ยกฟ้องคดีฆ่าแขวนคอวัยรุ่นกาฬสินธุ์ (1): ศาลชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงแล้วหรือยัง?

 
ครบรอบ 15 ปี จากกรณีการเสียชีวิตของ เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง  เด็กหนุ่ม อายุ 17 ปี ชาว จ.กาฬสินธุ์ ในยุคซึ่งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ออกนโยบายประกาศทำสงครามยาเสพติด ชนิดที่เรียกว่า "ตาต่อตาฟันต่อฟัน" ส่งผลให้เกิดมาตรการกวาดล้างโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อสนองนโยบายดังกล่าว และมีผู้เสียชีวิตโดยยังไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานข้อมูลว่า ช่วงระหว่างปี 2544-2549 เกิดคดีฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ และในช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก กรณีของเกียรติศักดิ์ เขาถูกฆ่าแขวนคอที่กระท่อมกลางนาใน จ.ร้อยเอ็ด หลังถูกจับกุมในข้อหาลักทรัพย์ และได้รับการปล่อยตัวจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2547

 

ญาติของเกียรติศักดิ์ ในฐานะผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ หกคน ประกอบด้วย ด.ต.อังคาร คำมูลนา ที่ 1, ด.ต.สุดธินัน โนนทิง ที่ 2, ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ ที่ 3, พ.ต.ท.สำเภา อินดี ที่ 4, พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ ที่ 5, พ.ต.ท.สุมิตร  นันท์สถิต ที่ 6, เป็นจำเลยในฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

 

ประชาไท รายงานว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 เชื่อว่าจำเลยกระทำความผิด ทำให้เกียรติศักดิ์ เสียชีวิต ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย ส่วนจำเลยที่ 6 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ ขณะที่จำเลยที่ 5 ลงโทษจำคุก 7 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4

 

ต่อมาอัยการโจทก์, โจทก์ร่วมและจำเลย ได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และเคลื่อนย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 มีประโยชน์ในการพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 50 ปี อีกทั้งพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 5-6 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 7 ปีนั้น เห็นว่า หนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 5-6 ไว้คนละ 5 ปี

 

อย่างไรก็ตามเมื่อถึงชั้นศาลฎีกา ศาลชั้นสุดท้ายกลับมีคำพิพากษาล้างคำพิพากษาทั้งสองก่อนหน้า โดยศาลได้ให้เหตุผลอ้างถึงพยานโจทก์ที่มีเพียงปากเดียวว่า ไม่ใช่ประจักษ์พยาน ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยวิเคราะห์ถึงคำให้การโดยละเอียดหลายครั้งว่า มีพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ กับจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธโดยตลอด จึงน่าสงสัยว่า ร่วมกระทำผิดจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหก

 

คำพิพากษาดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงนักกฎหมาย และประชาชนที่ได้ติดตามคดีนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการพิจารณาคดีรวม รวมทั้งกระบวนการรวบรวมหลักฐานพยานต่างๆ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่
 

1 กุมภาพันธุ์ 2562  สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงจัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “วิเคราะห์การรับฟังพยานหลักฐานของศาลในคดีอาญา ผ่านคดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงรัฐบาลประกาศนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ” ณ ห้อง 211 คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเชิงวิชาการต่อการพัฒนาระบบการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป

 

ข้อพิรุธคดี : พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ  พนักงานสอบสวนในคดี
คดีดังกล่าวตนได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนเมื่อ 29 สิงหาคม 2548 หลังจากหัวหน้าพนักงานสอบสวนเดิม ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการที่โอนย้ายมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกเปลี่ยนออกเนื่องจากเหตุผลบางประการ เมื่อแรกรับสำนวน ตั้งสมมุติฐานขึ้นจากประสบการณ์ว่า คดีดังกล่าวไม่มีประจักษ์พยานแน่นอน ดังนั้น จึงพยายามทำการรวบรวมพยานแวดล้อม จึงได้ทำการสอบสวนพยานทั้งสิ้น 108 ปาก ประกอบด้วย ญาติผู้ตาย เพื่อนผู้ตาย และผู้ใกล้ชิดผู้ตายก่อนเสียชีวิต

 

จากการลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ในขณะนั้น พบว่า มีเยาวชนผู้เสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม ทั้งถูกฆ่าแขวนคอ ถูกยิง ถูกอุ้มหายมากกว่า 30 คน ซึ่งตำรวจในท้องที่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้และงดการสืบสวนทุกกรณี หลังรวบรวมพยานแวดล้อมทั้งหมด รวมถึงการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจและพยานผู้เชี่ยวชาญทางนิติวิทยาศาสตร์ สามารถสรุปลำดับเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุฆาตกรรมเกียรติศักดิ์ได้ดังนี้

 

16 กรกฎาคม 2547 เกียรติศักดิ์และเพื่อนถูกจับกุมตัวในข้อหาลักทรัพย์จากการลักรถจักรยานยนต์ ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จากการสอบปากคำเพื่อนของเกียรติศักดิ์ในกลุ่มดังกล่าวซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ทราบว่า ในกลุ่มวัยรุ่นจะรู้กันดีว่าในขณะนั้นหากถูกตำรวจจับและมีการปล่อยตัวออกไป มักจะถูกฆ่าตาย ราเมศ หนึ่งในเพื่อนของเกียรติศักดิ์ที่ได้รับการประกันตัวถึงกับกำชับกับแม่ของเขาว่า ให้พาญาติพี่น้องมาประกันตัวและรับเขาด้วยตนเองที่สถานีตำรวจให้ได้ กฤชชานนท์ เพื่อนอีกคนหนึ่งก็ได้รับการประกันตัวเช่นกัน แต่ขณะที่ย่าของเขารับตัว ตำรวจได้แจ้งให้เธอทิ้งเงินค่ารถไว้และกลับไปรอที่บ้านเพื่อรอหมายปล่อยตัว เมื่อผู้เป็นย่ากลับมาที่สถานีตำรวจอีกครั้ง ตำรวจแจ้งว่า ปล่อยตัวไปแล้ว และสุดท้าย กฤชชานนท์ก็หายตัวไปอย่างไม่ทราบชะตากรรมจนถึงปัจจุบัน

 

สำหรับคดีของเกียรติศักดิ์ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวว่า พิรุธแรกที่พบก็คือ วันที่ 2 กรกฎาคม 2547 สุรสักดิ์ เพื่อนของเกียรติศักดิ์ให้การว่า ระหว่างอยู่ในห้องขังเกียรติศักดิ์ทราบเรื่องที่ยายของเขาปฏิเสธจะมาประกันตัว เนื่องจากอยากให้เกียรติศักดิ์ได้รับบทเรียน แต่ระหว่างนั้นตำรวจ ได้แก่ รอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ กลับไปติดต่อนักการท้องถิ่นผู้หนึ่งให้มายื่นหลักทรัพย์ประกันตัว ทั้งยังให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมารับเอกสารไปยื่นที่ศาลให้ด้วย จากข้อมูลดังกล่าว พ.อ.ปิยะวัฒก์ ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งที่นโยบายของ ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ในขณะนั้น คือ ไม่ให้ประกันตัวอย่างเด็ดขาดในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดและอาชญากรรม จึงน่าสงสัยในพฤติการณ์ของ รองผกก.ผู้นี้

 

เพื่อนของผู้ตายเล่าว่า ในวันเดียวกัน เวลา 14.00 น. เมื่อยายของผู้เกียรติศักดิ์ทราบว่า ตำรวจจะทำเรื่องประกันตัว เธอจึงเดินทางมาเยี่ยมหลานและนำเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนมาให้ เมื่อถูกปล่อยตัว พูดคุยกันสักพักก็กลับไป กลุ่มเพื่อนในห้องขังให้ปากคำต่อว่า เวลาประมาณ 15-16.00 น. ตำรวจก็นำตัวเกียรติศักดิ์ออกจากห้องขัง หลังจากนั้นพวกเขาก็ไม่พบเห็นเพื่อนผู้นี้อีกเลย

 

จากหลักฐานทางเอกสาร พ.อ.ปิยะวัฒก์ พบว่า ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ออกหมายปล่อยตัว เกียรติศักดิ์ ในเวลา16.30 น. และเวลา 16.35 น. มีการลงบันทึกปล่อยตัว ณ สถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ เป็นพิรุธข้อที่สองที่พ.อ.ปิยะวัฒน์ ไม่อาจสรุปได้ว่า เกียรติศักดิ์ถูกปล่อยตัวจริงหรือไม่  เนื่องจากมีพยานซึ่งเป็นตำรวจในสถานีดังกล่าว ถูกเรียกมาสอบปากคำยืนยันว่า ในเวลา17.00 น. ตนขับรถไปที่สถานีขนส่งจ.กาฬสินธุ์ และพบเกียรติศักดิ์ยืนอยู่ ด้วยความสงสัยจึงนำตัวเกียรติศักดิ์กลับมาที่สถานีตำรวจอีกครั้ง พยานปากนี้ดูเหมือนจะเป็นเครื่องยืนยันว่า มีการปล่อยตัวจริง ทว่าภายหลังได้ทำการสอบอีกครั้งด้วยเครื่องจับเท็จกลับพบว่า ตำรวจนายนี้โกหก พ.อ.ปิยะวัฒก์ ระบุว่า เมื่อได้ทำการสอบสวนเชิงลึก พยานรายนี้สารภาพว่า ที่ต้องให้การเรื่องที่ไปพบเกียรติศํกดิ์ที่ บขส. เนื่องจากเป็นคำสั่งของ ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์
 

 

พยานปากสำคัญที่ต่อมาศาลฎีกามีความเห็นว่า ไม่น่าเชื่อถือ คือกลุ่มคนที่เห็นเกียรติศักดิ์เป็นคนสุดท้าย ในวันเดียวกับที่เกียรติศักดิ์ได้รับการปล่อยตัว เวลา 18.00 ซึ่งเขาควรกำลังเดินทางกลับบ้าน ในสถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ ห้องร้อยเวรสืบสวน มีคดีลักโทรศัพท์เกิดขึ้น ระหว่างคู่กรณีทำการไกล่เกลี่ยกัน อรัญญา พบเห็นตำรวจนำตัวเกียรติศักดิ์เข้ามาในห้อง เขาได้ยืมโทรศัพท์จากเธอ โทร.มาแจ้งยายให้รีบมารับตัวเขา โดยเกียรติศักดิ์กล่าวเป็นภาษาลาวว่า “แม่อยู่ไส ให้รีบมา สิโดนตำรวจฆ่า” จากนั้นราว 30 นาทีเขาได้ยืมโทรศัพท์อีกครั้งโทรหานายอภิชาต ญาติใกล้ชิดสอบถามว่า เมื่อไหร่จะมารับ ยังไม่ได้ประกันตัว ขณะนั้นบริเวณด้านล่างสถานีตำรวจ ได้ยินเสียงยายสา ทะเลาะอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกียรติศักดิ์จึงกล่าวกับอภิชาตว่า ยายมาแล้วได้ยินเสียงยายแล้ว และวางสายไป จากนั้นเวลาประมาณ 19.45 น. อรัญญา เห็นตำรวจนายหนึ่งเข้ามานำตัวเกียรติศักดิ์ออกจากห้องสืบสวน
 

 

จากการสอบปากคำยาย เมื่อได้รับโทรศัพท์จากหลานชาย เธอรู้ดังนั้นจึงรีบเดินทางมายังสถานีตำรวจ แต่รอง ผกก. ได้เข้ามาขัดขวางไม่ให้เธอขึ้นไปพบเกียรติศักดิ์ เธอจึงมีปากเสียงกับตำรวจผู้นั้นว่า “ทำไมพูดไม่จริง ไหนว่าจะปล่อย ทำไมไม่ปล่อย” หลังยื้อกันอยู่สักพัก สุดท้าย ยายสามารถขึ้นไปยังห้องสืบสวนแต่ไม่พบเกียรติศํกดิ์ ตำรวจในห้องนั้นแจ้งกับเธอว่าปล่อยตัวไปแล้ว และเมื่อสอบถามจากกลุ่มคนภายในซึ่งรวมถึง อรัญญา ก็ได้รับคำตอบว่า “จ่าหนวดพาออกไปแล้ว” ขณะนั้น ยายยังสังเกตเห็นถุงเสื้อผ้าที่เธอฝากให้ไว้ก่อนหน้า ทิ้งอยู่ในห้องนั้นด้วย

 

เวลา 03.30 น. ในพื้นที่ ต.แสงชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด มีประชาชนพบรถปิ๊กอัพขับขึ้นไปในเขตพื้นที่ทุ่งนาเปลี่ยวร้าง จน เวลา 08.00 น. จึงมีผู้ไปพบศพเกียรติศักดิ์ถูกแขวนคออยู่กับขื่อกระท่อมกลางนา รองเท้าถูกวางเป็นระเบียบใต้ศพ และบริเวณโดยรอบมีรอยรองเท้าผ้าใบสามรอย พ.อ.ปิยะวัฒก์ ตั้งข้อสังเกตถึงข้อพิรุธจากการพบศพเกียรติศักดิ์ว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ แต่กลับพบศพเกียรติศักดิ์ ใน จ.ร้อยเอ็ด โดยข้อมูลจากพยานซึ่งเป็นตำรวจในพื้นที่ อ.จังหาร ระบุว่า หนึ่งในจำเลย (ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ผู้ถูกฟ้องร้องว่าเป็นผู้ฆ่า) เป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนั้นจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เชือกที่พันรัดคอเกียรติศักดิ์มีการขดทบกันถึงสองชั้นซึ่งผิดจากพฤติกรรมของผู้ฆ่าตัวตาย รอยรัดซึ่งเป็นสีน้ำตาลไม่มีเลือดคั่ง ชี้ให้เห็นว่า ผู้ตายเสียชีวิตแล้วขณะถูกรัดคอ ประกอบกับบาดแผลตามร่างกายเกิดจากการถูกซ้อม มีรอยถูกวัตถุแข็งผิวเรียบคล้ายกุญแจมือบริเวณข้อมือ โดยเฉพาะอัณฑะบวมปริแตก ซึ่งเป็นรอยที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิต

 

และจากการชันสูตรอาหารในกระเพาะอาหาร พบว่า ช่วงเวลาที่ผู้ตายเสียชีวิตน่าจะเป็นเวลา ประมาณ 20.00 น. ซึ่งมีพยานยืนยันว่า ผู้ตายยังอยู่ในการควบคุมของตำรวจจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์
พ.อ.ปิยะวัฒก์ ยังชี้ว่า หลังจากเกิดคดีนี้ขึ้น ตำรวจจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ได้นำตัวของพยานปากสำคัญ คือ อรัญญา ซึ่งเป็นเจ้าของโทรศัพท์ไปหลบซ่อนตัวตามที่ต่างๆ ทั้งตามบ้านพักข้าราชการตำรวจและโรงแรม เพื่อไม่ให้พบกับตำรวจจากกองปราบและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งลงไปติดตามคดี จนภายหลังต้องให้ตำรวจ สภ.จังหาร เจ้าของพื้นที่เข้ามารับผิดชอบสืบคดีต่อ

 

ระหว่างนั้น ตำรวจจาก สภ.จังหาร หนึ่งในพยานฝ่ายโจทก์ ระบุว่า มีการจดคำให้การให้อรัญญาท่อง เพื่อช่วยตำรวจชุดก่อเหตุและในห้องสอบสวนก็มีตำรวจจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์มานั่งในห้องด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่า พยานปากนี้ถูกบังคับให้การ จากนั้นเมื่อตำรวจกองปราบฯ สามารถติดต่อกับเธอได้ และพยายามนำตัวอรัญญาไปสอบเพิ่ม อรัญญาก็ถูกขู่ว่า จะถูกเก็บ จนกระทั่งต้องหนีไปอาศัยอยู่กับญาติที่ จ.สระแก้ว ระหว่างนั้นอรัญญาพบตำรวจจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ชุดเดียวกันนี้ตามประกบเธอ ด้วยความหวาดกลัวโดยการประสานกับนักข่าวช่องไอทีวี อรัญญาต้องหนีข้ามพรมแดนออกไปทาง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ในที่สุด โดย พ.อ.ปิยะวัฒก์ ได้สืบพบบันทึกคำให้การตามจริงที่อรัญญาตัดสินใจเขียนและฝากไว้กับน้องสาวและได้นำเข้าประกอบในสำนวนคดีด้วย

 

เช่นเดียวกับชะตากรรมของกลุ่มเพื่อนของเกียรติศักดิ์ซึ่งเป็นข้อพิรุธอีกประการ คนแรก คือ สุรศักดิ์  ผู้ได้รับการประกันตัวหลังเกียรติศักดิ์หนึ่งวัน เขาถูกปล่อยตัวจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์และกลับบ้านได้เนื่องจากแม่และญาติไปรอรับ ทว่าหลังจากนั้นหนึ่งเดือน สุรศักดิ์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุกะทันหัน เช่นเดียวกับ น้ำฝน  ออฟน้อย และ เฟร็ดดี้ ถูกยิงประกบจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

“เรื่องนี้แสดงให้เห็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมหลายอย่าง เช่น การรวบรวมพยานหลักฐาน สังเกตได้ว่า ไม่สามารถตรวจพบร่องรอยดีเอ็นเอของคนร้ายได้ ทั้งนี้เพราะหลักฐานถูกเก็บมาแค่บางส่วนและจนกระทั่งชุดของตนซึ่งเป็นชุดสอบสวนชุดหลังเข้ามารับช่วงคดีต่อ ก็มีบางส่วนสูญหายและสิ้นสภาพ นอกจากนั้น เรื่องการคุ้มครองพยาน รวมทั้งพฤติกรรมการข่มขู่พยาน ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ถึงอย่างนั้นหลักฐานแวดล้อมทั้งหมดก็ร้อยรัดเป็นลูกโซ่ จนเป็นที่แน่ชัดว่า จำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นที่สงสัยในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์”
 

มูลเหตุในการฆ่า : รุจ  เขื่อนสุวรรณ อัยการ

รุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการผู้เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ตั้งประเด็นว่า เพราะเหตุใดตำรวจจึงต้องฆ่าผู้ต้องหา ?  โดยเล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง เมื่อปี 2542 ขณะรับราชการเป็นอัยการ อยู่ที่ ศาลจังหวัดพล จ.ขอนแก่น ในช่วงนั้นรัฐบาลออกนโยบายปราบปรามยาเสพติด โดยสื่อถึงความเด็ดขาด หลังจากนั้นเกิดคดีฆาตรกกรมโดยไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิดมาถึงมือเดือนละ 5 ราย หนึ่งปี ราว 50 ศพ มีพฤติการณ์ซ้ำซ้อนกัน คือ คนร้ายไปดักพบผู้ตายในตอนเช้าตรู่ สอบถามชื่อ เมื่อรับว่าเป็นบุคคลที่ตรงกับชื่อดังกล่าวก็ถูกยิง มีการฆาตกรรมวัยรุ่นเปลือยกายหน้าสถานที่ราชการ ในพื้นที่มีข่าวลือหนาหูว่า คนที่ตายพวกนี้ คือ พวกค้ายาเสพติด จากการพูดคุยกับ หัวหน้าสถานีตำรวจผู้หนึ่งซึ่งรู้จักสนิทสนมกัน ถามว่า “ทำอย่างนี้แล้วได้อะไร” ได้รับคำตอบว่า “รองผู้การให้หัวละห้าพัน”

 

ระหว่างที่ทำงานอยู่ มีหนึ่งคดีที่คล้ายคลึงกับคดีของเกียรติศักดิ์ คือ เป็นการฆาตกรรมแขวนคอ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจศพ พบข้อน่าสงสัย คือ ที่พื้นมีรอยตะกายเท้าเป็นวง และมีรอยลากขึ้นไปแขวน  แต่อย่างไรก็ตามตำรวจในพื้นที่ก็สรุปว่า ญาติไม่ติดใจเอาความ และสรุปคดีเป็นการฆ่าตัวตาย

 

นิทานเรื่องนี้พอจะเห็นภาพของการกระทำในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการของกฎหมาย เป็นเรื่องของการใช้อำนาจของทางราชการ มีลักษณะร่วมมือกันของทั้งองค์กร ไม่ใช่การกระทำเดี่ยวๆ ด้วยความโกรธแค้น ในส่วนของคดีเกียรติศักดิ์ ในฐานะอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ตนเป็นผู้สั่งฟ้องเอง เห็นว่า พยานหลักฐานชี้ชัด ก็เป็นไปตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาเอาไว้ ส่วนคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งให้ยกฟ้องเพราะว่า ไม่เชื่อถือพยานเพียงปากเดียวก็เป็นเรื่องที่สังคมได้ต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนต่อไป
 

“ที่ตำรวจทำอย่างนี้ ไม่ได้เป็นไปเพราะความเกลียดชังส่วนตัว  แต่เป็นการเกลียดชังเชิงนโยบาย ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ความรุนแรง โดยหวังผลทางสถิติ และสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ผู้อยู่เบื้องบน มูลเหตุมันอยู่ตรงนี้”
 

ดุลยพินิจของศาล : รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ

รัษฎา มนูรัษฎา เล่าว่า หลังได้รับการร้องเรียนจากญาติผู้เสียชีวิตให้ช่วยเหลือทางกฎหมาย คณะทำงานของสภาทนายความฯ ได้ลงพื้นที่พบกับญาติผู้เสียชีวิตทั้งในคดีของเกียรติศักดิ์และผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ พบข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่ พ.อ.ปิยะวัฒน์ เล่า คือ พนักงานสอบสวนในพื้นที่ของดการสอบสวน เนื่องจากได้สอบสวนมาเป็นเวลานานไม่พบตัวคนร้าย

ในฐานะโจทก์ร่วม คณะของสภาทนายความฯ ได้นำรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าประกอบกับพยานที่พนักงานสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบไว้ทั้งสิ้น 108 ปาก ซึ่งได้มีการนำสืบในศาลกว่า 20 ปาก ต่างก็ชี้ให้เห็นพฤติการณ์การอำพรางและปิดบังความจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ทั้ง 6 คน ในฐานะจำเลย โดยเฉพาะพยานสำคัญ คือ อรัญญา เจ้าของโทรศัพท์ ซึ่งแสดงว่า ในเวลาหลังมีบันทึกการปล่อยตัวผู้ตายยังถูกกักตัวไว้ในสถานีตำรวจ พยานแวดล้อมอื่น คือ ผู้มาประกันตัวผู้ตาย ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ขอให้ตนมาประกันตัว ทั้งที่ตัวพยานเองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องทางใดกับผู้ตาย

 

ที่สำคัญ ฝ่ายจำเลยทั้งหมดพร้อมทนายเองก็ได้แถลงรับข้อเท็จจริงตามคำให้การจากพยานในชั้นพนักงานสอบสวนอีก 40 กว่าปาก ดังนั้นหลักฐาน พยานแวดล้อม ตามสำนวนคดีนี้มีพยานที่ศาลรับฟังมากกว่า 60 ปาก ศาลชั้นต้นเชื่อ วินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า การตายของผู้ตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พิพากษา ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 , จำคุกจำเลยที่ 5  7 ปี , จำคุกจำเลยที่ 6  ตลอดชีวิต และพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 เนื่องจากศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 4 เพียงติดต่อให้คนมาประกันตัว การติดต่อหาคนมาประกันตัวเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา แต่ทนายความโจทก์ร่วมและพนักงานอัยการเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยผู้นี้เป็นการวางแผนลงมือฆ่า การติดต่อให้คนมาประกันตัวเพื่อให้ผู้ตายออกจากระบบการฝากขัง ซึ่งในประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์เห็นด้วย แก้ไขคำพิพากษา ตัดสินให้ลงโทษทุกคน แต่ศาลยังเห็นว่าจำเลยที่ 2 ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี โดยยอมรับว่า การที่ตนต้องแถลงว่าไปพบผู้ตายที่ บขส. ในเวลา 17.00 น. นั้นเป็นเพราะคำสั่งของผู้กำกับการสถานีตำรวจ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา จึงปรับลดโทษให้เหลือ จำคุก 50 ปี 
 

ทว่าในชั้นศาลฎีกา  ศาลฎีกากลับยกฟ้องทั้งสิ้น 6 คน โดยให้เหตุผลว่า คำให้การของ อรัญญามีข้อน่าสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย 6 คน เป็นเหตุผลเพียงข้อสงสัยในพยานปากเดียว แต่ศาลฎีกาไม่ได้บอกเลยว่า ศาลเห็นต่างจากข้อเท็จจริงที่ศาลทั้งสองเชื่อไว้อย่างไร หรือศาลฎีกาเห็นใหม่เป็นอย่างไร และอีกประการหนึ่ง พยานที่สอบไว้กว่าหกสิบปาก หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ที่ระบุเวลาตาย พยานที่ให้การว่า เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ต้องขังออกไปจากห้อง ศาลฎีกาไม่ได้หยิบมาวินิจฉัยทั้งสิ้น จึงหมายถึงการหยิบยกเฉพาะเพียงคำให้การของพยานปากเดียวแล้วตัดสินยกฟ้อง อันเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ
 

“เราเคารพในคำพิพากษา เคารพในดุลยพินิจ แต่ดุลยพินิจอย่างใดต้องตั้งอยู่บนหลักการของกฎหมาย ศาลต้องชั่งพยานหลักฐานทั้งปวง ก่อนพิพากษาลงโทษ ศาลได้ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงแล้วหรือยังในคดีนี้"