็นอันดับสองแพ้พรรคภูมิใจไทย ซึ่งได้ 51,728 คะแนน จึง "สอบตก" ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ขณะเดียวกันคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยในเขตนี้ก็ได้ไปเพียง 9,933 คะแนน อาจจะพอเห็นได้ว่า สุภรณ์ก็ได้ดึงคะแนนเสียงที่เคยให้กับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ไปพอสมควร
จาตุรนต์, ปรีชาพล, มิตติ พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ 
พรรคไทยรักษชาติ (ทษช.) เป็นพรรคการเมืองที่เปิดตัวขึ้นใหม่ในการเลือกตั้งปี 2562 พกพาเงาของการเมืองแบบ "ทักษิณ ชินวัตร" มาด้วย โดยมีแกนนำจากพรรคเพื่อไทยย้ายไปสังกัดจำนวนมาก คนที่สำคัญและโดดเด่น ก็คือ จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งมานั่งตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง แต่ไม่รับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเป็นลำดับที่ 2 ส่วนผู้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยจังหวัดขอนแก่น อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และดึงเอา "บิ๊กฮั่น" มิตติ ติยไพรัช ประธานสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด มารับตำแหน่งเลขาธิการพรรค พร้อมกับลงสมัคร ส.ส. ครั้งแรกอยู่ในบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5
ในพรรคนี้ยังมีคนมีชื่อเสียงอีกมาก ที่คุ้นเคยกันก็เช่น ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงและอดีตรัฐมนตรีในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 7, ขัตติยา สวัสดิผล หรือ "เดียร์" ลูกสาวของ "เสธ.แดง" ผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 6 และพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และเจ้าของสถิติถูกเรียกปรับทัศนคิตโดย คสช. 8 ครั้ง ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 9
พรรคไทยรักษาชาติ ลงสนามเลือกตั้งในเกมการเมืองที่ส่งผู้สมัครประมาณ 170 เขต ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ซ้ำกับพรรคเพื่อไทย ภายใต้กติกาที่คาดว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้รับจัดสรร ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติก็เตรียมมากวาดที่นั่งบัญชีรายชื่อจากคะแนนรวมทั้งประเทศของเขตที่ไม่ชนะการเลือกตั้งแทนพรรคเพื่อไทย 
แต่เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคไทยรักษาชาติสร้างเซอร์ไพรส์ใหญ่ เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ให้อยู่ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค และนำไปสู่คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เพราะกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำให้ผู้สมัครทุกคนถูกตัดออกจากสนามการเลือกตั้งในครั้งนี้ทั้งหมด สำหรับกรรมการบริหารพรรคก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองอีก 10 ปี ส่วนผู้สมัคร ส.ส. คนอื่นยังสามารถหาพรรคใหม่และลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป