สนช. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรม ตั้งมาตรฐานให้ข้าราชการกำกับกันเอง

31 มกราคม 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ ‘ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรม’ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีมาตรฐานจริยธรรม และเพื่อให้ประมวลจริยธรรมเป็นมาตรฐานเดียวกันจึงต้องมีการออกกฎหมายนี้เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำ กระบวนการรักษาจริยธรรม 

จริยธรรมข้าราชการ ต้องรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์ ตั้งใจทำงาน 

พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรม มาตรา 5 กำหนดให้มาตรฐานจริยธรรมคือ หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วย 

  • ยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  • ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่
  • กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม
  • คำนึงถึงประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสำนึก
  • มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน
  • ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
  • ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ

ตั้งคณะกรรมการมาตรฐานจริยธรรม ให้นายกฯ เป็นประธาน

มาตรา 8 ของกฎหมายนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการหนึ่งชุดเรียกว่า ‘คณะกรรมการมาตรฐานจริยธรรม’ หรือ “ก.ม.จ.” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีคณะกรรมโดนคำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ผู้แทนจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.), ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา, ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, ข้าราชการตำรวจ, ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และสภากลาโหม รวมถึงให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกฯ แต่งตั้งอีกไม่เกิน 5 คน และให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้นักการเมือง ทหาร พนักงานรัฐวิสาหกิจ จัดทำจริยธรรมของตัวเอง

มาตรา 6 ของพ.ร.บ.กำหนดให้ ‘องค์กรกลางบริหารงานบุคคล’ เช่น คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบ ยกเว้น ข้าราชการเมือง ที่ให้คณะรัฐมนตรีเป็นคนจัดทำ ส่วนข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนกลาโหม ให้สภากลาโหมเป็นคนจัดทำ สำหรับผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเป็นผู้จัดทำตามลำดับ

ก.ม.จ. มีหน้าที่ เสนอ-ส่งเสริม-ติดตาม มาตรฐานจริยธรรม

มาตรา 13 กำหนดอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการมาตรฐานจริยธรรม หรือ ก.ม.จ. ไว้ว่าเสนอแนะและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายด้านมาตรฐานจริยธรรมกำหนดแนวทาง สร้างมาตรการหรือกลไกในการบังคับใช้ประมวลจริยธรรม ส่งเสริมและพัฒนาให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกัยมาตรฐานจริยธรรม กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามมาตรฐานจริยธรรม และตรวจสอบรายงานประจำปีของหน่วยงานรัฐ ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายนี้ หรือ ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ให้หน่วยงานรัฐกำกับจริยธรรมกันเอง-ให้ องค์กรกลางฯ กำหนดหลักสูตฝึกอบรม

ในการรักษาจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายนี้ให้อิสระหน่วยงานของรัฐแต่ละแห่งกำหนดผู้รับผิดชอบในการรักษาจริยธรรมประจำหน่วยงานกันเอง โดยอาจมอบหมายให้ส่วนงานที่มีหน้าที่ด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล หรือเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เป็นผู้รับผิดชอบก็ได้

กฎหมายนี้ยังกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องดำเนินกิจกรรมส่งเสริม สนับสนุน ให้ความรู้ รวมถึงฝึกอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมด้วย โดยองค์กรกลางบริหารงานบุคคลมีอำนาจในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม เผยแพร่ทำความเข้าใจ และหามาตรการจูงใจให้ข้าราชการปฎิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม

นอกจากนี้ องค์กรกลางฯ ยังต้องกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม เช่น มาตรการต่อการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการ เช่น การเลื่อนตำแหน่ง

มาตรฐานจริยธรรมต้องทบทวนทุก 5 ปี

พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรม มาตรา 15 กำหนดให้ ก.ม.จ. จัดให้มีการทบทวนมาตรฐานจริยธรรมทุก 5 ปี หรือในกรณีที่มีความจำเป็นหรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ก.ม.จ. จะพิจารณาทบทวนเร็วกว่านั้นก็ได้ โดยให้เชิญองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน