‘สามทางเลือก’ เลือกตั้งไม่กระทบพระราชพิธีแต่เสี่ยงล้มเลือกตั้ง

จากกระแสช่วงปลายปี 2561 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้งผู้มีอำนาจหลายคนออกมาพูดกันถึงการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 และตามมาด้วยการผ่อนคลายให้ประชาชนและพรรคการเมืองกลับมาทำกิจกรรมทางการเมืองได้บ้าง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 จึงทำให้ดูเหมือนว่า ทุกอย่างจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
รัฐธรรมนูญมาตรา 268 กำหนดว่า
“มาตรา 268 ให้ดําเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว” 
ซึ่งกฎหมายเลือกตั้ง ที่เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 11 ธันวาคม 2561 ซึ่งหากนับไป 150 วัน เวลาอย่างช้าที่สุดที่จะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ก็คือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 หรือหากต้องจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ วันอาทิตย์สุดท้ายที่เป็นไปได้ตามรัฐธรรมนูญ ก็คือ วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562
เมื่อมีประกาศสำนักพระราชวัง กำหนดให้ช่วงวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และทางรัฐบาล คสช. เห็นว่า ไม่ควรมีกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นทางเดียวที่เป็นไปได้ คือ ต้องเร่งรีบจัดการเลือกตั้งขึ้นและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อเนื่องจากการเลือกตั้งให้เสร็จเรียบร้อยก่อนหน้าเดือนพฤษภาคม
กิจกรรมที่อาจต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จจากการเลือกตั้งได้ ได้แก่
(1) การนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดย กกต. ซึ่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 127 กำหนดให้ กกต. ต้องนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้มากกว่า 95% โดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันหลังการเลือกตั้ง จากประสบการณ์การเลือกตั้งสามครั้งก่อนหน้านี้ กกต. ใช้เวลาไประหว่าง 5-11 วัน กกต. ก็สามารถประกาศผลการเลือกตั้งชุดแรกสำหรับเขตที่ไม่มีปัญหาได้
(2) สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต การนับคะแนนผิด หรือการดำเนินการใดๆ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง กกต. ก็มีเวลาตรวจสอบและทยอยประกาศผลตามมา หากเขตเลือกตั้งใดที่พบการทุจริตก็อาจสั่งให้เลือกตั้งใหม่เฉพาะเขตนั้นๆ ได้ โดยทั้งหมดต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วันเช่นกัน
(3) เมื่อ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งและได้ ส.ส. อย่างน้อย 95% ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 475 จาก 500 คนแล้ว ก็สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งจากประสบการณ์การเลือกตั้งสามครั้งก่อนหน้านี้ สามารถเปิดประชุมสภาและเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ในเวลา 31-36 วันหลังการเลือกตั้ง
(4) หากเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อาจจะเพราะไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก และไม่มีผู้ได้รับการสนับสนุนด้วยเสียงเกินกึงหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 จาก 750 เสียง การเจรจาต่อรองท่ามกลางสุญญากาศทางการเมืองก็จะเดินหน้าต่อไป จนกว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะเจรจาตกลงกันได้ หรือลงมติเพื่อเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
สำหรับกิจกรรมที่อาจเกิดขึ้นตามข้อ (3) และ ข้อ (4) คงเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่รัฐบาล คสช. ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นระหว่างการจัดพระราชพิธี จึงจะต้องหาวิธีการทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้กิจกรรมเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนพฤษภาคมให้ได้ ทางเลือกของ คสช. ก็มีสามทาง คือ
หนึ่ง เร่งการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เร่งพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆ ระหว่างการเลือกตั้งและประกาศผลการเลือกตั้งให้เร็ว เมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ให้พรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่ใช้อำนาจช่องทางอื่นเปลี่ยนแปลงผล หรือให้ ส.ว. ที่เลือกมาเองลงมติไปอีกทางหนึ่งจนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งดูเหมือนว่า คสช. จะพยายามไม่เดินตามทางเลือกนี้
สอง เลื่อนการเลือกตั้งออกไปหลังงานพระราชพิธี ซึ่งจะเกินเวลา 150 วันและจะเป็นการเลือกตั้งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เว้นเสียแต่ว่า คสช. กล้าที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายกรอบเวลานี้ออกไปอีก
สาม เลื่อนการเลือกตั้งออกไปไม่มาก และจัดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จไปก่อน และสามารถจัดพระราชพิธีไปได้ระหว่างรอ กกต. นับคะแนนและประกาศผลอย่างเป็นทางการ เพื่อเริ่มเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎนัดแรกและเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังการจัดพระราชพิธีเสร็จเรียบร้อยโดยให้รัฐบาล คสช. ที่รักษาการอยู่เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งทางเลือกทางนี้ดูเหมือนว่า จะเป็นไปได้มากที่สุด ทั้งเลี่ยงพระราชพิธีได้และยังไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญด้วย
แต่ทางเลือกข้อนี้อาจมีปัญหาหากต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ขึ้นในบางเขตเลือกตั้งและอาจต้องกำหนดวัน “เลือกตั้งซ่อม” ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 20-30 วันหลังการเลือกตั้ง เสี่ยงอย่างมากที่จะคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาจัดพระราชพิธี แม้ว่า กกต. ยังมีอำนาจเลือกกำหนดวันเลือกตั้งซ่อมในแต่ละเขตให้สลับกับกิจกรรมของสำนักพระราชวังได้ แต่จะเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงพอสมควร และประชาชนชาวไทยอาจไม่อยู่ในบรรยากาศที่จะสนใจติดตามเรื่องการเลือกตั้งและผู้สมัครที่เป็นตัวเลือกมากเท่าที่ควร
ปัญหาต่อไปอาจจะตามมาอีก หาก กกต. ตัดสินใจกำหนดวันเลือกซ่อมให้ช้ากว่า 9 พฤษภาคม 2562 เพื่อเลี่ยงกำหนดการพระราชพิธี ซึ่งการจัดการเลือกตั้งส่วนนี้จะเกินกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 268 กำหนดว่า ต้อง “ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จ” ภายใน 150 วัน การจัดเลือกตั้งซ่อมน่าจะถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการจัดการเลือกตั้ง “ให้แล้วเสร็จ” หากจัดขึ้นช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ก็อาจเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน
หาก คสช. เลือกทางเลือกที่สาม และ กกต. เลือกจัดการเลือกตั้งซ่อมหลังงานพระราชพิธี และมีผู้ไปยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในบรรยากาศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งที่ คสช. อาจไม่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากนัก ก็ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจวินิจฉัยไปในทางล้มการเลือกตั้งได้อีก