เลือกตั้ง 62 : สิบเรื่องต้องรู้ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง

ใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งกันเข้ามาทุกที หลังจากห่างหายไปนานหลายปี จนบางคนอาจลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าเวลาเข้าคูหาเลือกตั้งนั้นเป็นอย่างไร และคนรุ่นใหม่จำนวนมากยังไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไอลอว์เลยชวนทุกคนมาเตรียมความพร้อมกันสักเล็กน้อยก่อนเลือกตั้งว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องรู้ก่อนจะเข้าคูหาไปใช้สิทธิกัน 
1. เริ่มเข้าคูหา 8.00 – 17.00 น. 
ในวันเลือกตั้ง คูหาเลือกตั้งเริ่มเปิดตั้งแต่เวลาแปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นและอย่าลืมเตรียมบัตรประจำตัวประชาชน (บัตรประชาชนที่หมดอายุแล้วก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร เช่น ใบขับขี่ หนังสือเดินทางหรือ ‘พาสปอร์ต’ ให้พร้อมเพื่อแสดงตนในการใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย
2. บัตรเลือกตั้งใบเดียว ใช้กา ส.ส. เขต
เน้นย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพราะใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ (Mixed Member Apportionment System, MMA) ให้เรามีสิทธิ ‘กากบาท’ เลือกผู้สมัครที่ประจำเขตเลือกตั้งของเรา หรือ ส.ส. แบบแบ่งเขตเท่านั้น แล้วคะแนนเสียงที่เราเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตจะถูกนำไปใช้คำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อหรือ ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ ของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครคนนั้นสังกัดอีกต่อหนึ่ง ง่ายๆ คือ เรากาครั้งเดียวเลือก ส.ส.เขต แต่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคด้วยนั้นเอง ดังนั้น เราอาจจะต้องชั่งน้ำหนักดีๆ เพราะบางทีถ้าเราเลือก ‘คนที่รัก’ อาจไม่ได้ ‘พรรคที่ชอบ’ ก็เป็นได้ 
3. ส.ส. พรรคเดียวกันต่างเขต คนละเบอร์
ระวังจำหมายเลขประจำตัว หรือ ‘เบอร์’ ของผู้สมัครแต่ละพรรคการเมืองสับสนกัน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ ส.ส. พรรคการเมืองเดียวกันจะไม่ได้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ คือ แม้จะอยู่พรรคการเมืองเดียวกันแต่เมื่ออยู่ต่างเขตเลือกตั้งกัน (แม้จะอยู่จังหวัดเดียวกัน) ก็อาจจะได้เบอร์คนละเบอร์กันก็ได้ เนื่องจากว่า ผู้สมัครจะได้รับหมายเลขเรียงตามลำดับที่ของหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้ง คือ ถ้าผู้สมัครคนใดมาสมัครเป็นคนแรกของเขตเลือกตั้งนั้นก็จะได้หมายเลขที่ 1 และจะไล่ลำดับไปเรื่อยๆ จนถึงผู้สมัครคนสุดท้าย หรือ ใครมาสมัครก่อน ก็จะได้เบอร์ต้นๆ ไป โดยไม่สนใจว่าจะอยู่พรรคไหน
4. ‘Vote No’ กาไม่เลือกใครเลย 
ถ้าเราไม่ชอบผู้สมัครใดเลยในเขตเราสักคนเดียว เราก็ยังไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะบัตรเลือกตั้งมีช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” ให้กากบาทได้ด้วย แต่ถ้าคะแนนเสียง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือการโหวตโนมากกว่าคะแนนเสียงของผู้สมัครที่ได้ชนะ เขตเลือกตั้งนั้นก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง โดยผู้สมัครรายเดิมทุกรายจะไม่มีสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะจัดขึ้นด้วย และคะแนนของผู้สมัครแต่ละคนที่ได้รับจากการเลือกตั้งครั้งก่อนจะไม่ถูกนำไปคำนวนหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
5. อายุ 18 ปี บริบูรณ์ในวันเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียง
ใครที่อายุ 18 ปี บริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 หรือเกิดไม่เกินวันที่ 24 มีนาคม 2544  ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้  โดยก่อนวันเลือกตั้ง 20 วัน นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจะจัดส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้านเพื่อแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง หากรู้ว่าตัวเองมีสิทธิแต่ไม่มีรายชื่อ ให้ไปยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นก่อนวันเลือกตั้ง 10 วัน ซึ่งนายทะเบียนจะสั่งเพิ่มชื่อภายใน 3 วัน แต่ถ้าถูกนายทะเบียนยกคำร้อง เราสามารถฟ้องศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งสำหรับคนที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 วัน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล
6. ถ้าไม่สะดวกกลับบ้าน ลงคะแนนเสียงล่วงหน้านอกพื้นที่ได้
ปกติ เราจะมีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ถ้าเราไม่สะดวกไปลงคะแนนในเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิอยู่ เราสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งได้ โดยให้ยื่นขอลงทะเบียนกับนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ในเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิเลือกตั้งหรือเขตที่เราจะไปขอใช้สิทธิเลือกตั้งก็ได้ หรือยื่นทางไปรษณีย์ก็ได้หรือลงทะเบียนออนไลน์ตามวิธีการที่ กกต. กำหนดก็ได้ ซึ่ง กกต. กำหนดวันลงทะเบียนเลือกตั้งนอกพื้นที่ในวันที่ 28 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ และให้ไปลงคะแนนล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งในวันที่ 17 มีนาคม 
7. ถ้าติดธุระในวันเลือกตั้ง ให้ไปลงคะแนนเสียงล่วงหน้าก่อนได้
ถ้าเราไม่สามารถไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งทั่วไปได้ เราสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิอยู่ได้ โดยให้ยื่นขอลงทะเบียนกับนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ในเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง หรือยื่นทางไปรษณีย์ก็ได้  ซึ่งกกต. กำหนดวันลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 28 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ และให้ไปลงคะแนนล่วงหน้าในวันที่ 17 มีนาคม 
8. คนไทยในต่างประเทศ สามารถออกเสียงนอกราชอาณาจักรได้
สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอาศัยอยู่นอกประเทศไทย สามารถขอลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศที่ตนอยู่ได้ ซึ่งกกต. อาจมอบหมายให้สถานฑูตและสถานกงสุลเป็นผู้จัดสถานที่ลงคะแนน หรือ กกต. อาจจะให้มีการออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์หรือวิธีอื่นก็ได้ ซึ่งการเลือกตั้งนอกประเทศไทยจะจัดการลงคะแนนให้เสร็จสิ้นก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปในประเทศ เนื่องจากต้องนำบัตรเลือกตั้งกลับมานับคะแนนพร้อมกันกับการลงคะแนนในประเทศ กกต. กำหนดวันลงทะเบียนเลือกตั้งราชอาณาจักรในวันที่ 28 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ และกำหนดวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไว้ วันที่ 4 – 16 มีนาคม 
9. คนแก่และคนพิการได้รับการอำนวยความสะดวกเต็มที่
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คนพิการหรือผู้สูงอายุจะได้รับการอำนวยความสะดวกในหน่วยเลือกตั้งและการลงคะแนนเป็นพิเศษ โดย กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งจะต้องจัดให้มีการช่วยเหลือลงคะแนนให้คนแก่และคนพิการให้พวกเขาได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง และในกรณีที่ไม่สามารถ “กากบาท’ ลงในบัตรเลือกตั้งได้ ก็สามารถให้ญาติ บุคคลที่ไว้วางใจ หรือ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้งทำแทนให้ได้ ด้วยความยินยอมและตามเจตนาของผู้ใช้สิทธิ นอกจากนี้ กกต. อาจจะจัดสถานที่เลือกตั้งสำหรับคนพิการหรือผู้สูงอายุไว้ให้เป็นกรณีพิเศษก็ได้ โดยให้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ สถานที่ดังกล่าว ซึ่งกกต. กำหนดวันลงทะเบียนสำหรับการลงคะแนนเสียงในสถานที่เลือกตั้งสำหรับคนพิการหรือผู้สูงอายุในวันที่ 28 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ และให้ไปลงคะแนนเสียงล่วงหน้าในสถานที่นั้นในวันที่ 17 มีนาคม 
10.  ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาจับโกงเลือกตั้งได้
ในวันเลือกตั้ง นอกจากการมีส่วนร่วมในการลงคะแนนเสียงแล้ว เรายังสามารถเป็นหูเป็นตาเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรมได้อีกด้วย โดยอาจเข้าร่วมกับองค์กร หรือชุมชน ที่ตั้งขึ้นเพื่อจับตาการเลือกตั้งหรือ เราในฐานะประชาชนทั่วไป ก็สามารถแจ้งเบาะแส หรือข้อมูลให้แก่กกต. ประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งกกต. จะมีมาตรการคุ้มครองไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้แจ้งเบาะแส รวมทั้งจะมีมาตรการรักษาความลับของผู้แจ้งเบาะแสด้วย อีกทั้ง เบาะแสหรือข้อมูลที่เราแจ้งต่อกกต. จะนำไปเป็นเหตุในการดำเนินคดีแก่ผู้แจ้งเบาะแสไม่ได้ ยกเว้นเป็นเบาะแสหรือข้อมูลที่ผู้แจ้งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ