การเลือกตั้งล่วงหน้าในมิวนิค ประเทศเยอรมนี

เท่าที่ทราบ คนไทยที่อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักรไทยสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ไม่ต่างจากคนไทยที่อาศัยอยู่ภายในประเทศ ต่างกันตรงที่ คนไทยที่อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักรต้องลงทะเบียนผ่านสถานกงสุลไทย หรือสถานทูตไทย ในประเทศที่อาศัยอยู่เพื่อจะใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ ซึ่งสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในแต่ละประเทศหรือแต่ละเมือง อาจมีวิธีการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนหรือจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าแตกต่างกันออกไป

 ในส่วนของสถานกงสุลไทยประจำนครมิวนิค ประเทศเยอรมนี ได้ประกาศเรื่องการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าให้ประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงทราบผ่านทางเว็บไซต์ของสถานกงสุล และตามงานอีเวนต์ต่างๆ ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยประกาศให้ประชาชนชาวไทยที่มิวนิคสามารถลงทะเบียนเลือกตั้งผ่าน 3 ทาง คือ ผ่านทางเว็บไซต์ ผ่านการมาที่สถานกงสุลด้วยตัวเอง และผ่านทางไปรษณีย์

การลงทะเบียนเลือกตั้งผ่านทางเว็บไซต์ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถคลิกเข้าไปในลิงก์ที่สถานกงสุลแจ้งในประกาศ โดยในเว็บจะมีช่องข้อมูลต่างๆ ให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกรอก เช่น ชื่อ สกุล ที่อยู่ในประเทศไทย ที่อยู่ในประเทศเยอรมนี ที่สำคัญ คือ เลขบัตรประจำตัวประชาชน หลังจากที่กรอกข้อมูลเสร็จเรียบร้อย จะมีปุ่ม บันทึกให้คลิ๊ก เพื่อที่จะมีเอกสารซึ่งบรรจุข้อมูลต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน การลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์มีข้อดี คือ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปที่สถานกงสุลด้วยตนเอง และไม่ต้องเสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสาร

การลงทะเบียนเลือกตั้งผ่านสถานกงสุล ผู้ใช้สิทธิฯ สามารถเดินทางไปติดต่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ที่แผนกเลือกตั้ง ซึ่งทางสถานกงสุลได้จัดเป็นหน่วยเฉพาะกิจเอาไว้ โดยเจ้าหน้าที่จะให้ผู้ใช้สิทธิฯ กรอกเอกสารและลงลายมือชื่อ โดยมีรายละเอียดไม่ต่างจากการลงทะเบียนทางเว็บไซต์

การลงทะเบียนทางไปรษณีย์ ผู้ใช้สิทธิฯ สามารถปริ้นท์เอกสารลงทะเบียนเลือกตั้งที่แนบมาพร้อมประกาศในเว็บไซต์สถานกงสุล ซึ่งมีรายละเอียดเช่นเดียวกับการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์และผ่านสถานกงสุล นำมากรอกข้อมูล ลงลายมือชื่อ แล้วส่งกลับไปที่สถานกงสุลทางไปรษณีย์   

การลงทะเบียนเลือกตั้งทุกช่องทางต้องสำเร็จเสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จากนั้นผู้ใช้สิทธิฯ ทุกคนที่ลงทะเบียนต้องรอรับเอกสารเลือกตั้งพร้อมบัตรเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งทางสถานกงสุลได้เริ่มทยอยส่งตั้งแต่หลังวันปิดการลงทะเบียน และเอกสารเริ่มถึงมือผู้ใช้สิทธิฯ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 

เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เอกสารที่สถานกงศุลส่งให้ผู้ใช้สิทธิฯ มี 7 รายการประกอบด้วย

1) เอกสารแนะนำการลงคะแนน 

2) บัตรเลือกตั้ง 

3) ซองสีขาวสำหรับใส่บัตรเลือกตั้งที่ระบุ จังหวัด เขตเลือกตั้ง และรหัสเขตเลือกตั้ง 

4) ซองสีน้ำตาลสำหรับใส่เอกสารเลือกตั้งกลับไปยังสถานกงศุล 

5) รายชื่อ ส.ส. แบบแบ่งเขต ตามเขตเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิฯ 

6) รายชื่่อพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. 

7) รายชื่อแคนดิเดตนายก

หลังจากที่ได้รับเอกสารเลือกตั้งแล้ว ผู้ใช้สิทธิฯ จะต้องดำเนินการทันที โดยต้องกากบาทในบัตรเลือกตั้งให้เรียบร้อย พับบัตรเลือกตั้งตามรอยพับ ใส่ซองสีขาวและปิดผนึกให้เรียบร้อย จากนั้นให้เอาซองสีขาวและสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาพาสปอร์ตที่ลงลายมือชื่อกำกับลงไปในซองสีน้ำตาลเพื่อส่งกลับไปให้สถานกงศุลภายในวันที่ 16 มีนาคม ผ่านทางไปรษณีย์ โดยผู้ใช้สิทธิฯ ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ให้กับไปรษณีย์เยอรมัน

หลังจากที่สถานกงสุลได้รับเอกสารเลือกตั้งกลับคืน เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาพาสปอร์ตและคัดแยกซองสีขาวตามเขต จำแนกเป็นถุงๆ ตามเขต และส่งไปรษณีย์ด่วนให้ถึงประเทศไทยภายในวันที่ 23 มีนาคม

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สถานกงสุล พบว่า ที่มิวนิคมีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้สิทธิฯ จำนวน 1,866 คน ส่วนใหญ่ลงทะเบียนออนไลน์ ตามเมืองอื่นๆ แต่ละเมืองมีผู้ใช้สิทธิฯ ราว 1,000- 2,000 คน ทั้งเยอรมนี มีคนไทยลงทะเบียนให้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ราว 7,000 คน

ข้อจำกัดสำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้ คือ เจ้าหน้าที่สถานกงสุลไม่ได้รับอนุญาตจาก กกต. ให้เปิดคูหาเลือกตั้ง อีกประการหนึ่ง การจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์เป็นไปล่าช้าเนื่องจากการทำงานที่ล่าช้าของไปรษณีย์เยอรมัน ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการส่งเอกสารจำนวนมากในคราวเดียว และบางครั้งเอกสารไปไม่ถึงมือผู้รับเนื่องจากที่อยู่ในเยอรมนีไม่เฉพาะเจาะจงมากพอ  

วันที่ 14 มีนาคม 2562 ทราบว่า มีคนไทยในเมืองมิวนิคคนหนึ่งเพิ่งได้รับเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ส่งโดยไปรษณีย์เยอรมัน ซึ่งเหลือเวลา 3 วันจะหมดเขตที่กงสุลไทยจะรับเอกสาร ในวันที่ 16 มีนาคม กรณีนี้ เป็นไปได้สูงมากว่า สถานกงสุลไทยจะส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศไทยไม่ทันวันที่ 23 มีนาคม จึงอาจทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งของคนไทยคนนี้ไม่ถูกนับไป 

เห็นได้ว่า การเลือกตั้งของคนไทยในต่างแดนยังมีข้อจำกัดมากอยู่มาก ด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อน หาก กกต. ต้องการอำนวยความสะดวกให้คนไทยที่อยู่ในต่างแดนใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่และทันเวลา ก็ควรจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างประเทศให้เริ่มขึ้นเร็วกว่านี้ เผื่อเวลาสำหรับการเดินทางของเอกสารให้ทันการเลือกตั้งจริงในประเทศด้วย