สี่พรรคร่วมถกวัฒนธรรม ชูนโยบายข้ามพ้นวัฒนธรรมอำนาจนิยม

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ร่วมจัดงานเสวนาและคอนเสิร์ต “พลังวัฒนธรรมกับการเมืองไทย” โดยมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “มุมมองพรรคการเมืองต่อพลังวัฒนธรรมและการเมืองไทย” มีนักการเมืองร่วมแลกเปลี่ยนคือ อดิศร เพียงเกษ  สมาชิกพรรคเพื่อไทย, สมบัติ บุณงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียง พรรคไทยรักษาชาติ

 

 

“…วัฒนธรรมทางการเมืองไทยตอนนี้คือ เรามีการรัฐประหารทุกสามปี มีวัฒนธรรมอำนาจนิยม ถ้าใครมีอำนาจ ผู้นั้นจะได้รับความนิยม ไม่ว่าอำนาจนั้นจะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม…”

 

สมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน กล่าวว่า “ศิลปะหมายถึงสิ่งที่ศิลปินแสดงออกผ่านตัวงานศิลปะ เมื่อพูดถึงศิลปะจำเป็นต้องพูดถึงคนและสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจของคนสร้างศิลปะนั้น เช่นสภาพแวดล้อมทางสังคม มีคำกล่าวว่า ศิลปะบริสุทธิ์ไม่มีจริง เพราะว่า ศิลปินได้รับอิทธิพลมาจากสังคมและแสดงออกผ่านศิลปะ ปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ของเพลง “ประเทศกูมี” ที่ถือว่าเป็นการเขี่ยศิลปะหรือเพลงเพื่อชีวิตแบบเดิมลงคลองไปเลย เพราะศิลปินเพื่อชีวิตเดิมไม่ได้ทำหน้าที่ในการรับใช้สังคมปัจจุบันแล้ว พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ไม่เคารพ  ยืนยันว่า ผมเคารพจิตวิญญาณการสร้างสรรค์ผลงานในอดีต แต่เพลงในอดีตไม่ได้รับใช้สังคมปัจจุบันแล้ว

 

ส่วนคำว่า วัฒนธรรม แปลว่า วิถีชีวิต คนไทยชอบนำไปปะปนกับประเพณีหรือรูปแบบ เช่น โขน หรือชุดแบบไทยเดิม ขอโทษทีนะ ผมไม่รู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรม อาจจะเป็นวัฒนธรรมช่วงหนึ่งแต่ไม่ใช่วิถีชีวิตของชาวบ้านจริง วัฒนธรรมทางการเมืองไทยตอนนี้คือ เรามีการรัฐประหารทุกสามปี มีวัฒนธรรมอำนาจนิยม เราเชื่อว่า ถ้าใครมีอำนาจ ผู้นั้นจะได้รับความนิยม ไม่ว่าอำนาจนั้นจะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม วัฒนธรรมแบบนี้มันแผ่ซึมซาบในสังคมเรา แต่ถามว่า มันเป็นวัฒนธรรมที่ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องตั้งคำถาม อย่างไรก็ดีเชื่อว่า มันเปลี่ยนแปลงได้

 

วันนี้ผมเห็นคนขับมอเตอร์ไซด์ย้อนศร ผมนึกถึงนายทหารที่ยึดอำนาจ คิดว่า มันพอๆกัน คือถ้าเรายอมรับคนที่ขี่มอเตอร์ไซด์ย้อนศรได้ คุณก็อาจยอมรับคนรัฐประหารได้ ถ้าหากเราจะสร้างวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตยจะต้องเป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับกันได้ทั้งหมด ผมหวังว่า เราจะสามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ยอมรับกันได้

 

ผมอยากเห็นสังคมไทยมีวัฒนธรรมเชิดชูสามัญชน เวลาเราไปต่างประเทศเราจะเห็นรูปปั้นของคนธรรมดา เป็นคนที่ชุมชนนั้นๆระลึกถึง อย่างแรกคือ อยากให้พื้นที่หน้าไทยรัฐเป็นรูปปั้นของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ คนที่สังคมไทยควรจะรู้จักเขา เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดามากๆ เวลาเราบอกว่า เราจะบันทึกเรื่องราวหรือสร้างงานศิลปะที่เกี่ยวกับสามัญชน มันเป็นเรื่องดีที่เราจะรู้จักกับสามัญชน แต่ละท้องถิ่นควรจะกลับไปค้นหาเรื่องราวเหล่านี้และสร้างประติมากรรมงานปั้นของคนเหล่านี้

 

ในส่วนนโยบายเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมมองว่า ต้องมีสองมิติ หนึ่ง เวลาที่มาพูดถึงอะไรไทยๆ ผมไม่เชื่อนะ มันมาจากการใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะปฏิเสธสิ่งที่เป็นหลัก ถ้าไปไล่เรียงความเป็นไทย คนที่พูดบ่อยๆคือ คุณประยุทธ์ ที่บอกว่า รากเหง้าของคนไทยมาจากอัลไตอยู่เลย พูดเป็นตุเป็นตะโดยไม่เข้าใจความเป็นไทย ผมมองว่า ความเป็นไทยควรจะถูกสังคายนา เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง การเป่าแคนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เป็นสิ่งผิดกฎหมายเพราะเป็นวัฒนธรรมของคนลาวที่ถูกกวาดต้อนเข้ามา แสดงถึงความขบถต่อต้านชนชั้นปกครอง

 

สองความเป็นไทยที่อยู่บนสังคมโลก เราต้องรู้จักในแนวกว้าง เราต้องรู้จักมนุษย์ที่อยู่ในที่ต่างๆ การใส่เสื้อนาซี สะท้อนว่า แนวกว้างก็ไม่ได้ แนวลึกก็ไม่ได้ วัฒนธรรมต่างชาติไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้าย เราจะแลกเปลี่ยนวิถีความรู้จากภายนอกเข้ามา การเรียนรู้เชิงลึกเกี่ยวกับรากเหง้าทำให้เรามีตัวตนและภาคภูมิใจ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้  สถานะไทยสากลที่คนทั่วโลกยอมรับได้”

 

“…ผู้นำประเทศที่แต่เพลงเป็นเรื่องปกติ เนื้อหาเป็นความตรงไปตรงมาหรือเป็นความปลิ้นปล้อนเพื่อรักษาอำนาจรัฐ คือความแตกต่างของผู้นำประเทศที่ทำเพื่อประชาชนและผู้นำที่ทำเพื่อพวกพ้อง…”

 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียง พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า “คำถามเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม ขอพูดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคนกรุงเทพฯ วันนี้หลายคนลังเลแม้แต่จะออกจากบ้านมาใช้ชีวิต เยี่ยงคนธรรมดา จากปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5  ที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมของคนกรุงเทพฯ เราจะออกไปไหนก็ต้องพยายามตรวจว่า แต่ละจุดมีปริมาณที่เป็นอันตรายหรือไม่  คำย่อว่า พีเอ็มนอกจากฝุ่นผง คิดถึงเรื่องอื่นได้อีกไหม มีคำในภาษาอังกฤษที่คล้ายคลึงกับคำว่า พีเอ็ม คือว่า นายกรัฐมนตรี (Prime minister) พีเอ็ม 2.5 ก็รู้อยู่แล้วว่า มันไม่เต็มร้อย ไม่เต็มสิบ ทั้งประเทศกำลังอยู่ในสถานการณ์พีเอ็ม 2.5 สถานการณ์ที่นายกรัฐมนตรีไม่เต็ม หมายถึงไม่เต็มใจจะออกจากตำแหน่ง ทั้งที่หลายคนพยายามจะบอกว่า ให้สติและสำนึกทางการเมืองก็ตาม

 

ก่อนงานจะถูกปิดก่อนเวลา ขอย้อนกลับไปที่เรื่องศิลปะและวัฒนธรรม มันเป็นสิ่งมีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง มีวิวัฒนาการได้ตลอดเวลา มีผลกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ศิลปะจะเกิดขึ้นโดยชนชั้นใดก็ได้ คนระดับล่างเดินดิน คนชั้นสูงผู้มีอำนาจนำอำนาจการปกครองได้หมด  สิ่งนี้อยู่ใน รัฐชาติที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยแท้จริงจะมีศิลปะที่งอกงามเติบโตและรับใช้ชนชั้นผู้ถูกกดขี่อย่างแหลมคม เราเห็นงานศิลปะหลายชิ้นจากหลายประเทศ รับใช้ผู้ถูกกดขี่และพาชนชั้นนั้นเหยียดยืนขึ้นมาเพื่อทำให้ผู้ถูกกดขี่ขึ้นมายืนเทียบเคียงกับผู้ปกครองและผู้กดขี่เสมอ

 

ต่อข้อคำถามที่ว่า มันมีไหมที่นายกรัฐมนตรีหรือผู้นำประเทศที่แต่งเพลง ผมว่า มี และเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทำได้ ผู้นำหลายๆชาติที่เขียนลำนำ กวี ผู้นำประเทศที่สร้างศิลปะจะเพื่อรับใช้ประชาชนหรือตอบสนองกิเลสทางการเมือง เห็นจากเนื้อหาเป็นความตรงไปตรงมา เป็นสัจจะของชีวิตหรือเป็นความปลิ้นปล้อน ฉ้อฉลตลบตะแลงเพื่อรักษาอำนาจรัฐของตนเอง ตรงนี้คือความแตกต่างของผู้นำประเทศที่ทำเพื่อประชาชนและผู้นำที่ทำเพื่อพวกพ้อง แสดงท่าทีที่หมิ่นแคลนประชาชน เป็นหน้าที่ประชาชนที่ ไม่ให้อยู่ในอำนาจได้ต่อไป การทวงคืนที่สันติ ปลอดภัยที่สุดโดยการเลือกตั้ง

 

เรื่องศิลปะและวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพรรคไทยรักษาชาติ จะไม่ขยายความแต่จะพูดให้ชัดว่า แนวคิดของเราคือเคารพและยอมรับความหลากหลายและพร้อมที่จะใช้กลไกรัฐสนับสนุนปกป้องคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนถึงที่สุด ในมิติด้านเทคโนโลยีจะใช้เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพที่จะสวนทางกับรัฐบาลปัจจุบัน เปิดทางให้บุคคลที่มีความดีเด่นด้านศิลปะและวัฒนธรรม  รางวัลศิลปินแห่งชาติจะต้องพิจารณาถึงวัตรปฏิบัติด้านประชาธิปไตย เพราะศิลปินเป็นผู้สร้างงานศิลปะ ศิลปะจะต้องรับใช้ประชาชน ถ้ารับใช้อำนาจนิยม คงไม่อาจเรียกว่า ศิลปินแห่งชาติได้

 

“…คำว่า “มึงมาไล่ดูสิ” สะท้อนถึงวัฒนธรรมอำนาจนิยม ไม่ใช่เรื่องของความจริงใจ นี่คือสะท้อนสันดานดิบ วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ครอบงำสังคมไทย…”

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า “วัฒนธรรมคือเรื่องของวิธีคิด วิถีชีวิต ผู้คนก่อรูปกันขึ้นมา วัฒนธรรมไทยคือ สิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมา การเลื่อนไหลเปลี่ยนไปตามห้วงเวลา ผู้คนแต่ละยุคและสมัยกำหนดและสร้างมาด้วยชนชั้นนำ อนุรักษ์นิยม จารีต ประเพณีของไทย ถ้าเกินกว่านี้ถือว่า ไม่ใช่วัฒนธรรมไทย มาถึงยุคที่หัวหน้าคสช.กำหนดว่า ต้องมีค่านิยมกี่ประการ ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย แต่คิดจากข้างบน จากคนไม่กี่คน คิดและกำหนดลงมาว่า วัฒนธรรมต้องเป็นเช่นนี้

 

วัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กับอุดมการณ์ที่เป็นตัวไปกำกับชี้นำว่า วัฒนธรรมต้องเป็นอย่างไร พร้อมๆกับวัฒนธรรมที่จะเปลี่ยนแปลงคนในสังคม   สมมติเรายึดกุมอุดมการณ์ประชาธิปไตย เผด็จการจะกล่อมเกลาเพื่อเปลี่ยนความคิดแบบเสรีนิยม วัฒนธรรมในไทยสนับสนุนการบังคับสั่งการเกิดฝังไปเรื่อยๆจะไปเปลี่ยนความคิดในที่สุด

 

งานทางวัฒนธรรมคือการช่วงชิงความหมายของถ้อยคำ ถ้อยคำๆนึงที่เกิดขึ้นมา และมีนิยาม แต่นิยามนั้นมันถูกเปลี่ยนได้ตลอดเวลา คำว่า ประชาธิปไตย ถ้าสมัยกรีกโรมันคือการปกครองที่แย่มากเพราะเอาประชาชนที่โง่มาปกครองประเทศ ต้องเป็นราชาปราชญ์มาปกครองเท่านั้น คำว่า ประชาธิปไตยเพิ่งเป็นแง่บวกไม่นานมานี้ว่า ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในปัจจุบันประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่เป็นมาตรฐานสากลแล้วที่ทุกประเทศต้องเป็น ต่อให้คุณไม่เป็นคุณก็ต้องบอกว่า เป็น ส่วนของไทยมันไม่เป็นประชาธิปไตย คุณก็ต้องโม้ว่า เป็น 99.99  ทีนี้มันเกิดการช่วงชิงความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย ฝ่ายที่ต่อต้านประชาธิปไตยก็ต้องต่อสู้ เช่นว่า เสียงข้างมากข่มเหงเสียข้างน้อย สร้างประชาธิปไตยในเวอร์ชั่นคนดีมีศีลธรรม ยุคสมัยหนึ่งคำว่า คนดีเราศรัทธา แต่ว่า ระยะหลังคำว่า คนดีมันเสื่อมเสียลงเพราะมีคนสถาปนาตัวเป็นคนดีและบอกว่า ประชาธิปไตยปกครองด้วยคนไม่ดี ต้องยึดอำนาจปกครองด้วยคนดี

 

อันที่จริงต้องอธิบายและช่วงชิงความหมายในแง่ของประชาธิปไตย คนที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เชื่อในความเสมอภาค อย่างนี้คือคนดีตามมาตรฐานประชาธิปไตย ไม่ใช่สถาปนาคนดี แต่ยืมนาฬิกาเพื่อนมาแบบนี้ไม่ต้อง เหล่านี้เราจะไม่เห็นหรอกว่า มันต่อสู้อย่างไรแต่มันซ่อนอยู่ ณ เวลานี้ที่ไทยดำเนินมาถึงจุดนี้ได้ ง่ายที่สุดคือ ทำไมคนไทยถึงยอมอดทนกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจมาเป็นเวลาเกือบห้าปี แสดงว่า วัฒนธรรมอำนาจนิยมมันครอบงำสังคมไทย คุณเฉยๆกับคนที่ผิดกติกาแล้วไม่เห็นหัวประชาชน ยึดอำนาจเขามา มีความผิดสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต แต่วันนี้อ้างรัฐธรรมนูญทุกวัน อ้างกฎหมายทุกวัน แต่ตนเองฉีกกฎหมายคนแรก นี่คือ วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมจริงๆ

 

คำว่า “มึงมาไล่ดูสิ” สะท้อนถึงวัฒนธรรมอำนาจนิยม ไม่ใช่เรื่องของความจริงใจแบบที่ท่านสองกุมารออกมาพูดว่า นี่คือความจริงใจ น่ารักจะตาย นี่คือสะท้อนสันดานดิบและวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ครอบงำสังคมไทยจนอยู่ถึงทุกวันนี้

 

ในส่วนของนโยบายด้านศิลปะและวัฒนธรรมของพรรคอนาคตใหม่เป็นสิ่งทีให้ความสำคัญ เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คน ตราบใดที่ผู้คนเชื่อในอำนาจนิยม จะพบเห็นการรัฐประหารและคนแบบพลเอกประยุทธ์กลับเข้ามา วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลยังอยู่ วันหน้าเราจะเห็นการอุ้มฆ่า การสังหารหมู่เช่นเดิมและไม่มีอะไรเกิดขึ้น เช่น กรณีล่าสุดคือ กรณีของสุรชัย แซ่ด่าน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

พรรคทำอยู่สองมุมใหญ่ๆคือ ในพรรคมีส่วนงานทางวัฒนธรรมของพรรค มีมหกรรมใหญ่ทุกปี อีกเรื่องคือ นโยบายในการรณรงค์เลือกตั้งคือ วัฒนธรรมสามมิติ คือ การเมือง ความคิดสร้างสรรค์และเศรษฐกิจ สนับสนุนให้คนคิดนวัตกรรมและเศรษฐกิจให้กับประเทศ จากทั้งหมดนี้เป็นกรอบเบื้องต้นนำไปสู่การปลดปล่อยงานทางวัฒนธรรมออกมาดังนี้

 

หนึ่ง ไม่มีทางกระตุ้น ตราบใดที่คนไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก จะแก้ไขบรรดากฎหมายต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการแสดงออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ กฎหมายหมิ่นประมาท มนุษย์เราไม่ควรจะถูกจำคุกเพียงแสดงออก จะปลดปล่อยคึวามคิดสร้างสรรค์ต้องจัดการเรื่องกฎหมายเหล่านี้ นอกจากนี้จะต้องสร้างพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น ทุกวันนี้ประเทศไทยพื้นที่สาธารณะหายไป

 

สอง การกระจายอำนาจและความหลากหลายทางวัฒนธรรม การรวมศูนย์อำนาจในรัชกาลที่ห้าส่งผลให้ทำลายประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เน้นกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการวัฒนธรรมท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมด มีความแตกต่างหลากหลาย เคารพความหลากหลาย

 

สาม การสนับสนุนบุคคลในงานทางวัฒนธรรม จำนวนมากต้องเป็นฟรีแลนซ์ ระบบประกันสังคมสวัสดิการไม่มี บางทีศิลปินปีนึงไม่มีงาน ปีถัดไปงานเยอะต้องจ่ายภาษีเยอะอีก ฉะนั้นต้องหาระบบการจัดการภาษีที่เหมาะสมกับคนในแวดวง ศิลปินอยากทำงานที่ไม่สอดคล้องกับแนวศิลปะของรัฐไทย เราจำเป็นต้องมีกองทุน

 

สี่ การส่งออกวัฒนธรรม หากเราคิดว่า วัฒนธรรมไทยต้องใส่ชฎาไม่มีทางสำเร็จ ที่เราคิดจะทำคือ หน่วยงานทางวัฒนธรรมที่อยู่ในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องทลายการผูกขาดของคนบางกลุ่มที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม การผูกขาดของโรงภาพยนตร์ วงการหนังสือก็เช่นเดียวกัน คนที่จะกำหนดชะตากรรมอยู่ที่สายส่งกับร้านหนังสือ

 

พรรคอนาคตใหม่เชื่อว่า วัฒนธรรมไทยสามารถไปได้ภายใต้วัฒนธรรมสากล เราสามารถนำเสนอวัฒนธรรมไทยได้โดยไม่ต้องปฏิเสธโลก โลกาภิวัฒน์ ไม่ได้หมายความว่า เราต้องการความเป็นไทยแล้วต้องสวนกะลา ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับวัฒนธรรมโลกได้ อย่าไปเชื่อว่า อะไรที่เป็นแบบไทยไทยคือข้อยกเว้น เมื่อใดก็ตามที่เชื่อว่า แบบไทยไทยคือข้อยกเว้น นั่นกำลังเข้าทางเผด็จการชนชั้นนำไม่กี่คน”

 

“…มึงมาไล่ดูสิ วัฒนธรรมแบบนี้คือ ถอยหลังลงคลอง ลุแก่อำนาจ วัฒนธรรมที่ชนชั้นใช้อำนาจนิยมชมชอบมาก วัฒนธรรมประยุทธ์รุ่งโรจน์ แต่วัฒนธรรมประชาชนกลับถูกเหยียบย่ำ…”

 

อดิษร เพียงเกษ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “อดีตเคยใช้หอประชุมศรีบูรพา ขับไล่ถนอม, ประภาส และณรงค์ ไม่เชื่อว่า ปี 2562 จะมาพูดเรื่องเดิม คิดว่า อีกสิบปีต่อไปก็ต้องพูดเพราะว่า เขา(คสช.)อยู่อีก 20 ปี ใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรม ถ้าวัฒนธรรมไปอยู่กับประยุทธ์ จันทร์โอชาก็เป็น “มึงมาไล่ดูสิ” บ้านเขาเข้าทางหน้าต่าง ถ้าบ้านผมเข้าทางหน้าต่างคือโจร วัฒนธรรมแบบนี้คือ ถอยหลังลงคลอง ลุแก่อำนาจ วัฒนธรรมที่ชนชั้นใช้อำนาจนิยมชมชอบมาก วัฒนธรรมประยุทธ์รุ่งโรจน์ แต่วัฒนธรรมประชาชนกลับถูกเหยียบย่ำ

 

การสบถเป็นเรื่องธรรมดา แต่ธรรมดาของมึงไม่ใช่ของกู มันต่างกันนะ วัฒนธรรมคือ คุณอยู่กำพืดใด ยืนตรงไหน รับใช้ใคร วัฒนธรรมรับใช้พวกพ้องตัวเอง อยู่ฝ่ายที่มีอำนาจรัฐ เลื่อนเลือกตั้งมาห้าครั้ง พอจะเลือกตั้งก็ไม่รู้ว่า จะเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคไหนหรือไม่

 

กลับมีที่เรื่องวัฒนธรรมทุกครั้งในการต่อสู้จะพูดถึงวัฒนธรรม ที่มีทั้งวัฒนธรรมหลวงและราษฎร์ แต่วัฒนธรรมราษฎร์ไม่มีใครสนใจเลย คิดอย่างไรให้มันดีงามตามสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่สังคมชั่วคราวแบบนี้ ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ อยากให้เป็นประชาธิปไตย ตั้งแต่อนุบาล ถึงจะชนะทุกอย่างที่ไม่ใช่วัฒนธรรมที่ดี คือ วัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ แทนที่จะเอาเพลงขอเวลาอีกไม่นานมาเปิด

 

นโยบายทางวัฒนธรรม ปัญหาปัจจุบันคือ ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาทุกข์ คนแก้เท่าที่ดู สโลแกนตามสี่แยก ถ้ามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจคนแก้ก็ต้องเพื่อไทย เขาว่ามาแบบนั้นนะ เมื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจแล้ว เราก็จะสร้างสุขให้แก่ประชาชน สุขนั้นจะได้มาอย่างไรก็ได้มาจากวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะสร้างสุขหลังจากที่แก้ทุกข์ไปแล้ว วัฒนธรรมที่สร้างจะเป็นประชาธิปไตยที่เคารพประชาชน ไม่ว่าอำนาจอธิปไตย ต้องขึ้นกับประชาชน ยกตัวอย่างหนึ่งในอำนาจอธิปไตยคือ อำนาจตุลาการ ศาลฎีกาต่อไปคุณต้องไม่ตัดสินว่า เมื่อปฏิวัติแล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มันเป็นคำพิพากษาโบราณแล้ว ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง ถ้าผู้พิพากษาหรือตุลาการท่านใดเป็นแบบนั้น เพราะประชาชนเข้าใจแล้วว่า การยึดอำนาจเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ดี เป็นเดรัจฉานวิชาของประชาธิปไตย

 

กระทรวงวัฒนธรรมจะต้องเป็นกระทรวงเกรดเอไม่ใช่เป็นกระทรวงลับๆล่อๆ ไม่มีที่ไปค่อยไปอยู่กระทรวงวัฒนธรรม ที่ผ่านมาไม่ได้รับใช้ประชาชน มองขึ้นข้างบนไม่ได้มองลงข้างล่าง งบประมาณจะต้องกระจายลงสู่ด้านล่าง เดี๋ยวนี้งบประมาณมีไม่กี่เปอร์เซนต์ส่งถึงประชาชน มองตามระบบราชการ”