รวม 6 ผลงาน ส่งเสริมทุน-ลดทอนสิ่งแวดล้อม ภายใต้เงา คสช.

จัดทำเนื้อหาโดย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ คสช. พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจและพยายามส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การผลักดันเรื่อง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” “การจัดการระบบสัปทานแร่” “การกำกับดูแลโรงงาน” 

แต่ปัญหาของการพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ คสช. ได้ลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นกฎหมายผังเมืองโดยใช้อำนาจพิเศษอย่าง ‘มาตรา 44’ หรือ การแก้ไขกฎหมายเฉพาะที่มีไว้กำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.แร่ และ พ.ร.บ.โรงงาน ที่ทำให้การกำกับดูแลด้อยประสิทธิภาพ รวมถึงการตัดสิทธิเสรีภาพด้านสิ่งแวดล้อมบางอย่างให้ออกไปจากกฎหมายสูดสุดของประเทศ ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ปี 2560

หนึ่ง เดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะ ด้วยการยกเว้น EIA-กฎหมายผังเมือง

ปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของประเทศไทย เพราะปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 10 ตัน และยังไม่มีวิธีการรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่ดีพอ

ด้วยเหตุนี้ ทั้ง คสช. และ หน่วยงานภาครัฐ จึงพยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง หรือ “โรงไฟฟ้าขยะ” โดยให้เหตุผลว่าเป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทการจัดการขยะมูลของประเทศ

แต่ทว่า การทำโรงไฟฟ้าขยะไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยปัญหางบประมาณในการทำสถานที่กำจัดขยะแบบถูกต้องนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง มีขั้นตอนและเกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย ทั้งในแง่ของการมาตรฐานการกำจัด และการขออนุญาตให้ถูกต้อง อีกทั้ง ต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสม การเตรียมพื้นที่ การดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขยะและคนในชุมชนใกล้เคียง รวมถึงจุดคุ้มทุนของการลงทุนระบบ

ภายใต้โจทย์ที่ยากและซับซ้อน รัฐบาลคสช. ตัดสินใจ ‘ตัดตอน’ กระบวนการบางอย่างออกไป ดังในมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558 ให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทุกขนาดกำลังการผลิตไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ทั้งที่ จากเดิมกรณีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปต้องจัดทำรายงาน EIA) 

ทั้งนี้ ให้บรรดาโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice – CoP) ซึ่งขาดความชัดเจนและเป็นการลดทอนกระบวนการศึกษาประเมินและพิจารณาผลกระทบเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันให้อ่อนแอลง ทั้งที่โรงไฟฟ้าขยะเป็นกิจการอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งรัดขั้นตอนต่างๆ ด้วยการใช้อำนาจอย่าง ‘มาตรา 44’ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท

โดยคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับดังกล่าวยกเว้นข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องพื้นที่ตั้งโรงงานหรือกิจการที่เกี่ยวข้องการผลิตพลังงานและการจัดการขยะของเสียสิ่งปฏิกูล ตามกฎกระทรวงฯผังเมืองรวมที่บังคับใช้อยู่ในพื้นที่อำเภอหรือจังหวัดนั้นๆ (หรืออยู่ในร่างผังเมืองรวมที่กำลังจะประกาศบังคับใช้) หรือ พูดง่ายๆ ว่า เปิดผังเมืองให้โรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงไฟฟ้าขยะ สามารถตั้งโรงงานในพื้นที่ไหนก็ได้

สอง เดินหน้าเศรษฐกิจพิเศษ ยกเว้นกฎหมายผังเมือง แย่งยึดที่ดินชาวบ้าน

หลังการรัฐประหาร ปี 2557 คสช. พยายามผลักดันเรื่อง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” โดยหวังว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นไม้เด็ดด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทหาร ที่ผ่านมา คสช. ใช้อำนาจพิเศษอย่างการออกประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. อย่างน้อย 5 ฉบับ รวมถึงมีการออกกฎหมายจากสภาแต่งตั้งของคสช. อีก 1 ฉบับ 

เริ่มแรก คสช. ออกคำสั่งจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ หนึ่ง คำสั่งคสช. ที่ 72/2557 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้หัวหน้าคสช. หรือรองหัวหน้าคสช. หรือคนที่หัวหน้าคสช. แต่งตั้ง เป็นประธาน และ สอง คำสั่งคสช. ที่ 3/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 

โดยคำสั่งทั้งสอบฉบับเป็นการรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจในเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ที่คสช. และเป็นการให้อำนาจดำเนินการใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะการเร่งรัดการจัดหาที่ดินสำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี สระแก้ว ตราด หนองคาย นครพนม มุกดาหาร สงขลาและนราธิวาส ดำเนินไปโดยสะดวก

นอกจากนี้ เพื่อให้การเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ติดขัด หัวหน้าคสช. ตัดสินใจใช้อำนาจพิเศษอย่าง ‘มาตรา 44’ ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวกับการยกเว้นกฎหมายผังเมือง ได้แก่

หนึ่ง คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยคำสั่งฉบับนี้กำหนดบังคับให้กระทรวงมหาดไทยต้องเร่งดำเนินการออกผังเมืองรวมและกฎกระทรวงตามกฎหมายควบคุมอาคาร ให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยเร็ว 

สอง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท โดยยกเว้นข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องพื้นที่ตั้งโรงงานหรือกิจการที่เกี่ยวข้องการผลิตพลังงานและการจัดการขยะของเสียสิ่งปฏิกูล ตามกฎกระทรวงฯผังเมืองรวมที่บังคับใช้อยู่ในพื้นที่อำเภอหรือจังหวัดนั้นๆ (หรืออยู่ในร่างผังเมืองรวมที่กำลังจะประกาศบังคับใช้)

ต่อมาในปี 2560 หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อกำหนดให้พื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายสามารถดำเนินไปได้ล่วงหน้าในระหว่างจัดทำร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 

โดยคำสั่งดังกล่าวทำการตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีซึ่งก็คือ หัวหน้า คสช. เป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางทั้งในด้านการกำหนดนโยบายและการอนุมัติอนุญาตโครงการหรือแผนพัฒนาต่างๆ ที่ดำเนินการภายใต้พื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

หลังจากนั้น หัวหน้า คสช. ยังได้ออกคำสั่งเพื่อเร่งรัดผลักดันนโยบาย EEC อีก 2 ฉบับ ได้แก่ 

หนึ่ง คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ กำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ต้องพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน (EIA/EHIA) สำหรับโครงการหรือกิจการในเขต EEC เป็นการเฉพาะ อย่างรวดเร็วให้เสร็จภายใน 1 ปี 

สอง คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกรวบอำนาจการจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในภาพรวม แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และแผนการดำเนินงาน รวมทั้งกำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการในแต่ละกรณี 

แม้ว่าที่ผ่านมาประชาชนภาคตะวันออกจะได้แสดงความคิดเห็นข้อห่วงกังวลถึงประเด็นปัญหาและข้อเสนอต่อนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แต่ก็ไม่ได้ถูกรับฟังอย่างแท้จริงจนกระทั่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ผ่านออกมา แต่ทว่าบทบัญญัติหลายเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำและพิจารณารายงาน EIA ขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับเขต EEC โดยยกเว้นกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ, การกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณารายงาน EIA เพียง 120 วัน และให้ตั้งบริษัทที่ปรึกษาทำรายงาน EIA โดยไม่ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยก็ได้

นอกจากนี้ หัวหน้า คสช. ยังออกกฎหมายอีกอย่างน้อย 2 ฉบับ ที่เข้าไปแทรกสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชน ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 74/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 17/2558 

โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. สองฉบับดังกล่าวเป็นการการเวนคืนที่ดินให้ตกเป็นที่ดินราชพัสดุ ซึ่งบรรดาที่ดินที่ตกเป็นที่ราชพัสดุตามคำสั่งนี้ และที่ดินอื่นที่คณะกรรมการกำหนดให้ใช้ประโยชน์ในการใช้เป็นพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษไม่อยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม จนกว่าจะมีการจัดทำผังเมืองรวมขึ้นใช้บังคับสำหรับที่ดินอันเป็นพื้นที่พัฒนาหลังจากมีการจัดตั้งพื้นที่พัฒนาแล้ว

สาม แก้กฎหมายหมายแร่ ขยายเวลารับสัปทาน ตัดการมีส่วนร่วมประชาชน

การพัฒนาทรัพยากรแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์นั้นได้ก่อให้เกิดรายได้และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่การประกอบกิจการเหมืองแร่ ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนและเรียกค่าเสียหายจากผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างเช่น ผลกระทบต่อระบบนิเวศผลกระทบด้านเสียงและฝุ่นจากการใช้วัตถุระเบิด ผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดิน และการปนเปื้อนของสารอันตรายในดินผลกระทบทางสังคมในพื้นที่และสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น การปนเปื้อนของสารหนูในสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองดีบุกในตำบลร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช การทำเหมืองแร่ใต้ดินแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานีและการปนเปื้อนแคดเมียมจากการทำเหมืองสังกะสีในพื้นที่เกษตร รวมถึงกรณีสารพิษจากการทำเหมืองแร่ทองคำในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น พิจิตร เลย

ที่ผ่านมา คสช. พยายามเข้าไปจัดการปัญหาดังกล่าว ด้วยการใช้อำนาจพิเศษ ได้แก่ คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยมีเนื้อหาให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 และให้ผู้ประกอบการมีหน้าที่ในการฟื้นฟูพื้นที่ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่ว่าพื้นที่ประทานบัตรจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็ตาม 

แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบยังคงมองว่าปัญหาเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำอาจเกิดขึ้นใหม่ได้อีกในอนาคต เนื่องจากคำสั่งนี้ คสช. แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยการเสนอจากนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันได้มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ทองคำและให้ดำเนินการต่อไปหลังจากใช้บังคับพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560

ทั้งนี้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 มีข้อถกเถียงและมีประเด็นที่ถูกคัดค้านจากภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหลายประการ ได้แก่

1) ประเด็นสัดส่วนของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ และสัดส่วนคณะกรรมการแร่ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากภาครัฐโดยตำแหน่ง ทำให้การตัดสินใจในระดับนโยบาย ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมหรือประชาชน ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิในการจัดการชุมชนของตนเอง

2) ประทานบัตรแต่ละฉบับมีระยะเวลาในการทำเหมืองเพิ่มขึ้นจาก 25 ปี เป็น 30 ปี

3) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร ประเภทที่ 1 ระยะห่างไม่เกิน 100 เมตร ประทานบัตรประเภทที่ 2 ระยะห่างไม่เกิน 500 เมตร และประทานบัตรประเภทที่ 3 ระยะห่างไม่เกิน 1 กิโลเมตร ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าของโครงการ โดยลดทอนการมีส่วนร่วมสาธารณะของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างมีนัยยะสำคัญ 

4) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สามารถจัดทำเอกสารที่จำเป็นในการขอประทานบัตร จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่นั้น และอาจนำพื้นที่นั้นออกประมูลได้ โดยผู้ชนะการประมูลเพียงแต่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานฯ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประทานบัตร รวมถึงชำระค่าใช้จ่ายที่ กพร. ได้ดำเนินการไป 

5) บทเฉพาะกาลท้ายพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 บางมาตรา ยังถูกทำให้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการแร่บางประการสิ้นผลใช้บังคับ เช่น ประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายฉบับเก่า (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510) ไม่ต้องดำเนินการจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง ไม่ต้องจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ไม่ต้องฟื้นฟูสภาพเหมืองแร่ รวมถึงไม่ต้องวางหลักประกันและจัดทำประกันภัย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญต่อการคุ้มครองคุณภาพชีวิต สุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบต่อการทำเหมืองแร่ 

6) กำหนดยกเว้นให้สัญญาการทำเหมืองแร่ภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปตามข้อผูกพันแห่งสัญญานั้นๆ จนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง ซึ่งไม่สามารถยกเลิกได้ เนื่องจากไม่มีการกำหนดระยะเวลายกเลิกไว้ในสัญญา  

สี่ แก้กฎหมายโรงงาน ปล่อยผีโรงงานขนาดเล็ก ลดการตรวจสอบ

ร่าง พ.ร.บ.โรงงานแล้ว เป็นหนึ่งในร่างกฎหมายหลายฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย สนช. มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562 โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมี อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ ณ ตอนนั้น นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นคนผลักดัน เนื่องจากว่าจะมอบของขวัญให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และเป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งที่ปรากฎอยู่ในร่าง พ.ร.บ.โรงงาน

สำหรับเหตุผลข้อห่วงกังวลสำคัญของเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้แก่ 

1) การแก้ไขนิยามทำให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างโรงงานได้ก่อนได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 

2) การแก้ไขนิยามทำให้โรงงานขนาดเล็กจำนวนมากหลุดจากการถูกกำกับควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน แม้อาจก่อให้เกิดผลกระทบไม่ต่างจากโรงงานขนาดใหญ่ 

3) การแก้ไขให้ใบอนุญาตโรงงานไม่มีวันหมดอายุ ทำให้กระบวนการต่ออายุใบอนุญาตซึ่งต้องมีการตรวจสอบสภาพโรงงานถูกยกเลิกไป 

4) การตัดทิ้งข้อเสนอเรื่องการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องทำประกันภัยเพื่อเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงไม่มีการกำหนดมาตรการในการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเพิ่มเติมขึ้นจากกฎหมายฉบับเดิม แม้จะมีบทเรียนปัญหามลพิษโรงงานมากมาย  

5) การเปลี่ยนแปลงระบบการตรวจสอบโรงงานให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน จะเปิดโอกาสให้เกิดการร่วมกระทำผิดและความไม่โปร่งใสในระบบการตรวจรับรองสภาพโรงงาน 

6) บทลงโทษโรงงานที่กระทำผิดยังไม่รุนแรงเพียงพอที่จะสามารถป้องปรามการกระทำผิดหรือทำให้เกิดความเคารพยำเกรงกฎหมายได้ 

ห้า แก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม อำนวยความสะดวกนักลงทุน

ประเทศไทยมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ มาไม่น้อยกว่า 30 ปี ดังนั้น ถ้าจะมีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่ดี แต่ทว่า หลังการเข้าสู่อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พบว่า ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานรัฐมีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเอกชนในขณะเดียวกัน ปัญหาเดิมที่สะสมของกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ไม่ถูกคลี่คลายไป

ในยุครัฐบาล คสช. ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สองครั้ง คือ 

1. แก้ไขโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้หน่วยงานรัฐสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้มีการจัดหาประมูลโครงการหรือผู้รับเหมาได้ ก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะผ่านความเห็นชอบ 

2. จัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมุ่งแก้ไขเฉพาะในส่วนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ประเด็นสำคัญของการแก้ไขคือ ให้หน่วยงานขอ ครม. อนุมัติคัดเลือกเอกชนมาดำเนินโครงการจำเป็นเร่งด่วนได้ก่อน แม้ยังไม่ทราบผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA)  แต่ทั้งนี้ หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจจะสามารถทำได้เพียงขั้นตอนของประกวดราคาหาผู้รับผิดชอบโรงการเท่านั้น จะยังไม่สามารถทำข้อตกลงหรือเซ็นสัญญาได้จนกว่าจะมีผลการพิจารณารายงานออกมา 

ทั้งนี้ ปัญหาข้อบกพร่องในสาระสำคัญทั้งในทางเนื้อหาและกระบวนการยกร่างกฎหมายในหลายประเด็น เช่น

1. การเพิ่มเติมเนื้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 และการกำหนดกรอบเวลาเร่งรัดการพิจารณารายงาน EIA/EHIA เพื่อเอื้อให้สามารถดำเนินการโครงการได้รวดเร็วและง่ายขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะเพิ่มระบบการกลั่นกรองโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการถูกทำลาย

2. กฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีการพัฒนาไปสู่การคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลับเน้นมิติการสนับสนุนการลงทุนโดยลดทอนมาตรการด้านการป้องกันสิ่งแวดล้อม โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่สั่งสมมาเป็นเวลาหลายปีอย่างแท้จริง 

หก ลบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมบางอย่างออกไปจากรัฐธรรมนูญ

สิทธิเสรีภาพด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนั้นถือได้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชนอีกแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญและได้รับการยอมรับในทางสากลเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์เอง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ.2540 เป็นต้นมาได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้บังคับแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 กลับมีการตัดสิทธิเสรีภาพสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมออกไปอย่างน้อย 2 ข้อ ได้แก่

1) สิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to live in healthy environment)

รัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมาแม้จะมิได้มีการบัญญัติถึงสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้อย่างโดยตรงชัดแจ้ง แต่ในรัฐธรรมนูญฯ 2550 (ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฯ 2540) ก็ได้บัญญัติรับรองเรื่องนี้ไว้ด้วยถ้อยคำที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในมาตรา 67 วรรคแรก ว่า

“สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม”

กับทั้งปัจจุบันยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยอ้างอิงสิทธิตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่าเป็นฐานทางกฎหมายให้ประชาชนและชุมชนมีสิทธิฟ้องคดีเรียกร้องให้ผู้ก่อมลพิษหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมกระทำการแก้ไขฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสียหายได้ด้วย (ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 15219/2558) โดยศาลฎีกาเห็นว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับการรับรองคุ้มครองสืบต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ 2540 รัฐธรรมนูญฯ 2550 และรัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 4 ในฐานะสิทธิเสรีภาพตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่สำคัญของสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัดบทบัญญัติรับรองสิทธิในเรื่องนี้ทิ้งไป และไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติมาตราอื่นใดที่พอจะตีความเทียบเคียงได้ จึงถือเป็นจุดอ่อนอีกประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฯ 2550 และเป็นเสมือนการพรากเอาไปซึ่งสิทธิของประชาชนประการสำคัญอันได้รับการรับรองคุ้มครองสืบต่อเนื่องมาในรัฐธรรมนูญ

2) สิทธิในการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม

ตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 นั้น นอกจากการตัดถ้อยคำรับรองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีออกไปแล้ว ยังได้บัญญัติเปลี่ยนแปลงและลดทอนสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อมลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการตัดบทบัญญัติรับรองสิทธิตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 ออกไปทั้งมาตรา และในส่วนสิทธิตามมาตรา 67 วรรคสองเดิมซึ่งเคยบัญญัติไว้ในหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยนั้น ก็มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนำไปบัญญัติไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐแทนตาม มาตรา 58 

โดยผลของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ถูกตัดออกและเปลี่ยนแปลงไปนั้น นอกจากจะทำให้สิทธิของประชาชนถูกเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐซึ่งทำให้มีผลสภาพบังคับในการยกขึ้นอ้างสิทธิตามกฎหมายทั้งต่อรัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปที่แตกต่างกันแล้ว ยังทำให้การรับรองกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและการแสดงความคิดเห็นประกอบการตัดสินใจจำกัดอยู่เพียงโครงการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงเท่านั้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 รับรองสิทธิดังกล่าวเอาไว้สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมฯ ในทุกระดับ

ในส่วนของโครงการหรือการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงฯนั้น ตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 58 ยังได้ตัดกลไกการให้ความเห็นประกอบก่อนการอนุมัติอนุญาตโครงการ โดยองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพซึ่งเคยมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 วรรคสองทิ้งไปด้วย

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงและตัดทอนบทบัญญัติรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดังที่กล่าวมานั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นการถดถอยลงของสิทธิเสรีภาพด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญไทย และสะท้อนถึงวิธีคิดของรัฐที่ยังคงพยายามผูกขาดการพิจารณาตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ ไม่จริงใจให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอันเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย