เลือกตั้ง 62: พรรคการเมืองทยอยเปิดตัว ‘ว่าที่นายกฯ’

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็น วันที่ 4 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2562 สิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำหลังจากนี้ คือ แจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวนไม่เกินสามรายชื่อต่อ กกต. ก่อนปิดการรับสมัครส.ส. หรือช้าสุดไม่เกินวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562
ปัจจุบัน พรรคการเมืองอย่างน้อย 9 พรรคที่เปิดเผยรายชื่อนายกฯ ที่พรรคจะเสนอ แต่ทว่า พรรคการเมืองเหล่านี้ยังมีเงื่อนไขอีกอย่างน้อย 3 ข้อ ที่ต้องจัดการให้ได้ ถึงจะมีสิทธิเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ
เก้าพรรคการเมืองทยอยเปิดชื่อ 'ว่าที่นายกฯ' 
สำหรับพรรคอันดับต้นๆ ที่ออกมาเปิดเผยถึง 'บัญชีนายกฯ' ของพรรค คือ พรรคประชาชาติ พรรคที่ชัดเจนในการเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเสนอชื่อนายกฯ จำนวน 3 คน ได้แก่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา และหัวหน้าพรรค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. และเลขาธิการพรรค และดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม อดีตรองโฆษกรัฐบาล และรองหัวหน้าพรรค
โดยพรรคที่เสนอชื่อนายกฯ มากกว่า 1 ชื่อ เหมือนกัน คือ พรรคเพื่อไทย อดีตพรรครัฐบาล ที่เสนอ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ชัชชาติ สิทธิพันธ์ อดีตรัฐมนตรีคมนาคม และ ชัยเกษม นิติศิริ อดีตรัฐมนตรียุติธรรม
และอีกพรรคน้องใหม่ที่เสนอชื่อนายกฯ ถึง 3 รายชื่อ คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคที่ประกาศตัวชัดเจนในการสนับสนุนและสานต่องานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพรรคเสนอ 3 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนปัจจุบัน และหัวหน้า คสช., อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ 
ส่วนพรรคอื่นๆ ที่เสนอชื่อนายกฯ แล้ว แต่เสนอเพียงรายชื่อเดียว ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ด้านพรรคภูมิใจไทย เสนอ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ด้านพรรคอนาคตใหม่ เสนอ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอ กัญจนา ศิลปอาชา ลูกสาวของ 'บรรหาร ศิลปอาชา' อดีตนายกฯ
สรุปขั้นตอน การเป็น "นายกฯ ในบัญชี" ของพรรคการเมือง
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 นอกจากนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองตามรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้กับ กกต. ก่อนปิดสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ยังมีอีกอย่างน้อย 3 เงื่อนไข ที่พรรคการเมืองต้องทำให้ได้ ได้แก่
หนึ่ง พรรคการเมืองที่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือพรรคที่ได้ที่นั่งในสภาไม่น้อยกว่า 25 คน
สอง พรรคการเมืองที่เสนอชื่อนายกฯ ต้องได้เสียงจาก ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 50 คน
สาม ผู้ได้รับการเห็นชอบเป็นนายกฯ ต้องได้รับเสียงจากรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 376 เสียง